หน้าประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองของกลุ่มชนผู้บุกเบิกเมืองหาดใหญ่ซึ่งรอวันที่จะปิดหน้าสุดท้ายอย่างมีศักดิ์ศรีนั้น
นำพาให้สังคมหาดใหญ่ก้าวเข้าไปเผชิญหน้าท้าทายกับอิทธิพลทางเศรษฐกิจที่แฝงเร้นมาในรูปแบบต่างๆ
อย่างถึงลูกถึงคนมากขึ้น
หาดใหญ่ยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และคงเจริญก้าวหน้าเป็นเสาหลักของภาคใต้ยิ่งขึ้นไปอีกอย่างไม่มีวันหยุดยั้ง
ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่งเหล่านี้ สิ่งหนึ่งที่น่าขบคิดมากก็คือ
ทำไม? กลับเป็นความล้มเหลวและพ่ายแพ้อย่างยับเยินทางธุรกิจของกลุ่มชนผู้บุกเบิกที่มีสายตายาวไกล!!!
กว่ากึ่งศตวรรษที่หมู่บ้านเล็กๆ อย่างตำบลทุ่งเสม็ดชุนซึ่งมีราคาที่ดินในสมัยก่อนเพียงไร่ละ
4 บาท ได้ถูกหักร้างถางพงสร้างบ้านแปงเมืองจนกลายเป็น "เมืองหาดใหญ่"
ที่ราคาที่ดินต้องซื้อขายกันถึงไร่ละ 65 ล้านบาทในปัจจุบัน กลายเป็นศูนย์กลางตอนใต้ที่มีสายสัมพันธ์กับการขยายตัวของระบบทุนนิยมโลกสมัยใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความเจริญที่บรรลุขีดสุดนี้มิอาจลืมชื่อบุคคลเหล่านี้ไปได้
หนึ่ง - คุณพระเสน่หามนตรี (ชื่น สุคนธหงส์) นายอำเภอเมืองหาดใหญ่คนแรก
สอง - ขุนนิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี) ต้นตระกูลจิระนคร คหบดีผู้ดึงทางรถไฟเข้ามาจนหาดใหญ่พลิกเป็น
"ชุมทางทอง"
สาม - พระยาอรรถกระวีสุนทร ชนชั้นศักดินาที่บริจาคที่ดินส่วนตัวร่วมพันไร่
เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จนกลายเป็น "ตัวแปร"
ที่นำพาความรุ่งเรืองมาสู่หาดใหญ่
สี่ - ซีกิมหยง เถ้าแก่ที่มุ่งมั่นชักลากระบบธุรกิจสมัยใหม่เข้าสู่หาดใหญ่
และเป็นต้นกำเนิดของ "ตลาดซีกิมหยง" ตลาดสินค้า "เถื่อน"
ที่ยั่วเย้าให้ใครๆ หลั่งไหลไปหาดใหญ่
ชนผู้บุกเบิกเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเจ้าของที่ดิน (LAND LORD) ซึ่งกระจายการถือครองที่ดินในสัดส่วนที่ไม่แตกต่างกันมากนัก
จนเกือบจะทั่วเมืองหาดใหญ่ และที่ดินหลายส่วนที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นโรงแรม
ตลาด ศูนย์การค้า ก็ล้วนเป็นผลผลิตจากมันสมองของคนเหล่านี้ทั้งนั้น พวกเขามีทั้งความคิดที่ปราดเปรื่องและสายตาที่แหลมคม
หากแต่ว่าวันนี้สายธารมรดกของความรุ่งเรืองเหล่านั้นกลับกลายเป็น "มุมอับ"
ที่นับวันยิ่งเพิ่มความไม่แน่ใจในชนรุ่นลูกรุ่นหลานของพวกเขาเสียแล้ว มันเป็นเพราะอะไร!??
