|
อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ เส้นทางสายใหม่ ของอินเด็กซ์กรุ๊ป
ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 กุมภาพันธ์ 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
เส้นทาง 20 ปีของอินเด็กซ์ อีเว้นท์ เอเจนซี่ 2 พี่น้อง เกรียงไกร และเกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ได้สร้างปรากฏการณ์ให้กับการสื่อสารการตลาดไว้อย่างมากมาย ธุรกิจอีเวนต์ในวันที่อินเด็กซ์เริ่มเปิดตัว เป็นเพียงกิจกรรมการตลาดเล็กๆ ที่มีการใช้งานไม่แพร่หลายนักการจัดอีเวนต์ส่งเสริมการขาย แต่เดิมเคยเป็นงานของค่ายคอนซูเมอร์โปรดักส์ ยักษ์ใหญ่ หรือเป็นกิจกรรมสนับสนุนภายใต้แผนการประชาสัมพันธ์ ถูกขยายการใช้งานไปสู่กลุ่มสินค้าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรียลเอสเตต รถยนต์ ไอที ไปจนถึงงานบริการ อย่าง ธุรกิจแต่งงาน แม้แต่ธุรกิจสื่ออย่าง วิทยุ หรือนิตยสาร ก็ยังใช้อีเวนต์มาเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นการขายสปอตวิทยุ หรือโฆษณาบนหน้าหนังสือ
อีเวนต์ ที่เคยถูกเรียกให้เป็นงานสื่อสารการตลาดใต้เส้น Below the Line กลับมีการใช้งานแพร่หลาย และเติบโตไม่แพ้การสื่อสารเหนือเส้น Above the Line ผ่านสื่อหลักหลายสื่อที่เป็นฝ่ายถดถอยลงมาแทบติดเส้น อินเด็กซ์ฯ ก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน
"ตลอดเวลา 20 ปี อินเด็กซ์ฯ สร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ อยู่เสมอ เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นในวงการอีเวนต์ สิ่งที่เราทำถือเป็น Innovative ที่คนอื่นไม่กล้าทำ ตอนที่เราพูดว่า อินเด็กซ์ฯ เป็น Event Marketing เราก็เป็นเจ้าแรกที่ทำเรื่องนี้ อุปกรณ์ Special Effect ในวงการอีเวนต์ ที่ไม่เคยมีใครใช้มาก่อน เราเอาเลเซอร์ ไพโรเทคนิค มอเตอร์สกรีนเข้ามา เปลี่ยนให้วงการอีเวนต์เกิดสีสันต์ขึ้น นำเครื่องเล่นเข้ามา อิมพอร์ตโชว์จากต่างประเทศมาใช้กับงานอีเวนต์ในมอเตอร์โชว์ ก็ไม่เคยมีใครทำกัน" เกรียงไกร กล่าว
อินเด็กซ์ อีเว้นท์ เอเจนซี่ มีรายได้ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จากปี 2006 ทำรายได้สูงสุด 726 ล้านบาท เติบโตขึ้นถึง 42% เมื่อจบปี 2007 ด้วยตัวเลขรายได้ 1,040 ล้านบาท และในปีที่ผ่านมา แม้ธุรกิจส่วนใหญ่จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่คุกคามการทำธุรกิจตลอดทั้งปี แต่ 2 พี่น้องก็ยังผลักดันให้อินเด็กซ์ฯ เติบโตต่อเนื่องได้ถึง 22% เก็บรายได้ไปถึง 1,272 ล้านบาท
ซึ่งแม้จะเป็นการเติบโตที่สวยงามตลอดช่วงเวลา 3 ปีที่ธุรกิจในประเทศส่วนใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจโฆษณาอยู่ในภาวะถดถอย แต่มาถึงปีนี้ เกรียงไกร และเกรียงกานต์ กลับประกาศเปลี่ยนรากฐานของอินเด็กซ์ใหม่ ปรับเส้นทางของธุรกิจจาก Event Base มาสู่เส้นทางของ Creative Base พร้อมถอดป้ายชื่อบริษัทเดิม อินเด็กซ์ อีเว้นท์ เอเจนซี่ ลง ขึ้นป้ายใหม่ "อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ"
จับฐานครีเอทีฟ แทนอีเวนต์ พาอินเด็กซ์ฯ ก้าวสู่อนาคต
เกรียงไกร กล่าวว่า การเติบโตของอินเด็กซ์ฯ เกิดจากการทำงานที่ใช้ศักยภาพในด้านความคิดสร้างสรรค์(Creativity) ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่เนื้องานอีเวนต์ แต่ยังรวมไปถึงการเกิดธุรกิจใหม่ๆ อาทิ ธุรกิจ Catering ที่ไม่เคยมีบริษัทอีเวนต์ใดคิดมาก่อน แต่อินเด็กซ์ฯ ก็มีบริษัท Tresbien ดูแล ล่าสุดธุรกิจ Personal Branding ในบริษัทยังดี ก็เกิดจากความคิดสร้างสรรค์เช่นกัน
