"ยุทธจักรเอเยนซี่ 2530 แยกวง ย้ายค่ายและถอนยวง!"

โดย สุดจิตร์ ไชยตระกูลชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

ก่อนถึงปีมังกรทอง ยุทธจักรเอเยนซี่ในบ้านเราเกิดความปั่นป่วน จอมยุทธระดับยอดฝีมือ ชีพจรลงเท้าย้ายสำนักกันเป็นว่าเล่น มีบ้างไปตังสำนักใหม่ บ้างก็อำลาวงการไปเลย อะไรเป็นสาเหตุของมรสุมครั้งนี้

ปี 2530 เศรษฐกิจดีขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงหลายประการ ธุรกิจหลาย ๆ ประเภทฟื้นตัวเห็นได้ชัด แต่วงการเอเยนซี่แล้ว มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในรอบหลายปี

คือการโยกย้ายของคนโฆษณาอย่างไม่หยุดนิ่ง เหมือนความคิดสร้างสรรค์ของเขานั่นเอง!

ดูจากตารางการโยกย้ายคนโฆษณาในปีนี้ เห็นได้ชัดว่ามีการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ต้นปี เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมมีพนักงานลาออกในสองเอเยนซี่ใหญ่ ๆ โดยเฉพาะแห่งหลัง (เทดเบทส์) ไมเคิล ไรอัน กรรมการผู้จัดการเทดเบทส์และลูกน้องตบเท้าลาออกจนสำนักงานเกือบร้าง

จากนั้นว่างเว้นไป 3 เดือน จนถึงเดือนพฤษภาคมเริ่มมีการโยกย้ายอีกครั้งหนึ่ง 3 เดือนที่ว่างเว้นไปนั้นเปรียบเสมือนความสงบก่อนเกิดพายุใหญ่

รูดิเก้ ไรนิเก้ กรรมการผู้จัดการ ดีดีบี นีดแฮม เวิลด์ไวด์ สูญมือดีติด ๆ กันสองคนในเดือนมิถุนายน หลังจากเสียสุวิทย์ วิมุตตานนท์ไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม และการสูญเสียคนระดับกรรมการผู้จัดการของลินตาสรวมทั้งครีเอทีฟไดเร็คเตอร์ และครีเอทีฟ กรุ๊ปเฮด ทั้งสามคนในเวลาเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเลยแม้ว่าจะเป็นเอเยนซี่ที่มียอดบิลลิ่งอันดับหนึ่งของเมืองไทยก็ตามที

เดือนมิถุนายนอีกเช่นกัน ไทยอิมเมจ แอดเวอร์ไทซิ่ง ต้องสูญเสียสายัณห์ สุธรรมสมัย ครีเอทีฟ ไดเร็คเตอร์มือดีและเป็นกรรมการบริหารผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทมาตั้งแต่ต้น และในเดือนถัดไป อุทัย ลิมลาวัณย์ ก็ลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบริการลูกค้า ล่าสุด ดนัย เยาหะรี ก็จากไทยอิมเมจไปอีกคน นับเป็นการสูญเสียที่ยุพน ธรรมศรี กรรมการผู้จัดการต้องคิดหนักกับทิศทางของเอเยนซี่ขนาดกลางแห่งนี้

สำหรับโอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ ยักษ์ใหญ่อันดับสองรองจากลินตาสก็หลีกไม่พ้นกับวงจรนี้เช่นกัน สุนันทา ตุลยธัญ เริ่มประสบกับปัญหานี้เมื่อเดือนสิงหาคม เมื่อสุรพล ลีนิรนดรลาออกจากตำแหน่ง แอคเคาท์ ซุปเปอร์ไวเซอร์ สองเดือน ดลชัย บุญรัตเวช ก็ลาออกไปอีกคน ล่าสุดพลชาติ ไกรบุญ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโฆษณาและหนึ่งในกรรมการบริหารก็อำลาบริษัทที่เขาเคยร่วมงานมาถึง 7 ปีไปอีกคน

และนี่คือภาพคร่าว ๆ ของการเปลี่ยนแปลงคนเอเยนซี่ในปี 2530

เทคโอเวอร์

ในสหรัฐอเมริกาการรวมกิจการหรือซื้อกิจการ (เทคโอเวอร์) เป็นเรื่องธรรมดาเอามาก ๆ เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน บริษัทรับปรึกษาด้านนี้โดยเฉพาะมีออกมากมาย