วันนี้ของสาย "เจียกีซี" เพียงรอวันลบเลือน
"เมื่อ 83 ปีที่แล้ว หนุ่มจีนวัย 19 ปี จากมณฑลกวางตุ้งโดยสารมากับเรือเดินทางญี่ปุ่นพร้อมผู้โดยสารคนอื่นๆ
อีก 500 คน คนเหล่านั้นแออัดยัดเยียดระหกระเห่เร่ร่อนอยู่กลางทะเลกว้าง 7
วัน 7 คืนจึงถึงบางกอก…"
ตำนานรุ่งโรจน์ของ "จิระนคร" เริ่มตรงนั้น "เจียกีซี"
หรือเด็กหนุ่มคนนี้หลังถึงแผ่นดินสยามได้เข้าทำงานที่ร้านจำหน่ายสุราต่างประเทศ
"เต๊กเฮ่งไท้" แต่ทำได้ไม่นานก็ลาออกไปทำงานกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างทางรถไฟสายเพชรบุรี-ชายแดนภาคใต้
(ปี พ.ศ. 2448) โดยเป็นผู้ตรวจการและผู้จัดการทั่วไป
งานที่สร้างชื่อเสียงแก่เขาคือ การสร้างทางรถไฟช่วงพัทลุง-ร่อนพิบูลย์
(นครศรีธรรมราช) ในปี 2453 เพราะต้องเจาะอุโมงค์ลอดเขาซึ่งเดิมที่บริษัทเบอร์ลี่
ยุคเกอร์ จำกัด เป็นคนรับเหมาแต่ทำได้ไม่นานก็รามือ เนื่องจากคนงานล้มตายลงเพราะความยากแค้นกันดารเป็นจำนวนมาก
ทว่าเจียกีซี เข้ามาสานต่อ และทำได้เสร็จตามกำหนดเวลาจนช่องเขานั้นกลายเป็น
"ชุมทางเขาชุมทอง" ที่รู้จักกันในกาลต่อมา
หลังเสร็จงานรับเหมาก่อสร้างทางรถไฟ เขาได้ไปกว้านซื้อที่ดินบริเวณป่าต้นเสม็ด
บ้านโคกเสม็ดชุน จำนวน 50 ไร่ ด้วยเงิน 175 บาท ซึ่งต่อมาที่ดินบริเวณนี้
ทางการได้ขอซื้อต่อ เพื่อทำเป็นสถานีรถไฟ "โคกเสม็ดชุน" หรือสถานีหาดใหญ่ในปัจจุบัน
และเป็นเพราะไหวพริบทางการค้าที่เฉียบฉลาด เจียกีซีได้ปรับพื้นที่กว้าง
สร้างเป็นห้องแถวไม้หลังคามุงจาก 5 ห้อง โดยแบ่ง 2 ห้องแรก ให้เพื่อนเช่าทำเป็นโรงแรม
"เคี่ยนไห้" และ "หยี่กี่" ส่วน 3 ห้องที่เหลือเขาปรับเป็นบ้านพักอาศัย
ร้านขายของชำ และโรงแรมส่วนตัว "ซีฟัด" (ที่ตั้งธนาคารนครหลวงไทยในปัจจุบัน)
เขาเป็นนักวางผังเมืองที่เก่งคนหนึ่ง โดยดูได้จากก่อนที่จะสร้างห้องแถวได้มีการตัดถนนดินแดงขึ้นเป็นสายแรกอยู่ด้านหลังสถานีรถไฟ
เรียกชื่อถนนสายนี้ว่า "ถนนเจียกีซี" พร้อมกันนั้นก็ตัดถนนเพิ่มขึ้นอีก
3 สายเป็นตารางหมากรุก คือ ถนนเจียกีซี 1 (ถนนธรรมนูญวิถี) ถนนเจียกีซี 2
ถนนเจียกีซี 3 ซึ่งต่อมาทั้ง 3 สายนี้เปลี่ยนชื่อเป็นถนนนิพัทธ์อุทิศ 1,2,3
ตามลำดับ (ในปี 2472 เจียกีซีได้รับพระราชทานทินนามใหม่เป็นขุนนิพัทธ์จีนนคร)
ถนนทั้ง 4 สายในปัจจุบันถือเป็น "หัวใจ" สำคัญของเมืองหาดใหญ่
เขาไม่ได้เป็นเพียงแค่ต้นแบบของนักพัฒนาที่ดิน (DEVELOPER) เท่านั้น ยังเป็นนักฉกฉวยทางการค้ามือระวิงระไวคนหนึ่ง
โดยเริ่มบุกเบิกสัมพันธ์กับพ่อค้าจีนมลายู ซึ่งเป็นการวางรากฐานให้หาดใหญ่มีสายสัมพันธ์ทางการค้ากับมาเลเซียในระยะต่อมา
ว่ากันว่าผังเมืองก็ได้แนวคิดมาจากสุไหงปาดีของมาเลเซีย
หาดใหญ่ช่วงหลังทางรถไฟเสร็จเริ่มกลายเป็นศูนย์กลางติดต่อผู้คนสัญจรไปมามากขึ้น
เขาได้เปิดสำนักงาน "ยี้ซุ้นซอง" และ "โรงแรมกวั้นออนฝ่อ"
ซึ่งเป็นเรือนไม้สองชั้นหลังคามุงกระเบื้องแห่งแรกในหาดใหญ่ตรงข้ามกับเรือนแถวเดิมเพื่อเป็นที่รองรับผู้คน
พร้อมกับเขาถูกกำหนดให้เป็นผู้วางผังเมืองหาดใหญ่
เจียกีซีได้กว้านซื้อที่ดินเก็บไว้อีกหลายจุด ซึ่งแต่ละจุดถ้าไม่ถูกพัฒนาเป็นแหล่งธุรกิจของตนเองก็จะยกให้กับทางการกล่าวกันว่าหากที่ดินในเมืองหาดใหญ่ยุคนั้นแบ่งออกเป็น
4 ส่วน 1 ใน 4 ก็ย่อมเป็นของเขาด้วย "ส่วนใหญ่ที่ดินของเขาจะเป็นที่ดินที่มีความเจริญมากที่สุด
และอยู่ใจกลางเมืองที่สุด" คนเก่าของหาดใหญ่พูดถึงเขาให้ฟัง ซึ่งนั่นเป็นบทสะท้อนอย่างดีถึงการมองการณ์ไกล
นอกจากนี้ในช่วงที่รับงานซ่อมทางรถไฟสายอู่ตะเภา (ห่างจากหาดใหญ่ 1.5 กม.)
