ขุนคลัง-อุ๋ยเตรียมเรียกประธานแบงก์ไทย-ไอเอฟซีทีคุยสัปดาห์หน้า เพื่อเรียกประชุมผู้ถือหุ้น
ขอมติอนุมัติ ดีลควบรวมกัน ขณะที่คาดบีไอเอส หลังควบรวมมากกว่า 12 เท่า ด้านไอเอฟซีทีแจงลูกค้าถอนเงินปกติ
หลังทราบข่าวล่วงหน้า 1 เดือน วงเงินเพียง 200 ล้านบาท ไม่กระทบสภาพคล่อง เมื่อเทียบตั๋วเงินทั้ง
หมด 8 หมื่นล้านบาท ระบุการควบรวมเสริมจุดแข็ง ผลดีทุกฝ่าย ขณะที่สุชาติยันเขาทราบดีว่าไม่มีอำนาจ
สั่งยุบรวมได้ เพราะทั้งไอเอฟซีที และไทยธนาคารจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
(ตลท.) ต้องขออนุญาตตลท.ตามขั้นตอนเตรียม 2 แนวทางแก้ปัญหา นี้
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าววานนี้ (21
ส.ค.) ว่าเขาหารือ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีคลัง เพิ่มเติมวานนี้ (21 ส.ค.)
ซึ่งได้ข้อสรุปว่า จะเชิญประธานกรรมการทั้งจากไทยธนาคาร และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ไอเอฟซีที)
หารือสัปดาห์หน้า
เพื่อให้ทั้ง 2 องค์กรเรียกประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อขอมติควบรวมกิจการทั้ง 2 แห่ง
หลังควบรวมคาดสัดส่วนบีไอเอสจะมากกว่า 12 เท่า เขากล่าวว่าขณะนี้ ปัญหาสถาบันการเงินเหลือเพียงเล็กน้อย
หลักใหญ่ ด้านความแข็งแกร่งเงินกองทุน ธปท.ดำเนินการเกือบทั้งระบบแล้ว ยังคงเหลือปัญหาหนี้เน่า
ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนปรับลดลงตามแผนประชุมเชิงปฏิบัติการช่วงที่ผ่านมา
ดึงสินทรัพย์เน่าออก
กรณีไทยธนาคารกับไอเอฟซีทีเมื่อควบรวมเสร็จ เขากล่าวว่าจะกลายเป็นธนาคารพาณิชย์เอกชน
ขนาดใหญ่ที่เข้มแข็ง ดำเนินธุรกิจรายใหญ่ ปล่อยสินเชื่อภาคธุรกิจเกี่ยวกับการค้าการลงทุนภาคอุตสาหกรรม
ซึ่งมีฐานลูกค้าอยู่แล้วทั้ง 2 แห่ง เขาเชื่อว่าไม่มีปัญหาอะไร
ด้าน ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีคลัง เปิดเผยว่าเขามี 2 แนวทางแก้ไขปัญหาไม่ให้ขั้นตอนควบ
รวมกิจการระหว่างไอเอฟซีทีกับไทยธนาคาร (บีที) ยืดเยื้อกว่ากำหนดการที่วางไว้ คือภายในสิ้นปีนี้
ภายในสัปดาห์หน้า จะสำรวจสินทรัพย์และหนี้สิน (Due diligence) ร.อ.สุชาติกล่าวว่า
เขารับทราบอยู่แล้วว่าพระราชบัญญัติตั้งไอเอฟซีที รัฐมนตรีคลังไม่มีอำนาจสั่งยุบรวมได้
เพราะทั้งไอเอฟซีทีและไทยธนาคาร จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
จึงต้องขออนุญาต ตลท. ก่อน ตามขั้นตอน ซึ่งที่ผ่านมา หารือร่วมกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร
เทวกุล วิธีการต่างๆ เพื่อหาทางออกไว้แล้ว "ผมรู้อยู่แล้วว่ามีปัญหาข้อกฎหมาย แต่มี
2 แนวทาง แก้ปัญหานี้" ร.อ.สุชาติกล่าว
ส่วนกรณีศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย (ทีพีไอ)
