|
ทรูมูฟ ไอโฟน 3จี จุดเริ่มคอนเวอร์เจนซ์ไลฟ์สไตล์
ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 มกราคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ทรูมูฟ ทางสะดวก "ไอโฟน 3จี" ในไทย ประสบความสำเร็จเกินคาด แฟนพันธุ์แท้ "แอปเปิล" ต่อคิว นาน 5 ชั่วโมง รับเครื่องวันแรกพันคน "ศุภชัย" มั่นใจกระตุ้นรายได้จากบริการนอนวอยซ์ สานฝันยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ ด้านดีแทคประกาศเดินหน้าฟ้องร้อง "กสท" หลังเปิดทางทรูมูฟทดลองบริการ 3จี
ในที่สุด ภารกิจเปิดตัว "ไอโฟน 3จี" ในประเทศไทยของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เบอร์ 3 ในตลาด "ทรูมูฟ" บรรลุเป้าหมายเป็นที่เรียบร้อย ท่ามกลางกระแสข่าวในแวดวงโทรคมนาคมที่มองว่า การเปิดตัวในครั้งนี้ไม่คุ้ม เนื่องจากต้องรับภาระสร้างยอดขายให้ได้ตามเป้าที่ทางแอปเปิล อิงก์ กำหนดไว้
การเปิดตัวในครั้งนี้ของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ใช้พื้นที่ชั้น 5 พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน ทั้งชั้น เป็นเวลา 3 วัน เพื่อคอยบริการลูกค้ากลุ่มแรกที่จะได้เป็นเจ้าของไอโฟน 3จี โดยผู้มีสิทธิ์เข้าเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดตัวครั้งนี้ จะต้องเป็นผู้ที่ลงทะเบียนจองไอโฟน 3จี ผ่านทางเว็บไซต์ทรูมูฟที่เปิดให้จองครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ธันวาคมปีที่ผ่านมาเท่านั้น ถึงจะมีสิทธิ์เข้ามายืนต่อแถวในวันแรกที่เปิดตัว 16 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อมีสิทธิ์ที่จะเข้าไปช่วงชิงตำแหน่งคนแรกในประเทศไทยที่ได้เป็นเจ้าของไอโฟน 3จีอย่างถูกต้องจากทางแอปเปิล อิงก์ ไม่ใช่เป็นการลักลอบนำเข้ามาอย่างไม่ถูกต้อง
บรรยากาศงานเปิดตัวไอโฟน 3จีนั้นเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้ที่ลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์มาต่อคิวตั้งแต่ 16.00 น.ก่อนเวลาที่จะเปิดจริง 18.00 น. และเปิดให้เข้าลงทะเบียนในเวลา 20.00 น. สำหรับคนแรกที่มาเข้าคิวรอรับเครื่องไอโฟนคือ กฤษณ์ จิระมงคล ในที่สุด กฤษณ์ ก็ได้เป็นเจ้าของไอโฟน 3จีอย่างเป็นทางการ
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของวงการสื่อสารโทรคมนาคมไทย ด้วยการนำ ไอโฟน 3จี มาผสมผสานเทคโนโลยีของกลุ่มทรูเพื่อเสริมสร้างและเติมเต็มประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคชาวไทย ซึ่งทรูมูฟมีความยินดีและภูมิใจที่ได้รับความไว้วางใจจากแอปเปิลให้เป็นผู้นำนวัตกรรมล้ำสมัย ไอโฟน 3จี เข้าสู่ตลาดไทย ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศที่มีการเปิดตัวไอโฟน 3จีอย่างเป็นทางการกับผู้คนนับล้านทั่วโลก
ก่อนหน้าที่ทรูมูฟจะนำไอโฟนเข้ามาทำตลาดในไทยนั้น ปรากฏการณ์ไอโฟนฟีเวอร์ได้เกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศ ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ฮ่องกง มีคนเข้าคิวเพื่อเป็นเจ้าของไอโฟน 3จีเป็นรายแรกเป็นเวลาหลายชั่วโมง
ไอโฟน 3จี เปิดตัวครั้งแรกเมื่อ เดือนกรกฎาคม 2551 โดยเวลา 3 วัน ที่ทำการเปิดตัว ไอโฟนสามารถสร้างสถิติยอดขายกว่า 1,000,000 เครื่องใน 25 ประเทศ โดยทางแอปเปิลคาดว่า ภายในปีนี้จะมียอดขายไอโฟนที่เปิดตัวกว่า 70 ประเทศทั่วโลก อยู่ที่ 10 ล้านเครื่อง
"วันนี้ ทรูมูฟ กำลังมูฟชีวิตไปอีกระดับหนึ่งสู่ศักราชใหม่ของยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ ซึ่งจะทำให้วิถีการดำเนินชีวิตทั้งการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน มีความน่าตื่นเต้น สมบูรณ์แบบ และตอบสนอง ไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคลได้มากยิ่งขึ้น"
