รื้อโครงสร้างพลังงาน ลดอำนาจผูกขาด ปตท.


ผู้จัดการรายวัน(28 มกราคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

การตัดสินใจตรึงราคาก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวี รวมทั้งการปรับแผนการผลิตไฟฟ้าใหม่ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (16 ม.ค.) ถือเป็นการตัดสินใจของผู้นำประเทศที่ “รู้เท่าทัน” บรรดาแทคโนแครตด้านพลังงานและบริษัทยักษ์ใหญ่ ปตท. ที่ชงข้อมูลขึ้นราคาก๊าซมาให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบโดยอ้างเหตุผลสารพัด

แต่อย่างไรก็ตาม การเบรกขึ้นราคาก๊าซเป็นแต่เพียงการตัดสินใจเฉพาะหน้า เพื่อไม่ให้สวนทางกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เพราะโจทย์ที่เป็นปัญหาใหญ่ในเชิงโครงสร้างธุรกิจก๊าซและน้ำมัน ซึ่งอยู่ภายใต้การยึดกุมในลักษณะกึ่งผูกขาดโดย ปตท. บริษัทเอกชนที่อาศัยอภิสิทธิ์รัฐวิสาหกิจดำเนินธุรกิจทำกำไรบนหลังประชาชนคนไทยนั้น รัฐบาลยังไม่ได้เข้าไปแตะต้องแม้แต่น้อย

ยังไม่นับว่า กระบวนการตัดสินใจด้านนโยบายพลังงานของชาติ รัฐบาลอภิสิทธิ์ จะกล้าผ่องถ่ายอำนาจการตัดสินใจไปสู่ประชาชนผ่านการลงประชามติหรือผ่านตัวแทนประชาชน คือ รัฐสภา ดังประเทศอารยะทั้งหลายหรือไม่ โดยเฉพาะการให้สัมปทานพลังงานใหม่หรือต่ออายุสัมปทาน

ตลอดเวลาที่ผ่านมา อำนาจการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศไทย เป็นสิทธิ์ขาดของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีโดยมีกลุ่มบริษัทธุรกิจพลังงานเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง

กระทั่งในช่วงรัฐบาลทักษิณ บริษัทธุรกิจพลังงานได้พัฒนาตัวเองมายืนอยู่เบื้องหน้าอย่างสง่าผ่าเผยด้วยการส่งผู้บริหารเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานร่วมกับคณะรัฐมนตรีกำหนดนโยบายเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่บริษัทยักษ์ใหญ่รางวัลธรรมาภิบาล ซึ่งมีผู้ถือหุ้นเป็นนักการเมืองและเครือข่ายในคณะรัฐบาลนั่นเอง

ในช่วงหลายปีที่รัฐบาลทักษิณเถลิงอำนาจ จึงดูเหมือนว่าการตัดสินใจในเชิงนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลจะผ่านการปรึกษาหารือและไฟเขียวจากบริษัทยักษ์ใหญ่เสียก่อน และธรรมเนียมปฏิบัตินี้ได้พยายามส่งต่อให้รัฐบาลอภิสิทธิ์สืบทอด ดังจะเห็นได้จากการชงเรื่องยืนยันขึ้นราคาค่าก๊าซให้รัฐบาลตัดสินใจ “เอาตามที่เสนอ” เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา แต่การหักดิบไม่เอาตามข้อเสนอ แสดงให้เห็นว่าผู้นำจากพรรคประชาธิปัตย์ ยังมีกึ๋นและทันเกม โดยอ้างเหตุให้ตรึงราคาไปก่อนเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจโดยรวม

นับจากนี้ จึงเป็นที่น่าจับตาว่ารัฐบาลจะรุกอีกก้าวเข้ามาแก้โจทย์ใหญ่ในเชิงโครงสร้างด้านกิจการพลังงานที่บิดเบี้ยว ลึกลับดำมืดยากที่ประชาชนจะเข้าถึงและเข้าใจ ทั้งที่เป็นต้นเหตุให้ค่าครองชีพสูงเกินกว่าความเป็นจริง โดยรูปธรรมของปัญหาที่สะท้อนออกมา เช่น