อาจเป็นเพราะบางบริษัทคิดว่าการซื้อกิจการจะทำให้ผลกำไรเพิ่มมากขึ้น ลูกค้าจะมากขึ้น เพราะสามารถกำจัดคู่แข่งได้ ลูกค้าที่เคยเป็นคู่แข่งก็กลับมาเป็นของบริษัทที่ซื้อกิจการ ประสิทธิภาพสูงขึ้นเพราะเป็นการรวมกันระหว่างสองบริษัทที่มีการทำงานคล้าย ๆ ในธุรกิจประเภทเดียวกัน

แต่สำหรับการซื้อกิจการหรือการรวมกิจการ ในวงโฆษณาเหตุการณ์เช่นที่ว่า "ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด" คนเอเยนซี่พูด กำไรอาจไม่เพิ่มขึ้นอย่างที่คาด ปัญหาต่าง ๆ อาจตามมามากมาย

กรณีซาทชิแอนด์ซาทชิ เทคโอเวอร์เทดเบทส์ เวิลด์ไวด์ เมื่อกลางปี 2529 ส่งผลกระทบกระเทือนอย่างใหญ่หลวงมาถึงประเทศไทย เพราะ "ซาทชิแอนด์ซาทชิ เขามีนโยบายดอมิเนทเอเยนซี่ที่เขาเทคโอเวอร์มา เห็นได้ชัดจากการปลดโรเบิร์ต จาโคบี้ ประธานเทดเบทส์ เวิลด์ไวด์เพราะปฏิเสธที่จะบอกแผนการกับผู้บริหาร" ผู้รู้บอก

ผลการเทคโอเวอร์เทดเบสท์ในครั้งนี้ ทำให้เทดเบทส์สูญแอคเคาท์ของคอลเกตที่เป็นเส้นเลือดใหญ่และสินค้าอีกหลายตัว

และผลกระทบจากการซื้อเทดเบทส์ของซาทชิแอนด์ซาทชิก็มาถึงเมืองไทย ไมเคิล ไรอัน กรรมการผู้จัดการเทดเบทส์ (ประเทศไทย) "ไม่พอใจมากที่ประธานโรเบิร์ตถูกปลด" คนเทดเบทส์บอกในครั้งนั้น "ถ้าซาทชิแอนด์ซาทชิเข้ามาความถูกต้องของเทดเบทส์ต้องมีปัญหาแน่ ๆ" คนใกล้ชิดไมเคิล ไรอัน กล่าวต่อ

เดวิด บีคร้อฟ ได้รับการแต่งตั้งจากซาทชิแอนด์ซาทชิ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการภาคที่ฮ่องกงจากการตรวจสอบบัญชีเทดเบทส์ (ประเทศไทย) เขาพบว่ามีลักษณะ "ไม่ชอบมาพากล"

ไมเคิล ไรอัน ปฏิเสธข่าวนี้โดยสิ้นเชิง

นอกจากซาทชิแอนด์ซาทชิจะบีบไรอันในเรื่องบัญชีแล้ว ยัง "บีบให้เขาลดค่าใช้จ่าย ตัดพนักงานลง แต่ให้เพิ่มรายได้" คนวงในบอก

ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ การทำอย่างนี้เท่ากับเป็นการบีบบังคับไรอันโดยตรง เพราะการที่เทดเบทส์ถูกเทคโอเวอร์ก็ทำให้ เทดเบทส์เจ็บช้ำระกำทรวงมากพออยู่แล้ว ต้องสูญเสียแอคเคาท์จำนวนมหาศาลของคอลเกตปาล์มโอรีฟทันที เพราะ "ซาทชิแอนด์ซาทชิถือแอคเคาท์ของพร็อกเตอร์แอนดแกมเบิ้ลที่เป็นสินค้าคู่แข่งอยู่" เป็นเหตุผลที่ถูกยกขึ้นมาอ้าง

