เจ้าของทรัพย์ทางปัญญาเฮนำสิทธิ์แปลงเป็นทุนได้แล้ว


ผู้จัดการรายวัน(25 สิงหาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

แปลงทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุนคืบหน้ากว่าเป้าที่ตั้งไว้จากกำหนดการเดิม ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 เป็นเริ่มได้ทันที ส่งผลให้คนเป็นเจ้าของความคิดทางปัญญามีสิทธิ์เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เลย เผยล่าสุด"พาณิชย์"เตรียมลงนามร่วมกับ IFCT และธพว.เพื่อปล่อยกู้ให้กับทรัพย์สินทางปัญญาที่นำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันแล้ว "ยรรยง"ระบุการไปขอกู้ควรจะมีการทำแผนธุรกิจให้ชัดเจน

นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการแปลงทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุนว่า ล่าสุดกรมฯ จะมีการลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่างกรมฯ กับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาสามารถนำสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่มาใช้เป็นหลักประกันการกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจได้

"ตอนนี้เป็นอีกขั้นของการแปลงทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นทุน เพราะก่อนหน้านี้กรมฯ ได้มีการ เปิดให้ขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า การออกแบบผังภูมิวงจรรวม ความลับทางการค้า ภูมิปัญญาท้องถิ่น และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นการทำให้ทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่มีโฉนด มีหลักฐานอ้างอิง และจากนี้ไป จะเป็นการนำสิทธิ ในทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ นำมาแปลงเป็นทุน โดยมีธนาคารรัฐ 2 แห่งเป็นผู้ร่วมในการปล่อยกู้" นายยรรยงกล่าว

นายยรรยงกล่าวว่า การลงนามในบันทึกความร่วมมือดังกล่าว จะเป็นการกำหนดบทบาท หน้าที่ของกรมฯ ของ IFCT และของธพว. ว่าใครมีหน้าที่ทำอะไร เพื่อให้การแปลงทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุนมีความคืบหน้าโดยเร็ว เพราะหากให้ต่างคนต่างทำคงจะมีความล่าช้า และการแปลงทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุนตามเป้าหมายของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ได้กำหนดไว้ว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2547 จะต้องเริ่มดำเนินการได้นั้น คงจะลำบาก แต่เมื่อกำหนดหน้าที่ชัดเจนจะทำให้เริ่มแปลงเป็นทุนได้ทันที

สำหรับหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานนั้น กรมฯ รับผิดชอบในด้านการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้มีหลักฐานอ้างอิง ซึ่งขณะนี้ได้มีการรับขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่างๆ แล้ว ทำหน้าที่ประเมินสถานะของทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งได้มีการหารือการประเมินมูลค่า ทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่างๆ แล้วเช่นเดียว กัน เพราะการจะนำทรัพย์สินทางปัญญาไปค้ำประกันขอกู้เงินจะต้องสามารถประเมินมูลค่าได้ รวมทั้งทำหน้าที่ประสานงานกับ IFCT และธพว. ในการพิจารณาปล่อยกู้ให้กับเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา

นอกจากนี้ ยังได้มีการกำหนดระบบเคลียริ่ง เฮาส์ ระหว่างธนาคารกับผู้กู้ เพื่อป้อง กันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกู้ยืมเงิน เช่น กรณีผู้กู้เงินไม่สามารถชำระหนี้ได้จะดำเนินการอย่างไร หรือกรณีผู้กู้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นมายึดกิจการ เพราะกู้เงินมาจากหลายสถาบันการเงิน หรือการบังคับใช้สิทธิ์จะดำเนินการอย่างไร กรณีผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้ กรมฯ จะต้องเข้าไปช่วยวางแนวทางไว้ก่อน เพราะในแต่ละปัญหา แนวทางแก้ไขอาจจะไม่เหมือนกัน

ยกตัวอย่างเช่น กรณีผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ แบงก์จะทำอะไรได้บ้าง แนวทางก็อาจจะบังคับให้ผู้กู้นำผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพย์สินทางปัญญามาชำระคืนให้กับแบงก์ เช่น การกู้เงิน ทำบ่อบำบัดน้ำเสีย แน่นอนว่าเจ้าของสิทธิ์ก็ต้องมีสัญญาทำบ่อบำบัดน้ำเสียกับหลายๆ แห่ง จุดนี้สามารถบังคับให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นมาใช้หนี้ได้ หรือกรณีน้ำพริกแม่ประนอม หากไม่ชำระหนี้ แบงก์ก็สามารถบังคับให้ผลิตสินค้าออกขายเพื่อ นำเงินใช้หนี้ได้ หรือกรณีครูเพลง ก็สามารถที่จะบังคับให้ผลิตซีดีออกขายตามเครือข่ายที่มีอยู่ เพื่อนำเงินมาคืนได้ หรือหนักสุดก็บังคับให้โอนสิทธิ์ที่มีอยู่เป็นของแบงก์ จากนั้นแบงก์สามารถนำออกขายทอดตลาด แล้วให้คนอื่นซื้อไปทำต่อ โดยในระยะยาวอาจจะมีตลาดซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญาเกิดขึ้น

ส่วน IFCT และธพว. มีหน้าที่ในการพิจารณาให้สินเชื่อแก่ผู้ขอกู้ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ โดยเฉพาะการให้ความร่วมมือในการปล่อยกู้ในโครงการแปลงทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุน โดยจะต้องทำหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำแนวทางการ แสวงหาประโยชน์ของทรัพย์สินทางปัญญา การช่วยหาผู้ร่วมทุน พร้อมกันนี้ ในกรณีมีการบังคับใช้สิทธิ์ จะต้องจัดหาบุคคลที่เหมาะสมเข้า สวมสิทธิ์ การกำหนดข้อสัญญาการบังคับชำระหนี้ การดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ละเมิดในทรัพย์สินทางปัญญา

นายยรรยงกล่าวอีกว่า จากนี้ไปผู้ที่เป็นเจ้า ของทรัพย์สินทางปัญญาสามารถที่จะนำทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่ไปขอกู้เงินจาก IFCT และธพว.ได้ แต่อยากจะแนะนำว่าในการไปขอกู้เงิน เบื้องต้นควรจะมีการจัดทำแผนธุรกิจให้ชัดเจน โดยเตรียมความพร้อมด้านโครงการระบบการบริหารความเป็นไปได้โอกาสทางการตลาด เพื่อ ให้สถาบันการเงินพิจารณา เพราะหากมีแผนธุรกิจที่ดี โอกาสที่จะได้รับการพิจารณาปล่อยเงินกู้ก็มีสูง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสถาบันการเงิน ก็ควรจะปรับทัศนคติในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อใหม่ ไม่ใช่ทำหน้าที่แค่ปล่อยกู้เพียงอย่างเดียว แต่ต่อไปควรจะทำหน้าที่ในลักษณะของกองทุนร่วมทุน (Venture Capital) เพราะหากทำงานในลักษณะนี้ จะไม่ใช่แค่การปล่อยกู้แล้วก็จบ แต่จะเป็นการเข้าไปร่วมกำหนดทิศทางการทำธุรกิจ การวางแผนด้านการตลาดร่วมกับผู้เป็นเจ้า ของทรัพย์สินทางปัญญา โดยหวังว่าในอนาคตจะมีแผนกสินเชื่อทรัพย์สินทางปัญญาเกิดขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.