“โลว์คอสต”ปีฉลู...สู้ยิบตา...งัดสารพัดกลยุทธ์กระตุ้นนักท่องเที่ยว


ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 มกราคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

กลเกมการตลาด “โลว์คอสแอร์ไลน์”ช่วงต้นปีวัวดูจะคึกคักขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อไทยแอร์เอเชีย นกแอร์ และวันทูโก พยายามเปิดศึกช่วงชิงลูกค้าด้วยการสรรหากลยุทธ์ออกมาหวังกระตุ้นให้ตลาดตื่นตัว ซึ่งนับจากนี้เป็นต้นไปภาพการแข่งขันของธุรกิจการบินต้นทุนต่ำน่าจะมีออกมาเป็นระยะอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี

การเปิดตัวครั้งที่สองของสายการบิน วันทูโก เมื่อปลายปี 51 ที่ผ่านมา อุดม ตันติประสงค์ชัย บอสใหญ่แห่งค่าย วันทูโก แอร์ไลน์ จำกัด กล่าวยอมรับว่า การกลับมาให้บริการใน ครั้งนี้ บริษัทไม่มีแผนเปลี่ยนแบรนด์วัน ทู โกแต่อย่างใด เพราะเชื่อว่าคนไทยจะยังเข้าใจถึงเจตนาการให้บริการของบริษัท แต่ยอมรับว่าอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์บ้าง ซึ่ง บริษัทจะเน้นการบริการที่ดี เช่น บริการ น้ำดื่ม และเพิ่มเมนูอาหาร อย่างข้าวปั้น เพิ่มเติมจากการแจกถั่วบนเครื่องบิน

ขณะเดียวกันการจำหน่ายตั๋วราคาเดียว 1,650 บาทในทุกเที่ยวบินยังคงเป็นกลยุทธ์ที่ถูกหยิบนำมาใช้อีกครั้งเช่นกัน เพื่อไม่สร้างความสับสนให้กับผู้โดยสาร ซึ่งล่าสุดได้ปรับราคาตั๋วโดยสารเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ให้สอดคล้อง กับต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง โดยราคาตั๋วของสายการบินจะมีราคาเท่ากันทุกช่องทางการขาย รวมถึงราคาสุดท้ายก่อนเครื่องออกด้วย

ปัจจุบันการวันทูโกจึงเป็นสายการบินหนึ่งที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับธุรกิจการบินของประเทศมากขึ้น ซึ่งการเปิดให้บริการใหม่ครั้งนี้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ตามสายการบินอื่น เช่น การเก็บค่าธรรมเนียม เมื่อเปลี่ยนวันเดินทาง

“ผมจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยไม่เอาเปรียบผู้โดยสารแต่อย่างใด โดยตลอดระยะเวลาที่ปิดปรับปรุงกิจการได้เห็นมิตรภาพที่ดีจากลูกค้าที่มีฐานสมาชิกบัตรโกลด์ การ์ด กว่า 1,000 คน เอเยนต์จำหน่ายตั๋ว ส่วนใหญ่ต่างรอคอยให้สายการบินกลับมาให้บริการอีกครั้ง ซึ่งซึ้งใจมากที่มีคนให้การต้อนรับที่ดี” อุดม กล่าว

ขณะที่แนวทางการตลาด เริ่มมีการปรับเปลี่ยนแผนการบินให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละเส้นทาง ซึ่งปัจจุบันสายการบินวัน ทู โกได้เปิดให้บริการ จำนวน 4 เส้นทางรวม 8 เที่ยวบิน/วัน เท่านั้น ได้แก่ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต กรุงเทพฯ- หาดใหญ่ และกรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี

โฆษณาประชาสัมพันธ์แม้ว่าจะมีความสำคัญต่อธุรกิจแต่กลับไม่ใช่เรื่องที่ไม่จำเป็นสำหรับการเปิดให้บริการของสายการบินวัน ทู โก เนื่องจากต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก ดังนั้น อุดม จึงหันไปเล่นเกมการตลาดโดยตรงกับลูกค้าที่ใช้บริการอย่างต่อเนื่องผ่านทางอีเมล เว็บไซต์ ซึ่งปัจจุบัน มีฐานลูกค้าประมาณ 1 แสนราย การปรับปรุงระบบคอลเซ็นเตอร์จึงเป็นแนวคิดที่จะนำมาปัดฝุ่นให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

นี่คือแผนการรุกตลาดอย่างเต็มตัวเพื่อช่วงชิงลูกค้าในเส้นทางบินภายในประเทศ ขณะที่ในอนาคตอันใกล้นี้เส้นทางบินระหว่างประเทศคือโครงการที่จะทำการบินอย่างแน่นอน โดยใช้เวลาบินประมาณไม่เกิน 2-3 ชั่วโมง