ปรับโครงสร้างธุรกิจเบ็ดเสร็จ โดยตัดขายหุ้นที่ทีพีไอถือในทีพีไอโพลีน 49% เพื่อแลกซื้อโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก
ร.อ.สุชาติกล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปตามการตัดสินของศาล แต่ขณะนี้ ยังไม่ได้หารือกัน
ว่าจะให้ใครซื้อหุ้นส่วนนี้
ลูกค้าถอนพีเอ็น 200 ล้านบาท
นายศิริชัย สาครรัตนกุล รองผู้จัดการทั่วไป บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(ไอเอฟซีที) กล่าวว่าการที่มีข่าวทางการจะยุบไอเอฟซีทีรวมกับธนาคารไทยธนาคาร 1
เดือนที่ผ่านมา ลูกค้าบางรายถอนตั๋วสัญญาใช้เงิน (พีเอ็น) ประมาณ 200 ล้านบาท
ถือเป็นเรื่องปกติ และไม่กระทบมากนัก เนื่องจากลูกค้าบางรายครบสัญญาไถ่ถอน
นอกจากนี้ ไอเอฟซีทีพยายามจะติดต่อ และ สร้างความเข้าใจลูกค้าต่อเนื่อง ขณะนี้
ลูกค้าเริ่มเข้าใจ และเชื่อมั่นไอเอฟซีทีเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน กระทรวงการคลัง
ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ สนับสนุนการดำเนินงานของไอเอฟซีทีต่อเนื่อง
"การไถ่ถอนตั๋ว P/N จำนวน 200 ล้านบาท ยังไม่ถือว่าเป็นจำนวนที่ผิดปกติเมื่อเทียบกับจำนวน
ตั๋วP/N ที่มีอยู่ประมาณ 80,000 ล้านบาท เพราะมีการติดต่อประสานความเข้าใจให้กับลูกค้า
รวมทั้งชี้แจงถึงการควบรวม เป็นความสมัครใจของทั้ง 2 ฝ่าย ที่จะผลักดันให้สถาบันมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น"
รองผู้จัดการทั่วไปไอเอฟซีทีกล่าว
ประเด็นที่จะควบรวมกิจการตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และคลังประกาศ เขาเชื่อว่าจะส่งผลดีทั้งไอเอฟซีทีและไทยธนาคาร
ภายใต้สถาบันการเงินแห่งใหม่ เนื่องจากจะทำให้ธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยนำจุดแข็งทำธุรกิจ
2 องค์กรรวมกัน ทั้งการขยายสินเชื่อ ที่ปัจจุบันไอเอฟซีทีมีสินเชื่อเพียงเฉพาะกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม
รวมประมาณ 200,000 ล้านบาท
ไอเอฟซีทีจะได้รับประโยชน์การควบรวมครั้งนี้ค่อนข้างมาก เรื่องขอบเขตทำธุรกิจ
ที่จะขยายมากขึ้น เช่น ไทยธนาคาร ไม่มีบริษัทในเครือเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน
แต่ไอเอฟซีทีมีขณะที่ไอเอฟซีทีไม่มีบริษัทหลักทรัพย์ แต่ไทยธนาคารมี เป็นต้น
ขณะที่ประโยชน์ด้านโครงสร้างองค์กร ไอเอฟซีทีอาจไม่ได้รับผลประโยชน์มาก แต่กลับกัน
ไทยธนาคารได้รับประโยชน์มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ธนาคารครบวงจรมากขึ้น" นายศิริชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม เขายังไม่สามารถบอกได้ว่า การควบรวมกิจการครั้งนี้ จะเสร็จเมื่อใด
ขึ้นกับขั้นตอนดำเนินการของทางการ ซึ่งคงชัดเจนมากขึ้น หลังจากตั้งที่ปรึกษาการเงินเป็นตัวกลางตีมูลค่าสินทรัพย์ทั้ง
2 แห่ง เพื่อจะหาราคากลางตีค่าแลกเปลี่ยนหุ้น