ไอเอฟซีทีเล็งปล่อยกู้เพิม2หมื่นล้านบ. เน้นพัฒนาความสามารถ-เทคโนโลยี/


ผู้จัดการรายวัน(28 สิงหาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ไอเอฟซีที เร่งอนุมัติสินเชื่อครึ่งปีหลังอีกไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยเน้นสินเชื่อเพื่อการพัฒนาขีดความสามารถ และสนับสนุนการยกระดับเทค-โนโลยีการผลิต ขณะที่ครึ่งปีแรกปล่อยกู้แล้ว 944 ราย มูลค่ารวมเกือบ 1.6 หมื่นล้าน จากเป้าทั้งปี 3.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตัวแทนแบงก์ชาติและกระทรวงการคลัง เข้าชี้แจงความคืบหน้าการควบรวม กิจการระหว่างไอเอฟซีทีกับไทยธนาคารต่อคณะกรรมาธิการการคลัง พร้อมยืนยันการควบรวมไม่มีปัญหา

นายอโนทัย เตชะมนตรีกุล กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือไอเอฟซีที กล่าวถึง ผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือน แรกของปี 2546 ว่า ไอเอฟซีทีได้อนุมัติสินเชื่อรวม 944 โครงการ มูลค่ารวม 15,952 ล้านบาท สูงกว่า ประมาณการครึ่งปีถึงร้อยละ 11% และคาดว่าในปีนี้จะสามารถปล่อยสินเชื่อเกินเป้าหมายรวมทั้งสิ้น 36,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน

สำหรับรายละเอียดของการอนุมัติเงินกู้แก่โครงการอุตสาห-กรรม แบ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ จำนวน 76 โครงการ มูลค่า 7,327 ล้านบาท โครงการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวน 868 โครงการ มูลค่า 8,602 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 6,000 ล้านบาท ถึง 2,600 ล้านบาท หรือร้อยละ 43

ขณะที่ประเภทอุตสาหกรรมที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มพลัง งานไฟฟ้า และกลุ่มปศุสัตว์และประมง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23, 11 และ 9 ตามลำดับ และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ณ สินไตรมาส 2 เท่ากับร้อยละ 11

"ผลงานครึ่งปีแรกดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิเพิ่มขึ้น เป็นผลจากการบริหารหนี้ที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน กำไรก่อนการตั้งสำรอง หนี้สงสัยจะสูญจำนวน 702 ล้านบาท เทียบกับปีก่อน 249 ล้านบาท มีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ 570 ล้านบาท ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 132 ล้านบาท" ขณะเดียวกันในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไอเอฟซีที ได้โอนหนี้ให้บสท.อีก 793 ล้านบาท รวมเป็นหนี้ที่โอนทั้งสิ้น 8,217 ล้านบาท ด้านการเพิ่มทุนได้ดำเนิน การเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2546 โดยแบ่งเป็นเงินจากหุ้นสามัญจำนวน 3,000 ล้านบาท และหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์จำนวน 2,000 ล้านบาท

นายอโนทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากการเพิ่มทุนแล้ว ในครึ่งหลังของปี ไอเอฟซีทีจะเร่งอนุมัติสิน เชื่อเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะอนุมัติได้อีกไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาทโดยจะเน้นการอนุมัติสินเชื่อเพื่อการพัฒนาขีดความสามารถ และสนับสนุนการยกระดับเทคโนโลยีการผลิต อุตสาหกรรมเครือข่าย การให้กู้สำหรับนวัตกรรมใหม่ และอุตสาหกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน

พร้อมกันนี้ ไอเอฟซีที ยังได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดำเนินการร่วมกับธนาคาร SMEs ในเรื่อง การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดยรับผิดชอบสินทรัพย์ 2 ประเภท คือ ทรัพย์สินทางปัญญา และเครื่องจักร ซึ่งได้ร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา และธนาคาร SMEs กำหนดแนวทางและเกณฑ์การประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา

ส่วนด้านเครื่องจักร เดิมกรม โรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม จะ เก็บข้อมูลเฉพาะเครื่องจักรที่จดทะเบียนกับกรมโรงงาน แต่ตามนโยบายใหม่จะมีการเก็บข้อมูลเครื่องจักรที่ไม่ได้จดทะเบียน แต่มีการจำนำไว้กับสถาบันการเงิน ทำ ให้สถาบันการเงินเกิดความมั่นใจที่จะประเมินมูลค่าเครื่องจักรดังกล่าวเป็นหลักประกัน และเพิ่มวงกู้มากขึ้นด้วย

ส่วนความคืบหน้าการควบรวมกิจการระหว่างไอเอฟซีที กับธนาคารไทยธนาคาร นั้น วานนี้ ตัวแทนจากธปท.และสำนักนโยบาย การเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ได้เข้าชี้แจง ต่อคณะกรรมาธิการ การธนาคารและสถาบันการเงิน

นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์และติดตามฐานะ ธนาคารแห่งประ- เทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีการ ควบรวม ธนาคารไทยธนาคาร และ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT) ว่า การสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันการเงินเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว เพราะเป็นการป้องกันภาระที่จะเกิดกับประชาชนในอนาคต ซึ่งกรณีของไทยธนาคารกับ IFCT นั้นกำลังหารือกับสถาบันการเงินทั้ง 2 แห่งในด้านการดำเนินการควบรวม บุคลากร และด้านอื่นๆ โดยจะเชิญเข้ามาหารือภายในสองสัปดาห์

นายสรสิทธิ์ กล่าวว่า การควบ รวมในครั้งนี้ทาง ธปท.ได้ศึกษาข้อ กฎหมายแล้วพบว่ามีทางที่จะควบรวมได้ หากมีปัญหาเรื่องกฎหมายอื่นคงต้องมีการพิจารณากันอีกที ทั้งนี้ IFCT เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นโดยมี พ.ร.บ.เป็นของตนเองหากมีปัญหาตรงจุดนี้อาจมีการให้รัฐสภา ผลักดัน พ.ร.บ.ยกเลิก IFCT ได้

ส่วนไทยธนาคารนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของ ธปท.อยู่แล้ว คง ไม่มีปัญหาด้านกฎหมาย โดยคาด ว่าการควบรวมสถาบันการเงินทั้ง 2 แห่งคงเสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน

นายกฤษฎา อุทยานิน ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระ ทรวงการคลัง กล่าวว่า การควบรวมสถาบันการเงินทั้ง 2 แห่งนี้ เพื่อต้องการเพิ่มความเข้มแข็งให้ กับระบบการเงินของประเทศ โดยเฉพาะสถาบันการเงินทั้ง 2 ต่างก็มีจุดแข็งที่สามารถนำมารวมกันแล้วจะมีประสิทธิภาพขึ้นมาได้

"โดย IFCTนั้นมีความชำนาญ ในการปล่อยสินเชื่อกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นภารกิจของ IFCT เองโดยตรง แต่ขณะนี้ยังขาดประสิทธิภาพในการระดมเงินทุน แต่ไทยธนาคารมีจุดแข็งตรงนี้ เมื่อรวมกันแล้วจึงน่าจะเกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานมากขึ้น"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.