ในเมืองไทยการสูญเสียแอคเคาท์ของคอลเกตยิ่งเสมือนการ "บอนไซ" เทดเบทส์ (ประเทศไทย) ที่มีไมเคิล ไรอันเป็นกรรมการผู้จัดการโดยตรง เพราะยอดบิลลิ่ง 1 ใน 3 ของเทดเบทส์มาจากคอลเกต การสูญเสียคอลเกตไปเท่ากับการเสียเส้นเลือดใหญ่ไป ยิ่งกว่านั้น สินค้าต่าง ๆ ค่อยทยอยเปลี่ยนเอเยนซี่ โดยเฉพาะการที่ซาทชิแอนด์ซาทชิบีบให้เทดเบทส์ (ประเทศไทย) ให้ปล่อยแอคเคาท์ของสายการบินการูด้าที่ให้เทดเบทส์ (ประเทศไทย) เป็นผู้จัดสรรการซื้อมีเดียไป เพราะว่าซาทชิแอนด์ซาทชิมีลูกค้าที่เป็นสายการบินอยู่แล้ว

ถึงจุด ๆ นี้ไมเคิลก็ทนไม่ได้แล้ว เขาประกาศลาออกเมื่อวันที่ 16 มกราคม ด้วยความไม่พอใจ

ไมเคิล ไรอัน เดินแผนตอบโต้ด้วยการยกเลิกการจดทะเบียนเสียภาษีกับกรมทะเบียนการค้า ทำให้บริษัทเทดเบทส์ (ประเทศไทย) กลายเป็นบริษัทเถื่อนทันทีเพราะในฐานะของเทดเบทส์ไม่เหมือนกับบริษัททั่วไป

เทดเบทส์ (ประเทศไทย) ถือเป็นสาขาหนึ่งของเทดเบทส์ เวิลด์ไวด์ที่นิวยอร์ค รัฐบาลไทย-สหรัฐอเมริกา มีข้อตกลงให้บริษัทสหรัฐฯ มีสิทธิประกอบธุรกิจได้ในเมืองไทยเช่นเดียวกับบริษัทคนไทย (ตามสนธิสัญญาพิเศษระหว่างไทย-อเมริกา) และมีข้อยกเว้นในกฎหมายการจดทะเบียนการค้าว่าด้วยธุรกิจต่างด้าวบางประเภทที่ไม่ต้องจดทะเบียนการค้า ธุรกิจทำโฆษณาก็อยู่ในกฎนี้ด้วย

เทดเบทส์ก็ได้อภิสิทธิ์นี้ แต่สิทธิ์นี้หมดไปเมื่อซาทชิแอนด์ซาทชิเป็นเจ้าของใหม่ของเทดเบทส์ เพราะซาทชิแอนด์ซาทชิถือสัญชาติอังกฤษ เทดเบทส์ไม่ได้รับอภิสิทธิ์นี้ต่อไป

เมื่อไมเคิล ไรอัน ไปถอนการจดทะเบียนการเสียภาษีกับกรมทะเบียนการค้า เทดเบทส์ (ประเทศไทย) จึงกลายเป็นบริษัทเถื่อนทันที เท่านั้นยังไม่พอ ไมเคิล ไรอันได้ "แอบไปจดทะเบียนบริษัทเทดเบทส์ที่เป็นบริษัทของคนไทย เมื่อปี 2527" คนในกรมทะเบียนการค้าบอก

แต่จริง ๆ แล้ว "ไรอันตั้งใจจะโอนหุ้นให้บริษัทแม่ที่นิวยอร์ค เห็นได้จากเขาลงลายมือชื่อในตราสารการโอนหุ้นมอบให้บริษัทแม่ที่อเมริกา" คนใกล้ชิดไรอันบอก

เพราะไมเคิล ไรอัน ไม่พอใจนโยบายอันก้าวร้าวของซาทชิแอนด์ซาทชิตั้งแต่สั่งปลดโรเบิร์ต จาโคบี้ "23 ธันวาคม 2529 ไมเคิล ไรอันได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้ตราสารโอนหุ้นบริษัทเทดเบทส์ที่ไรอันแอบจดทะเบียนไว้แล้วโอนลอยให้บริษัทแม่ที่นิวยอร์คเป็นโมฆะ และได้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนหุ้นบางส่วนของกรุงเทพฯ เพื่อไม่แสดงความประสงค์จะโอนหุ้นให้อีกต่อไป" ผู้รู้เบื้องหลังแฉ

