จุดขายของโปรแกรมเอ็มบีเอที่ 9 สถาบัน ใน 14 โปรแกรมที่เปิดสอนในประเทศ
คือ วิทยากรหรือที่เรียกกันว่าอาจารย์
หลายคนคงจะคิดว่าคนที่เดินสายสอนหลายแห่งคงจะเป็น อาจารย์พิเศษ เพราะว่ามีประสบการณ์มาก
ๆ สถาบันต่าง ๆ อยากเชิญไปสอนเพื่อถ่ายทอดวิทยายุทธทางธุรกิจแก่นักศึกษาที่หลายคนพิสมัยอยากเป็นผู้ประกอบการ
แต่จริง ๆ แล้วอาจารย์ที่เป็น "ยอดนิยม" ของโครงการเอ็มบีเอทั้งหลายกลับไม่ใช่บรรดา
"มืออาชีพ" กลับเป็นอาจารย์ประจำ และไม่ใช่อาจารย์บจุฬาฯ ธรรมศาสตร์
หรือนิด้าอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ใช่อาจารย์จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีหรือเศรษฐศาสตร์
แต่กลับเป็นอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ดร. พิชิต สุขเจริญพงษ์คืออาจารย์คนนั้น (นับจากจำนวนแห่งที่สอนมิใช่จำนวนชั่วโมงมาสอน)
พิชิต จบปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากจุฬาฯ และสำเร็จปริญญาโทและดอกเตอร์จากเอไอทีทางด้าน
INDUSTRIAL MANAGEMENT ไม่เคยจบเมืองนอกด้วยซ้ำ แต่เขาเดินสายสอนถึง 8 แห่ง
ตั้งแต่
เอ็มบีเอ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เอ็มบีเอ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
เอ็มบีเอ นิด้า
เอ็มบีเอ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
มินิเอ็มบีเอ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เอ็มเอ็มพี จุฬาฯ และมินิเอ็มบีเอ เกษตร มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตก็ทาบทามให้เขาไปสอน
และหอการค้าก็ขอให้เขาไปเป็นอาจารย์พิเศษ
สิ่งที่น่าสนใจคือว่าทำไมเขาจึงเป็นที่นิยมเอามาก ๆ?
"ผมว่าอาจจะเป็นเพราะวิธีการสอนของผมก็ได้มั้งที่เป็นจุดเด่น"
พิชิต สุขเจริญพงษ์พูดถึงจุดเด่นหรือ "จุดขาย" ของเขาตามแบบฉบับธุรกิจมิผิดเพี้ยนในวันที่เขาต้องอบรมเรื่องคอมพิวเตอร์ให้กับพนักงานกสิกรไทย
"ดร. พิชิต สอนเก่ง เข้าใจง่าย พูดง่าย แกสอนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย
ๆ ได้ และเด็ก ๆ ตามแกทัน" นักเรียนมินิเอ็มบีเอรุ่น 18 ของธรรมศาสตร์ให้ความเห็น
ดูวิชาที่เขาสอนก็พอจะบ่งบอกถึงความเป็นที่นิยมได้
วิชาเกี่ยวกับเอ็มบีเอโดยทั่วไปจะแบ่งเป็นวิชาทางด้านการเงิน การตลาด การบริหารงานบุคคล
และการผลิต ที่สำคัญคือวิชาที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่กำลังทวีบทบาทอย่างสูงในปัจจุบัน
วิชาที่หาคนสอนได้ยากก็คือวิชาด้านการผลิตและคอมพิวเตอร์ "ที่จริงไม่ใช่ว่าหาคนสอนได้ยากหรอก
แต่ว่าหาคนถ่ายทอดเก่ง ๆ ยาก" คนวงการศึกษาเล่า
พิชิตเข้ามาเสริมในช่องว่างตรงนี้ วิชาที่เขาสอนแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม ด้านการผลิต
คอมพิวเตอร์และวิทยาการจัดการ
นอกจากนี้เขายังเป็นที่ปรึกษาอีกสามบริษัทล็อกซเล่ย์ โตชิบ้า และบูติคนิวซิตี้
"ผมเป็นที่ปรึกษาทางด้านการวางระบบงาน" พิชิตบอกกับ "ผู้จัดการ"
วันนี้พิชิตต้องเดินสายสอนอย่างหนัก เพราะการขาดแคลนบุคลากรด้านนี้ และต้องต่อสู้กับการนินทาของคนนอกที่จับตาดูอยู่ว่าจะเป็นการผูกขาดการสอนและจะคงรักษาคุณภาพไว้ได้มากแค่ไหน
"ผมว่าคุณภาพมันก็ขึ้นอยู่กับคนที่มาเรียนด้วยนะ ผมสอนที่ มธ. เป็นหลักเลย
RESOURCE เขาดี" พิชิตว่า
ภารกิจอันหนักหน่วงของเขาเป็นการพัฒนาบุคลากรทางธุรกิจ วันนี้เขายังคงไม่ย่อท้อต่อบทบาทด้านนี้
"ผมรักการเป็นครู เวลาสอนผมทุ่มเทมาก" เขาโฆษณาสรรพคุณตัวเอง
แปลว่าเขาจะเดินสายหนักยิ่งขึ้นหรือเปล่า??