นั้น เขาได้ใช้เวลาว่างจากงานออกเดินสำรวจหาแหล่งแร่ดีบุกและวุลแฟรมที่เขาวังพา
ต. ทุ่งเสา และ ต. ท่าช้าง ซึ่งบริเวณนี้เป็นป่าทึบ ความยากลำบากในครั้งนั้นได้มอบโบนัสล้ำค่าเมื่อที่บริเวณดังกล่าวกลายเป็นแหล่งแร่สำคัญที่ถูกเขายึดไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของตระกูล
ความมั่งคั่งของเจียกีซีและ "จิระนคร" น่าที่จะหนักแน่นไม่คลอนแคลนง่าย
ๆ หากว่าเขาจะยึดติดกับการเป็นนักจัดสรรและพัฒนาที่ดินอย่างจริงจัง "จุดบอด"
ของเจียกีซีที่ส่งผลมาถึงความร่วงโรยในปัจจุบันเป็นเพราะเขาละเลยกับงานหลักดั้งเดิมโดยแท้
ซึ่งถ้าเขาคาดเดาได้แม่นยำอีกสักนิดว่า ราคาที่ดินในอนาคตของวันนี้จะพุ่งสูงยิ่งกว่าราคาทองคำ
เชื่อว่าเขาต้องเสียใจเอามาก ๆ ทีเดียว!!
เจียกีซีพลาดไปแล้วและไม่มีวันแก้ตัวเสียด้วย!!!
กล่าวกันว่าหลังจากที่ได้สัมปทานเหมืองแร่ ชีวิตทั้งชีวิตของเขาได้อุทิศให้กับมันหมด
ที่ดินหลายแห่งถูกแบ่งขายให้กับคนมาเลเซียหรือไม่ก็ธนบดีคนอื่น ๆ เพื่อนำไปลงทุนในกิจการเหมืองแร่
ธุรกิจที่ในสมัยก่อนยังไม่มีคนทำกันมากนัก
ว่าไปแล้วการตัดสินใจของเจียกีซี ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอย่างใด การช่วงชิงการนำของเขาน่าจะประสบผลสำเร็จอย่างสูง
ถ้าไม่เจอโชคร้ายที่ทุก ๆ คนในธุรกิจสายนี้มีโอกาสได้รับเท่าเทียมกันนั่นก็คือ
สถานการณ์ของราคาดีบุกในตลาดโลกที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ผันผวนอยู่ตลอดเวลา เรียกได้ว่าใครกะเก็งผิดพลาดก็มีสิทธิ์ถูกลบชื่อจากทำเนียบทันที
"เหมืองแร่ทำให้คนเป็นเศรษฐีในชั่วคืนขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะทำให้วิบัติฉิบหายวายวอดในคืนเดียวได้เหมือนกัน"
โชคร้ายของเจียกีซีที่ส่วนมากเขามักจะถูกล็อคข้างหลังเสียมากกว่า!!! ความหวังที่จะเป็น
"นายหัว" จึงคาราคาซังเป็นได้แค่ "หัวขบวน" ของการทำเหมืองแร่ที่หาดใหญ่เสียเท่านั้น!!!
"คุณพ่อถือคติว่าถ้าสิ่งใดอยู่กับคนหลายคนถึงจะเจริญได้ก็เหมือนกับที่ดินที่คุณพ่อถือครองอยู่"
กี่ จิระนคร ลูกชายของเขาพูดกับ "ผู้จัดการ" ที่ดูราวกับเป็นคำปลอบใจที่ดีที่สุดในเวลานี้ของ
"จิระนคร" ซึ่งถ้าพวกเขายังถือครองที่ดินอยู่อย่างมากมายแล้วล่ะก็
วันนี้ก็คงนั่งตกทองกันได้อย่างสำราญใจ!?
สถานการณ์เหมืองแร่ของ "จิระนคร" มีแต่ทรงกับทรุดมาโดยตลอด หลายแห่งต้องปิดตัวเองลงไปอย่างน่าเสียดาย
โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีแต่ความเลวร้ายเข้าครอบงำ "ไม่รู้จะทำอะไรเพราะเกิดมาคุณพ่อก็มีเหมืองมาให้แล้ว"
กี่บอกกับ "ผู้จัดการ" พร้อมกับตั้งความหวังว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าน่าจะถึงวันฟ้าใสของ
"จิระนคร" อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งขณะนี้เขาได้ส่งลูกชายไปเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์และกลับมาช่วยงานที่เหมืองถึง
4 คน
ความคึกคักของบ้านตระกูลจิระนครกลายเป็นเพียงเถ้าแห่งความทรงจำในอดีตไปเสียแล้ว
วันนี้ก็มีแต่ความเงียบเหงาเข้าครอบคลุม อุปกรณ์การทำเหมืองวางระเกะระกะอยู่หน้าบ้าน
ภายในบ้านมีเพียงสุกิตต์กับกิตติลูกชายพำนักอยู่ ส่วนกี่แยกตัวมาอยู่ตึกแถวห้องเดียว
บนถนนธรรมนูญวิถีถนนที่พ่อของเขาสร้างมันขึ้นมา
อดีตอันรุ่งเรืองของเจียกีซีและ "จิระนคร" กำลังจะเริ่มต้นต่อสู้ครั้งสุดท้ายอีกหนหนึ่งแล้ว!!!
