|
เทสโก้งัด “พลัส”กำไรค่าเช่า50% ทุ่ม7พันล.ทั้งปี-ลุยเอ็กซ์เพรสไม่ยั้ง
ผู้จัดการรายวัน(23 มกราคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
เทสโก้โลตัสยาหอมไทยยังเป็นตลาดยุทธศาสตร์ ทุ่มไม่อั้นงบ 7,000 ล้านบาท ลุยทุกรูปแบบ ล่าสุดงัดรูปแบบใหม่ พลัสชอปปิ้งมอลล์ หวังโกยกำไรจากพื้นที่เช่า 50% ประเดิมสาขาศรีนครินทร์ พร้อมรีแบรนด์อีก 7 แห่ง ยืนยันเหยียบคันเร่งเอ็กซ์เพรสไม่มีหยุด
นายสตีฟ แฮมเมทท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้บริหารกลุ่มเทสโก้โลตัสในไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยยังเป็นตลาดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของเครือเทสโก้ทั่วโลก โดยในไทยจะใช้งบประมาณลงทุนเฉลี่ย 7,000 ล้านบาทต่อปีในการลงทุนขยายสาขาใหม่และการซื้อที่ดินด้วย ซึ่งบริษัทแม่พร้อมที่จะลงทุนระยะยาว ขณะที่ปัญหาด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่นี้ถือเป็นปัญหาระยะสั้น
อย่างไรก็ตามเขายอมรับว่า ช่วงนี้นักธุรกิจทั้งหลายเป็นห่วงเรื่องภาพรวมเศรษฐกิจ ระวังการลงทุน ต้องดูสถานการณ์เป็นรายไตรมาส แต่เทสโก้มีความเข้มแข็ง และมีประสบการณ์ค้าปลีกในไทยมั่นใจจะผ่านไปได้ดี และเดือนมกราคมปีนี้ลูกค้าก็เริ่มใช้จ่ายดีขึ้นกว่าเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
สำหรับรูปแบบการลงทุนไม่กำหนดรูปแบบตายตัว ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โอกาส และทำเล เพราะมีหลายรูปแบบ เช่น ไฮเปอร์มาร์เก็ต เอ็กซเพรส คุ้มค่า ตลาดสด คอมมูนิตี้มอลล์ ซึ่งล่าสุดปีนี้จะมีรูปแบบใหม่เกิดขึ้นคือ “พลัส ชอปปิ้งมอลล์” ตั้งเป้าเปิด 2-3 สาขาต่อปี โดยการมีชอปปิ้งมอลล์ในเทสโก้ไฮเปอร์มาร์เก็ตนั้นมีมานานแล้ว แต่ไม่เคยสมบูรณ์และใหญ่เท่านี้มาก่อน แต่ในต่างประเทศก็เริ่มมีแล้วแต่ไม่ใช่ชื่อพลัส เช่น อังกฤษ เกาหลี และจีน
นายสตีฟ ย้ำว่า ส่วนเทสโก้โลตัสเอ็กซ์เพรสยืนยันที่จะขยายสาขาต่อเนื่อง ไม่ต่ำกว่าปีที่แล้วที่เปิดประมาณ 69 สาขา ใช้งบประมาณน้อยและพื้นที่น้อยสามารถที่จะปรับเปลี่ยนแผนได้ทันที ส่วนพื้นที่ของบี๊กคิงส์บางใหญ่ที่ได้พื้นที่มาแล้วยังไม่ตัดสินใจว่าจะทำเป็นอะไร
