บลจ.หันใช้กองทุนหุ้นกู้ปั๊มเอยูเอ็ม


ผู้จัดการรายวัน(26 มกราคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

บลจ.ทยอยชู "หุ้นกู้" ขึ้นสินค้าเด่นบนแพงขาย แม้ความเสี่ยงมีสูง แต่ผลตอบแทนที่ได้รับก็สูงตามไปด้วย หวังกล่อมนักลงทุนเข้าซื้อหน่วย หลังพันธบัตรรัฐบาลสร้างผลกำไรได้น้อย โดยหุ้นกู้กลุ่มอสังหาฯ – ธนาคาร – พลังงาน และสื่อสาร น่าสนใจมากที่สุด แต่ย้ำต้องคัดเลือกเป็นรายบริษัท ชี้ถือเป็นกลยุทธ์เพื่อเพิ่มยอดสินทรัพย์ภายใต้การบริหารของแต่ละแห่ง ใครออกของดีมีคุณภาพก่อนโอกาสโกยเงินก็สูงตามไปด้วย ล่าสุดพบบริษัทขนาดใหญ่หลายรายเตรียมออกหุ้นกู้อีกเพียบ

นายชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์ ผู้จัดการกองทุนอาวุโส ฝ่ายจัดการกองทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า การออกกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรเอกชน หรือหุ้นกู้เอกชนนั้น เนื่องจากว่าทุกๆบลจ.พยายามที่จะหารายได้เพิ่มขึ้น โดยต้องการที่จะเพิ่มสินทรัพย์ภายใต้การบริหารหรือ เอยูเอ็มให้กับบริษัท ซึ่งการออกกองทุนตราสารหนี้ที่มีการการันตีผลตอบแทนนั้นจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก ขณะที่การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลนั้นให้ผลตอบแทนที่ต่ำ โดยผลตอบแทน 6 เดือนอยู่ที่ 1.7-1.8% ส่วนหุ้นกู้เอกชน 6 เดือนให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับบริษัทที่เลือกเข้าไปลงทุนด้วยว่ามีคุณภาพในการชำระคืนเพียงใด

สำหรับ บลจ.มองว่าเศรษฐกิจในปี 2553 จะมีผลผลิตมวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีดีขึ้นกว่าปี 2552อย่างแน่นอน แต่บริษัทหุ้นกู้เอกชนที่เข้าไปลงทุนจะสามารถฝ่าผันไปจนถึงปี2010 ได้หรือไม่ ไม่สามารถให้คำตอบได้ โดยราคาหุ้นกู้ขณะนี้พบว่ามีราคาที่ต่ำกว่าพาร์ ทำให้การหาแหล่งเงินทุนของบริษัทต่างๆจึงทำได้ยากขึ้น ส่งผลให้ปีนี้การลงทุนในตลาดหุ้นมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะตลาดหุ้นอเมริกาที่พบว่าดัชนีตลาดหุ้นยังคงแกว่งตัวอยู่ แต่การใช้มาตรการต่างๆเข้ามาช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐยังพอมีหวังให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น

"การคัดเลือกหุ้นกู้เอกชนนั้น ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละบลจ.ว่าจะมีหลักการคัดสรรอย่างไรบ้าง โดยที่นักลงทุนยังคงต้องการผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุน ก็ต้องขึ้นอยู่การยอมรับความเสี่ยงในการลงทุนของแต่ละบริษัทได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากแต่ละ บลจ.นั้นสามารถยอมรับความเสี่ยงได้ต่างกัน บางครั้งทำให้บลจ.หนึ่งพิจารณาว่าหุ้นกู้ตัวนี้น่าสนใจและยอมรับความเสี่ยงได้ แต่อีก บลจ.มองว่าหุ้นกู้ตัวนี้มีความเสี่ยงมากกว่าจึงไม่เลือกลงทุน และนี่คือข้อแตกต่างสำหรับการพิจารณาเลือกหุ้นกู้"นายชัชชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม พบว่าในส่วนความเสี่ยงของหุ้นกู้เอกชน ถ้ามีความเสี่ยงสูงด้านผลตอบแทนที่จะได้รับสูงตามไปด้วย แต่ทั้งนี้นักลงทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ส่วนมากคิดว่าการลงทุนในตราสารหนี้ไม่มีความเสี่ยง จึงทำให้เน้นการลงทุนในตราสารหนี้มากขึ้น โดยทั่วไปแล้วต้องดูด้วยว่าการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนของหลายๆบริษัทนั้นมีความรับผิดชอบในการลงทุนหรือไม่ เพราะบางครั้งการเข้าไปลงทุนในบริษัทที่ออกหุ้นกู้แล้ว บริษัทนั้นเกิดปัญหาขึ้นไม่มีเงินมาจ่ายคืน อันนี้ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับ บลจ.ที่จะต้องดูแล แต่หากว่าบริษัทไม่มีปัญหาใดๆการออกกองทุนหุ้นกู้ก่อนจะมีความได้เปรียบกว่าการออกกองทุนประเภทเดียวกันจากบริษัทอื่นๆ