ศุภชัย กล่าวว่า การเปิดตัวไอโฟน 3จีในครั้งนี้ เป็นการผสมผสานที่ลงตัวและสอดรับกับยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ไลฟ์สไตล์ของทางกลุ่มทรู ที่มีความพร้อมเรื่องเทคโนโลยีไร้สาย ไม่ว่าจะเป็นไวไฟ เอดจ์ จีพีอาร์เอส รวมทั้งการเริ่มเข้าสู่บริการ 3จีในเร็วๆ นี้ ด้วยคอนเทนต์และแอปพลิเคชั่นหลากหลายของกลุ่มทรูที่ตอบสนองตรงใจแต่ละกลุ่มเป้าหมาย พร้อมเครือข่ายคอนเวอร์เจนซ์ของระบบโครงข่ายมือถือ ไอโฟน 3จีจะเป็นการเติมเต็มไลฟ์สไตล์ให้ผู้บริโภคชาวไทยสามารถติดต่อสื่อสารและเพิ่มความคล่องตัวได้อย่างไร้ขีดจำกัด
"ไอโฟน 3 จีจะทำให้ไลฟ์สไตล์ คอนเวอร์เจนซ์เกิดขึ้นจริงๆ ในเมืองไทย โดยจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตมากมาย"
ศุภชัยยังได้หยิบยกปรากฏการณ์ไอโฟนฟีเวอร์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกามาเล่าใฟ้ฟังว่า ในสหรัฐอเมริกาหลังจากที่เปิดตัวไอโฟน 3จี มาแล้วประมาณ 1 ปี พบว่าไอโฟน 3 จี เป็นอุปกรณ์ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตสัดส่วน 1% ของการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา และยังเป็นอุปกรณ์ที่ทำให้การบริโภคข้อมูลหรือดาต้าเพิ่มขึ้น 30 เท่าตัว
"ผมไม่ได้มองไอโฟน 3 จี เป็นมือถือ แต่เป็นอุปกรณ์ที่รวมเอาอุปกรณ์หลายอย่างเข้าด้วยกัน สามารถเล่นเกม ซื้อของ ดูหุ้น ทั้งยังรองรับการสื่อสารไร้สาย ไวไฟ เอดจ์ จีพีอาร์เอสและ 3จี โดยในไทยนั้นกำลังเข้าสู่บริการ 3จี ซึ่งจะช่วยให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเกิดแนวทางใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เรียกว่าเป็นวิวัฒนาการใหม่อย่างแท้จริง"
ส่วนประเด็นที่ว่า ปัจจุบันเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังไม่ได้ใครที่สามารถให้บริการเทคโนโลยี 3จีได้นั้น ศุภชัย กลับมองว่า แท้จริงแล้วไอโฟน 3จี รองรับการสื่อสารไร้สายผ่านเครือข่ายไร้สายไวไฟ เอดจ์ และจีพีอาร์เอส ซึ่งในส่วนของเครือข่ายไว-ไฟนั้นทรูมีจุดให้บริการทั้งหมด 16,000 จุดทั่วประเทศ ส่วนโครงข่าย 3 จีนั้นจะทยอยขยายเครือข่ายให้บริการต่อเนื่อง
ศุภชัย กล่าวว่า ตัวเลขยอดจองและยอดขายนั้นคงไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ถ้าดูจากฐานผู้ใช้เก่าที่ใช้ไอโฟน 2จี มีอยู่ประมาณ 100,000 เครื่อง ซึ่งนั่นเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ทางทรูมูฟมองไว้เช่นกัน และยังมีโอกาสที่ไอโฟน 3จี จะเข้ามาช่วงชิงตลาดในส่วนของสมาร์ทโฟนที่มีสัดส่วนประมาณ 7-8% ของตลาดมือถือโดยรวม
"รูปแบบการขายแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ ลูกค้าทั่วไปที่เปิดขายพร้อมแพกเกจเหมือนในหลายประเทศ โดยมีราคาเริ่มต้น 1,399 บาท และ แพกเกจสำหรับลูกค้าทรูมูฟที่มีความพร้อมซื้อครั้งเดียว ราคาประมาณ 24,000 บาท โดยจุดขายที่แตกต่างจากเครื่องหิ้ว คือ บริการ หรือแอปพลิเคชั่นที่กลุ่มทรูมูฟพัฒนาขึ้นมา และบริการหลังการขาย และในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552 ทางบริษัทมีแผนขายเครื่องไอโฟน 3 จี ที่ไม่มีสัญญาบริการเครือข่ายผูกมัด กับผู้สนใจทั่วไปอีกด้วย"
สำหรับงบประมาณในการเปิดตัวไอโฟนในครั้งนี้ ศุภชัย กล่าวว่า บริษัทใช้งบกว่า 50 ล้านบาท สำหรับการเปิดตัวโทรศัพท์มือถือไอโฟน 3 จี ครั้งแรกในประเทศไทย หลังจากนั้นก็จะเริ่มมีภาพยนตร์โฆษณาออกตามสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสื่อโทรทัศน์ใน 2 เวอร์ชั่น เพื่อกระตุ้นกระแสไอโฟนอย่างต่อเนื่อง
ทดลองเครือข่าย 3จี
ก่อนหน้าที่จะเปิดตัวไอโฟน 3จี 2 วัน ทางบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้ไฟเขียวให้บริษัท ทรูมูฟ จำกัด ทำการทดลองให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ เอชเอสพีเอ ในคลื่นความถี่ 800 เมกะเฮิรตซ์
จากการเปิดเผยของ ขจรศักดิ์ สิงหเสนี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กสท ครั้งที่ 25/2551 วันที่ 11 ธันวาคม 2551 มีมติเห็นชอบให้ กสท โดยบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ดำเนินการทดลองให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยเทคโนโลยี เอชเอสพีเอ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการให้บริการแบบทดลองในช่วงแรกในลักษณะนอนคอมเมอร์เชียลเกี่ยวกับการทดสอบอุปกรณ์และศึกษาข้อดี-ข้อเสียของระบบโครงข่าย ที่ได้มีการปรับปรุงคุณภาพของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยใช้เทคโนโลยีเอชเอสพีเอ