การขาดแคลนก๊าซแอลพีจีเทียม (ไม่ได้ขาดแคลนจริง) ทำให้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ กดดันให้รัฐบาลปล่อยราคาลอยตัวตามตลาดโลกทั้งที่ประเทศไทยมีก๊าซเป็นทรัพยากรของชาติเพียงพอต่อความต้องการ

ราคาน้ำมันโลกลดลงแต่ราคาน้ำมันในไทยกลับสูงขึ้น

ความลับของค่าการตลาดในธุรกิจขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปที่ไม่มีใครควบคุม

ต่างชาติซื้อน้ำมันสำเร็จรูปจากโรงกลั่นในไทยได้ถูกกว่าคนไทยซื้อ

ค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) เพิ่มขึ้นเพราะราคาก๊าซซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลัก กฟผ.ซื้อจาก ปตท. แพงกว่า ปตท.ขายให้บริษัทลูก

การกำกับดูแลในเชิงนโยบายที่มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ฯลฯ

ประเด็นการขาดแคลนก๊าซแอลพีจี โดยมีกลุ่มขนส่ง รถแท็กซี่ รถยนต์ดัดแปลง ตกเป็นจำเลยนั้น ความจริงแล้ว หากเข้าถึงและเข้าใจในข้อมูลพื้นฐานที่ว่า ณ ปัจจุบัน ประเทศไทย มีแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบขนาดใหญ่ที่ดำเนินการผลิตแล้วรวมกันมากกว่า 40 แห่ง สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว และน้ำมันดิบ รวมกันได้ถึง 726,000 บาร์เรลต่อวัน หรือเท่ากับ 115 ล้านลิตรต่อวัน (ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน) ก็จะเห็นถึงความอุดมสมกับสโลแกน “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในอ่าวมีก๊าซ” ซึ่งหมายถึงประเทศไทยมีทรัพยากรและมีความสามารถในการพึ่งพาตัวเองด้านพลังงาน ไม่ใช่ต้องนำเข้าอย่างเดียว

ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศไทยยังส่งออกน้ำมันและก๊าซไปขายต่างประเทศอีกด้วย โดยมูลค่าการส่งออกพลังงานของไทยในปัจจุบันสูงกว่ามูลค่าส่งออกข้าวซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทย กล่าวคือ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2551 ประเทศไทย ส่งออกพลังงานกว่า 8,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่ามูลค่าส่งออกข้าวซึ่งอยู่ที่ 5,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (สถิติการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ณ เดือนธันวาคม 2551)

**ที่น่าตื่นตาตื่นใจกว่านั้นก็คือ รายได้จากการส่งออกพลังงานของไทย มีมูลค่าใกล้เคียงกับมูลค่าการส่งออกน้ำมันของประเทศเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปก !!**

กล่าวเฉพาะก๊าซธรรมชาติ หากดูปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (ไม่รวมแหล่งบนบก) จะพบว่า มีมากกว่า 2,386 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (ข้อมูลกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ) ซึ่งปริมาณขนาดนี้หากนำมาเข้าโรงแยกก๊าซฯ ก็จะได้ก๊าซแอลพีจีหรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวเพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ ไม่ต้องพึ่งพิงการนำเข้า

แต่ปัญหาก็คือ ปัจจุบันประเทศไทย มีโรงแยกก๊าซฯ ทั้งหมด 7 แห่ง เป็นของ ปตท. 5 แห่ง ( 4 แห่งที่ระยอง และอีก 1 แห่งที่ขนอม) มีความสามารถแยกก๊าซฯ สูงสุดได้เพียง 1,770 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เท่านั้น ส่วนโรงแยกก๊าซแห่งใหม่ มีปัญหาการก่อสร้างล่าช้าโดย ปตท. ให้เหตุผลว่า ราคาก๊าซแอลพีจีในประเทศที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลไม่ให้เกิน 315 เหรียญฯต่อตัน ไม่จูงใจให้เกิดการลงทุน

