|
แฉปมทุจริตการบินไทย ผู้ถือหุ้นรุมฟ้องผู้บริหาร
ผู้จัดการรายวัน(21 มกราคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
เปิดปมทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งฝ่ายการเมืองและผู้บริหารทำการบินไทยเดินลงเหว ส่อล้มละลาย เผยคดีฟ้องร้องทั้งจากผู้ถือหุ้นและบริษัทเอกชน เต็มศาล ล่าสุดศาลอาญาไต่สวนมูลฟ้องคดีผู้ถือหุ้นฟ้อง 13 บิ๊กการบินไทยจัดซื้อเครื่องบิน A330-300 จำนวน 8 ลำขัดมติครม.จ่ายเงินจนกระทบต่อสถานะทางการเงินบริษัท บิดเบือนข้อเท็จจริงซื้อเครื่องยนต์ Roll Royceแพง กว่าที่ควร 200 ล้านบาท แถมกลางปีจะมีการตัดสินคดี ฮั้วค่าธรรมเนียมน้ำมัน ขณะที่ศาลแพ่งตัดสินให้บริษัทจ่าย27 ล้านบาทแพ้คดีจัดซื้อไวน์
แหล่งข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2552 ที่ผ่านมาศาลอาญาได้นัดไต่สวนมูลฟ้องดคีที่ผู้ถือหุ้นบริษัทการบินไทย ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมและอดีตประธานคณะกรรมการบริษัทการบินไทย เป็นจำเลยที่ 1 และพวกรวม 12 คนในข้อหา พนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และนัดส่งหลักฐานเพิ่มเติมในเดือนก.ค. 52 และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตัดสินต่อไป
แหล่งข่าวกล่าวว่า ผู้ถือหุ้นระบุเหตุการฟ้อง จำเลยทั้ง 12 คน ว่าเป็นผู้บริหารบริษัทการบินไทย แต่กลับร่วมกันกระทำความผิดหลายครั้ง ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายและต้องจ่ายเงินโดยไม่จำเป็นมากกว่าหมื่นล้านบาท เช่น
1. พยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงต่อบอร์ดเพื่อสั่งจ่ายเงินค่างวดล่วงหน้าให้แก่บริษัท แอร์บัส กว่า 4,000 ล้านบาท ในการจัดหาเครื่องบิน A330-300 จำนวน 8 ลำ ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานของฝ่ายบริหารที่ไม่โปร่งใสและสร้างความเสียหายต่อบริษัทอย่างร้ายแรงเนื่องจาก คณะรัฐมนตรีมีมติไม่ให้บริษัทจัดซื้อเครื่องบินดังกล่าวแต่ให้ดำเนินการเช่าดำเนินงาน ซึ่งการฝืนจ่ายเงินออกไปยังกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัท
2. บิดเบือนข้อเท็จจริงต่อบอร์ด ในการซื้อเครื่องยนต์เพื่อนำมาติดตั้งกับเครื่องบินของ A330-300 เพื่อให้เห็นว่า ราคาเครื่องยนต์ของ Roll Royce (RR)ดีที่สุด และเป็นการเร่งจัดหาเครื่องยนต์ทั้งที่ประเด็นการจัดหาเครื่องบิน A330-300 ยังไม่ตรงกับมติครม. ซึ่งการเลือกเครื่องยนต์ของ Roll- Royce ทำให้บริษัทต้องจ่ายเงินแพงขึ้นอีกกว่า 200 ล้านบาท
3. การบิดเบือนข้อเท็จจริงเสนอบอร์ด ในการคัดเลือกเครื่องยนต์ของ Roll Royce เพื่อติดตั้งในเครื่องบิน A 380-800 ทั้งที่ เครื่องยนต์ของ Roll Royce แพงกว่าบริษัทอื่นกว่า 10 ล้านบาท
4. บิดเบือนข้อเท็จจริงต่อบอร์ดเพื่อให้พิจารณาคัดเลือกโครงการซ่อมเครื่องยนต์แบบเบ็ดเสร็จ Total Care ของ Roll- Royce เพื่อซ่อมบำรุง A340-500/600 ว่าดีควบคุมค่าซ่อมได้ 10 ปี แต่บิดเบือนข้อเท็จจริงที่ Roll- Royce ได้เก็บเงินตามโครงการดังกล่าวตั้งแต่เริ่มเข้าประจำการปี 2548 มากกว่า 900 ล้านบาทแล้ว และเครื่องบิน A 340-500 เมื่อเข้าประจำการมีการรับประกันจาก Roll- Royce อยู่แล้วประมาณ 5000 EFH โดยหากเสียในระหว่างนี้ Roll- Royce จัดการซ่อมให้ แต่บิดเบือนว่าเป็นค่าเข้าโครงการ ทำให้บอร์ดอนุมัติให้เข้าโครงการ ทำให้นอกจากบริษัทจ่ายย้อนหลังกว่า 900 ล้านบาทแล้ว ยังต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุง Total Care ต่อ EFH ในอัตราที่ปรับเปลี่ยนสูงขึ้นทุกปีอีกด้วย