หลังจากนั้นเขาก็ออกไปตั้งบริษัทใหม่เอเอ็มแอนด์อาร์

และหลังจากนั้นเทดเบทส์ของซาทชิแอนด์ซาทชิฟ้องไมเคิลเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ แต่ภายหลังก็ประนีประนอมกันได้ เรื่องยุติตรงที่เทดเบทส์ไม่ฟ้องไมเคิล ไรอัน ไม่ฟ้องพนักงานที่ออกจากเทดเบทส์และไม่ฟ้องลูกค้าที่ไปอยู่กับบริษัทใหม่ที่ไมเคิล ไรอันตั้งขึ้น ส่วนไมเคิล ไรอันจะคืนหุ้นที่มีอยู่เดิมให้เทดเบทส์ เวิลด์ไวด์ อิงค์ ส่วนเทดเบทส์ของซาทชิแอนด์ซาทชิเปลี่ยนชื่อเป็น ทีบีแอล มีปีเตอร์ คูลลิ่ง เป็นกรรมการผู้จัดการ มีคุณหญิงชัชนี จาติกวณิช เป็นประธานในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่

วันที่สิ้นสุดเรื่องราววุ่น ๆ คือวันที่ 23 เมษายน รวมแล้วเป็นเวลา 3 เดือน

ไมเคิล ไรอัน ซึ่งได้ออกไปตั้งเอเอ็มแอนด์อาร์นั้นภายหลังได้เข้าร่วมกับเอเยนซี่อันดับ 9 ของโลก ดีเอ็มบีแอนด์บี

และนี่เป็นผลลัพธ์จากการที่ซาทชิแอนด์ซาทชิเทคโอเวอร์เทดเบทส์ นั่นเพราะวัฒนธรรมองค์กรเข้ากันไม่ได้ประการหนึ่ง ผลเสียของการเทคโอเวอร์มีอีกหลายประการ การสร้างสรรค์ในด้านครีเอทีฟซึ่งเป็นจุดใหญ่ของเอเยนซี่ กลับต้องมายุ่งยากด้านการเงินเหมือนกับที่เดวิด โอกิลวี่ กล่าวไว้ว่า "การซื้อเอเยนซี่มันเป็นเกมของอันธพาล ปัญหาก็คือว่าต้องจัดการกับมรดกที่บกพร่องเสียก่อนจึงจะกำไรได้"

เดือนมิถุนายนปีนี้ 13 เดือนหลังจากเทดเบทส์ถูกเทคโอเวอร์ เจดับบลิวทีกรุ๊ป บริษัทแม่ของเอเยนซี่เจวอลเตอร์ทอมป์สัน เอเยนซี่อันดับ 4 ของโลกถูกดับบลิวพีพี บริษัทการตลาดสัญชาติเดียวกับซาทชิแอนด์ซาทชิ ที่มียอดขายเพียง 35 ล้านดอลลาร์ ซื้อด้วยราคาถึง 556 ล้านดอลลาร์

ผลกระทบจากการเทคโอเวอร์ครั้งนี้รุนแรงมากสำหรับเอเยนซี่อันดับ 4 ของโลก ลูกค้ารายใหญ่ ๆ ถอนแอคเคาท์อย่างมโหฬาร

เบอร์เกอร์ คิง คอร์ป ประกาศย้ายแอคเคาท์ 200 ล้านดอลลาร์ ไปอยู่เอ็นดับบลิว เอเยอร์ กู๊ดเยียร์ ไทร์ แอนด์ รับเบอร์ ก็ถอนแอคเคาท์ 25 ล้านดอลลาร์ เอส. ซี. จอห์นสันแอนด์ซัน ก็ถอนแอคเคาท์มูลค่า 15 ล้านดอลลาร์ด้วย จนล่าสุดเป๊ปซี่ สไลด์ถอนแอคเคาท์ "เหตุผลหนึ่งเป็นไปได้ว่าเพราะบริษัทอเมริกันไม่ชอบบริษัทโฆษณาอังกฤษ ที่มันเป็นการเสียศักดิ์ศรีที่จิ๋วมาฮุบยักษ์" กรรมการผู้จัดการบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่งให้ความเห็น