ขณะเดียวกัน การที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ได้มีการออกหุ้นกู้มาขาย เนื่องจากว่ามีความต้องการเม็ดเงินในการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยการออกหุ้นกู้ทำให้มีต้นทุนที่ต่ำกว่าการไปขอกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งต้องถือว่ากระแสเงินสดในกลุ่มอสังหาฯนั้นความสำคัญมากเพราะจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบมากขึ้น อีกทั้งการขอกู้จากธนาคารจำเป็นที่จะต้องมีหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน ดังนั้นการที่บลจ.จะเข้าไปลงทุนในหุ้นกู้อสังหาฯจะต้องคัดเลือกลงทุนเป็นรายบริษัทก่อนที่จะเข้าไปร่วมลงทุน นอกจากนี้ หุ้นกู้ในกลุ่มต่างๆ

เช่นพาณิชย์ พลังงาน บริษัทที่มีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนแต่จะต้องศึกษาเป็นรายบริษัท และการยอมรับความเสี่ยงของการลงทุนว่ามีมากน้อยแค่ไหน

ด้านนายศุภกร สุนทรกิจ รองกรรมการผู้จัดการ บลจ. เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC กล่าวว่า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ปรับตัวลดลงต่ำมากโดยความต้องการใช้เงินลงทุนของภาคเอกชนมีมากขึ้น จึงทำให้ภาคเอกชนมีการออกหุ้นกู้ออกมีต้นทุนถูกลงด้วย ทั้งนี้ นักลงทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลนั้นพบว่าผลตอบแทนที่ได้รับนั้นปรับตัวลดลงมามาก ตามนโยบายที่ภาครัฐได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงทำให้นักลงทุนมองหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดี โดยการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนนั้นมีความเสี่ยงสูง จึงจำเป็นที่จะต้องคัดเลือกหุ้นกู้ที่ดี ซึ่งบริษัทจะเน้นหุ้นกู้เอกชนที่มีศักยภาพดี อีกทั้งจะต้องศึกษาข้อมูลของบริษัทที่ออกหุ้นกู้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาคการเงิน รวมทั้งผลการดำเนินงานทั้งในอดีตและปัจจุบัน ก่อนที่บริษัทจะเข้าไปร่วมลงทุน

โดยล่าสุด บริษัทได้ลงทุนในหุ้นกู้ของบมจ.แอดวานซ์ อินโฟเซฮร์วิส ที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ดี เนื่องจากหุ้นกลุ่มนี้มีความแข็งแกร่ง และหากหุ้นกู้ที่บริษัทพิจารณาแล้วว่าสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีจะมีการลงทุนที่ไม่จำกัด แต่ทั้งนี้ จำเป็นที่จะต้องระมัดระวังในเรื่องของการลดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทด้วย

นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน กรรมการผู้จัดการ บลจ. นครหลวงไทย กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุนที่ลงทุนในหุ้นกู้เอกชนนั้น เนื่องมาจากผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาล3เดือน 6เดือนได้ปรับตัวลดลงไปมาก โดยการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนนั้นสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าอีกทั้งความ เสี่ยงที่ได้รับก็สูงตามไปด้วย อีกทั้ง บลจ. จำเป็นที่จะต้องหาโปรดักส์ใหม่ๆเพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนด้วย