สายพระเสน่หามนตรีมีแต่ความไม่แน่ใจ!?
พระเสน่หามนตรี (ชื่น สุคนธหงส์) นายอำเภอคนแรกของหาดใหญ่ที่มิมีบทบาทเป็นนักปกครองในงานสายตรงเท่านั้น
หากว่าเป็นนักธุรกิจและจัดสรรพัฒนาที่ดินอย่างแนบเนียนในทางอ้อมอีกด้วย ด้วยความเป็นเจ้าขุนมูลนายบวกกับฐานะเดิมของครอบครัวที่มีอันจะกิน
หลังจากมารับตำแหน่งนายอำเภอในช่วงที่หาดใหญ่มีสถานีรถไฟมาถึงแล้วนั้น พระเสน่หามนตรีก็กว้านซื้อที่ดินเก็บไว้หลายแปลง
แปลงที่สำคัญกลางเมืองก็คือบริเวณช่วงถนนธรรมนูญวิถีตัดกับถนนนิพัทธ์อุทิศ
1-3 (ปัจจุบันเป็นย่านของหนีภาษีที่ลือชื่อ)
พระเสน่หามนตรีดำเนินธูรกิจในรูปแบบของการให้เช่าที่ดินก่อสร้างบ้านพักหรือร้านค้าโดยได้ส่วนแบ่งเป็นรายเดือน
มากกว่าที่จะลงมือก่อสร้างเองเช่นเจียกีซี กล่าวกันว่าที่ดินครอบครองในระยะแรกของพระเสน่หาฯ
50 ไร่ซื้อมาด้วยเงินเพียง 200 บาท ตระกูลนี้ก็มีถนนเป็นสมบัติประจำเหมือนกับชื่อว่า
"ถนนเสน่หานุสรณ์" ต่อมาพระเสน่หาฯ ได้สร้างห้องแถวให้คนเช่าบ้างเหมือนกันแต่ไม่ฟู่ฟ่ามากนัก
ยุทธวิธีปั่นราคาที่ดินให้สูงขึ้นของชนชั้นปกครองผู้นี้ก็คือ อาศัยความได้เปรียบในแง่มุมต่าง
ๆ ตัดถนนผ่านเข้าไปยังที่ดินของตนซึ่งอยู่รอบนอกที่ดินของเจียกีซี ทว่าราคาซื้อขายกลับไม่แตกต่างกันเท่าไร!?
ลักษณะการสร้างสรรค์เมืองหาดใหญ่ของชนชั้นปกครองผู้นี้เท่ากับยิงกระสุนนัดเดียวได้นกถึงสองตัวคือ
หนึ่ง- ชื่อเสียง สอง-ความร่ำรวยส่วนตัว
สายพระเสน่หามนตรีมาจุดพลุสนั่นเมืองมากขึ้นในรุ่นที่ 2 เมื่อลูกสาวคือ
ชื่นจิตต์ สุขุม ได้แต่งงานกับ เกษม สุขุม อดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด และอาศัยเขาหนุนเนื่องทางสามีบวกกับความคิดสมัยใหม่ทางการค้า
คุณหญิงชื่นจิตต์ได้ลงทุนหลายสิบล้านสร้างโรงแรมอันดับหนึ่งขึ้นในหาดใหญ่
เมื่อ 16 ปีที่แล้วคือ "โรงแรมสุคนธา" และยังเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งแห่งแรกในภาคใต้ด้วย
โรงแรมสุคนธาเป็นธุรกิจของครอบครัวจริง ๆ เพราะ หนึ่ง-งบประมาณการก่อสร้างและดำเนินการแทบจะไม่พึ่งพิงเงินจากสถาบันการเงินแห่งไหนเลย
เป็นเบี้ยงอกเงยจากการพัฒนาที่ดินในสมัยพระเสน่หามนตรีเสียเป็นส่วนใหญ่ สอง-แบบของโรงแรมก็ออกแบบโดย
ปราโมทย์ สุขุม อดีตปลัดเมืองพัทยา (ปัจจุบัน ส.ส. กทม. และอดีตผู้ช่วยโฆษกรัฐบาล)
ซึ่งเป็นลูกชายคนโต "โรงแรมนี้เกิดขึ้นมาเพราะพี่ปราโมทย์ซึ่งจบสถาปนิกเกียรตินิยมมาจากมหาวิทยาลัยยูท่าห์ต้องการอวดฝีมือแม่เลยตามใจ"
ระยะแรก ๆ ของโรงแรมสุคนธาซึ่งถือเป็นธุรกิจใหม่ที่เชิดชูหน้าตาของตระกูลคุมงานโดยตัวคุณหญิงชื่นจิตต์เอง
แต่อาจเป็นเพราะมือไม่ถึงกับระบบจัดการที่ไม่รัดกุม ทำให้มีการโกงกันภายในจนตัว
"ป้อมเล็ก" ต้องกลับจากต่างประเทศลงมาช่วยดูแลอีกแรงหนึ่ง
การเกิดขึ้นของโรงแรมสุคนธา ท่ามกลางความไม่รอบรู้และชำนิชำนาญพอตัวในการทำธุรกิจโรงแรมของคนตระกูลนี้
แทนที่จะกลายเป็นอนุสรณ์เชิดหน้าชูตากลับเป็น "หอกข้างแคร่" ที่ทิ่มแทงให้เจ็บลึกอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน!!
