"ซานไจ้" วัฒนธรรมค้ำเศรษฐกิจจีน

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ก่อนลงมือเขียนบทความผมเพิ่งได้อ่านบทสัมภาษณ์ของจิม โรเจอร์ส กูรูเศรษฐกิจโลกที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีเกี่ยวกับวิธีการเอาตัวรอดในยุคที่เศรษฐกิจโลกกำลังถดถอย

แล้วรู้ไหมครับว่า จิม โรเจอร์ส พูดว่ายังไง?

"สอนภาษาจีนให้ลูกของคุณสิ" โรเจอร์ส วัย 66 ปีบอก พร้อมกันนั้นผู้ร่วมก่อตั้งควอนตัม ฟันด์ กับจอร์จ โซรอส ยังบอกด้วยว่า สาเหตุที่เขา ย้ายสำมะโนครัวจากนิวยอร์กมาอยู่ที่สิงคโปร์ก็เพราะว่า เขาอยากมาใช้ชีวิตอยู่ในเอเชีย ภูมิภาคซึ่งเป็นอนาคตของโลก เขาอยากให้ลูกๆ ของเขาเติบโตที่นี่และรู้เรื่องเกี่ยวกับเมืองจีน (กระนั้นที่โรเจอร์สไม่ย้ายไปอยู่ที่ฮ่องกงหรือจีนแผ่นดินใหญ่ก็เพราะเกรงปัญหาของมลพิษทางอากาศ)

ตั้งแต่ปี 1980 โรเจอร์สเคยขี่มอเตอร์ไซค์ท่องทั่วประเทศจีนมาแล้วรอบหนึ่ง ก่อนที่ในช่วงปี 1990-1992 เขาจะขี่มอเตอร์ไซค์รอบโลกอีกครั้งเป็นระยะทางกว่า 100,000 ไมล์ หรือราว 160,000 กิโลเมตร โดยการขี่มอเตอร์ไซค์รอบโลกครั้งนั้นทำให้ชื่อของเขาถูกบันทึกไว้ในกินเนสบุ๊กอีกด้วย และจากประสบการณ์ทั้งขี่มอเตอร์ไซค์รอบโลก 2 ครั้งของโรเจอร์ส ทำให้เขามีวัตถุดิบมาเขียนหนังสือเรื่อง Investment Biker, Adventure Capitalist และ A Bull in China ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหนังสือขายดีติดอันดับ

ด้วยความที่โรเจอร์สเห็นจีนมาตั้งแต่เพิ่งเปิด ประเทศใหม่ๆ (ในช่วงทศวรรษที่ 80) ได้สัมผัสกับของจริง ได้เห็นพัฒนาการของเศรษฐกิจและสังคมจีนมาอย่างต่อเนื่องทำให้ความเห็นของโรเจอร์สเกี่ยวกับประเทศจีนนั้นมีน้ำหนักและน่ารับฟังเป็นอย่างยิ่ง โดยในบทสัมภาษณ์กับเอเอฟพี โรเจอร์สเข้าใจดีว่า แม้วิกฤติเศรษฐกิจโลกจะรุมเร้า แต่เศรษฐกิจจีนก็จะยังคงเติบโตต่อไปได้อย่างแข็งแรง เพราะมีเสาค้ำยันทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งอย่างเช่นในภาคการเกษตร ทรัพยากรน้ำ การก่อสร้างสาธารณูปโภคและการท่องเที่ยว

ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่า ขณะนี้ในสื่อจีนกำลังมีการกล่าวขวัญถึงศัพท์คำหนึ่งอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะในเว็บไซต์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ หรือแม้แต่ ซีซีทีวี (CCTV) หรือสถานีโทรทัศน์กลาง แห่งประเทศจีนที่ถึงกับทำเป็นรายงานพิเศษ

