|

แบงก์ใหญ่ดาหน้าหั่นดอกเบี้ยฝั่งกู้-ฝาก เฉือนเงินฝากประจำก่อนเล็งออมทรัพย์
ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 มกราคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ใหญ่ เข้าแถวหั่นดอกเบี้ยเงินกู้ และบัญชีเงินฝากประจำ ตามแรงบีบคั้นจากภาวะเศรษฐกิจโลก ที่กำลังควงสว่านดิ่งนรก ขณะที่สภาพคล่องยังกองพะเนิน จากการคุมเข้มสินเชื่อ เชื่อสถานการณ์ดำดิ่งของอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลเชื่อมไปยังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ประเดิม ปรับปรับลดเงินฝากออมทรัพย์แระเภท นิติบุคคล สถาบันการเงิน กองทุน โรงพยาบาล สถานศึกษา หน่วยราชการ ลดจาก 0.50% มาอยู่ที่ 0.25% ก่อนจะเล็งไปที่บุคคลธรรมดาทั่วไป หากกราฟการปรับลดอัตราดอกเบี้ยยังคงร่วงรูดไม่มีทีท่าจะหยุดได้ในเร็ววัน...
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ ก่อนหน้านี้ นอกจากจะเป็นไปเพื่อกระตุ้น และประคับประคองธุรกิจ เศรษฐกิจ ภาคการผลิต รวมถึง ปากท้องของผู้คนในประเทศ ในทุกระดับ ส่วนหนึ่งก็ยังคงทำหน้าที่กดดันให้สถาบันการเงินต่างๆปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และผ่อนคลายการแบกภาระหนี้ของลูกหนี้ให้ลดน้อยลง
ท่ามกลางสถานการณ์ความเสี่ยง ความไม่มั่นใจ และค่อนข้างระมัดระวังในการปล่อยกู้อย่างเข้มงวดของบรรดา ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ นับจากวิกฤตเศรษฐกิจอเมริกา แพร่ระบาดไปทั่วทุกมุมโลก
อย่างไรก็ตาม ธนาคารทุกแห่ง ต่างก็หนีไม่พ้นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง แต่ก็เป็นการปรับลดในอัตราที่ไม่มากนัก ส่วนใหญ่ จะอยู่ในระดับ 0.25-0.50% ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยฝั่งขากู้และดอกเบี้ยเงินฝาก โดยเฉพาะดอกเบี้ยฝั่งเงินกู้ ที่ปรับลงไม่มาก ขณะที่ฝั่งเงินฝากจะโฟกัสไปที่ดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากประจำเป็นอันดับแรก
วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดว่าการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันถึง 2 ครั้ง ลงมาอยู่ที่ระดับ 2% จะมีผลให้ธนาคารพาณิชย์ต้องดำเนินนโยบาย ตามทิศทางของแบงก์ชาติโดยปริยาย ตรงนี้ก็จะมีผลต่อการปรับดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปสำหรับแนวนโยบายจากภาครัฐ
อดิศร เสริมชัยวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายงานผลิตภัณฑ์เงินฝากและการลงทุน ธนาคารไทยพาณิชย์ บอกว่า การที่ทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ก็เท่ากับชี้นำให้ธนาคารพาณิชย์ ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตาม ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยฝั่งเงินกู้ หรือแม้แต่เงินฝาก
ดังนั้น แนวโน้มนับจากนี้ก็มีโอกาสเป็นไปได้สูง ที่แต่ละแบงก์จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ลง ตามเงินฝากประจำได้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.75%
โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงเทพ ยังเชื่อว่า แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ย คงต้องเป็นไปตามทิศทางของตลาด โดยเฉพาะหากธนาคารใดนำร่องไปก่อน ธนาคารอื่นก็คงต้องปรับลดลงตามทิศทางเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เป็นเรื่องต้องใช้เวลาในการพิจารณา เพราะเป็นสิ่งที่ตัดสินใจได้ยาก
อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย เห็นว่า หากทุกแบงก์ต่างก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำลง ซึ่งก็อาจมีผลโดยตรงถึง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ได้เช่นกัน ถ้า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ลดลงมากจนเข้าใกล้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยห่างกันเป็นเท่าตัว โดย เงินฝากประจำ 3 เดือนและ 6 เดือนอยู่ที่ 1.5%
อย่างไรก็ตาม สำหรับธนาคารกรุงไทย ที่มีสภาพคล่องส่วนเกินสูง การจะลดดอกเบี้ยสามารถทำได้ แต่ต้องดูที่ความเหมาะสมและสภาพตลาด เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแต่ละครั้ง จะทำให้เจ้าของเงินฝาก หันไปซบแบงก์อื่น เพราะผลตอบแทนเริ่มต่ำลงเรื่อยๆ ขณะที่กำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยหรือ สเปรด กลับยังสูงอยู่ในระดับราว 5%
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากคำประกาศของแบงก์ชาติ แบงก์รัฐบางแห่งก็เริ่มนำร่องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยเริ่มที่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์หรือ ธอส.
ขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงอีก 0.25% โดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR จากเดิม 7.00% เหลือ 6.75% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัวพิเศษของ ธอส.เท่ากับ MRR - 2.00% ในปีที่ 1 ถึง 3 หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ย MRR - 0.50 ตลอดอายุสัญญากู้(ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.75%)
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ครั้งนี้ นับเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้ลดลงมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เพราะจะช่วยเหลือ แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายใ นเรื่องที่อยู่อาศัยให้แก่ลูกค้าธนาคาร ได้อีกทางด้วย ภายใต้สภาวะวิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2552 เป็นต้นไป
ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและตั๋วสัญญาใช้เงินทุกประเภทลงอีก 0.50% โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ลดลงเหลือ 1.75 % อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 2 ปี 3 ปี และ 5 ปี ลดลงเหลือ 2.50%
ส่วนเงินฝากประจำสินเคหะปรับลดลงเหลือ 1.75% (ฝากครบ 24 งวด ธนาคารบวกดอกเบี้ยโบนัสเพิ่มให้อีก 1.00%) ทั้งนี้ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตั๋วสัญญาใช้เงินประเภท 7 วัน และ 14 วัน เหลือ 1.00% ตั๋วสัญญาใช้เงินประเภท 1 เดือน และ 2 เดือน ลดลงเหลือ 1.50% ตั๋วสัญญาใช้เงินประเภท 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ลดลงเหลือ 1.75% ส่วนตั๋วสัญญาใช้เงินประเภท 2 ปี 3 ปี และ 5 ปี ลดลงเหลือ 2.50%
นอกจากนี้ธนาคารยังได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์พิเศษจากเดิม 2.25% เป็น 1.75% ต่อปี ทั้งนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2552 เป็นต้นไป
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เป็นกลุ่มแบงก์ใหญ่ ที่ประเดิมประกาศ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ
โดยได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทลง 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) อยู่ที่ 6.50% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) อยู่ที่ 6.75% และ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) อยู่ที่ 7.0%
ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน ลดลงจาก 1.35-1.75% มาอยู่ที่ 1.0-1.25% เงินฝากประจำ 6 เดือน ลดจาก 1.50-1.75% มาอยู่ที่ 1.15-1.25% เงินฝากประจำ 12 เดือน ลดจาก 1.60-1.75% มาอยู่ที่ 1.25% เงินฝากประจำ 24 เดือน ลดจาก 2.25-2.50% มาอยู่ที่ 1.75-2.0% และเงินฝากประจำ 36 เดือน ลดจาก 2.50% มาอยู่ที่ 2.0%
สำหรับ อัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ สำหรับนิติบุคคล สถาบันการเงิน กองทุน โรงพยาบาล สถานศึกษา หน่วยราชการ ลดจาก 0.50% มาอยู่ที่ 0.25% ส่วนอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์สำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดาทั่วไป ยังคงอยู่ที่ 0.75% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2552 เป็นต้นไป
เวลาไล่เลี่ยกัน ธนาคารกรุงเทพ ก็มีการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25% โดยอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate) หรือ MLR จาก 6.75% เป็น 6.50% อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) หรือ MOR จาก 7.00% เป็น 6.75% และอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) หรือ MRR จาก 7.25% เป็น 7.00%
ด้านเงินฝาก ได้มีการประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะยาว สำหรับบุคคลธรรมดา โดยเงินฝากประจำ 3 เดือน วงเงินฝากน้อยกว่า 3 ล้านบาท จาก 1.50% เป็น 1.25% วงเงินฝากตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป จาก 1.75% เป็น 1.50% เงินฝากประจำ 6 เดือน จาก 1.75% เป็น 1.50% เงินฝากประจำ 12 เดือน 1.75% ไม่เปลี่ยนแปลง เงินฝากประจำ 24 เดือน และ 36 เดือน จาก 2.50% เป็น 2.00% โดยทั้ง 2 ด้านมีผลเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2552
ถ้าหากภาวะเศรษฐกิจ ยังมองไม่เห็นแสงสว่าง ก็มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะได้เห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ อีก
แต่ที่ใครต่อใครไม่อยากนึกถึงก็คือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ เพราะไม่อยากให้เจ้าของเงินออมในประเทศ มีสภาพไม่ต่างจากเจ้าของเงินออมในญี่ปุ่น....
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|