ส่งออกก.ค.ขยายตัว14.9% อดิศัยสุดปลื้มทั้งปี 10.58% ทำได้แน่


ผู้จัดการรายวัน(28 สิงหาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

อดิศัยทำนายส่งออกก.ค.ตรงเป้าหมาย เผยตัวเลข 100% มี มูลค่า 6,516 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 14.9% สูงกว่าที่เคยทำนายไว้ช่วงต้นเดือนเล็กน้อย ขณะที่ยอดรวม 7 เดือนขยายตัว 18.3% มั่นใจทั้งปี 10.58% ทำได้แน่ และอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ

นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนก.ค.2546 ซึ่งเป็นตัวเลข 100% การส่งออกมีมูลค่า 6,516.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว 14.9% การนำเข้ามีมูลค่า 6,467 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.4% โดยไทยยังเกินดุลการค้ามูลค่า 47 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 159.4% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้วที่ขาดดุลมูลค่า 83.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ การประกาศตัวเลขการส่งออก ในเดือน ก.ค. 100% นี้ ตรงตามที่นาย อดิศัย ได้เคยคาดคะเนไว้เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยตอนนั้นคำนวณจากตัวเลข 95% ว่าการส่งออกจะมีมูลค่า 6,450 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.7% การนำเข้ามีมูลค่า 6,403 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11.27% โดยดุลการค้าคาดว่าในเดือนก.ค.นี้ จะเกินดุล 0-10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือไม่เกินดุลเลย

สำหรับตัวเลขการส่งออก 95% ที่ได้รับรายการจากกรมศุลกากรนั้น การส่งออกมีมูลค่า 5,885 ล้านเหรียญสหรัฐ การนำเข้ามีมูลค่า 5,900 ล้านเหรียญ สหรัฐ

ส่วนการส่งออกของไทยในช่วง 7 เดือนของปี 2546 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่าทั้งสิ้น 44,732.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่แล้ว 18.3% ขณะที่การคาดคะเนเมื่อช่วงต้นเดือนประมาณว่าจะขยายตัว 18.1% การนำเข้ามูลค่า 41,473.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.7% ขณะที่การคาดคะเนอยู่ที่ 14.57% โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ามูลค่า 3,259.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 94.1%

"วันนี้การส่งออกของไทยไปได้ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยยอดส่งออก 7 เดือนขยาย ตัว 18.3% ทั้งปีเป้า 10.58% มั่นใจว่าทำได้แน่นอน แต่จะมากกว่านี้ยังไงเดี๋ยวก็รู้ เพราะหากในช่วงที่เหลือ ถ้าส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 6,200 ล้านเหรียญสหรัฐ เป้าที่ตั้งไว้ทำได้ แต่ถ้าส่งออกแต่ละเดือนเกินกว่านี้ การขยายตัวส่งออกจะเพิ่มมากขึ้นอีก" นายอดิศัยกล่าว

นายอดิศัยกล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกของไทยดีขึ้น เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ได้มีการเปิดตลาดใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง มีการร่วมมือกับภาคเอกชน ในการเดินทางไปเจาะตลาด ขณะที่ตัวสินค้าเองมีความหลากหลาย สัดส่วนตลาดลดการพึ่งพาตลาดหลักลงมา โดยการส่งออกมีสัดส่วนเพิ่มในตลาดใหม่ๆ มากขึ้น ขณะที่ปัจจัยทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนก็ไม่มีผลกระทบ และวันนี้ไม่ใช่ประเด็นหลักอีกต่อไป แต่ทั้งนี้ จะต้องอยู่บนพื้นที่ที่ว่าจะต้องไม่มีความผันผวนอย่างรุนแรง

สำหรับการส่งออกของไทยในช่วง 7 เดือนแรก เมื่อแยกเป็นรายตลาดพบว่า ตลาดหลักมีการขยายตัว 12.2% มีสัดส่วนการส่งออก 63.1% โดยสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.6% ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 15.9% สหภาพยุโรป เพิ่มขึ้น 18.1% อาเซียน (5 ประเทศ) เพิ่มขึ้น 15% ตลาดรอง ตลาดใหม่ และตลาดอื่นๆ เพิ่มขึ้น 30.2% มีสัดส่วนการส่งออก 36.9% แยกเป็นตลาดรองเพิ่มขึ้น 23.5% ได้แก่ ฮ่องกง เพิ่มขึ้น 16.5% ไต้หวัน เพิ่มขึ้น 30.4% เกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 14% ออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 36.4% แคนาดา เพิ่มขึ้น 26.5% ตลาดใหม่ เพิ่มขึ้น 35.7% ได้แก่ อินโดจีน (4 ประเทศ) เพิ่มขึ้น 38.4% ตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้น 10.3% แอฟริกา เพิ่มขึ้น 13.3% ละตินอเมริกา ลดลง 0.7% ยุโรปตะวันออก เพิ่มขึ้น 40.6% เอเชียใต้ เพิ่มขึ้น 35.9% โดยเฉพาะอินเดียเพิ่มขึ้น 56.8% และจีนเพิ่มขึ้น 77.6% ส่วนตลาดอื่นๆ เพิ่มขึ้น 27.7%

ขณะที่การส่งออกสินค้าของไทยในช่วง 7 เดือนแรก สินค้าเกษตรและอุต-สาหกรรมเกษตร เพิ่มขึ้น 19.7% สินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 15.7% โดยสินค้าสำคัญที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 10.8% เครื่องใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 12.4% สิ่งทอ เพิ่มขึ้น 9.9% อัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่มขึ้น 18.9% ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเพิ่มขึ้น 42.2% เครื่องใช้เดินทาง เครื่องหนัง รองเท้าเพิ่มขึ้น 2.3% ผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่มขึ้น 24.7% เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้น 22.9% เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนเพิ่มขึ้น 11.8% เครื่องใช้และเครื่องประดับตกแต่งบ้านเพิ่มขึ้น 6.8% สินค้าอื่นๆ ที่อยู่ในหมวดอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 24.1% ส่วนสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้น 27.9%



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.