พุทธศาสนาในห้วงหิมาลัย

โดย ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

พุทธศาสนาถือกำเนิดและเผยแผ่ในช่วงแรกอยู่ในชมพูทวีปจากเบงกอลถึงลุ่มน้ำสินธุ จากเหนือสุดแคชเมียร์จรดใต้และศรีลังกา แต่นับจากคริสต์ศตวรรษที่ 8 เป็นต้นมา ขณะที่พุทธศาสนาเริ่มเสื่อมถอยจากชมพูทวีป ทั้งเหตุจากการสงครามและคลื่นศาสนาใหม่ ดินแดนในหุบเทือกหิมาลัยจากลาดักจรดอรุณาชัลฯ กลับเป็นเนื้อนาบุญแห่งใหม่ให้พุทธศาสนาได้งอกงามยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน

การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเขตหิมาลัยระลอกแรกมีขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ดังมี หลักฐานบันทึกว่ามีการส่งคณะธรรมทูตพร้อมพุทธธรรมเดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาในแคชเมียร์และกันธาระ ต่อมาระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 1-8 แคชเมียร์ เป็นหนึ่งในศูนย์กลางสำคัญของพระพุทธศาสนา ดังเชื่อกันว่าการประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ 4 (พ.ศ.643) มีขึ้นที่หุบเขาแห่งนี้โดยกษัตริย์ชาวพุทธคือ กนิศกะ กุชานา เป็นองค์อุปถัมภ์ ผลจากการสังคายนา ครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดพุทธมหายาน ซึ่งต่อมาเผยแผ่ไปยังเอเชียกลาง จีน ตะวันออกไกล และชวา

ส่วนหิมาลัยทางฟากฝั่งทิเบตนั้น พุทธศาสนาเริ่มเผยแผ่เข้าไปในช่วงศตวรรษที่ 8 เมื่อกษัตริย์ทิเบต เชิญพระอาจารย์จากนาลันทามหาวิหารขึ้นไปเผยแผ่พุทธธรรม แต่พระธรรมทูตคณะแรกพบว่าชาวทิเบตยังยึดถือเหนียวแน่นในลัทธิบอนที่เชื่อในเรื่องวิญญาณ และคุณไสย จึงแนะนำให้เชิญคุรุปัทมสัมภาวะ ศาสนาจารย์อีกท่านจากนาลันทาขึ้นไปเผยแผ่พระธรรม ซึ่งตำนานทางพุทธทิเบตบันทึกไว้ว่า ในปี ค.ศ. 747 คุรุปัทมสัมภาวะแสดงฤทธาปราบมารและวิญญาณชั่วร้าย ด้วยการร่ายรำชัม (Cham การร่ายรำ ในศาสนาพุทธสายวัชรยาน หรือรู้จักกันในชื่อการเต้น หน้ากาก) เหาะเหินไปในอากาศ อภิเษกหุบเทือกหิมาลัย นับจากลาดัก (ในรัฐจัมมูแคชเมียร์) ลาฮอล์-สปิติ และคินเนอร์ (ในรัฐหิมาชัลประเทศ) ของอินเดีย ทิเบต เนปาล ไปจนถึงภาคตะวันตกของอรุณาชัลประเทศ (รัฐทางตะวันออกของอินเดีย มีพรมแดนติดกับพม่า ภูฏาน และทิเบต) ยังผลให้ชาวทิเบตหันมาเลื่อมใสและรับเอาพุทธศาสนาเข้าไว้ ซึ่งพุทธศาสนา ที่เผยแผ่ในเขตหิมาลัยระลอกที่สองนี้เป็นพุทธฝ่ายวัชรยาน

ต่อมาระหว่างปี 836-842 พุทธศาสนาในเขตหิมาลัยต้องเผชิญกับยุคมืด ด้วยกษัตริย์ Langdarma มีใจต่อต้านศาสนาใหม่ ถึงกับมีการสังหารชาวพุทธ เผาคัมภีร์และวัด กระทั่งราวร้อยปีต่อมา เมื่อกษัตริย์ Yeshe 'Od (ค.ศ.947-1024) ผู้ทรงเลื่อมใสในพระ พุทธศาสนาขึ้นครองราชย์ และพบว่าพุทธศาสนาเสื่อม ถอยไปมาก จึงส่งคณะธรรมทูตรวม 21 รูป ให้เดินทาง ไปยังแคชเมียร์ หรือกัศษมีระ หนึ่งในศูนย์กลางพุทธศาสนาในสมัยนั้น เพื่อศึกษาพระธรรมและกลับมาฟื้นฟู พุทธศาสนาในทิเบต แต่ด้วยการเดินทางที่ยากลำบาก มีธรรมทูตเพียงสองรูปเท่านั้นที่รอดชีวิตกลับมา

