ธุรกิจเช่าซื้อเดือดตลาดรถ-จยย.พุ่ง


ผู้จัดการรายวัน(22 สิงหาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

อานิสงส์ตลาดรถยนต์-จักรยานยนต์พุ่งสูงสุด แต่ละตลาดทุบสถิติเป็นว่าเล่น ทั้งที่ผ่าน ไปเพียง 7 เดือน ทำให้ธุรกิจเช่าซื้อรถทั้งสองประเภทแข่งเดือด บรรดาผู้นำต่างออกมาป้องตำแหน่งแชมป์ อย่างเต็มที่ กลุ่มฐิติกรของตระกูลพรประภา เตรียมระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ นำเงินมาเพิ่มพอร์ตสินเชื่อจยย.และขยายสาขา ขณะที่กลุ่มธนชาติอัดวงเงินกว่า 4 หมื่นล้านบาท ดันยอดเช่าซื้อรถยนต์ทะลุแสน คัน พร้อมทุ่มงบเกือบร้อยล้านรุกเช่าซื้อรถมือสอง ด้านวิริยะกรุ๊ปสวนหมัดเปิดศูนย์รถมือสองสู้ทันที

ตลาดรถ-จยย.ทุบสถิติ

จากการที่ธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้ มีอัตราการขยายตัวอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากตลาดรถยนต์ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) มียอดขายรวมแล้วร่วม 3 แสนคัน โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งทุกปีจะเป็นช่วงโลว์ซีซั่น แต่ปรากฏว่าปีนี้สามารถทำยอดขายได้เกิน 4.5 หมื่น คัน ถือว่าเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบหลายปี ดังนั้นภายในสิ้นปีนี้ตัวเลข รวมทั้งตลาด จึงน่าจะปิดที่ประมาณ 5 แสนคันจากเดิมที่คาดไว้ประมาณ 4.7 แสนคันเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ขณะที่ตลาดรถจักยานยนต์ก็เช่นเดียวกัน ผ่านไป 7 เดือน ทำยอดขายรวมแล้ว กว่า 1 ล้านคัน ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ในวงการตลาดรถจักรยานยนต์ไทย เพราะในปี 2539 ที่เป็นปีที่ตลาดรถจักรยานยนต์มากที่สุด ยังต้องใช้เวลาถึง 9 เดือน จึงจะทำตัวเลขได้เลยหลักล้านคัน เหตุนี้จึงเป็นที่แน่นอนแล้วว่าตลาดรถจักรยานยนต์ปีนี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 1.7-1.8 ล้านคัน ถือเป็นตัวเลขมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในตลาดรถจักรยานยนต์ไทย

จากทิศทางธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่เติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ทำให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่างๆ พลอยได้รับผลดีตามไปด้วย เช่นเดียวกับธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ที่ได้รับอานิสงส์โดย ตรงจากยอดขายรถที่เพิ่มขึ้น โดยบรรดาผู้นำแต่ละตลาดต่างออกมา ประกาศเป้าหมาย และกลยุทธ์ เพื่อป้องกันตำแหน่งแชมป์ของตนเองอย่างเต็มที่

ฐิติกรระดมทุนตลท.สู้

นายชุมพล พรประภา ประธานกรรมการ บริษัท ฐิติกร จำกัด(มหาชน) ผู้ให้บริการสินเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ที่สุดของประเทศ เปิดเผยแนวนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯว่า จากทิศทางการเติบโตของตลาดรถจักรยานยนต์ที่คาดว่า ปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 5 แสนคัน และตลาดรถจักรยานยนต์ที่ประมาณ 1.7-1.8 ล้านคัน ผลของการขยายตัวเช่นนี้จะทำให้ธุรกิจเช่าซื้อมีการแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น ซึ่งบริษัทจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเติบโตและการแข่งขันที่เกิดขึ้น

"เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และขยายสัดส่วนในตลาดรถยนต์ กลุ่มฐิติกรจึงมุ่งเน้นที่จะปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่เป็นหลัก โดยตั้งเป้าเติบโตเฉลี่ยต่อปีไม่ต่ำกว่า 15% ขณะที่รถยนต์จะรักษาแนวทางเดิม ปล่อยสินเชื่อทั้งรถเก่าและรถใหม่ รวมทั้งศึกษาการขยายธุรกิจไปยังการให้บริการสินเชื่อรายย่อยด้านอื่นๆ รวมถึงสินเชื่อบุคคลด้วย"

สำหรับผลประกอบการของบริษัทฯ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มีรายได้จากการเช่าซื้อประมาณ 347 ล้านบาท เป็นรายได้จากการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ 75% และรายได้จากเช่าซื้อรถยนต์ 15% และรายได้จากค่าธรรมเนียม ค่าบริการ และอื่นๆ 10% โดยในปีนี้บริษัทฯ ตั้งพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถทั้งสองประเภทไว้ที่ 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ประมาณ 4.5 พันล้านบาท และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 1.5 พันล้านบาท ในส่วนปีที่ผ่านมาปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อไปทั้งหมดประมาณ 5.8 พันล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่งใน ตลาดรถจักรยานยนต์ 37%

นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เพื่อรองรับนโยบายบริษัทที่จะขยายธุรกิจมากขึ้น จึงได้เตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยคาดว่าจะเริ่มซื้อขายหุ้นได้ประมาณปลายเดือนกันยายนนี้ และจะเปลี่ยนแปลงราคาตามมูลค่าที่ตราไว้(พาร์) จาก 5 บาท เป็น 1 บาท ส่งผลให้สัดส่วนการเสนอขายหุ้นสามัญ ให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก(ไอพีโอ) เพิ่มขึ้นจาก 20 ล้านหุ้น เป็น 100 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 20% ของทุนจดทะเบียน 400 ล้านบท

"การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อมากขึ้น รองรับการเติบโตของธุรกิจรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยเงินทุนจำนวนหนึ่งใช้ในการปรับระบบเช่าซื้อ ชำระหนี้บางส่วน และใช้ในการขยายสาขาให้ครอบคลุมการบริการมากขึ้น" นางสาวปฐมากล่าว

โดยการเพิ่มสาขาในปีนี้ บริษัทฯมีโครงการที่จะขยายสาขาอีก 3 แห่ง ในเขตภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพิ่มจากสาขาที่มีอยู่ 32 สาขา ขณะที่กลุ่มเครือข่ายของพันธมิตร และเจ้าหน้าที่สินเชื่อสำหรับธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของบริษัทฯ มีมากกว่า 350 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเครือข่ายธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลกว่า 170 แห่ง และกว่า 80 แห่งในต่างจังหวัด ด้านธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์นั้นบริษัทมีเครือข่ายกว่า 100 แห่ง กระจายทั่วพื้นที่ที่ให้บริการ

ธนชาติ-วิริยะกรุ๊ปแลกหมัด

นายบัณฑิต ชีวะธนรักษ์ กรรมการผู้จัดการ สายธุรกิจสินเชื่อและเช่าซื้อ บริษัท เงินทุน ธนชาติ จำกัด(มหาชน) จำกัด บริษัทในกลุ่มธนชาติที่เป็น กลุ่มสถาบันการเงินครบวงจร เปิดเผยว่า การที่ตลาดรถยนต์มีอัตราการเติบโตอย่างมาก ทั้งตลาดรถป้ายแดงและมือสอง ทำให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ดังนั้นบริษัทฯ จึงเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ในการรักษาตำแหน่งผู้นำธุรกิจเช่าซื้อรถ ยนต์ไว้ให้ได้

"ธนชาติจะยังคงรักษาการดำเนินงานเดิมไว้ โดยเฉพาะจุดเด่นที่มีการให้บริการครบวงจร ทั้งเรื่องบริการสินเชื่อ การส่งเสริมการขาย และการบริหารสัมพันธ์ลูกค้า มีเครือข่ายรองรับพร้อม รวมถึงพนักงานกว่า 300 คัน ในการคอยให้บริการลูกค้าอย่างรวดเร็ว ตรงนี้ทำให้กลุ่มธนชาติมั่นใจจะยังรักษา ตำแหน่งผู้นำธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ด้วยส่วนแบ่งตลาด 24%"

ในส่วนของผลการดำเนินงานในปี 2545 ที่ผ่าน มา กลุ่มธนชาติปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ทั้งป้ายแดงและรถมือสองกว่า 8 หมื่นคัน รวมวงเงินสินเชื่อประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท และคาดว่าในปี 2546 นี้จะสามารถให้บริการเช่าซื้อรถยนต์ทั้งสองประเภทได้ถึงแสนคัน วงเงินรวมประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท หรือมีอัตราการเติบโตประมาณ 57% โดยแบ่งเป็นรถใหม่ 8 หมื่นคัน และรถมือสอง 2.2 หมื่นคัน โดยในช่วงช่วง 7 เดือน(ม.ค.-ก.ค.)ที่ผ่านมา ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ไปแล้ว 6 หมื่นคัน วงเงินรวม 2.5 หมื่นล้านบาท

สำหรับในปีนี้กลุ่มธนชาติได้รุกตลาดรถมือสองมากขึ้น โดยเปิดโครงการธนชาติ สมาร์ทคาร์ พลาซ่า บนพื้นที่ 15 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์รถยนต์มือสองครบวงจร ที่ใหญ่ที่สุดบนถนนพระราม 9 ด้วยเงินลงทุนกว่า 88.5 ล้านบาท โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการวันที่ 24 ส.ค.นี้

นอกจากกลุ่มธนชาติแล้วที่รุกตลาดรถมือสอง ในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ บริษัท วี.เค.คาร์ พลาซ่า จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของวิริยะกรุ๊ป กลุ่มธุรกิจเช่าซื้อ รายใหญ่ของไทยอีกแห่ง จะทำการเปิดตัวศูนย์รวมรถยนต์ Best Buy เพื่อเป็นศูนย์รวมรถยนต์มือสองชั้นนำแห่งใหม่ ย่านถนนแจ้งวัฒนะขึ้นอีกแห่ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.