ผลิตบุคลากรไม่ทัน

เศรษฐกิจไทยเติบโตมากในปีนี้ แต่เศรษฐกิจไทยเพิ่งจะเติบโตในช่วงเวลาไม่กี่สิบปีมานี้เอง โฆษณาที่เป็นเครื่องมือของบรรดาสินค้าต่าง ๆ ก็เติบโตในระยะเวลาอันสั้นเช่นกัน กล่าวได้ว่าวงการโฆษณาเมืองไทยเพิ่งจะบูมในเมืองไทยเมื่อไม่ถึงสิบปีมานี้

5 ปีที่ผ่านมางบโฆษณาเพิ่มมากขึ้นจาก 2,433 ล้านบาทในปี 2524 เป็น 2,712 ล้านในปี 2525 และ 3,535 ล้านบาทเมื่อปี 2526 ซึ่งเพิ่มมากถึง 30.35% ในปี 2527 ถีบตัวไปถึง 4,716 ล้าน ปี 2528 ยังสูงถึง 5,348 ล้าน แม้เศรษฐกิจตกต่ำ

ย่างเข้าปีนี้จึงเป็นปีที่เอเยนซี่กอบโกยกันอย่างเต็มที่ ทุกเอเยนซี่ต่างมุ่งสนองความต้องการของลูกค้า ประสิทธิภาพสูงสุดคือสิ่งที่เอเยนซี่นำเสนอแก่ลูกค้าในช่วงเวลานี้ บุคลากรใหม่ในวงการโฆษณามีไม่เพียงพอ คนใหม่ ๆ ที่สร้างก็ยังไม่มีบทบาทอย่างจริงจังคนที่ยังทรงบทบาทอยู่ก็คือบรรดามือเก่า ๆ ที่อยู่ในวงการมานาน

"คน" ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดในวงการเอเยนซี่ จึงมีการเปลี่ยนแปลงไม่หยุด ซึ่งมากที่สุดในปีนี้

ตำแหน่งที่มีการโยกย้ายกันบ่อยมาก ที่มากที่สุดก็คือฝ่ายสร้างสรรค์ ใครสามารถมีฝ่ายสร้างสรรค์ฝีมือดี ๆ หมายถึงสามารถกุมลูกค้าได้ในระดับหนึ่ง ในปีนี้อีกเช่นกันที่ฝ่ายสร้างสรรค์ระดับผู้อำนวยการฝ่ายย้ายกันบ่อย สุชาติ วุฒิชัย จากเทดเบทส์ ไปดีเอ็มบีแอนด์บี ศราวุธ ไกรกรรดิ จากลินตาส ไปดามาสค์ หรือต่อ สันติศิริ จากลินตาสไปสปา จนถึงสายัณฆ์ สุธรรมสมัย จากไทยอิมเมจ ไปดีเอ็มบีแอนด์บี ดลชัย บุณยรัตเวช จากโอกิลวี่ไปดีวายอาร์ และดนัย เยาหะรี จากไทยอิมเมจ เช่นกัน รวมถึงรอล สปอลดิ้งซึ่งเป็นประธานกรรมการและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของฮิวจ์ ก็อำลาจากเอเยนซี่ที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง

นอกจากบรรดาครีเอทีฟระดับผู้อำนวยการฝ่ายจะย้ายงานกันมากแล้ว ระดับรอง ๆ ของฝ่ายนี้ก็ลาออกกันเป็นว่าเล่น บรรดาครีเอทีฟเหล่านี้มักจะเวียนว่ายอยู่ในวงการเอเยนซี่ ครีเอทีฟหลาย ๆ คนดูจากตารางมีอยู่หลายคนที่ย้ายไปแล้วได้ตำแหน่งสูงขึ้นกว่าเดิม เช่น ต่อ สันติศิริ จากครีเอทีฟกรุ๊ป เฮด ของลินตาส ไปสู่ครีเอทีฟ ไดเรคเตอร์ ของสปา แอดเวอร์ไทซิ่ง หรือกรณีดลชัย บุณยรัตเวช จากฝ่ายสร้างสรรค์ของโอกิลวี่ ไปเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของดีวายอาร์