แผนการตลาดที่ถูกวางไว้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 กลับมีความเข้มข้นเรื่องของกลยุทธ์ด้วยการปรับภาพลักษณ์การมองของผู้ใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์ แอร์ไลน์) ในสายตา คนไทยใหม่ โดยเฉพาะวัน ทู โก ที่จะไม่อยู่ในวงจรของธุรกิจโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ เนื่องจากธุรกิจนี้นับวันจะถอยหลังรอวันเจ๊ง ซึ่ง ภาวะดังกล่าวได้เกิดขึ้นในต่างประเทศหลายแห่ง เช่น ประเทศอินเดีย

การนำเสนอด้วยราคาสมเหตุสมผลในสายตาผู้ใช้บริการ เพื่อให้ธุรกิจการบินของประเทศมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีและทุกสายการบินสามารถประคองธุรกิจให้ฝ่ามรสุมลูกใหญ่ได้ แต่ภาพความเป็นจริงทุกสายการบินต่างใช้กลยุทธ์การ ตัดราคาเข้ามาห้ำหั่นกัน เห็นได้จากสายการบินแห่งชาติอย่างการบินไทยยังเข้ามาเล่นเรื่องราคาแข่งกับสายการบินโลว์คอสต์ แอร์ไลน์

อุดม ยังเชื่อว่าในปีนี้ภาพรวมของธุรกิจจะยังไม่ดี มากนัก ซึ่งปัจจุบันสายการบินวัน ทู โก มีอัตราที่นั่งเฉลี่ยที่ 30-40% โดยในอนาคตเชื่อว่าอัตราที่นั่งจะเพิ่มขึ้นเป็น 70%

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการเจรจาเช่าซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 จำนวน 6 ลำ เพื่อทดแทนเครื่องเอ็มดี 82 จำนวน 8 ลำ ซึ่งจะทยอยนำเข้ามาในปีหน้า การเพิ่มจำนวนเครื่องบินนับว่าเป็นผลดีต่อธุรกิจ แต่การลงทุนแต่ละครั้งนับว่าจะต้องใช้งบประมาณมากพอสมควร

ด้าน พาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ กลับมองว่าการหาพันธมิตรเพื่อร่วมธุรกิจน่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่พอจะ
สามารถสร้างรายได้ให้กับสายการบิน

ที่ผ่านมานกแอร์ตัดสินใจร่วมมือกับสายการบิน เอส จี เอ ผู้ให้บริการสายการบินขนาดเล็กเซสนา เป็นพันธมิตรทางการบิน ภายใต้แนวคิดตราสัญลักษณ์ร่วมหรือโค-แบรนดิง เพื่อส่งต่อผู้โดยสารไปยังเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวรอง เช่น กรุงเทพฯ-เชียงใหม่-ปาย กรุงเทพฯ-เชียงใหม่-เชียงราย

การร่วมมือดังกล่าวถูกเชื่อมต่อด้วยระบบการจองทางอินเทอร์เน็ต วิธีนี้จะช่วยสร้างแบรนด์สินค้าของทั้งสองสายการบินให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง รวมถึงเพิ่มทางเลือกให้กับผู้โดยสาร ด้านการขยายเส้นทางในประเทศที่เป็นเมืองท่องเที่ยวรอง การประสานความร่วมมือกันในครั้งนี้ ได้ทำให้สายการบินนกแอร์มีจำนวนเส้นทางบินในประเทศให้เลือกได้ทางอ้อม

ขณะที่ปัจจุบัน นกแอร์ มีช่องทางการจำหน่ายตั๋วโดยสารถึง 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น เอ็มเปย์ และซึทาญ่า ซึ่งช่องทางที่หลากหลายจะเป็นตัวช่วยเสริมประสิทธิภาพให้การจำหน่ายตั๋วโดยสารให้มีความครอบคลุมและ ความร่วมมือในครั้งนี้ พาที คาดว่าจะช่วยเพิ่มอัตราที่นั่งของสายการบินเอส จี เอ สัดส่วน 15-20% ต่อปี

“นกแอร์ต้องการส่งเสริมให้คนไทยใช้บริการเครื่องบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เส้นทางที่ให้บริการอย่างครอบคลุมนี้ เชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมการบินไทยในประเทศปีนี้ มีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 14-15 ล้านคน การทำตลาดร่วมกันนกแอร์ยังไม่หวังเรื่องกำไร หรือผลตอบแทนที่จะได้รับ แต่มุ่งเน้นการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ก่อนวางแผนให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศในลำดับต่อไป” พาที กล่าว

นกแอร์ยังคงมีแผนที่จะขยายเส้นทางในประเทศให้ได้มากที่สุดหลังจากที่ประสบปัญหาการขาดทุนสะสมที่ผ่านมา และเพื่อเป็นการแข่งขันทางธุรกิจ การเพิ่มบริการให้แก่ลูกค้าให้สามารถเดินทางได้ง่ายขึ้นสะดวกขึ้นในทุกจุดหมายปลายทางของเมืองไทยจึงเป็นแผนการตลาดที่ถูกวางเอาไว้