ส่วนอีก 2 แห่งคือ โรงแยกก๊าซฯ ของบริษัททรานส์ ไทย-มาเลเซีย ที่ จ.สงขลา ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง ปตท. กับ เปโตรนาส มาเลเซีย มีกำลังการแยกก๊าซฯ 425 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ผลิตภัณฑ์ที่ได้ส่งให้กับมาเลเซียใช้ทั้งหมดตามสัญญา ส่วนโรงแยกก๊าซฯ ของ ปตท.สผ. ที่ จ. กำแพงเพชร มีปริมาณรับก๊าซเพียงวันละ 50 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเท่านั้น

เมื่อเหตุผลสำคัญที่ใช้ในการตัดสินใจลงทุนหรือไม่สำหรับ ปตท. บริษัทเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ฯในเวลานี้ ก็คือ ผลกำไร ต่างไปจาก ปตท. ในอดีตที่มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของชาติ ซึ่งคำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมของประเทศเป็นสำคัญ จึงเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนก๊าซแอลพีจีภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคซึ่งศึกษาลึกลงไปได้ค้นพบพบความจริงว่า ราคาก๊าซแอลพีจี ที่รัฐบาลกำหนด ณ โรงแยกก๊าซ ปตท มีกำไรประมาณ 8 บาทต่อกิโลกรัม

**ผลกำไร 8 บาทต่อกิโลกกรัม ปตท. ยังไม่ถือว่าจูงใจต่อการลงทุน !**

ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับราคาก๊าซในตลาดโลกที่พุ่งทะยานขึ้นไปถึง 800-900 เหรียญฯต่อตัน ในช่วงราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา

ในมุมของ ปตท. ก็คือ หากจะให้ลงทุนก็ต้องปล่อยลอยตัวตามราคาโลกที่มีขึ้นมีลง แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ แล้ว ปตท. จะปรับขึ้นหรือปรับลงตามตลาดโลกหรือไม่ ก็เห็นกันอยู่ในกรณีราคาน้ำมันที่ขึ้นราคาอย่างรวดเร็วแต่ปรับตัวลงอย่างช้าๆ

การวางหมากกลทางธุรกิจของ ปตท. ทำให้เกิดสถานการณ์ขาดแคลนก๊าซแอลพีจีภายในประเทศ เพื่อกดดันให้รัฐบาลลอยตัวราคาก๊าซ จนต้องนำเข้าก๊าซฯจากต่างประเทศในราคาตลาดโลก โยนภาระส่วนต่างของราคาก๊าซแอลพีจีในประเทศ ซึ่งถูกรัฐบาลควบคุมราคาอยู่ที่ 315 เหรียญฯต่อตัน ขณะที่ราคาตลาดโลกอยู่ที่ 800-900 เหรียญต่อตัน ซึ่งปตท. กล่าวอ้างว่าเป็นผู้แบกภาระขาดทุนไว้ประมาณ 9,000 ล้านบาท ให้รัฐบาลเข้าไปอุ้มโดยดึงเงินจากกองทุนน้ำมัน

**กลายเป็นว่า ผู้ใช้น้ำมันต้องจ่ายเพื่ออุ้มผู้ใช้ก๊าซ สร้างปัญหาทับซ้อนขึ้นไปอีก ทั้งๆ ที่รากเหง้าของปัญหาอยู่ที่ ปตท. ซึ่งคำนึงถึงแต่กำไรสูงสุด**

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานจากก๊าซในภาคขนส่ง อุตสาหกรรมและปิโตรเคมี หากจะเพิ่มมากขึ้น ด้วยเพราะประเทศไทยมีทรัพยากรอย่างเพียงพอต่อความต้องการหากบริหารจัดการให้ดีก็ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าโดยไม่จำเป็นดังที่เป็นอยู่ ก็จะเป็นการลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ ลดค่าครองชีพของประชาชนในระยะยาว แท็กซี่ ขนส่ง รถยนต์ดัดแปลงใช้ก๊าซ จะได้หลุดพ้นจากการตกเป็นจำเลยของ ปตท. เสียที

ไม่เช่นนั้น แผ่นเสียงตกร่อง “ลอยตัวราคาก๊าซ” ยังจะตามหลอนคนไทยไปอีกนาน หากรัฐบาลอภิสิทธิ์ ไม่เข้ามาจัดการปัญหาในเชิงโครงสร้างธุรกิจก๊าซซึ่งผูกขาดโดย ปตท. ในเวลานี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.