5. บอร์ดและฝ่ายบริหาร ร่วมกันเพิกเฉย กรณีที่มีการจ่ายค่าเช่าที่พักลูกเรือต่างประเทศปีละ 1 ล้านยูโร ทั้งที่จริงแล้ว มีการพักของลูกเรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายจริงเพียง 8แสนยูโร ทำให้บริษัทต้องจ่ายเงินโดยไม่จำเป็นปีละ 10 ล้านบาท โดยผู้ถือหุ้นเห็นว่า การบริหารงานของประธานบอร์ดและฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้องไม่โปร่งใส มีการเอื้อประโยชน์ให้พรรคพวก ทั้งที่สามารถดำเนินการอื่นให้บริษัทได้รับประโยชน์ได้ แต่ไม่ดำเนินการ ในขณะที่สถานะการเงินของบริษัท กำลังจะมีปัญหา
แหล่งข่าวกล่าวว่า ผลการขาดทุนของบริษัทที่เกิดขึ้นในขณะนี้ สาเหตุสำคัญมาจากการทุจริตคอร์รัปชั่นในการบริหารงานของทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง การซื้อเครื่องบิน A330 ขัดมติครม.ที่ให้บริษัทเช่าดำเนินการ ส่วนปัญหาวิกฤติการเงินโลกและการปิดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองนั้น เป็นเพียงข้ออ้างทีถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นหลักเพื่อกลบเกลื่อนปัญหาการบริหารที่ผิดพลาด
ส่วนกรณีการบริหารไม่โปร่งใสในการเช่าโรงแรมที่พักลูกเรือในต่างประเทศนั้นเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2551 บอร์ดได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีการจัดหาการเช่าโรงแรมที่พักลูกเรือในต่างประเทศ ผู้ดำเนินการอนุมัติวงเงินโดยไม่มีอำนาจตามข้อกำหนดของระเบียบบริษัทว่าด้วยการพัสดุ คณะกรรมการตรวจสอบการบินไทยจึงเสนอบอร์ดแต่งตั้งข้อเท็จจริงโดยให้รายงานบอร์ดทราบภายใน 30 วัน และ/หรือไม่เกิน 19 ก.ย. 51 แต่ยังไม่มีการรายงานผลที่เป็นทางการแต่อย่างใด โดยแต่ละปีการบินไทยใช้เงินค่าเช่าโรงแรมประมาณ 4,600 ล้านบาท/ปี
“การทุจริตที่เกิดขึ้นนำไปสู่การบริหารที่ผิดพลาด และทำให้บริษัทต้องประสบกับผลขาดทุนและมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องในปี 2552 อีก 1.9 หมื่นล้านบาท จากที่ก่อนหน้านี้บอร์ดได้อนุมัติให้กู้เงินระยะยาว จำนวน 1 หมื่นล้านบาทเพื่อนำมาชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะสั้นที่ครบกำหนดในช่วงนี้แล้วส่วนหนึ่งรวมทั้งปี การบินไทยต้องกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องเกือบ 3 หมื่นล้านบาทซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับจำเลยทั้ง 12 คนประกอบด้วย นายชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมและอดีตประธานคณะกรรมการบริษัทการบินไทยเป็นจำเลยที่ 1 อีก 11 คน ประกอบด้วย เรืออากาศโท อภินันทน์ สุมนะเศรณี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เป็นจำเลยที่ 2 นางงามนิตย์ สมบัติพิบูลย์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงินและการบัญชี และรักษาการบัญชีบริหารและงบประมาณ จำเลยที่ 3 นายธงชัย สิงห์กุล ผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายบัญชีการเงิน จำเลยที่ 4 นายพิเชษฐ์ เรียงวัฒนสุข ผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายการเงินองค์กร จำเลยที่ 5 นายธีรทัต พรพิบูลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายวางแผน จำเลยที่ 6 พล.