"ณรงค์ มหานนท์ เดินสายหลังเกษียณ"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

สมัยก่อนผู้ยิ่งใหญ่วงการเมืองมักจะมาดำรงตำแหน่งตามบริษัทใหญ่ ๆ อย่างประภาส จารุเสถียร มานั่งเป็นประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพฯ หรือบรรดาจอมพลทั้งหลายมานั่งเป็นอธิการบดีหลาย ๆ มหาวิทยาลัย

แต่สังคมธุรกิจและการเมืองปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก

ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศเป็นอีกพวกหนึ่งที่ได้รับเชิญให้เป็นกรรมการบริษัทใหญ่ ๆ ในปัจจุบัน เช่น ม.ร.ว. เกษมสโมสร เกษมศรี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นกรรมการแบงก์กสิกรไทย หรือล่าสุดที่อาสา สารสิน ก็เป็นกรรมการแบงก์กรุงเทพ

สำหรับข้าราชการตำรวจก็เป็นกรรมการแบงก์เช่นกัน พล.ต.อ. เภา สารสิน เป็นกรรมการแบงก์กสิกรไทย เป็นที่น่าสังเกตว่าตระกูลสารสินจะเป็นกรรมการแบงก์มากเป็นพิเศษ ไม่ใช่ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างเช่นตระกูลอื่น ๆ แต่เป็นในลักษณะตัวแทนสาขาอาชีพ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นตระกูลแห่งสายสัมพันธ์ แยกย้ายกันเป็นกรรมการกันหลายแบงก์ รวมทั้งพจน์ สารสิน ที่เป็นประธานแบงก์ไทยทนุในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง

แต่ลักษณะที่นิยมกันมากกันอย่างหนึ่งก็คือ เชิญข้าราชการเกษียณอายุมาดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา นายพลบางคนที่ออกจากราชการมานานตอนนี้ยังเป็นที่ปรึกษาอยู่หลาย ๆ แห่ง บางคนทำงานหนักกว่าราชการอีก

ข้าราชการตำรวจเป็นสาขาอาชีพหนึ่งที่ได้รับเชิญให้มาดำรงตำแหน่งที่ว่านี้ "เพราะธุรกิจเมืองไทยต้องการความสะดวกสบายในหลาย ๆ เรื่อง" ผู้สันทัดกรณีให้ความเห็น ยิ่งถ้าเป็นตำรวจด้วยแล้วยิ่งไม่ต้องกลัวว่าจะเหงาหลังเกษียณ

พลตำรวจเอกณรงค์ มหานนท์ ก็ไม่พ้นจากวัฏจักรนี้ ณรงค์ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจเมื่อปี 2525 ต่อจากพลตำรวจเอกสุรพล จุลพราหมณ์ ที่เป็น อ.ต.ร. ถัดจากพลตำรวจเอกมนต์ชัย พันธ์คงชื่น ที่ได้รับการแต่งตั้งในสมัยสมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ประกาศสั่งปลด พลตำรวจเอกศรีสุข มหินทรเทพ กลางอากาศ

ณรงค์เป็น อ.ต.ร. เป็นเวลาถึง 5 ปี เป็น อ.ต.ร. ที่ตงฉินมากที่สุดคนหนึ่ง ว่ากันว่าครั้งหนึ่งมีพ่อค้าคนหนึ่งขับรถเบนซ์ไปให้เป็นของขวัญวันเกิด "ท่านสั่งให้เอากลับคืนไปด่วน" คนที่อยู่ในเหตุการณ์เล่า

ชีวิตการเป็นตำรวจ 42 ปีของเขาไม่เคยมีข้อด่างพร้อย ตั้งแต่เป็นร้อยตำรวจตรีที่สถานีพญาไท จนเป็นใหญ่ในกรมตำรวจในตำแหน่ง อ.ต.ร.

จนถึงวันที่เขาเกษียณ (30 กันยายน 2530) เขาก็ลงจากตำแหน่งอย่างขาวสะอาด

ก่อนเกษียณมีข่าวว่าเขาจะไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แต่ก็ไม่ได้ไป ข่าวบางกระแสออกมาว่าเป็นการสร้างสถานการณ์

หลังเกษียณณรงค์ได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษา 2 แห่ง คือแบงก์กรุงเทพในตำแหน่ง "ที่ปรึกษาธนาคาร" และซุ่นหั่วเซ้ง หรือกลุ่มเกษตรรุ่งเรืองฯ บริษัทส่งออกข้างรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทยเชื้อเชิญณรงค์ไปเป็นที่ปรึกษา "เงินที่ได้มากกว่าสมัยเป็นอธิบดีกรมตำรวจเสียอีก" แหล่งข่าวในวงการบอก "ผู้จัดการ"

ยัง ๆ ไม่พอ เกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง ก้าวลงจากตำแหน่งประธานกรรมการมหานครประกันชีวิตให้ณรงค์ขึ้นแทน

บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร (ซีมิค) บริษัทในเครือธนาคารกสิกรไทยที่มีผลประกอบการที่รุ่งเรืองเอามาก ๆ บริษัทหนึ่ง มอบตำแหน่งรองประธานกรรมการให้เขา

และนี่คือบทบาทของพลตำรวจเอกณรงค์ มหานนท์ ภายหลังเกษียณ คงจะเป็นภาพสะท้อนสังคมไทยได้อีกแบบหนึ่งว่า สำหรับคนที่มากบารมี มีความสามารถและลูกน้องรัก ถึงจะเกษียณก็ยังต้องเดินสายเพื่อเป็นประโยชน์แก่เอกชน และจะได้ไม่เหงาอีกต่างหาก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.