กระทั่งตัว "ป้อมเล็ก" เอง ถึงวันนี้ก็เริ่มไม่แน่ใจมากขึ้นแล้วว่า
แนวคิดของแม่เมื่อสิบกว่าปีก่อนนั้นเป็นกับดักฆ่าตัวเองหรือเปล่า เพราะที่ผ่าน
ๆ มาที่ดินซึ่งเคยถือครองอย่างฟูเฟื่องในสมัยพระเสน่หามนตรีได้ถูกแบ่งขายออกไปเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายและปรับปรุงโรงแรมให้ทันสมัย
"ถ้าอาศัยขายที่ดินกินป่านนี้ก็รวยไปแล้ว" ป้อมเล็กรำพันเบา ๆ
กับ "ผู้จัดการ" หรือว่าบางครั้งต้องขายที่ดินเพื่อใช้เป็นเงินเดือนก็มี
สภาวะการแข่งขันของโรงแรมต่าง ๆ ในหาดใหญ่ที่ผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด กลับเป็นสุคนธาอีกนั้นแหละที่ต้องออกแรงหนักกว่าใครในการประคองตัวให้พ้นมรสุม
เพราะหากเปรียบกับโรงแรมชั้นหนึ่งที่มีอยู่ในขณะนี้ ดูราวกับว่าสุคนธาจะกลายเป็นโรงแรมระดับหนึ่งชั้นสองมากเข้าไปทุกทีแล้ว
"ถึงจะลดราคาลงมาคงช่วยได้ไม่มากนัก คงต้องปรับปรุงห้องพัก และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง
ๆ ให้ดีขึ้น ไม่เช่นนั้นอาจเสียแขกไปได้ง่าย ๆ" พนักงานของบริษัทหนึ่งที่ทำสัญญาเป็นลูกค้ารายปีบอกกับ
"ผู้จัดการ"
ลึก ๆ ลงไปของโรงแรมสุคนธาในปัจจุบัน ที่เคยกล่าวกันว่าเป็นสมบัติชิ้นมีค่าของตระกูลสุคนธหงส์นั้น
อาจจะกลายเป็นเพียงตำนานเล่าขานก็เป็นไปได้ เพราะช่องโหว่ทางการตลาดที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด
และการถีบตัวเองสู้แข่งทำให้ต้องดึงเอาตระกูล "โกวิทยา" เจ้าของกลุ่มบริษัทพิธานพาณิชย์
(ตัวแทนรถยนต์โตโยต้าและฮอนด้า) กับแบงก์ไทยพาณิชย์เข้าไปถือหุ้นอยู่ด้วย
ตระกูลโกวิทยาซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเศรษฐีใหม่มาแรงของภาคใต้ มีรากฐานมาจากเถ้าแก่จันกิมฮวยเจ้าของร้าน
"จันซุ่นฮวด" ที่เมืองสายบุรี จ. ปัตตานี ซึ่งเถ้าแก่เป็นพ่อของหลวงพิธานอำนวยกิจ
ผู้ก่อตั้งบริษัทพิธานพาณิชย์ จำกัด
พิธานพาณิชย์เติบโตอย่างน่ายำเกรงก็ด้วยฝีไม้ลายมือในการทำการค้าของ วิเชียร
โกวิทยา อดีตนายกเทศมนตรีหาดใหญ่ ซึ่งเป็นลูกเขยของหลวงพิธานฯ และเป็นเพื่อนซี้ของชาญ
อิสสระ เศรษฐีชื่อดังคนหนึ่งของเมืองไทย วิเชียรตั้งพิธานพาณิชย์ในหาดใหญ่ด้วยการเป็นเอเย่นต์ขายรถเชฟโรเลทก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นโตโยต้าและฮอนด้า
และที่หาดใหญ่นี้เองกลายเป็นฐานใหญ่ของกลุ่มนี้จนสามารถขยายสาขาเข้ามาตั้งในกรุงเทพฯ
วิเชียรเป็นคนชอบออกงานสังคมทั้งในฐานะส่วนตัวและทางราชการ เขามีสัมพันธ์อันดีกับนายแบงก์ทั้งหลาย
ถึงวันนี้แม้จะเป็นโรคไวรัสขึ้นสมองจนทำงานไม่ไหวแล้ว แต่เขาก็ยังต้องอยู่และมอบหมายงานให้ธรรมนูญ
โกวิทยา ลูกชายคนโตเป็นคนดุแลแทน
ธรรมนูญคนนี้แหละที่จะไม่เป็นเพียงแค่ผู้สร้างพิธานพาณิชย์ให้รุ่งโรจน์ยิ่งขึ้นไปอีก
ทว่าอาจจะเป็น "ตัวแปร" ต่อธุรกิจของตระกูลสุคนธหงส์ได้ทุกเวลา
เพราะคนหนุ่มวัยไม่ถึง 40 ปีคนนี้นัยว่าเป็นสัญลักษณ์ของนักธุรกิจหัวก้าวหน้าในภาคใต้
เขาจบด้านวิศวกรรมไฟฟ้าที่ออสเตรเลียเคยผ่านงานกับบริษัทยูไนเต็ดมอเตอร์เวิร์ค
ปัจจุบันเขาเป็นรองประธานกลุ่มพิทักษ์ประชาธิปไตยซึ่งมีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองในภาคใต้อย่างสูงขณะนี้จนถูกตั้งคำถามว่าเป็นซ้ายหรือขวา!?