ทั้งนี้สาขาแรก "พลัส ชอปปิ้งมอลล์" สมบูรณ์แบบคือ เทสโก้โลตัสศรีนครินทร์ โดยปรับปรุงจากสาขาเดิมที่มีอยู่แล้ว และลงทุนเพิ่มอีก 800 ล้านบาท เพื่อขยายพื้นที่ใหม่ โดยแบ่งเป็น พื้นที่ไฮเปอร์มาร์เก็ต ,พื้นที่ชอปปิ้งมอลล์ รวมร้านค้าชั้นนำทั้งอินเตอร์แบรนด์ ขณะที่พื้นที่ชอปปิ้งมอลล์นั้นจะมีทั้งการให้เช่าและมีทั้งการเก็บค่าจีพีจากผู้เช่า โดยแบ่งออกเป็น 7 โซนหลักคือ บิวตี้, คอสเมติก, ฟู้ดแอนด์เบฟเวอรเรจ, แฟชั่น, เทคโนโลยี, เอดดูเคชั่น, เอนเตอร์เทนเม้นต์ และพื้นที่ภายนอกประกอบด้วย ออโต้โซนและเอาท์ดอร์พลาซ่า
ทั้งนี้รูปแบบพลัสจะเป็นสาขาที่มีพื้นที่ชอปปิ้งมอลล์มากกว่าพื้นที่ขายของเทสโก้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีบ้างแล้วแต่ยังไม่ใหญ่เท่าสาขานี้ เช่น บางกะปิ ศาลายา กระบี่ เพชรบูรณ์ นวนคร ปิ่นเกล้า สมุย ซึ่งสาขาเดิมเหล่านี้ก็มีศักยภาพที่จะรีแบรนด์เป็นพลัสได้ในอนาคต อยู่ระหว่างเตรียมการ ส่วนสาขาพลัสต่อไปที่อยู่ระหว่างก่อสร้างเช่น ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ชลบุรี เปิดกันยายนปีนี้
นายกวิน สัณฑกุล กรรมการ ประธานบริหารฝ่ายการตลาด เทสโก้โลตัส กล่าวว่า สัดส่วนกำไรที่ได้มาจากพื้นที่ชอปปิ้งมอลล์ หากเป็นขนาดเล็กมีประมาณ 10% มาจากในสโตร์ 90% แต่ถ้าเป็นชอปปิ้งมอลล์ขนาดใหญ่กำไรจากพื้นที่เช่าจะมีประมาณ 50% และมาจากสโตร์ 50% เท่ากัน ซึ่งสาเหตุที่พัฒนารูปแบบนี้เพื่อต้องการตอบสนองความต้องการผู้บริโภคที่ต้องการความหลากหลายอีกทั้งยังเพิ่มฐานลูกค้าไปยังกลุ่มทีนเอจได้ด้วย เพราะมีร้านค้าไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่มากมาย เพราะที่ผ่านมากลุ่มหลักของเทสโก้คือ อายุ 28-45 ปี และยังเพิ่มความถี่ในการเข้าเทสโก้โลตัสและเกิดโอกาสที่จะเข้ามาจับจ่ายมากขึ้นด้วย และแบรดน์พลัสนี้เกิดขึ้นในไทยเป็นแห่งแรกด้วย
“เมื่อก่อนนี้ลูกค้าเข้าเทสโก้โลตัสเฉลี่ย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่เมื่อเกิดเศรษฐกิจไม่ดี ลดน้อยลงเป็น 1 ครั้งต่อเดือนเพราะประหยัดมากขึ้น แต่ตอนนี้มีมอลล์เกิดขึ้นน่าจะดึงดูดให้ผู้บริโภคมีความถี่เข้ามากขึ้น โดยสาขาที่ศรีนครินทร์เปิดทดลองไม่กี่วัน สามารถเพิ่มยอดขายในสโตร์เราเองได้ 6% รูปแบบนี้ยังเป็นการทำให้สาขาเก่าของเราได้รีเทิร์นมากขึ้นด้วย สาขาศรีนครินทร์คาดว่าจะคืนทุนใน 5 ปี” นาย กวิน กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การทำพลัสเพื่อขยายพื้นที่ชอปปิ้งมอลล์จำนวนมากนั้น น่าจะเป็นหนทางหนึ่งในการหารายได้มากขึ้น เพราะเป็นรายได้แน่นอนระยะยาว เพราะการหารายได้และกำไรจากการขายสินค้านั้นไม่ได้มีมากแล้ว เพราะกลยุทธ์ราคาถูก ซึ่งแข่งขันทุกที่ ทำให้มาร์จิ้นเริ่มน้อยลง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|