ศัพท์คำนั้นคือ วัฒนธรรมซานไจ้ "ซานไจ้" หากแปลตรงตัวแล้วจะมีความหมายว่า หมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขา (Small Mountain Village) ทว่า ศัพท์คำนี้ในปัจจุบันมิได้ใช้ตรงตัว แต่บ่งบอกถึงสินค้าหรือการลอกเลียนแบบของมีชื่อต่างๆ อย่างเช่น โทรศัพท์มือถือผลิตจากจีนที่ทำเลียนแบบไอโฟน โนเกีย โซนี่, เครื่องเล่นเพลง mp3 ผลิตจากจีนที่ทำเลียนแบบไอพอด, รถยนต์จีน ที่ผลิตให้มีรูปลักษณ์เลียนแบบรถยนต์ต่างประเทศ รวมไปถึงการเลียนแบบรูปลักษณ์-ท่าทางของดาราที่มีชื่อเสียงอย่างเช่น หลิว เต๋อหัว, เจย์ โจว (โจว เจี๋ยหลุน) เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้ชาวจีนจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมซานไจ้ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม "วัฒนธรรมซานไจ้"ที่หลาย คนให้ความเห็นว่า ไม่เห็นจะแปลกใหม่อะไรเลย เพราะคิดว่ามันก็แค่ "วัฒนธรรมการลอกเลียนแบบ" ของจีนที่มีมานมนานหลายสิบปีแล้วนั่นแหละจริงๆ แล้ว "ซานไจ้" กลับมีนัยสำคัญต่อโลกในปัจจุบัน และต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจีน มากกว่าที่ใครหลายคนคิด

เนื่องจาก "ซานไจ้" นั้นไม่ได้แปลได้จากความหมายตรงตัวว่า หมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขา แต่ศัพท์คำนี้มีรากมาจากมณฑลกวางตุ้งและเกาะฮ่องกง โดยเมื่อหลายสิบปีก่อนคนกวางตุ้งเรียก บรรดาโรงงานเล็กๆ ที่ผลิตของเลียนแบบ หรือ ของใช้ในชีวิตประจำวันราคาถูกว่า "ซานไจ้" ขณะที่ชาวฮ่องกงในช่วงทศวรรษ 60 และ 70 ก็เรียกโรงงานเล็กๆ ตามบ้าน-ห้องแถวที่รับช่วงผลิตสินค้าอย่างดอกไม้พลาสติก เสื้อผ้า ฯลฯ มาจากโรงงานใหญ่ๆ อีกต่อว่า "ซานไจ้ฉ่าง (ฉ่าง แปลว่า โรงงาน)" เพราะฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่าในปัจจุบัน "วัฒนธรรมซานไจ้"ก็มิได้มีความหมายแต่เพียงการ เป็น "วัฒนธรรมของการลอกเลียนแบบ" เท่านั้น แต่ยังเป็นตัวแทนของบรรดาธุรกิจ/วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือที่เรารู้จักกันในชื่อย่อๆ ว่า เอสเอ็มอี (SMEs; Small and Medium Enterprises) นั่นเอง

หลังการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ในประเทศจีนนั้นเฟื่องฟูอย่างมาก จนล่าสุดมีการเก็บสถิติไว้ว่าปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 42 ล้านบริษัท หรือคิดเป็นร้อยละ 99.8 ของบริษัททั้งหมดในประเทศจีน ที่สำคัญ เมื่อมองในแง่มุมทางเศรษฐกิจ เอสเอ็มอีจีนเหล่านี้ผลิตสินค้าและบริการออกมาสู่ระบบเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ามากถึงราวร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั้งหมดเลยทีเดียว ทั้งยังจ่ายภาษีคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 53 ของการเก็บภาษีทั้งประเทศ นอกจาก นี้ยังเป็นภาคที่ดูดซับแรงงานจีนไว้มากถึงร้อยละ 70 เลยทีเดียว

ชิว ลี่เปิ่น บรรณาธิการของนิตยสารย่าโจวโจวคาน หรือ The International Chinese News-weekly กล่าวถึงปรากฏการณ์ความแพร่หลายของวัฒนธรรมซานไจ้นี้ไว้เมื่อต้นเดือนมกราคม 2552 ที่ผ่านมาว่า ผลิตภัณฑ์ซานไจ้เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความตื่นตะลึงให้กับโลก โดยเป็นปรากฏการณ์ทั้งในแง่มุมทางเศรษฐกิจ และทางวัฒนธรรม

"ในภาวะที่สินค้าซานไจ้กำลังแพร่หลายไปทั่วประเทศจีน เราก็พบว่านี่แหละคือกุญแจที่ไขไปสู่ความลับแห่งยุคสมัย ความลับดังกล่าวก็คือ แท้จริงแล้วประเทศจีนนั้นเป็น 'สังคมซุนหงอคง' (ซุนหงอคง หรือเห้งเจีย วานรในนิยายเรื่องไซอิ๋ว) เป็นสังคมที่มีชีวิตชีวา เป็นสังคมแห่งความเฟื่องฟู เป็นสังคมที่กล้าแม้แต่การบุกขึ้นไปอาละวาด บนสวรรค์ และกล้าที่จะข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆ นานา รวมถึงคาถาที่ทำให้ห่วงรัดหัวนั้นบีบแน่นขึ้น

