|

อิเล็กทรอนิกส์ครัวเรือน ยังชักแถวสู่กรีน มาร์เก็ต
ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 กุมภาพันธ์ 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
การตลาดของสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ครัวเรือน (Home Appliance : HA) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ผันโครงสร้างทางธุรกิจสู่เทคโนโลยีสะอาด หรือ green technology ท่ามกลางสภาวะที่ต้นทุนด้านพลังงานยังอยู่ในระดับสูง และประชมคมโลกยังคงตระหนักถึงความร้ายกาจของมลพิษที่เกิดจากคาร์บอนที่มาจากสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะเดียวกันหลายประเทศก็เพิ่มเติมกฎหมายและข้อบังคับให้มีการวางระบบกำจัดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสม พร้อมส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนน้ำมันมากขึ้น
หลักฐานที่ยืนยันแนวโน้มดังกล่าวอย่างชัดเจน ก็คือ การที่มีผู้ประกอบการหลายสิบรายนำเทคโนโลยีกรีนมาแสดงกันอย่างคึกคักในงาน Consumer Electronics Show ที่นครลาสเวกัส เมื่อไม่นานมานี้ ไม่ว่าจะเป็นหีบห่อในคอนเซปต์กรีนแพกเกจ หรือสินค้าที่หันไปใช้แหล่งพลังงานทางเลือกมากขึ้น เครื่องมือที่เป็นอุปกรณ์รีชาร์จจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรืออุปกรณ์กระจุกกระจิกที่ต้องใช้พลังงานเป็นตัวขับเคลื่อน
แถมบรรดาผู้ประกอบการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ๆ ยังเพิ่มพื้นที่ในแต่ละบูธเพื่อร่วมรณรงค์ลูกค้าให้ร่วมมือกันอนุรักษ์พลังงานของสินค้าครัวเรือน อย่างเช่น โทรทัศน์และเครื่องเล่นดีวีดี การใช้วัสดุรีโซเคิล ตลอดจนเปิดตัวโปรแกรมการรับซื้อคืนสินค้าเก่าเพื่อนำมาบริหารขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้อย่างเหมาะสม
แรงกดดันของผู้ประกอบการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ครัวเรือนนี้ได้ส่งทอดต่อไปยังซัปพลายเออร์ที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้เข้าใจว่าแพกเกจสินค้าก็ตามตัวสินค้าก็ตามจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และต้องพัฒนาต่อไปในระยะยาว
องค์กรกรีนพีช (Greenpeace) ซึ่งแต่เดิมอาจไม่ค่อยได้รับความสนใจจากนักการตลาดมากนัก แต่แนวคิดนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วในปัจจุบัน
ยกตัวอย่างเช่น กรณีของโตชิบ้าได้รับรางวัลที่เรียกว่า “kndos” ในรูปแบบของเรตติ้ง “กรีน” จากกลุ่มกรีนพีช ในฐานะผู้ผลิตแลปท็อปคอมพิวเตอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งแสดงความพอใจกับการที่ผู้ประกอบการใส่ใจกับการแสดงรับผิดชอบกับการรักษาสุขภาพแวดล้อมมากขึ้น
สินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับเรตติ้งว่า “Greenest” ในขณะนี้ คือ มอนิเตอร์ คอมพิวเตอร์ รุ่น L244OX ของโลโนโว แต่ก็ยังได้คะแนนเพียง 6.9 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ส่วนสินค้า R600 ของโตชิบ้า ได้คะแนน 5.57 เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงยึดมาตรฐานของสหรัฐฯที่มีชื่อเรียกว่า “Energy star Ratngs” มากกว่ามาตรฐานของกลุ่มกรีนพีช
