สุดท้ายที่เหลือคือฝรั่งเศส


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

การแทรกแซงของรัฐบาลฝรั่งเศสดูมีภาษีดีกว่าใครๆ ในขณะที่โมเดลเศรษฐกิจอื่นๆ ล้วนสูญเสียความน่าเชื่อถือ

เศรษฐกิจโลกที่ถดถอยไม่เพียงทำให้คนต้องตกงาน สูญเสียบ้าน หรือเงินออมที่เก็บไว้ใช้ในยามเกษียณ แต่วิกฤติสินเชื่อที่ร้ายแรงที่สุดในรอบศตวรรษนี้ ยังกำลังทำลายความน่าเชื่อถือของแนวคิดต่างๆ ซึ่งเป็นที่เชื่อถือกันมานมนานเกี่ยวกับวิธีการบริหารเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย และผลกระทบประการหลังนี้จะยังคงรู้สึกได้ไปอีกนาน ตลอดเวลาที่ความถดถอยทางเศรษฐกิจ จำต้องเปิดทางให้แก่แนวคิดใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิม แม้จะยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่า เศรษฐกิจโลกจะมีสภาพ อย่างไร เมื่อฝุ่นที่ยังฟุ้งตลบสงบลง แต่ในยุโรปเริ่มมองเห็นแนวโน้มบางอย่างแล้ว ไม่ว่าผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไรแต่การแทรกแซง ตลาดในแบบที่รัฐบาลฝรั่งเศสกำลังทำอยู่ดูมีภาษีดีกว่า ในขณะที่ โมเดลเศรษฐกิจอื่นๆ ของเพื่อนร่วมทวีปต่างสูญเสียความน่าเชื่อถือไปแล้ว

การเร่งความเร็วของวัฏจักรธุรกิจด้วยการปล่อยให้มีการกู้ยืมเกิดขึ้นอย่างเกินขนาดทั้งในภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นโมเดลของอังกฤษ ได้ถูกพิสูจน์ด้วยกาลเวลาแล้วว่าล้มเหลว และคงจะอีกนานมากทีเดียวกว่าที่ครัวเรือนในอังกฤษและในสหรัฐฯ รวมทั้งในไอร์แลนด์ จะสามารถฟื้นความรู้สึกเชื่อมั่นและฟื้นความสามารถที่จะใช้บ้านของตนเป็นเหมือนกระปุกออมสินให้กลับคืนมาได้อีกครั้ง ด้วยการนำบ้านไปจำนองเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสดมาใช้จ่าย ในยามที่ราคาบ้านพุ่งสูงเหมือนกับจะไม่มีวันสิ้นสุดอย่างในอดีต 10 ปีที่แล้ว Gordon Brown ผู้นำอังกฤษได้สัญญาว่าจะไม่ยอมให้เกิดวัฏจักร "รุ่งเรืองและตกต่ำ"อีกต่อไปแล้ว Brown ทำให้เศรษฐกิจอังกฤษเติบโตแบบเทียมๆ ด้วยการเพิ่มการใช้จ่าย ภาครัฐ แต่แล้วเศรษฐกิจอังกฤษก็ยังคงฟุบครั้งใหญ่อีกจนได้ และบัดนี้เศรษฐกิจของอังกฤษก็หดตัวลงอย่างรวดเร็ว นโยบายขาดดุล งบประมาณของอังกฤษกำลังจะมีสัดส่วนสูงถึงเกือบ 10% ของ GDP ในปี 2009 นี้ คำกล่าวอ้างที่ผ่านมาของอังกฤษที่ว่าสามารถ บริหารเศรษฐกิจได้ดีกว่าใครๆ ในยุโรป ขณะนี้มีค่าเพียงคำพูดที่กลวงว่างเปล่าเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม โมเดลแบบเยอรมนีที่ควบคุมนโยบายการเงิน และวินัยการคลังอย่างเข้มงวด ก็ไม่ใช่จะได้ผลดีไปกว่ากันนักในยามที่เกิดวิกฤติ ธนาคารกลางแห่งยุโรป (ECB) ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยมีธนาคารกลางเยอรมนีหรือ Bundesbank เป็นต้นแบบ กล่าวคือคำนึงถึงเสถียรภาพมากที่สุด ได้เดินนโยบายถูกทางในช่วงแรกๆ โดยขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ใช้นโยบายลดอัตราดอกเบี้ย อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งดอกเบี้ยลดต่ำเหลือเพียง 1% ในปี 2003 นั้น ECB หยุดอยู่แค่อัตราดอกเบี้ยที่ 2% ซึ่งช่วยให้ยุโรปสามารถรอดพ้นจากการได้รับผลกระทบที่เลวร้ายที่สุด ที่เกิดขึ้นจากวัฏจักร ความรุ่งเรืองและตกต่ำของสินเชื่อ และตลาดที่อยู่อาศัยอย่างที่สหรัฐฯ เผชิญได้