"วันนี้อินเด็กซ์ฯ เริ่มแตกธุรกิจออกไป และเริ่มมีไลน์ธุรกิจใหม่ๆ เข้ามา เช่น บริษัทยังดี ที่ต้องมีกิจกรรมไม่ใช่อีเวนต์ เช่น รายการโทรทัศน์ ละครเวที ทอล์กโชว์ หรือหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ก ถ้าเรายังใช้ชื่อบริษัทอีเวนต์อยู่ คนอาจสงสัย ดังนั้น เมื่อมองที่ธุรกิจโดยรวมของอินเด็กซ์ฯ ทั้งที่มีอยู่เดิม และกำลังจะเกิดขึ้นใหม่ ล้วนแต่มีพื้นฐานอยู่ที่ Creativity เราจึงทำการ Re-Positioning องค์กร และ Re-Brand อินเด็กซ์ขึ้นใหม่ ต่อไปนี้ถ้าพูดถึงอินเด็กซ์ เราคือ Index Creative Village ที่รวบรวมบริษัทที่มีความคิดสร้างสรรค์ สร้าง Innovation เกิดขึ้นตลอดเวลา"
เกรียงไกรกล่าวว่า ปรัญชาในการดำเนินธุรกิจของ Index Creative Village จะไม่ใช่การเติบโตจากตัวเองเพียงลำพัง แต่จะเป็นการเติบโตจากการที่อินเด็กซ์ไปร่วมธุรกิจกับคนอื่น ซินเนอยีธุรกิจเข้าด้วยกัน เป็นเสมือนหมู่บ้านที่มีคนที่มีครีเอทีฟมาอยู่รวมกัน มีความเชื่อมโยงทางธุรกิจ เชื่อมโยงด้านเงินทุน
ปัจจุบัน อินเด็กซ์ มีการดำเนินงานใน 7 กลุ่มธุรกิจ ภายใต้ 11 บริษัท ประกอบด้วย ธุรกิจอีเวนต์ มีบริษัทอินเด็กซ์, ธุรกิจ Rental มีบริษัท Event Solution และ MV1994, ธุรกิจ Production มีบริษัท Inspire Image และ d63, ธุรกิจ Communication มีบริษัท G Communication และ I think Ad, ธุรกิจ Catering มีบริษัท Tresbien, ธุรกิจ TV&Multimedia มีบริษัท Index TV และ Index Multimedia และธุรกิจ Personal Branding มีบริษัทยังดี โดย 2 ธุรกิจใหม่ที่แตกต่างไปจากธุรกิจเดิมของอินเด็กซ์ ที่เป็นบริษัทอีเวนต์ คือ ธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์ ปัจจุบันอินเด็กซ์ฯ มีการผลิตรายการ 3-4 รายการนำเสนอทางทีวีไทย และทรูวิชั่นส์ ขณะที่ Personal Branding มีแบรนด์แรกเข้ามา คือ นักแต่งเพลงชื่อดัง นิติพงษ์ ห่อนาค โดยเกรียงไกรกล่าวว่า ในอนาคต อินเด็กซ์ฯ จะขยายธุรกิจ โดยลงทุนด้านการผลิตให้มากขึ้น ตั้งเป้าการเติบโตในธุรกิจสื่อ และเอนเตอร์เทนเมนต์ให้มากขึ้น จะมีการขยายรายการโทรทัศน์อีก 7-8 รายการในปีนี้ ขณะที่แบรนด์บุคคลที่ยังดีจะสร้างผลงานในปีนี้
นอกเหนือจากนิติพงษ์ ห่อนาค แล้ว จะมีอีกราว 4 แบรนด์ ทำให้ชื่อของอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จะลงไปสู่ผู้บริโภคมากขึ้น เจาะเข้าสู่ตลาดแมสขึ้นด้วยผลงานจากธุรกิจใหม่ๆ เหล่านี้ ต่างจากอินเด็กซ์ อีเว้นท์ ที่ทำธุรกิจในรูปแบบ B2B เป็นส่วนใหญ่
เกรียงไกรกล่าวว่า ขณะที่แพลตฟอร์มอีเวนต์ พาอินเด็กซ์เติบโตมาได้ถึง 20 ปี แต่แพลตฟอร์มครีเอทีฟ จะส่งต่อให้อินเด็กซ์ฯ เดินหน้าไปได้ยาวนานกว่านั้น จนตนต้องมองหาผู้ที่จะดูแลธุรกิจต่อไปไว้แล้ว อดีตที่อินเด็กซ์ฯ ยังมุ่งอีเวนต์ เบส จึงยึดติดอยู่ที่ตน แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นครีเอทีฟ เบส จะไม่มีการยึดติดกับใคร การใช้ชื่อบริษัทเป็น วิลเลจ หมายถึงทุกคนสามารถขึ้นเป็นหัวหน้าหมู่บ้านนำพาองค์กรสู่ความอนาคตได้
"การเปลี่ยนแปลงของอินเด็กซ์ฯ ในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ เราเชื่อว่าการเติบโตของอินเด็กซ์ฯ ในอนาคตจะไม่ได้อยู่บนแพลตฟอร์มของอีเวนต์ที่จะโตอีกต่อไป แต่จะเป็นแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่เกิดจากครีเอทีฟ เบสของเรา และการขยายธุรกิจของอินเด็กซ์ฯ จะยังไม่สิ้นสุดแค่ ยังดี แต่จะมีการเปิดบริษัทใหม่ขึ้นอีก โดยในเดือนกุมภาพันธ์นี้จะมีการซินเนอยีธุรกิจกับค่ายบันเทิงยักษ์ใหญ่ มาร่วมสร้างหมู่บ้านของเราให้ใหญ่ขึ้นอีก
ในปีนี้ เกรียงไกร และเกรียงกานต์ ตั้งเป้าหมายว่า อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จะเริ่มแสดงศักยภาพ โดยจะสามารถรักษาการเติบโตในระดับ 22% ไว้ได้ มีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 1,560 ล้านบาท ในขณะที่ธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่กล้าคาดการณ์อนาคตแม้แค่ไตรมาสแรกว่าจะเป็นอย่างไรด้วยซ้ำ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|