|
กลายเป็นพี่เลี้ยง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กุมภาพันธ์ 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ข่าวการปรับแม่ทัพใหม่ของ บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ทำให้ห้องแถลงข่าวภายในโรงแรมดุสิตธานีเมื่อกลางเดือนมกราคมอุ่นหนาฝาคั่งไปด้วยสื่อมวลชนและผู้บริหาร เพราะเป็นการเปลี่ยนตัวกรรมการผู้อำนวยการคนที่ 3 ในรอบ 7 ปี
งานแถลงข่าวที่ บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวง จัดขึ้นในวันนั้นมีผู้บริหาร 3 คนที่นั่งอยู่บนเวทีคือ สรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม ประธานกรรมการ ญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ และพิเชษฐ สิทธิอำนวย
ผู้บริหารที่นั่งสังเกตการณ์อยู่ด้านล่างคือ ชอง โท ประธานคณะกรรมการบริหาร ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการคนแรกของ บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวงมาก่อน
การเปิดตัวพิเชษฐ สิทธิอำนวย วัย 43 ปี ในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการของ บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวงที่มีผลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แสดงให้เห็นว่าองค์กรแห่งนี้ต้องการเปลี่ยนแปลงโดยให้พิเชษฐสานต่อธุรกิจ
โดยมีเป้าหมายหลักให้พิเชษฐนำพาบริษัทให้ติด 1 ใน 5 บริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทยจากปัจจุบันที่อยู่ในอันดับที่ 7
การเปลี่ยนตำแหน่งครั้งนี้ทำให้ญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ กล่าวด้วยตนเองว่า เต็มใจลดบทบาทจากที่เคยนั่งในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการมานาน 3 ปี
ส่วนบทบาทใหม่ของญาณศักดิ์จะกลายเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุน การทำงานของพิเชษฐ และทีมงาน ส่วนตัวเขาจะมีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหาร และมีหน้าที่ในการชักนำธุรกิจต่างๆ เข้ามาให้กับ บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวง และใช้เวลาส่วนหนึ่งทำกิจกรรมต่างๆ ภายนอกที่จะเป็นประโยชน์กับบริษัทและอุตสาหกรรม
บทบาทการทำงานของญาณศักดิ์จะเรียบง่ายและไม่ได้ตัดขาดจากบัวหลวง และที่สำคัญเขายังอยู่ในฐานะผู้ถือหุ้น 1.17% รวมถึงปรารถนา ภรรยาของเขาถือหุ้น 0.003%
ญาณศักดิ์ปฏิเสธไม่มีความขัดแย้งใดๆ และไม่มีการบีบหรือกดดันเขา หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นเชื่อว่าจะไม่มีภาพของเขา นั่งร่วมแถลงข่าวกับผู้บริหารของ บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวงที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอย่างแน่นอน
สำหรับพิเชษฐไม่ได้เป็นผู้บริหารใหม่ของบัวหลวง เพราะเขาเป็นกรรมการตรวจสอบ กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบ แทนตั้งแต่ปี 2548 ที่ผ่านมา ทำให้เขาคุ้นเคยการทำงานและรู้แนวทางเป้าหมายของ บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวง
และก่อนหน้านี้เขามีประสบการณ์ทำงานร่วมกับญาณศักดิ์ที่ บล.เจ.เอฟ.ธนาคม ร่วม 6 ปี
การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารไม่ได้เปลี่ยนตำแหน่งในส่วนของกรรมการผู้อำนวยการเพียงตำแหน่งเดียว แต่ได้เลื่อนตำแหน่งผู้บริหารอีก 3 ราย ได้แก่ กำธร ศิลาอ่อน และวรารัตน์ ชุติมิต ขึ้นเป็นรองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวาณิชธนกิจ จากเดิมที่อยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานวาณิชธนกิจ
และได้แต่งตั้งอรนุช วชิรัคศศวกุล เป็นรองกรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์สถาบัน จากเดิมเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานค้าหลักทรัพย์สถาบัน
การปรับเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ทำให้ทีมงานกล้าที่จะเปลี่ยน แปลงเป้าหมายแม้รู้ดีว่าธุรกิจหลักทรัพย์จะมีความผันผวนมากจากผลกระทบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เป้าหมายของบริษัทจะเน้นการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจ นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก 4% ใน 2551 เป็น 5% ในปี 2552 เพิ่มส่วนแบ่งธุรกิจอนุพันธ์จาก 4.7% ใน 2551 เป็น 5.2% โดยเน้นกลยุทธ์เรื่อง Wealth Management สำหรับลูกค้าบุคคล
ส่วนธุรกิจวาณิชธนกิจจะเพิ่มรายได้จาก 90 ล้านบาท เป็น 120 ล้านบาท โดยเน้นในส่วนการเป็นที่ปรึกษาการควบรวมกิจการ และเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การจัดการกองทุนส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น จากประมาณ 11,000 ล้านบาท ในปี 2551 เป็น 14,000 ล้านบาท ในปี 2552
รวมทั้งจะเริ่มดำเนินธุรกิจยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ในไตรมาส 2 เชื่อว่าจะมีศักยภาพที่ดีในอนาคต
การเปลี่ยนแปลง บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวง ครั้งนี้ไม่ใช่การเปลี่ยนผู้บริหารเพียงอย่างเดียวแต่เป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ให้มีหลายมิติมากขึ้นทั้งด้านธุรกิจและบุคลากร
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะคุ้มค่าหรือไม่ คำตอบกำลังรออยู่แล้วเบื้องหน้า
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|