อย่างกรณีของบริษัท แอลจี ของเกาหลี ที่วางตำแหน่งทางการตลาดในรูปแบบธุรกิจตามแนวคิด “กรีน” อย่างจริงจัง ด้วยการมุ่นมั่นผลิตสินค้าที่ประหยัดการใช้พลังงานและชิ้นส่วนรีไซเคิลเพิ่มขึ้น และออกคำขวัญที่เกี่ยวข้องว่า “Life is Good, when it’s green”
เช่นเดียวกับบริษัทพานาโซนิคที่พยายามสร้างสรรค์สินค้าเครื่องไฟฟ้าที่ต้องการการสิ้นเปลืองพลังงานลดลงเรื่อยๆ ซึ่งทั้งพานาโซนิคและแอลจีต่างออกสินค้าประเภทเครื่องซักผ้าที่ประหยัดทั้งค่าไฟฟ้าและปริมาณน้ำที่ใช้ในการซักแต่ละครั้ง ออกมาแข่งกันแย่งลูกค้าในตลาด และเมื่อไม่นานมานี้ซัมซุงก็ออกสินค้าในโมเดลเดียวกันออกมากระตุ้นยอดขายในตลาดเช่นกัน
การดำเนินงานแบบนี้ได้ ผู้ประกอบการชั้นนำของโลกที่กล่าวถึงข้างต้นจะต้องแยกสายงานการผลิตออกมาต่างหากเป็น green section โดยเฉพาะ ซึ่งบริษัทที่หันเหโครงสร้างธุรกิจมาในแนวนี้ก็จะพัฒนาหน่วยผลิตออกมาในทำนองนี้เหมือนกัน
พร้อมกันนั้น การออกโปรแกรมหลังการขาย เช่น การรับซื้อคืนหรือรับกำจัดสินค้าที่หมดสภาพการใช้งานแล้ว เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีโซเคิลก็เป็นแคมเปญที่มีหลายบริษัทออกมาเปิดตัวในตลาด อย่างที่เห็นออกข่าวใหญ่โตก็คือกรณีของโซนี่ที่มีโปรแกรมที่เรียกว่า “Take Back Recycling” ประสบความสำเร็จในการรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์มาแล้วเป็นน้ำหนักรวมกันกว่า 12 ล้านปอนด์ นับจากเปิดโครงการขึ้นเมื่อปี 2007 โดยมีทั้งตัวสินค้าของโซนี่เองและแบตเตอรี่หมดอายุแล้ว
อย่างไรก็ดี ในมุมมองของผู้บริโภคหรือผู้ใช้สินค้า การสำรวจพบว่าลูกค้ายังคงเน้นความสะดวกสบายของการใช้สินค้าเป็นหลัก แม้ว่าจะยอมรับว่าการที่สินค้าช่วยอนุรักษ์สภาพแวดล้อมจะเป็นเรื่องดีและน่าสนับสนุนก็ตาม
นั่นหมายความว่า ผุ้บริโภคยังอยากให้การพัฒนาสินค้าประเภท “กรีน” โปรดักส์ดำเนินการไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งรีบหรือล้ำหน้าเร็วมากจนเกินไป และคำนึงถึงปัจจัยด้านการออกแบบและการใช้งาน ผสมผสานให้เหมาะเจาะลงตัวในหลายๆ มิติ นอกเหนือไปจากการเน้น “กรีน” แล้ว
การสำรวจพบว่า กลุ่มลุกค้าที่มีความใส่ใจในสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือกรีนโปรดักส์ในระดับสูง และมีการไหวตัวกับเรื่องนี้มากกว่ากลุ่มลูกค้าอื่น ก็คือกลุ่มเด็ก ซึ่งส่วนหนึ่งได้กดดันและชี้นำให้ผู้ปกครองของพวกเขา หันมาซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นรูปแบบของ “กรีน” มากกว่าสินค้านอกกลุ่ม “กรีน”
เรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับตัวของนักการตลาดเองว่า วางตำแหน่งทางการตลาดของสินค้าของตนไว้ที่จุดใดของตลาด และจะใช้ความเป็น “กรีน” เพื่อเพิ่มยอดขายสินค้าได้หรือไม่
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|