การเข้าไปถือหุ้นอย่างเงียบไปในโรงแรมสุคนธาของ "โกวิทยา" จึงเสมือนหนึ่งเป็นคำถามท้าทายว่า
สมบัติของ "สุคนธหงส์" ชิ้นนี้ได้เดินทางมาถึงจุดสองแพร่งแล้ว-อยู่หรือไปอีกไม่นานคงได้รู้!?
สาย "ซีกิมหยง" ที่สุดจะไม่เหลืออะไร???
ซีกิมหยงเป็นเด็กหนุ่มจีนที่อพยพมาจากเกาะบอร์เนียวตั้งแต่อายุได้ 16 ปี
เพื่อมาทำงานกับลุง "ซีซือทิน" และพ่อ "ซียกซัน" (ขุนศุภสารรังสรรค์)
ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ และเมื่อก่อสร้างทางมาถึงสถานีหาดใหญ่
ครอบครัวนี้ก็ย้ายมาปักหลักสร้างตัวกันที่นี่ พร้อมกับที่ซีกิมหยงได้แต่งงานกับสาวไทยชื่อ
ละม้าย ฉัยยากุล
ซีกิมหยงกับเจียกีซีมีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษ และเขาก็กระทำเช่นเดียวกันด้วยการกว้านซื้อที่ดินแปลงต่าง
ๆ เก็บไว้มากมาย เพียงแต่ของซีกิมหยงมีลักษณะพิเศษตรงที่ว่า ที่ดินส่วนใหญ่ของเขาจะเป็นที่รอบนอกเมืองมากกว่า
ทั้งนี้เป็นเพราะความเกรงกลัวจะถูกระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
ถ้ามองในแง่พัฒนาการลงทุนแล้วนั้น ต้องยอมรับว่าซีกิมหยงกล้าและโดดเด่นกว่าเจ้าที่ดินทุก
ๆ คน เขาไม่ใช่สักแต่จะตัดถนนเพื่อดึงราคาที่ดินให้สูงขึ้น หรือแปลงที่ดินเป็นห้องพักบ้านเช่าเท่านั้น
ซีกิมหยงได้พัฒนาที่ดินอย่างครึกโครมด้วยการหันมาสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณูปโภคต่าง
ๆ ครบเครื่องไม่ว่าจะเป็นตลาดสด โรงภาพยนตร์ อาคารพาณิชย์ เขาเป็นเจ้าของ
"ตลาดซีกิมหยง" ตลาดนัดของหนีภาษีชื่อดัง
น่าเสียดายมากว่า ชีวิตที่มีอยู่ของเขาช่วงสั้นเกินไป เขาตายเมื่ออายุเพียง
50 ปีเท่านั้นและก็ด้วยจารีตประเพณีเก่าของคนจีนที่นิยมการมีลูกหลานมาก ๆ
ซึ่งเขายึดถือนั้นก็กลายเป็น "จุดบอด" ที่ถล่มทลายชื่อเสียงที่เคยมีมาอย่างช่วยไม่ได้
เมื่อเกิดกรณีพิพาทมรดกในกลุ่มลูก ๆ ทั้ง 11 คนของเขา
ความร้าวฉานภายในครอบครัวเป็นต้นเหตุให้ที่ดินแปลงต่าง ๆ ต้องตกไปอยู่ในมือของคนอื่นในช่วงระยะเวลาไม่นานนัก
หลังจากที่ซีกิมหยงเสียชีวิต และกว่าที่ทายาทของเขาก็จะรู้สึกรู้สาก็ช้าเกินการณ์ไปเสียแล้ว
เมื่อมรดกชิ้นสุดท้ายซึ่งเป็นที่ดิน 20 ไร่ ในการตั้งศูนย์การค้าซีกิมหยงนั้นได้ถูกเข้าครอบครองกิจการ
(ACQUISITION) จากบุคคลภายนอกอย่างแนบสนิทไปเสียแล้ว
ที่ดิน 20 ไร่กับศูนย์การค้าซีกิมหยงถูกจัดการโดยบริษัทซีกิมหยง จำกัด
ที่มีประจักษ์ วรพจน์ เป็นประธาน บริษัทนี้ถ้าคิดตามชื่อก็น่าจะเป็นของคนในตระกูลซี
แต่เบื้องหลังของบริษัทนี้นั้นเกิดขึ้นเพราะว่าคนในตระกูลซีต้องการยุติปัญหามรดกจึงร่วมหุ้น
40% กับบุคคลภายนอกตั้งบริษัทขึ้นมาดูแลแทน
มันสอดคล้องกฎธรรมชาติข้อหนึ่งที่ความพินาศย่อยยับของตระกูลบางตระกูลเป็นเพราะศึกสายเลือดโดยแท้เทียว
ซีกิมหยงเขาไม่พลาดเลยแม้สักนิดในเกมธุรกิจ แต่เขาเสียจังหวะตรงที่ไม่อาจจัดการระบบครอบครัวให้สอดคล้องไปกับการดำเนินธุรกิจสมัยใหม่
เขาหย่อนยานไปในเรื่องการวางแผนพัฒนาบุคคล
อนาคตของตระกูลซีคงไม่อัปยศเกินไปจนไม่เหลืออะไรไว้เป็นศักดิ์ศรี!!?