"การพิจารณาในครั้งนี้ได้ดำเนินตามกระบวนการพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกสารเข้าร่วมงานหรือดำเนินกิจการของรัฐ พ.ศ.2535"
ศุภชัย กล่าวว่า คลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตในครั้งนี้อยู่ที่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นความถี่เดิมที่ทาง กสท ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. โดยดำเนินการในลักษณะของ โค-แบรนด์กับ กสท.
"เบื้องต้นทรูจะทดลองให้บริการในเขต กทม. ในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่น จำนวน 30 สถานี กับลูกค้าในกลุ่มที่มีการใช้งานดาต้าสูง และคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ประมาณเดือนเมษายนศกนี้ หากเริ่มเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แล้ว บริษัทวางแผนลงทุนเพิ่ม 1,000 ล้านบาท เพื่อติดตั้งสถานีฐานรวม 600 สถานีทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแผนการลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจ 3G ของทรูมูฟ จากงบประมาณที่ตั้งไว้ประมาณ 5,000 ล้านบาท"
ท้วงติงทดลองคลื่น 3จี
ขณะที่ทางด้านบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ได้ยื่นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เพื่อให้มีการเพิกถอนคำสั่งหรือการอนุญาตใด ๆ ที่ให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือบุคคลใดใช้คลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์เพื่อให้บริการโดยเทคโนโลยี เอชเอสพีเอ
หนังสือที่ทางดีแทคส่งถึง กทช.เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรณีการใช้คลื่นความถี่ย่าน 850MHz โดยมีรายละเอียดดังนี้ สิทธิของบริษัทฯ ในการใช้คลื่นความถี่ โดยสิทธิการใช้คลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ เป็นสิทธิที่ดีแทคมีอยู่ตามการอนุญาตของรัฐ โดยผ่านกรมไปรษณีย์โทรเลขและการสื่อสารแห่งประเทศไทย ประกอบกับผลของสัญญาให้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าร์ ระหว่างการสื่อสารแห่งประเทศไทยกับดีแทค ทำให้ดีแทคมีสิทธิ์ใช้คลื่นความถี่ในย่านดังกล่าว ทางดีแทคจึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐให้ประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยได้ใช้คลื่นความถี่ที่เกี่ยวข้องนี้อยู่เดิม ก่อนการประกาศใช้ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 และพระราชบัญบัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 สิทธิดังกล่าวของบริษัทฯ จึงเป็นสิทธิตามการอนุญาตหรือตามสัญญาจากรัฐที่ให้ไว้เพื่อให้บริษัทฯ ใช้ในการประกอบกิจการโทรคมนาคม และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 (มาตรา 305) และมาตรา 80 ของพระราชบัญญัติการประกอบการกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544
สอง ดีแทคไม่ได้อนุญาตหรือเห็นชอบหรือมีข้อตกลงใดๆ กับ กสท หรือทรูมูฟ ในการที่จะให้ กสท หรือทรูมูฟ ใช้คลื่นความถี่ที่บริษัทฯ มีสิทธิใช้ตามกฎหมาย โดยการเจรจาเพื่อปรับปรุงโครงข่ายโทรคมนาคมไปสู่ 3จี รวมถึงการปรับปรุงคลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ระหว่างดีแทคกับ กสท ยังไม่มีข้อยุติ ดังนั้น กสท ไม่มีสิทธิ์นำคลื่นความถี่ดังกล่าวไปให้บริการเอง หรือมอบให้บุคคลอื่นให้บริการโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากบริษัทฯ
สาม การใช้คลื่นความถี่โดย กสท และทรูมูฟ ในย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ อาจเข้าข่ายถือเป็นการใช้และร่วมใช้คลื่นความถี่โดยผิดกฎหมาย และเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมเกินเลยจากที่ได้รับอนุญาต
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|