"ประเทศจีนเป็นผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ของวัฒนธรรมซานไจ้... ที่ปลูกฝังจิตวิญญาณ ที่กล้าท้าทายกับอำนาจการผูกขาดและก้าวเดินไปสู่เส้นทางแห่งความสับสนและขัดแย้งในตัวเอง สังคมจีน เป็นสังคมที่ไม่ยอมก้มหัวเป็นม้าใช้ เป็นลาล่อ ให้กับคนอื่นไปตลอด แต่มุ่งมั่นที่จะเป็นวานรอันแสนเจ้าเล่ห์เพทุบาย ที่สามารถจะดึงเส้นขนบนตัวออกมา และเสกมนต์เปลี่ยนเส้นขนเหล่านั้นให้เป็นร้อยพันสรรพสิ่ง"

หากจะแปรคำเปรียบเทียบของ บก.ชิว ให้เป็นภาพชัดเจนขึ้น ผมอยากให้ท่านผู้อ่านดูภาพประกอบต่างๆ ในคอลัมน์นี้ไม่ว่าจะเป็นไนต์คลับที่สร้างเลียนแบบอาคารศูนย์กีฬาทางน้ำในปักกิ่งโอลิมปิก, โทรศัพท์มือถือ Meizu M8 ที่ทำออกมาคล้ายคลึงอย่างยิ่งกับไอโฟนของแอปเปิลทั้งในเรื่องของรูปลักษณ์ของไอคอน หรือโทรศัพท์ทัชสกรีนยี่ห้อ HKC ที่ทำออกมาเลียนแบบโทรศัพท์ยี่ห้อ HTC ที่กำลังโด่งดัง ฯลฯ

ภาพเหล่านี้หากมองจากมุมหนึ่งก็คือ การลอกเลียนแบบ การละเมิดลิขสิทธิ์ เช่นเดียวกันกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ต่างๆ ทว่า ในแง่มุมของผู้ประกอบการชาวจีนเขาก็มองว่า มันไม่ถึงกับเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์แต่เป็นแรงบันดาลใจ เป็น การลอกเลียนเพียงรูปแบบ-รูปลักษณ์เท่านั้น อย่างเช่น HTC กับ HKC, NOKIA กับ NOKLA หรือ เว็บไซต์ BaiGooHoo ดังภาพ แต่การลอกเลียนรูปแบบดังกล่าวมิได้เป็นการลอกเลียนเนื้อหาและความสามารถแต่อย่างใด

ซึ่งหากจะเปรียบไปก็เหมือนกับผู้ประกอบการจีนกำลังเดินอยู่บนเส้นด้ายอันเบาบาง ระหว่าง การละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ทางปัญหา กับการสรรค์สร้างสิ่งใหม่

ทว่า พวกเราก็มิอาจปฏิเสธได้ว่าการเดินบนเส้นด้ายดังกล่าวนี่แหละ ที่บางครั้งทำให้เกิดนวัตกรรม ยกตัวอย่างเช่น โทรศัพท์มือถือติดทีวี (TV Mobile) หรือโทรศัพท์ 2 ซิม ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในประเทศไทย จนกินส่วนแบ่งตลาดของโทรศัพท์มือถือแบรนด์ดังไปไม่น้อย ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจาก "วัฒนธรรมซานไจ้" หรือ "สังคมซุนหงอคง" อันเป็นเอกลักษณ์ของสังคมและเศรษฐกิจจีน อย่างที่กล่าวไปแล้ว

ทั้งยังปฏิเสธไม่ได้ว่า การเกิดขึ้นของนวัตกรรมใหม่หลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะคนจากซีกโลกไหนต่างก็ต้องมีจุดเริ่มต้นมาจากแรงบันดาลใจ หรือการลอกเลียนแบบจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว อย่างเช่น ระบบปฏิบัติการวินโดวส์อันเลื่องลือของบิล เกตส์ หรือแอปเปิลคอมพิวเตอร์ของสตีฟ จ็อบส์ ต่างก็ผ่านกระบวนการลอกเลียนแบบเช่นนี้มาก่อนทั้งสิ้น ประเด็นสำคัญน่าจะอยู่ตรงที่ว่า เมื่อคุณได้ต้นแบบ ได้ต้นกล้ามาแล้ว คุณจะเพาะพันธุ์ จะสร้างเสริมเติมแต่งต้นกล้านี้ให้เติบโตมาเป็นอย่างไรต่างหาก นั่นแหละที่ผมคิดว่า คือใจความสำคัญของ "วัฒนธรรมซานไจ้"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.