ขณะเดียวกัน บลจ.ได้มีการเเยกวิเคราะห์หุ้นกู้เอกชน โดยเลือกลงทุนบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ A- ขึ้นไป ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)มีข้อห้ามลงลงทุนในบริษัทหุ้นกู้เอกชนที่ได้รับการจัดอันดับต่ำกว่า B ลงไป และหากมีการลดอันดับความน่าเชื่อถือลงไปต่ำกว่า B จะต้องขายหุ้นกู้ออกไปทันที ทั้งนี้ผลตอบแทนของหุ้นกู้เอกชนระยะ3-6เดือนพบว่าให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 2.4%-2.8% จึงถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้แก่นักลงทุน นอกจากนี้ สำหรับการคัดเลือกลงทุนในหุ้นกู้เอกชนของแต่ละบลจ.นั้นแตกต่างกัน แต่สำหรับบลจ.นครหลวงไทยจะเลือกลงทุนเป็นรายบริษัท โดยจะต้องเอาข้อมูลของบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนมาวิเคราะห์และศึกษาให้ละเอียดก่อนจะเข้าไปลงทุน

นายธีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า ความเสี่ยงของการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนนั้นมีมาก โดยดูได้จากสหรัฐอเมริกาที่เกิดปัญหาในเรื่องของสินเชื่อด้อยคุณภาพหรือซัพไพรม์ ทำให้ราคาบ้านถูกมาก อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นกู้ภาคอสังหาฯนั้น บริษัทมีความสนใจที่จะเข้าไปร่วมลงทุน โดยจะเป็นการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์หรือ พร๊อพเพอร์ตี้ ฟันด์ ที่บลจ.จัดตั้งขึ้นมา ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีหลักประกัน ไม่เหมือนกับหุ้นกู้ที่อสังหาฯออกมาที่ไม่มีหลักประกัน

นอกจากนี้ ในส่วนของหุ้นกู้ในกลุ่มพลังงาน บริษัทมองว่าเป็นการลงทุนที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล อีกทั้งการลงทุนในหุ้นกู้ต่างนั้นโดยบริษัทจะต้องมีการประเมินการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมาได้มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งทำการเสนอขายหุ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังมีอีกหลายบริษัทเตรียมที่จะเสนอขายหุ้นกู้ภายในปีนี้เช่นกัน อาทิ บมจ. เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด มีแผนออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 1.5 พันล้านบาท แต่ขอรอดูภาวะตลาดให้เหมาะสมก่อน ด้านพฤกษา เรียลแอสเตท ได้ออกขายหุ้นกู้ 1,000 ล้านบาทอายุ 3ปี เช่นเดียวกับ บมจ.เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ฯ ที่จะเสนอขายในวงเงิน 1,000 ล้านบาท รวมถึง เหมราชพัฒนาที่ดิน วงเงิน 2-3 พันล้านบาท คาดจะเสนอขายภายในช่วงต้นปี ช.การช่าง เตรียมเปิดขาย 3-5 ก.พ. วงเงิน 2,500ล้านบาท และโรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า จะเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนเมษายนนี้เพื่ออนุมัติในวงเงิน 3,500 -4,000 ล้านบาท

ส่วนกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ทิสโก้จะเสนอขายอีกด้วยวงเงิน 2,000 ล้านบาทในไตรมาส2 หลังจากต้นเดือนมกราคมได้เสนอขายไปแล้ว 2,000 ล้านบาท ขณะที่ธนาครรกรุงศรีอยุธยามีแผนออกล็อตใหญ่ 10,000 ล้านบาท นอกจากนี้บรรดาโบรกเกอร์เชื่อว่าจะมีธนาคารออกหุ้นกู้เพิ่มอีก เช่น ธนชาต นครหลวงไทย ทหารไทย เป็นต้น

ด้านกลุ่มพลังงานพบว่า ไทยออยล์มีแผนออกหุ้นกู้วงเงิน 5,000 ล้านบาทภายในไตรมาสนี้ เช่นเดียวกับ ปตท.ผลิตและสำรวจปโตรเลียมที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษา แต่ก่อนหน้านี้ ปตท.เคมิคอล ได้เสนอขายไปแล้วเมื่อช่วงต้นธันวาคม วงเงิน12,000 ล้านบาท

ขณะที่กลุ่มอื่นๆ การบินไทย เสนอขายรวม 4 ชุดวงเงิน 4,790 ล้านบาท บมจ.น้ำประปาไทย จำกัดจะออกหุ้นกู้ล็อตแรก 1.5 พันล้านบาท จากที่ได้รับอนุมัติทั้ง 7.5 พันล้านบาท แอดวานซ์ อนโฟเซอร์วิส เสนอขาย 2 ชุดวงเงินรวม7,500 ล้านบาท ร.พ.เกษมราษฎร์ เตรียมออกขายหุ้นกู้ 3,000 ล้านบาทอายุ10ปี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.