แต่เมื่อราคาน้ำมันแพงและดันเงินเฟ้อให้พุ่งสูงในช่วงกลางปี 2008 ECB กลับมีปฏิกิริยาเกินเหตุ การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเมื่อวงจรธุรกิจอยู่ในช่วงขาลง เป็นความผิดพลาดของ ECB ที่กลับซ้ำเติมให้เศรษฐกิจและระบบการเงินยิ่งอ่อนแอลง ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญความเลวร้ายที่สุด ความผิดพลาดของ ECB ครั้งนี้ได้ทำลายความน่าเชื่อถือของการยืนหยัดที่จะใช้นโยบาย รักษาเสถียรภาพราคา และต่อไปนักประวัติศาสตร์เศรษฐศาสตร์อาจจะระบุว่า ช่วงกลางปี 2008 คือจุดสิ้นสุดของโมเดลแบบ Bundesbank

ส่วนโมเดลแบบอิงการควบคุมด้วยกฎเกณฑ์ ซึ่งเป็นสาระของสนธิสัญญาเสถียรภาพและการเติบโตแห่งยุโรป (ซึ่งถูกนำมาใช้ตามคำขอของเยอรมนีเอง) ก็ไม่ได้ดีไปกว่าโมเดลอื่น การที่เยอรมนีลังเลที่จะยอมรับถึงความหนักหนาสาหัสของวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ในช่วงปลายปี 2008 และลังเลที่จะออกนโยบายมารับมือ ทำให้ฝรั่งเศสและประเทศอื่นๆ ต่างพากันละทิ้งกฎเกณฑ์ ด้านการคลังที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาดังกล่าว และประเทศใหญ่ในยุโรปเกือบทั้งหมดกำลังเตรียมจะละเมิดกฎเกณฑ์จำกัดเพดานการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งกำหนดไว้ที่ 3% ของสนธิสัญญา ดังกล่าว ทั้งในปี 2009 นี้และเลยไปจนถึงปีหน้าด้วย

โมเดลแบบ "ขอไปคนเดียว"ก็ไม่ไหวเช่นกัน วิกฤติสินเชื่อ โลกครั้งนี้ทำให้ชาติเล็กๆ ในยุโรปเพิ่งตระหนักว่า ทำไมจึงเป็นการดีกว่าที่จะร่วมใช้เงินสกุลเดียวกันคือเงินยูโร แม้กระทั่งเดนมาร์ก ซึ่งมีนโยบายเศรษฐกิจที่ดีกว่าแทบทุกประเทศในยุโรปด้วยกัน ก็ยังต้องขอความช่วยเหลือจากธนาคารกลางยุโรป และต้องขึ้นดอกเบี้ย เพื่อป้องกันไม่ให้ค่าเงินตกต่ำเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ความเป็นสกุลเงินที่ปลอดภัยของเงินยูโรยิ่งมองเห็นได้อย่างชัดแจ้ง ในกรณีของประเทศยุโรปที่มีเศรษฐกิจเปราะบางอย่างมากอย่างฮังการีและโปแลนด์

