|
มาร์คจ่อเลิก 'อีลิทการ์ด'
ผู้จัดการรายวัน(29 มกราคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
“โอบามาร์ก” ตั้งธงยกเลิกนโยบาย “บิลลาแม้ว” ล้มอีลิทการ์ดเยื้อรายล่าสุด หลังพบขาดทุนสะสม 4 ปีมากกว่าพันล้าน สั่งผู้บริหารหาแนวทางรักษาสิทธิประโยชน์สมาชิกกว่าพันราย แฉ!! สมัยขิงแก่ จ้องล้มมารอบหนึ่งแล้ว แต่เกรงกระทบปัญหาร้อยแปด ด้านผู้บริหารอีลิทการ์ดยังไม่เชื่อ ครม.จะมีมติปิดบริษัท ล่าสุดสั่งทีมผู้บริหารทีพีซีเรียกประชุมปรับแผนและศึกษาผลกระทบด่วนก่อนเสนอบอร์ดททท. 18 ก.พ.52 ขณะที่"แอตทีฟ" ตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ แนะถ้าปิดจริง รัฐต้องอุ้มสมาชิกเก่าไว้แล้วให้ข้อเสนอพิเศษเป็นทางเลือก หากยกเลิกสัญญาได้
นายพุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอขออนุญาตให้สมาชิกไทยแลนด์ อีลิท การ์ด มีสิทธิได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นพิเศษต่อไปได้ครั้งละ 5 ปีตลอดอายุบัตรสมาชิกและยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราเหมือนที่ผ่านมา และให้กระทรวงมหาดไทยไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ
ทั้งนี้ ภายหลังการพิจารณานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้นางสาวศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและคณะผู้บริหารบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด (ทีพีซี) ผู้ดำเนินโครงการบัตรไทยแลนด์ อีลิท การ์ด ซึ่งมาให้ข้อมูลมติ ครม.ดังกล่าว ไปจัดทำรายละเอียดเพื่อแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือสมาชิกไทยแลนด์ อีลิท การ์ด ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆโดยไม่ให้เกิดผลกระทบเพื่อเสนอครม.ในวันที่ 17 ก.พ.นี้
“นายกรัฐมนตรีได้สอบถามข้อมูลสมาชิกฯและความคุ้มทุนของโครงการ และมอบหมายให้ไปดูแลผู้เป็นสมาชิก ผู้ที่ได้รับสิทธิต่าง ๆที่ตกลงกันไว้ โดยเสนอทางเลือกที่จะยกเลิกโครงการนี้ในอนาคตอย่างแน่นอน แต่ยืนยันว่า ในวันนี้ยังไม่มีการประกาศยกเลิกโครงการนี้แต่อย่างใด”รองโฆษกฯกล่าว
นายพุฒิพงษ์ กล่าวว่า หากผู้เกี่ยวข้อพิจารณาทางเลือกเพื่อยกเลิกโครงการนี้ จะต้องพิจารณากรอบสมาชิกเพื่อไม่ให้เสียประโยชน์ และยังต้องพิจารณารูปแบบต่าง ๆเพื่อไม่ให้สมาชิกเสียประโยชน์ด้วย อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ไม่มีการชี้แจงรายละเอียดกระบวนการการจะยกเลิกหรือรูปแบบต่าง ๆในที่ประชุม ครม.แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามผู้บริหารบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด ชี้แจงว่า สมาชิกไทยแลนด์ อีลิท การ์ด ที่บริษัทฯสรุปข้อมูลผลประกอบการล่าสุดในปี 2549 พบว่า ขาดทุนสะสมถึง 1,142 ล้านบาท แต่ปี 2550-2551 ยังไม่มีการจัดทำรายงานผลประกอบการ แต่พบว่า มีการขาดทุนสะสมจำนวนมาก ขณะที่ข้อมูลสถานการณ์เงินพบว่ามีเงินสดหมุนเวียนของบริษัทฯ มีอยู่จำนวน 557 ล้านบาท
รายงานผลประกอบการตั้งแต่ ปี 2546 ที่เริ่มโครงการนี้ มีสมาชิกเริ่มต้น 249 ราย แต่ขาดทุนสะสม 134 ล้านบาท ปี2547 สมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 466 ราย ขาดทุนสะสม 384 ล้านบาท ปี 2548 สมาชิกเพิ่มขึ้น 251 ราย ขาดทุนสะสมเป็น 843 ล้านบาท และปี 2549 ขาดทุนถึง 1,142 ล้านบาท
สมัยขิงแก่'สุวิทย์'จ้องรื้อมาแล้วรอบหนึ่ง