หนึ่งในนั้นคือรินเชน ซังโป ผู้สถาปนาอารามสำคัญหลายแห่งในเขตลาดัก ลาฮอล์-สปิติ และคินเนอร์ ดังเป็นตำนานกล่าวขานกันว่าในสมัยของกษัตริย์เยเชและรินเชน ซังโป พุทธศาสนาในเขตหิมาลัยกลับมาเจริญรุ่งเรืองและมีการสร้างอารามขึ้นถึง 108 แห่ง อารามสำคัญที่เชื่อกันว่าสถาปนาขึ้นโดยรินเชน ซังโป และคงอยู่มาถึงทุกวันนี้ ได้แก่ ลามะยูรู และอัลชิ ในเขตลาดัก และตาโบ ในเขตลาฮอล์-สปิติของอินเดีย ซึ่งสไตล์ของงานจิตรกรรมฝาผนังและประติมากรรมนูนสูงกึ่งลอยตัวที่เป็นเอกลักษณ์ บ่งบอกถึงฝีมือช่างแคชเมียร์ช่วงศตวรรษที่ 11-12 ซึ่งกษัตริย์เยเชเชิญให้มาสร้างและวางรากฐานอารามหลายแห่ง

การเผยแผ่พุทธศาสนาระลอกสำคัญต่อมาเกิดขึ้นราวปี ค.ศ.1042 เมื่อกษัตริย์ Byang-Chub 'Od เชิญอติษะ ศาสนาจารย์สำคัญจากมหาวิทยาลัย วิกรมศิลามาเผยแผ่พุทธธรรมในเขตทิเบตตะวันตก โดยอติษะได้วางรากฐานระบบการเรียนการสอนแก่สถาบันสงฆ์ของทิเบต ขณะที่ Bromston ศิษย์คนสำคัญของเขาได้ก่อตั้งนิกายกาดัมปะในเวลาต่อมา

นับจากต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 ภาคเหนือของ ชมพูทวีปถูกโจมตีและยึดครองโดยกองทัพมุสลิมเติร์ก ที่รุกคืบมาทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ตามมาด้วยการเผาทำลายศาสนสถานของศาสนาต่างๆ ทั้งพุทธ เจน และฮินดู บ่อยครั้งวัดและอารามขนาดใหญ่ในพุทธศาสนาถูกเผาทำลายก็ด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นที่ตั้งของกองทหาร จนราวปลายศตวรรษที่ 12 มหาวิทยาลัยนาลันทา วิกรมศิลา และมหาวิหารอีกหลายแห่งก็ถูกเผาทำลายจนหมดสิ้น ในกรณีของนาลันทาซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการศึกษาของพุทธฝ่ายมหายาน กล่าวกันว่าหอสมุดที่ใหญ่โตมากไหม้ไฟอยู่เป็นเวลาหลายเดือนจึงจะมอด ขณะที่พระภิกษุถูกสังหารแทบหมดสิ้น

การล่มสลายของมหาวิหารเหล่านี้เป็นเหตุให้ภิกษุและบัณฑิตจำนวนหนึ่งที่รอดชีวิต ลอบนำพระธรรมคัมภีร์สำคัญๆ หนีขึ้นเหนือไปยังเทือกเขาหิมาลัย ที่ซึ่งหุบเขาและทางด่านสูงชันทำหน้าที่เป็นดั่งปราการ ธรรมชาติ รักษาพุทธธรรมให้รุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบัน

นอกเหนือจากธิเบตและธิเบตตะวันตกแล้ว ดินแดนแห่งหิมาลัยอีกสองส่วนที่เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาที่สำคัญ คือสิกขิม และทาวัง สิกขิม หรือ Sukhim แปลว่าดินแดนอันสันติ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย มีอารามพุทธหรือ กอมปา' อยู่ราว 200 แห่ง ส่วนใหญ่สืบทอด สายธรรมมาจากสองนิกายเก่าแก่ของพุทธทิเบต ได้แก่ นิกายยิงมาปะ และกักยูปะ โดยวัดรุมเต็ก (Rumtek) ที่ตั้งอยู่ใกล้กังต็อกเมืองหลวง ถือเป็นศูนย์ กลางของนิกายกักยูปะซึ่งสืบสายมาจากคำสอนของอติษะ ส่วนวัดลาเชน และลาชุงในเขตยุมถังเป็นศูนย์กลางของนิกายยิงมาปะ

ทาวัง (Tawang) ตั้งอยู่ทางปลายทิศตะวันตก เฉียงใต้ของรัฐอรุณาชัลประเทศ มีพรมแดนติดกับภฏานและทิเบต ถือเป็นศูนย์กลางสำคัญของพุทธทิเบต นิกายยิงมาปะ ที่วางรากฐานและสืบสายตรงมาจากคุรุปัทมสัมภาวะ ขณะที่วัดทาวัง หนึ่งในอารามทางพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก่อตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 17 เป็นวัดที่สืบทอดสายธรรมมาจากนิกายเกลุกปะ ปัจจุบันทาวังยังเป็นดินแดนในกรณีพิพาทระหว่างอินเดียกับจีน โดยจีนถือว่าทาวังในทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของทิเบต ขณะที่อินเดียยึดตาม McMahon Line พรมแดนระหว่างประเทศที่ร่างขึ้นในปี ค.ศ.1914 ว่าทาวังอยู่ภายใต้เขตการปกครองของรัฐอรุณาชัลฯ

พุทธศาสนาที่เผยแผ่อยู่ในเขตหิมาลัย แม้จะเป็นฝ่ายมหายานและหลากหลายซึ่งนิกาย โดยภาพรวมถือได้ว่ายังคงงอกงาม ยั่งยืน และมีชีวิตยิ่ง

(อ้างอิงข้อมูลและภาพจาก : Himalayan Home โดย Benoy K. Behl)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.