อรรถกระวีสุนทร ยังอยู่แต่สงบนิ่ง
พระยาอรรถกระวีสุนทรเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่คนหาดใหญ่ให้ความเคารพนับถือมากคนหนึ่ง
ชนชั้นศักดินาผู้นี้จัดเป็น "นักซื้อ" ที่ดินแท้จริง และก็น่าที่จะกล่าวได้ว่าทั้งตัวคุณพระและคุณหญิงหลงภรรยานั้นคือเจ้าที่ดินรายใหญ่ที่สุดของเมืองหาดใหญ่
นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของที่ดินย่านคลองเตย กรุงเทพฯ ที่ยังคงเหลืออยู่มาถึงปัจจุบันอีกไม่น้อยกว่า
300 ไร่
ที่ดินของตระกูลนี้ในหาดใหญ่กินเนื้อที่บริเวณสองฟากถนนไทรบุรีเดิม และที่เป็นผืนใหญ่ที่สุดก็คือที่ดินที่บริจาคให้กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร่วมพันไร่
(ปัจจุบันที่ดินฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยยังเป็นของตระกูลนี้อยู่อีกหลายร้อยไร่
คูณด้วยราคาไร่ละสิบกว่าล้านแค่แบ่งที่ดินขายก็รวยมหาศาลกันแล้ว)
พระยาอรรถกระวีสุนทรได้ซื้อที่ดินต่อจากเจียกีซีหลายแปลงและนำมาให้คนอื่นเช่าต่อ
ส่วนที่ลงทุนทำเป็นห้องแถวเองมีอยู่ด้วยกัน 43 ห้องริมถนนนิพัทธ์อุทิศ 3
ซึ่งต่อมาก็โอนขายให้คนอื่น ปัจจุบันนี้ซากแห่งความรุ่งเรืองของตระกูลนี้ในหาดใหญ่นับวันจะเลือนราง
มีเพียงสำนักงานซึ่งคอยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการขายน้ำยางในสวนยางเดือนละประมาณ
10,000 บาท และค่าเช่าตึกแถว 27 คูหาประมาณเดือนละ 80,000 บาทเท่านั้น
แต่ถึงอย่างไรก็ตามตระกูลนี้ยังคงถือครองที่ดินที่เหลืออยู่อีกมากในหาดใหญ่อย่างเหนียวแน่น
อาทิ บริเวณถนนนิพัทธ์อุทิศ 1, 2 และ 3 ซึ่งเป็นที่ดินย่านใจกลางเมืองราคาที่ดินบริเวณนี้ซื้อขายกันเป็นห้องแถวแถวละ
5-6 ล้านบาท
ทว่าคงอีกไม่นานที่จะเหลือเพียงชื่อเพราะบริษัทจัดการมรดกของตระกูลได้ตั้งนโยบายไว้แล้วว่าที่ไหนขายได้ก็จะขาย
ไม่เก็บไว้ทำประโยชน์อะไรอีกแล้ว นั่นก็เท่ากับรอวันปิดฉากไปอย่างไม่อายใคร
ซึ่งกล่าวในแง่นักลงทุนแล้วตระกูลนี้ภาพพจน์ออกจะต่ำกว่าทุกกลุ่มที่กล่าวมา
บทสรุป
กล่าวในที่สุดแล้วพัฒนาการทางเศรษฐกิจของหาดใหญ่นับว่ามีความแปลกแยกไปจากที่อื่น
ๆ ไม่น้อย โดยเริ่มต้นจากทุนนิยมที่แฝงเงามากับการจัดสรรและพัฒนาที่ดินเป็นหลัก
แล้วคืบคลานเข้าสู่ทุนพาณิชยกรรมที่เติบโตขึ้นมาอย่างเป็นอิสระภายหลังจากการล่มสลายของกลุ่มแรก
ซึ่งลักษณะของกลุ่มหลังนี้ถูกตอกย้ำด้วยอิทธิพลทางการค้าที่ "ปิดลับ"
อย่างมากมาย
ลักษณะการเติบโตของระบบทุนนิยมในหาดใหญ่ที่ปัจจุบันมีหลายส่วนอยู่ภายใต้การบงการของกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลที่ถืออภิสิทธิ์อยู่เต็มกำมือนั้น
นับเป็นก้าวกระโดดของการเติบโตที่เป็นที่น่าหวั่นหวาดต่อสังคมค่อนข้างสูง??