ซึ่งก่อนหน้านั้นนกแอร์มีแผนวางไว้ในอนาคต จะสร้างฮับในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย เช่น ภาคเหนือ โดยใช้เชียงใหม่เป็นฮับ ในการขยายเส้นทางบินไปในจังหวัดใกล้เคียง ส่วน ภาคอีสาน คาดว่าจะใช้อุดรธานีเป็นฮับ ขณะที่ภาคใต้ ขณะที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษา

ผิดแผกไปจากแผนการตลาดสร้างแบรนด์ของไทยแอร์เอเชีย ในช่วงปีที่ผ่านมาถือได้ว่ากลยุทธ์เรื่องของ “ราคา”น่าจะเป็นตัวที่สร้างความสำเร็จของการกระตุ้นให้คนไทยอยากเดินทางด้วยเครื่องบิน หากจะวัดกันก็ดูได้จากตัวเลขกว่า 3 ล้านคนที่เข้าไปใช้บริการช่วงปีที่ผ่านมาและสามารถสร้างรายได้ให้กับไทยแอร์เอเชียเป็นกอบเป็นกำ

ล่าสุดไทยแอร์เอเชียก็ยังคงให้กลยุทธ์เรื่องของ ราคา มาเป็นกระตุ้นตลาดเช่นเคยคือเส้นทางบินภายในประเทศเริ่มต้นที่ 199 บาทและระหว่างประเทศเริ่มต้นที่ 499 บาท แม้ว่าจะไม่ได้เดินทางในวันเวลาอันรวดเร็วทันใจเหมือนสายการบินอื่นๆแต่จุดขายตรงนี้ก็สามารถสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าอยากเข้าไปใช้บริการ

และด้วยเส้นทางบินที่มีอยู่ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศนับว่าไทยแอร์เอเชียเป็นสายการบินต้นทุนต่ำทีมีเส้นทางบินอยู่ในมือมากกว่าสายการบินคู่แข่ง กอปรกับการเพิ่มจำนวนเครื่องบินที่มีอยู่ในแผนการตลาดก็จะสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารและวางเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างดีทีเดียว

ขณะเดียวกันมีการชูจุดขายภายใต้สโลแกนว่าสายการบินเอนเตอร์เทรน ยังสามารถสร้างแรงดึงดูดให้มีกลุ่มพันธมิตรเข้ามาจับมือร่วมกันทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกีฬาฟุตบอลที่กระโดดไปเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีมฟุตบอลแมนเชตเตอร์ยูไนเต็ด สร้างสีสันให้กับวงการธุรกิจการบินมาแล้ว

นอกจากนี้การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาให้บริการไม่ว่าจะเป็นการจองตั๋วผ่านอินเตอร์เนทหรือการจองตั๋วผ่านระบบเอทีเอ็ม ทั้งหลายทั้งปวงก็เป็นแผนการตลาดที่ถูกจัดวางไว้เพื่อสร้างความสะดวกให้กับลูกค้ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงไม่แปลกสำหรับแฟนพันธุ์แท้ที่เคยใช้บริการสายการบินไทยแอร์เอเชียจะยังคงให้ความไว้วางใจสั่งจองตั๋วโดยสารเครื่องบินแม้ว่าจะต้องรอบินในอีกหลายวัน หลายอาทิตย์ หรือหลายเดือนก็ตาม

ขณะเดียวกันไทยแอร์เอเชียไทยแอร์เอเชียได้ให้ความสำคัญการจัดอีเว้นท์เป็นพิเศษการประกาศตัวว่าเป็นสายการบินต้นทุนต่ำแห่งแรกที่มีงานแฟร์ของตัวเองและมีกลุ่มพันธมิตรด้านท่องเที่ยวเข้าร่วมงานจำนวนมากในช่วงปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะมีผู้โดยสารที่เข้าไปจองตั๋วโดยสารภายในงานและได้ราคาถูกก็จริงก็ตามแต่ก็ไม่ได้เดินทางในวันเวลาอันรวดเร็วทันใจเหมือนสายการบินอื่นๆซึ่งก็กลายเป็นจุดอ่อนที่สามารถใช้ราคาถูกมาสร้างเป็นจุดแข็งจนเกิดแรงจูงใจให้ลูกค้าอยากเข้าไปใช้บริการในที่สุด

สิ่งสำคัญที่ ทัศพล แบเลเว็ล ซีอีโอของสายการบินไทยแอร์เอเชีย เคยบอกไว้ตั้งแต่เปิดให้บริการสายการบินไทยแอร์เอเชียใหม่ๆว่า จะเป็นสายการบินที่ “ใครๆก็บินได้” จะสามารถนำพาให้ธุรกิจประสพความสำเร็จได้เหมือนปีที่ผ่านมาหรือไม่...ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของผู้บริหารไทยแอร์เอเชียภายใต้ภาวะแรงกดดันทั้งทางธุรกิจและการเมือง...เวลาเท่านั้นจะเป็นบทพิสูจน์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.