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สมัยนายสุวิทย์ ยอดมณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มีการศึกษาและพิจารณาข้อดี-ข้อเสียของโครงการดังกล่าวว่าสมควรจะยกเลิกหรือไม่ และหากยกเลิกจะแก้ไขปัญหาอย่างไรกับสมาชิกที่ซื้อบัตรไปแล้วกว่า 1,743 คนจาก 49 ประเทศ
ทั้งนี้รายงานในสมัยนั้น พบว่า เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ หากตัดสินใจไม่รอบคอบหรือไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดี ก็จะกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศชาติ โดยเฉพาะหากเกิดกรณีการฟ้องร้องขึ้นมา อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการ(บอร์ด)การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะผู้ถือหุ้น
ขณะที่ ในสมัยนายวีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ เป็น รมว.ท่องเที่ยวฯ มีแนวคิดที่จะปรับโครงสร้างการใช้ให้บัตรอีลิท การ์ด ให้เป็นการให้องค์กรมาให้บริการมากกว่าขายบัตร และยังมีแนวคิดที่เปิดโอกาสให้คนไทยสามารถเป็นสมาชิกบัตรด้วย
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ขณะที่บอร์ด ททท. เคยเห็นว่า ทางออกที่ดีที่สุดคือการแปรรูปให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ เพราะการที่รัฐวิสาหกิจอย่างททท.เข้าไปลงทุนตั้งบริษัทเพื่อดำเนินการในโครงการนี้ ในหลักการก็ผิดมาตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะอีลิทการ์ดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือการตลาดในแง่ของการขายสินค้าตัวอื่น ไม่ได้มุ่งรายได้จากการขายบัตร ขณะเดียวกันต้องอาศัยการบริการจากคนอื่น ทำให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพและปริมาณได้และการนำเอกสิทธิของรัฐมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ก็ไม่เป็นธรรมและอาจมีผลกระทบแก่เอกชน
เนื่องจาก ทีพีซี ได้ทำสัญญาไว้กับพันธมิตรคู่ค้าจำนวน 299 ราย เช่น สปา 66 ราย สนามกอล์ฟ 33 ราย โรงพยาบาล 11 ราย โรงแรม 47 ราย รวมไปถึงตัวแทนการขาย ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนภูมิภาค (Distribution Partner)หรือDP จำนวน 4 ราย และตัวแทนรายประเทศ(Country Partner)หรือ CP จำนวน11 ราย รวมทั้งผลกระทบต่อพนักงานหากมีการปิดบริษัท และความเชื่อมั่นต่อนโยบายของรัฐบาลต่อนักลงทุนต่างชาติ
"เสธฯหนั่น"หนุนยกเลิก-ทำไปไม่คุ้ม
พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯทบทวนยกเลิกโครงการไทยแลนด์อีลิทการ์ด ว่า เห็นด้วยที่จะให้ยกเลิกเพราะเป็นโครงการที่มีการขาดทุนสะสมกว่า พันล้าน ดังนั้นจึงน่าจะยกเลิกไป ทั้งนี้โครงการดังกล่าวอนุมัติมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ ฝ่ายที่เกี่ยวน่าจะต้องไปดูว่าบริษัทที่รับดำเนินการโครงการนี้มีข้อเสนออะไรบาง ถึงขาดทุนตลอด
ผู้บริหารอีลิทการ์ดปรับแผนวุ่น
นางสาวศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกรรมการในคณะกรรมการ บริษัทไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด (ทีพีซี) ผู้บริหารโครงการอีลิทการ์ดซึ่งเป็นผู้ชี้แจงต่อที่ประชุมครม.ถึงผลการดำเนินงานของ อีลิทการ์ด กล่าวว่า ปัจจุบัน อีลิทการ์ด มีสมาชิก 2,900 ราย มีเงินสดหมุนเวียน 500 ล้านบาท สมาชิกของอีลิทการ์ดก่อให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมได้ตั้งคำถามว่า หากให้ทีพีซีดำเนินกิจการต่อไปผลจะเป็นอย่างไร และ หากต้องปิดกิจการจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง และ จะใช้เวลานานเท่าใดจึงได้ข้อสรุปมารายงาน ดังนั้นจึงตอบไปว่า ขอเวลาศึกษา 2 สัปดาห์จะกลับมารายงาน