ในขณะที่โมเดลเศรษฐกิจทั้งหมดข้างต้นต่างสูญเสียความน่าเชื่อถือไปแล้ว แต่การแทรกแซงเศรษฐกิจในสไตล์ของฝรั่งเศสกลับกำลังแพร่ไปทั่วยุโรปในขณะนี้ ในยามที่ตลาดการเงิน ยังแข็งแรงดีอยู่ นโยบายแบบฝรั่งเศสที่สนับสนุนแต่อุตสาหกรรมที่เป็นที่โปรดปรานของรัฐ และการกำหนดวัตถุประสงค์ให้แก่นโยบายแห่งชาติ มักถูกมองอย่างกังขาจากประเทศต่างๆ แต่เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกขึ้น โมเดลแบบฝรั่งเศสซึ่งพร้อมที่จะแทรกแซงกระบวนการในตลาดได้ทุกเมื่อ กลับกลายเป็นบรรทัดฐาน ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

ความจริงแล้ววิธีบริหารเศรษฐกิจแบบฝรั่งเศสสะท้อนให้เห็นถึงความหวาดระแวงคลางแคลงที่ฝังรากลึกมานานแล้วในฝรั่งเศสว่า การยอมปล่อยให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้อย่างเสรี อาจไม่ก่อให้เกิดผลดีอย่างที่ปรารถนาเสมอไป และโชคร้ายที่วิกฤติสินเชื่อโลกกลับช่วยยืนยันความสงสัยของฝรั่งเศสดังกล่าว (ถึงแม้ว่าจากการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดในเวลาต่อมาจะพบว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินโลกนั้น ความจริงแล้วเป็นเพราะการส่งสัญญาณอย่างผิดๆ ของรัฐบาลและธนาคารของประเทศทั้งหลาย มากกว่าที่จะเป็นเพราะการทำหน้าที่อย่างผิดพลาดของภาคเอกชนอย่างที่ถูกกล่าวหาในตอนแรก) Holger Schmielding หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่ง Bank of America และผู้เขียนบทความชิ้นนี้คาดว่า ฝรั่งเศสจะยังคงเรียกร้องให้เพิ่มกฎเกณฑ์ควบคุมตลาดทุนโลกให้เข้มงวดมากขึ้น

ประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy แห่งฝรั่งเศส มิได้เป็นเพียงนักแทรกแซงเท่านั้น หากเขายังสนับสนุนการใช้สามัญสำนึก กับตลาดแรงงานอีกด้วย ด้วยการเน้นจริยธรรมการทำงานแบบเก่า และไม่หลงละเมอเพ้อพกไปกับความเพ้อฝันแบบสังคมนิยม อย่างเช่นการทำงานเพียง 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จนถึงขณะนี้ สหภาพยุโรปยังคงมีลักษณะเป็นระบอบทุนนิยมระบบตลาดที่มีความเสรีอย่างมาก แต่ตลาดแรงงานกลับไร้ประสิทธิภาพโดยทั่วไป แต่หากโมเดลแบบฝรั่งเศสยังคงได้รับการยอมรับต่อไป สหภาพยุโรปก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ ตลาดแรงงานอาจทำงานได้ดีกว่าเดิม ส่วนระบบการเงินก็อาจถูกควบคุมมากขึ้นกว่าเดิม นักลงทุนทั่วโลกได้แต่หวังว่า ยุโรปจะกลับคืนสู่ความสมดุลได้ แต่ถ้าหากว่าใช้การแทรกแซงมากเกินไป ก็อาจจะไปสกัดกั้นโอกาสของการเติบโตและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในยุโรปได้เช่นกัน และหากเป็นเช่นนั้น ยุโรปอาจต้องตกเป็นรองสหรัฐฯ อีกครั้ง เมื่อสหรัฐฯ ซึ่งมีความยืดหยุ่นมากกว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ในที่สุด

เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
นิวสวีค 19 มกราคม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.