นอกจากฝ่ายสร้างสรรค์แล้ว ฝ่ายบริการลูกค้า ฝ่ายบริหารงานลูกค้า มีการย้ายบริษัทมากเป็นพิเศษเช่นกัน เป็นที่น่าสังเกตว่าฝ่ายเหล่านี้ทำงานด้านการตลาด ที่ไม่ค่อยมีความผูกพันกับวงการโฆษณาเหมือนกับบรรดาครีเอทีฟ มีอยู่หลายรายที่ออกจากตำแหน่งเหล่านี้ไปและออกไปทำงานด้านอื่นเลย ดังเช่นการลาออกของระดับผู้อำนวยการฝ่ายทั้งสามของดีดีบี นีดแฮม เวิลด์ไวด์ ไม่มีใครที่ย้ายไปอยู่บริษัทโฆษณาเลย สมชาย เตยะธิติ ไปอยู่บางกอกแอธเลติค ศรีธวัฒน์ อิทธิระวิวงศ์ไปเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาด นูทรี คอสเมติคส์ หรือสุวิทย์ วิมุตตานนท์ไปทำงานด้านอิมปอร์ต เอ็กซปอร์ตที่ฮ่องกงเลย อุทัย ลิมลาวัณย์ไปเป็นผู้จัดการฝ่ายธุรกิจทั่วไปบริษัทพารากอนเพ้นท์

อย่างไรก็ตามสาขาที่ไปทำงานส่วนมากก็จะไม่พ้นด้านการตลาด และส่วนใหญ่บรรดาผู้อำนวยการฝ่ายต่าง ๆ เหล่านี้ก็ยังคงเวียนว่ายและเกี่ยวข้องในวงการโฆษณาเช่นเดิม

สาเหตุของการย้ายฝ่ายบริการลูกค้านี้ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะว่ามีการย้ายแอคเคาท์ของบริษัทโฆษณามาก บรรดาคนเหล่านี้ก็ถูกดึงตัวไปเพื่อดูแลแอคเคาท์ลูกค้าที่เคยดูแลในบริษัทเดิม

เส้นทางนักโฆษณารุ่นเก่าจาก "มืออาชีพ" สู่ "เถ้าแก่"

และผลจากการที่วงการโฆษณาเติบโตเอามาก ๆ ในปีนี้เช่นกัน ทำให้บรรดามืออาชีพรุ่นเก่า เริ่มออกมาทำธุรกิจของตนเอง สาเหตุอื่น ๆ อาจจะเป็นเพราะว่าอึดอัดในบริษัทเก่า หรืออยู่ไปก็ไม่ได้ขึ้นแน่ ๆ หรืออาจถูกแขวนให้ไม่มีงานทำ และถูกบีบเนื่องจากนโยบายของเจ้าของบริษัทใหม่ ประกอบกับบรรดานักโฆษณาที่เด่น ๆ ในเมืองไทยยังมีจำกัดชนิดนับตัวได้

ผลก็คือการพาเหรดกันออกมาตั้งบริษัทโฆษณาขายตัวเอง เพราะเชื่อมั่นว่าตลาดในเมืองไทยยังมีช่องทางให้เดินอีกมาก และชื่อเสียงของตนเองยังขายได้ ที่สำคัญระดับที่ออก ๆ มานี้มักจะเป็นระดับยักษ์ กรรมการผู้จัดการ ที่ติดต่อกับลูกค้าอยู่แล้ว เมื่อออกจากบริษัทเดิมมาแอคเคาท์ลูกค้ามักจะตามมา อย่างกรณีของเทดเบทส์เห็นได้ชัด

การลาออกของบรรดามืออาชีพเหล่านี้ส่วนมากมักจะชวนบรรดาลูกน้องเก่า ๆ ที่เคยร่วมงานกันตามมาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาครีเอทีฟไดเรคเตอร์ทั้งหลายซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการ ที่ตามมาคือบรรดาฝ่ายบริการลูกค้า และฝ่ายบริหารงานลูกค้า เป็นลำดับ

อย่างไรก็ตามการลาออกของคนโฆษณายังคงมีอยู่ตลอดไป เป็นวงจรอันน่าเบื่อหน่ายอย่างนี้ เพราะ "คน" เป็นสินทรัพย์สำคัญที่สุดในวงการเอเยนซี่?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.