กาลเวลาเท่านั้นกระมังที่จะกระชากอำนาจเถื่อนที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ทุกรูปแบบให้เป็นที่รับรู้ของทุก
ๆ คน และเมื่อถึงเวลานั้นก็น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ว่า การเติบโตอย่างยั้งไม่หยุดของสังคมหาดใหญ่นั้นแท้ที่จริง
"ระบบการค้าแบบเถื่อน ๆ หรือระบบการค้าแบบสุจริต" อย่างไหนกันแน่ที่มีน้ำหนักโน้มเอียงมากกว่ากัน!!!
เหลือไว้เป็นตำนาน
จริง ๆ แล้วนั้นในอดีตของกลุ่มผู้บุกเบิกเมืองหาดใหญ่ล้วนมีความสัมพันธ์ที่จะผลักดันความก้าวหน้าอยู่อย่างเหมาะสมกลมกลืนไม่ว่าจะเป็น
ส่วนที่เป็นแบบแผนการผลิต (MODE OF PRODUCTIVITY) ส่วนที่เป็นแบบแผนการเมืองและปกครอง
และส่วนที่เป็นแบบแผนทางวัฒนธรรม
กระบวนการความสัมพันธ์ทางการผลิตของชนกลุ่มนี้ก็โดดเด่นและมีศักยภาพสูง
ไม่ว่าจะเป็นด้านกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต วิภาคกรรมผลผลิต หรือความได้เปรียบทางชนชั้น
ซึ่งชนกลุ่มนี้สามารถ "ปิดล้อม" และสร้าง "กลไก" ทางราคา
ให้ทุกคนยอมรับและสกัดกั้นการเติบโตของทุนกลุ่มอื่นได้ไม่ยากเย็น
ราคาที่ดินควรเป็นตัวบอกในเรื่องเหล่านี้ได้ดีที่สุด!!!
ทางเดินธุรกิจในหาดใหญ่น่าที่จะเอื้ออำนวยให้เป็น CLOSED ECONOMY สำหรับกลุ่มผู้บุกเบิกไม่กี่กลุ่มอย่างยาวนาน
ถ้าพวกเขาจะไม่พลาดกันในเรื่องเหล่านี้
หนึ่ง-รอยต่อที่แหว่งวิ่นจากชนรุ่นหนึ่งถึงชนรุ่นหนึ่งซึ่งไม่มีการวางแผนพัฒนาทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ
ดั่งกรณีของซีกิมหยงที่ลงทุนสร้างสาธารณูปการต่าง ๆไว้มากมาย แต่การบริหารงานอยู่ในกำมือของเขาเพียงคนเดียวเป็นหลัก
เมื่อต้องตายไปในขณะที่ยังไม่มีการแบ่งสันปันส่วนมรดกในหมู่ลูกหลานให้ลงตัวจึงเป็นต้นเหตุนำไปสู่ความหายนะในที่สุด
สอง-รากฐานของธุรกิจหลักที่ค่อนข้างจะโงนเงนเอามาก ๆ ทั้งเหมืองแร่ของเจียกีซีและโรงแรมสุคนธาของสุคนธหงส์
ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาในลักษณะที่ไม่พร้อมเท่าไรนัก ในเรื่องการจัดการและการบริหารการขาดความเป็นมืออาชีพที่แท้จริงทำให้สองกลุ่มนี้พลาดกันอย่างง่าย
ๆ
สาม-ความแหลมคมทางธุรกิจที่พูดกันมากว่าทั้ง 4 กลุ่มนี้ออกจะไม่ทันเหลี่ยมคูทางการค้าที่สับสนมากขึ้นในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาของเมืองหาดใหญ่
แม้แต่ที่ดินที่ครั้งหนึ่งพวกตนเคยเป็นผู้สร้างกลไกราคาขึ้นมานั้นยังต้องเสียรู้ไปหลาย
ๆ ครั้ง และนี่ก็เป็นการเปิดโอกาสให้เส้นสายโยงใยของกลุ่มอิทธิพลเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่พากันแข็งกร้าวขึ้นในหาดใหญ่
"ผมเชื่อว่าคนหาดใหญ่รู้ดีว่า 4 กลุ่มนี้ไม่เคยเปื้อนคาวหรือมลทินเหมือนบางกลุ่มธุรกิจที่เติบโตขึ้นมาอย่างพรวดพราด"
คนเก่าผู้หนึ่งบอกกล่าวกับ "ผู้จัดการ"