โดยหลังเสร็จการประชุม ได้หารือกับผู้บริหารทีพีซี คือนายสรจักร เกษมสุวรรณ ประธานคณะกรรมการ ทีพีซี และ นายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย ประธานกรรมการบริหาร และรักษาการผู้จัดการใหญ่ ทีพีซี เห็นตรงกันว่าในวันนี้(29 ม.ค.52) ทีพีซีจะเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ในระดับหัวหน้าทุกภาคส่วน เพื่อหารือปรับแผนการทำงาน และ หารือแนวทางตามคำถามของ ครม. จากนั้นให้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการที่พีซี ในวันที่ 10 ก.พ.52 เพื่อนำข้อสรุปเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(บอร์ดททท.) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในวันที่ 18 ก.พ.52 จากนั้นจึงนำข้อสรุปทั้งหมด รายงานต่อที่ประชุม ครม.อีกครั้งให้พิจารณาตัดสินใจ
นายสรจักร เกษมสุวรรณ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด (บอร์ด ทีพีซี) ผู้บริหารโครงการบัตรไทยแลนด์ อีลิท การ์ด กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานว่า ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติว่าให้ทีพีซีหยุดดำเนินธุรกิจ แต่ได้รับรายงานว่าที่ประชุม ครม.มีมติให้ ทีพีซีดำเนินการต่ออายุวีซ่าให้แก่ผู้ถือบัตรสมาชิกอีลิทการ์ดได้อีกรายละ 5 ปี ดังนั้นหากมติ ครม.เป็นเช่นนี้ ก็ไม่น่าจะมีเรื่องของแนวคิดที่จะปิดบริษัท หรือให้บริษัทเลิกกิจการ แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการเช็คข้อมูลมติ ครม.ให้แน่ชัดอีกครั้งว่าจริงๆแล้ว มติ ครม.มีว่าอย่างไรบ้าง
เชื่อข้อมูลผิดพลาดกล้ารับประกัน
ทางด้านนายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย ประธานกรรมการบริหาร และรักษาการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด(ทีพีซี) ผู้ดำเนินโครงการบัตรไทยแลนด์ อีลิท การ์ด กล่าวว่า มีความคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับมติครม. เพราะเท่าที่รับทราบมาผลที่ประชุมครม.สั่งการให้บริษัทปรับปรุงแผนธุรกิจ โดยมุ่งหารายได้เพื่อลดภาวะขาดทุนต่อเนื่อง โดยให้ทำแผนมาเสนอต่อที่ประชุมครม.ในอีก 2 สัปดาห์ แต่โฆษก ครม.กลับแถลงว่า ที่ประชุมมีมติสั่งปิดกิจการทีพีซี พร้อมหาแนวทางการดูแลสมาชิกบัตร จำนวน 2,600 ราย โดยต้องเสนอแผนภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งบริษัทเชื่อว่า ครม.ยังคงให้เดินหน้าธุรกิจต่อไปแน่ เพราะจากมติที่ประชุมครม.ส่วนหนึ่งที่ออกมาว่า ให้ ทีพีซีต่ออายุวีซ่าให้แก่สมาชิกผู้ถือบัตรได้อีก 5 ปี ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าต้องมีการผิดพลาดในการแถลงข่าวแน่นอน โดยส่วนตัวเชื่อว่าโครงการนี้จะต้องเดินหน้าต่อ และถ้าเกิดอะไรขึ้นผมจะเป็นคนรับผิดชอบเอง
สำหรับการทำงานที่ผ่านมา บริษัทมีผลประกอบการขาดทุนในปีแรกกว่า 100 ล้านบาท ตัวเลขขาดทุนได้ลดลงต่อเนื่องทุกปี เพราะ เราได้มีการปรับปรุงแผนบริหารจัดการต่อเนื่อง ปัจจุบัน มียอดขาดทุนสะสมราว1,100 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการจัดทำแผนธุรกิจ โดยมุ่งหารายได้เสริมจากการให้บริการและการนำเงินสดไปลงทุนบางส่วนแต่ต้องได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินกับธนาคาร
สำหรับแผนธุรกิจปีนี้ จะให้ความสำคัญกับการหารายได้เสริม ในเวลา 1-2 ปี สัดส่วนรายได้เสริมจะเป็น 30-40% ของรายได้บริษัท ส่วนปีนี้ตั้งเป้ายอดขาย 200 ใบ สมาชิกปัจจุบันมีประมาณ 2,600 ราย
"หลังมีกระแสข่าวนี้ออกมา ก็มีผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสื่อมวลชน ได้โทรศัพท์มาสอบถามกันจำนวนมาก ส่วนพนักงานก็เสียกำลังใจ เบื้องต้นทางผู้บริหารบริษัทต้องเร่งหาความจริงให้กระจ่าย แล้วจะรีบทำหนังสืออย่างเป็นทางการ โดยแปลจากมติ ที่ประชุมครม. แจกจ่ายให้แก่สมาชิกที่อยู่ในต่างประเทศให้ได้รับทราบทั่วกันและเร่งด่วน โดยส่วนตัวเชื่อว่า เป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อนกันมากกว่า ที่จะมีการสั่งปิดบริษัทจริง สิ่งที่ห่วงที่สุดตอนนี้คือ บริษัทอยู่ระหว่างเปิดรับสมัครผู้จัดการใหญ่ เมื่อมีข่าวนี้ออกไปใครจะกล้ามาสมัคร"
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาก็มีกระแสข่าวลือว่า บริษัทได้ส่งจดหมายถึงสมาชิก เพื่อแจ้งยกเลิกสิทธิพิเศษต่างๆ ซึ่งความจริงแล้วเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งยอมรับว่าบริษัทได้ส่งจดหมายถึงสมาชิกจริง แต่เป็นบางรายเท่านั้น เพื่อแจ้งว่าวีซ่าที่ได้สิทธิพิเศษจากการเป็นสมาชิกอีลิทการ์ด ที่มีอายุถึง 5 ปี ใกล้จะหมดอายุแล้ว จึงขอให้สมาชิกที่วีซ่าใกล้หมดอายุ ซึ่งมีประมาณ 70-80 ราย ส่งหนังสือเดินทางมาให้บริษัทเพื่อนำไปต่ออายุวีซ่าแบบ 5 ปี ตามที่ ครม.ได้มีมติให้ดำเนินการต่อได้ สำหรับผู้ที่วีซ่าหมดอายุแล้วนั้นเบื้องต้น บริษัทแก้ไขสถานการณ์โดยบริการต่อวีซ่าแบบ 90 วันให้ใช้เป็นการชั่วคราว เพราะต้อรอเสนอที่ประชุมครม.ให้เห็นชอบก่อน
ถ้าปิดจริงต้องดูแลลูกค้าเก่า
นางสุนทรี จันทร์ประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอคทีฟ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายบัตรไทยแลนด์ อีลิท กล่าวว่าอยู่ระหว่างการเช็คข้อมูลจาก บริษัทไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด หรือ ทีพีซี ว่า ข้อเท็จจริงของมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เป็นเช่นใด เพราะ จากที่ได้รับทราบมาระบุว่า มีมติให้ ทีพีซีสามารถดำเนินการต่ออายุวีซ่าให้แก่สมาชิกผู้ถือบัตรไทยแลนด์อีลิทได้ต่อไปอีก 5 ปี พร้อมกับให้เร่งจัดทำแผนธุรกิจยื่นเสนอต่อที่ประชุมครม.ภายใน 2 สัปดาห์นับจากนี้ แต่ทีมโฆษกรัฐบาลกลับแถลงว่าที่ประชุมครม.มีมติให้ปิดบริษัททีพีซี
ทั้งนี้ หากมติครม.ให้ปิดบริษัททีพีซีจริง ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งทีพีซีและตัวแทนจำหน่ายก็ต้องมาหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไรกับสมาชิกกว่า 2,000 ราย ในขณะนี้ ซึ่งโดยส่วนตัวเบื้องต้นเห็นว่า ควรแบ่งสมาชิกเป็นกลุ่มๆตามพฤติกรรมการใช้บัตร เช่น กลุ่มสมาชิกที่ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้วซึ่งขณะนี้มีประมาณ 20% ของทั้งหมด ควรที่จะให้การดูแลเขาต่อไป ส่วนกลุ่มที่ถือบัตรเพื่อใช้สิทธิ์ในการซื้อที่อยู่อาศัยก็ต้องมาพิจารณาเป็นรายๆไปว่าใครที่เดือดร้อนจริง เพราะบางรายซื้อเพื่อเก็งกำไร หรือ ปล่อยเช่าต่อ แต่บางรายซื้อเพื่อใช้เป็นที่พำนักในวัยเกษียณจริงและได้ขายบ้านในต่างประเทศไปแล้วอย่างนี้เป็นต้น ส่วนตลาดเกาหลี ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ ซื้อเพื่อใช้สิทธิ์ในการเข้ามาเล่นกอล์ฟ ตรงนี้ไม่น่าจะมีปัญหามาก