อ.อ. ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักเลขานุการบริษัท จำเลยที่ 7
นายธรรมศักดิ์ ชุติวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายช่าง (ระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่) เป็นจำเลยที่ 8 นาย ชัยพฤกษ์ ทิพยจันทร์ ผู้จัดการฝ่ายช่าง จำเลยที่ 9 เรืออากาศโทอภิชัย แสงศศิ ผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายสนับสนุนการปฎิบัติการ จำเลยที่ 10 เรืออากาศเอก ประวิตร ชินวัตร รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายปฏิบัติการ จำเลยที่ 11 และ นายพรชัย เสรีพงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายบริหารทั่วไป จำเลยที่ 12 ในข้อหา พนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยศาลนัดไต่สวนวันที่ 20 ต.ค. 2551
นอกจากนี้ ยังมีกรณีการฮั้วค่าธรรมเนียมน้ำมัน การขนส่งสินค้าทางอากาศ ทำให้สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคของยุโรป (EU) ฟ้อง ซึ่งยังเป็นระเบิดเวลาสำหรับการบินไทยเพราะจะมีการตัดสินกันประมาณกลางปี 2552 นี้ และหากการบินไทยแพ้จะต้องจ่ายค่าปรับประมาณ 10,000 ล้านบาทจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาทางการเงินของการบินไทยจนอาจถึงขั้นล้มละลายได้ และจะเกิดผลกระทบอย่างไรก็บริษัทและผู้ถือหุ้นแน่อน
โดย กรณีที่สหภาพยุโรปหรือ EC ได้เรียกค่าเสียหายการบินไทยกรณีและอีกหลายสายการบินในกรณีฮั้วค่าธรรมเนียมน้ำมัน การขนส่งสินค้าทางอากาศ เป็นเรื่องที่ใหญ่มากเพราะตัวเลขค่าปรับสูงมากแต่ฝ่ายบริหารกลับไม่ชี้แจงรายละเอียดต่อบอร์ดทำให้การตัดสินใจของบอร์ดในการให้การบินไทยสู้คดีผิดพลาด
ศาลแพ่งตัดสินบริษัทแพ้คดีจัดซื้อไวน์จ่ายค่าเสียหาย 27 ล้านบาท
แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้ การบินไทยและผู้บริหารยังถูกบริษัท Ming Yeung International Co.,Ltd ซึ่งได้ร่วมส่งไวน์และเสนอราคาผ่านตัวแทนบริษัทในไทยคือบริษัท โกลด์เด้น ดราก้อนซัพพลาย จำกัด (Golden Dragon Supply Co.,Ltd ) ฟ้องร้อง เพราะได้รับความเสียหายในการจัดซื้อไวน์ประจำปี 2549 (ต.ค.2549 – ธ.ค.2550 ) มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตไม่ได้รับความเป็นธรรมและมีการเลือกปฏิบัติ โดยในส่วนของคดีแพ่งที่ฟ้องบริษัทการบินไทยนั้นเมื่อเดือนธ.ค. 2551 ศาลได้ตัดสินให้บริษัทการบินไทยแพ้และจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 27 ล้านบาท ส่วนคดีอาญาที่ฟ้องผู้บริหารการบินไทยนั้นอยู่ระหว่างการไต่สวนมูลฟ้องโดยจะมีการตัดสินประมาณปลายเดือนม.ค. 2552 นี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|