โดยแต่ละกลุ่มวิธีการชดเชยก็แตกต่างกันไป โดยเบื้องต้น หากต้องปิดบริษัทจริง เชื่อว่ารัฐบาลยังคงต้องให้การบริการแก่สมาชิกที่มีอยู่แล้วอย่างแน่นอน เพื่อไม่ให้ประเทศเสียชื่อเสียงและขาดความเชื่อมั่นในสายตาคนต่างประเทศ เพราะลูกค้าสมาชิกของอีลิทการ์ด ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจและนักลงทุน จากนั้น ก็ต้องชี้แจงให้สมาชิกได้รับทราบถึงความจำเป็นว่าทำไมต้องปิดบริษัท และ จะมีการบริหารสมาชิกเก่าอย่างไร พร้อมให้ข้อเสนอเรื่องเงินชดเชยหากสมาชิกยินที่ที่จะยกเลิกสัญญา
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า หากมติครม.ให้ปิดบริษัททีพีซีจริงๆแล้ว เชื่อว่าผลกระทบเรื่องภาพลักษณ์ประเทศไทยเสียหายแน่นอน ยังไม่รวมเงินค่าฟ้องร้องที่สมาชิกจะต้องเรียกร้อง ดังนั้นจึงต้องการให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องมีการทบทวนให้ถี่ถ้วน
ผลงานพลาดเป้ามาโดยตลอด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทไทยแลนด์พริวิเลจ คาร์ด ก่อตั้งจากมติคณะรัฐมนตรีในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยแรกเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา โดยให้ทุนประเดิมจัดตั้งบริษัท 1,000 ล้านบาท จุดประสงค์ เพื่อเจาะนักท่องเที่ยวระดับบนที่เป็นกลุ่มนักธุรกิจและนักลงทุน เพื่อดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาประเทศไทย ด้วยบริการและสิทธิประโยชน์ที่จูงใจเป็นพิเศษ ตั้งเป้ายอดขายปีแรกที่ตั้งบริษัท ไว้ 1 ล้านใบ ในราคาสมาชิกรายละ 1 ล้านบาท แต่ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้ ยอดขายไม่ถึงเป้าหมาย และ มีการปรับลดเป้าจำหน่ายสมาชิกลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2551 ที่ผ่านมาตั้งเป้าสมาชิกใหม่เพียง 200 ใบ จากต้นปีที่ตั้งเป้า 600 ใบ และ 400 ใบ ตามลำดับ โดยปรับลดมาเรื่อยๆ ถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย และ ตลอดเวลาที่ดำเนินธุรกิจมา องค์กรได้มีการปรับแผนการทำงานมาโดยตลอด โดยเฉพาะเมื่อมีผู้บริหารรายใหม่เข้ามารับผิดชอบ
โดยนายสรจักร เกษมสุวรรณ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด (บอร์ด ทีพีซี) คนปัจจุบัน ได้เคยออกมายอมรับภายหลังการรับตำแหน่งเมื่อกลางปี 2551 ว่าการจัดตั้งอีลิทการ์ด มีระยะเวลาการเตรียมการณ์ที่รวดเร็วเกิดไป ไม่ได้ศึกษาเงื่อนไขให้ถี่ถ้วน จึงทำให้ที่ผ่านมา บริษัทไม่สามาถดำเนินการได้ตามแผน เพราะมั่วแต่ยุ่งกับเรื่องของการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งกับตัวแทนจำหน่าย และเงื่อนไขสมาชิก ประกอบกับการปรับขึ้นราคาสมาชิกเป็นใบละ 1.5 ล้านบาท แต่ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นทำให้ราคาบัตรในต่างประเทศปรับขึ้นมากกว่าเท่าตัว ทั้งที่ภาวะเศรษฐกิจโลกไม่เอื้ออำนวยให้คนต้องจับจ่าย ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการปรับแผนธุรกิจครั้งใหญ่ พร้อมกับแผนบริหารความเสี่ยง ล่าสุดจำนวนสมาชิกบัตรปัจจุบันมีประมาณ 2,600 ใบ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|