|

บ.เหล็กจ่อควบกิจการรับพิษศก.โลก-บาเซิล2
ผู้จัดการรายวัน(20 มกราคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ซี.เจ.มอร์แกนงานล้นมือ เผยรับเป็นที่ปรึกษาการควบรวมกิจการของธุรกิจ 3 กลุ่ม คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินรวมกว่า 4หมื่นล้านบาท มั่นใจปีนี้ได้ข้อยุติอย่างน้อย 1 กลุ่ม ซึ่งเป็นผลพวงจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกและความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อของแบงก์ตามข้อบังคับบาเซิล 2 เตือนผู้ถือหุ้นBSI อย่าลืมใช้สิทธิขายหุ้นคืนก่อนพ้น 12 ก.พ.นี้ หลังพบผู้ถือหุ้นใช้สิทธิขายหุ้นจิ๊บจ้อย
นายชำนิ จันทร์ฉาย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ซี.เจ.มอร์แกน จำกัด เปิดเผยว่า จากวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจการส่งออก อุตสาหกรรมเหล็กของไทย และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุนของสถาบันการเงิน (บาเซิล 2)ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กำหนด เป็นตัวกดดันให้มีการควบรวมกิจการเพื่อความเข้มแข็ง ซึ่งขณะนี้มีการเจรจาการควบรวมกิจการอุตสาหกรรมเหล็กจำนวน 3 กลุ่ม ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยซี.เจ.มอร์แกนรับเป็นที่ปรึกษาอยู่
โดยกลุ่มแรกเป็นการควบรวมกิจการเหล็กเส้นกับเหล็กเส้น มูลค่าทรัพย์สินรวม 1.5 หมื่นล้านบาท กลุ่มที่สองเป็นบริษัทเหล็กเส้นกับบริษัทผลิตเหล็กเส้นและเหล็กรูปพรรณ มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท และกลุ่มที่ 3 เป็นบริษัทผลิตเหล็กรูปพรรณกับบริษัทเหล็กรูปพรรณ มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท คาดว่าภายในปีนี้การเจรจาควบรวมกิจการจะบรรลุข้อสรุปอย่างน้อย 1 กลุ่ม ส่วนที่เหลือยังติดเงื่อนไขในรายละเอียดเกี่ยวกับอำนาจการบริหารจัดการ และราคา
นอกจากนี้ ซี.เจฯยังได้รับการติดต่อให้เข้ามาดำเนินการปรับโครงสร้างกิจการและหาพาร์ทเนอร์บริษัทผลิตกุ้งแช่แข็งส่งออก มูลค่า 2พันล้านบาท และบมจ. ซันวูด อินดัสทรี ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่งออก มูลค่า 1พันล้านบาท และบริษัทผลิตอุปกรณ์กีฬารายใหญ่ของโลก
ส่วนกรณีที่รัฐบาลอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 1แสนกว่าล้านบาทนั้น คงต้องรอดูผลต่อเนื่องว่าจะเป็นอย่างไร โดยวัดจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ดัชนีว่าจ้างแรงงาน และอื่นๆ ซึ่งสิ่งที่ตนวิตกกังวลเกรงว่าเม็ดเงินที่อัดฉีดไปนั้นอาจกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ สุดท้ายรัฐต้องใส่เงินลงไปมากกว่านี้
ส่วนภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กโลกในอีก1-3 ปีข้างหน้า ผู้ประกอบการจะอยู่ได้ต้องแข็งแกร่งและอึด เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กทั่วโลกลดลง ซึ่งประเทศผู้ผลิตและใช้เหล็กรายใหญ่ของโลกคือ จีน ขณะนี้รัฐบาลได้ทุ่มเม็ดเงินในการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้ล่าสุด จีนไม่มีการส่งออกบิลเล็ต ซึ่งเป็นเหล็กขั้นกลางส่งผลให้ราคาปรับตัวขึ้น แต่หันมาส่งออกเหล็กแผ่นรีดร้อนแทน ทำให้ราคาลดลงจากเดิมที่เคยอยู่ 1 พันเหรียญสหรัฐ/ตันมาอยู่ที่ 400-500 เหรียญสหรัฐ/ตัน
ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศพบว่ากำลังการผลิตรวม 10 กว่าล้านตัน แต่ความต้องการใช้เหล็กเส้นเพียง 4-5 ล้านตัน ซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้จะวัดความแข็งแกร่งของภาคธุรกิจ และจะเห็นการควบรวมกิจการมากขึ้น โดยจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นภายในไตรมาสแรกปีนี้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ราคาเหล็กเส้นเริ่มมีสัญญาณที่ดีหลังจากปลายปีที่แล้วราคาเหล็กเส้นอยู่ที่ 14,000-15,000 บาท/ตัน ล่าสุดราคาขยับขึ้นมาอยู่ที่ตันละ 18,000 บาท
เตือนผู้ถือหุ้นBSIอย่าลืมขายหุ้นคืน
นายชำนิ กล่าวต่อไปว่า ตามที่บริษัท พร้อมศรี พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด ได้ร่วมมือกับผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท กรุงเทพผลิตเหล็ก จำกัด (มหาชน)(BSI) ได้ทำคำเสนอซื้อหุ้น BSI ในราคาหุ้นละ 8.25 บาท โดยจะรับซื้อหุ้นทั้งหมดจนถึงวันที่ 11-12 ก.พ.นี้ และจะชำระเงินค่าหุ้นในวันที่ 17 ก.พ. 2552 ทาง ซี.เจ.มอร์แกน จำกัด ในฐานะผู้บริหารแผนฯ BSI แสดงความเป็นห่วงว่ามีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนมากที่อาจจะไม่ทราบว่าตนเองหรือญาติพี่น้องถือหุ้น BSIอยู่ เนื่องจากหุ้นดังกล่าวได้ถูกระงับการซื้อขายมานานเกือบ 10ปี ดังนั้นจึงได้เปิดศูนย์ประสานงานนักลงทุนสัมพันธ์ ณ สำนักงานของ BSI บริษัทหลักทรัพย์ บีฟิท จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางการเงินของผู้ทำคำเสนอซื้อ เพื่อให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ถือหุ้น
ขณะนี้มีผู้มาใช้สิทธิขายหุ้นBSI แล้ว 5.8 ล้านหุ้นจากจำนวนหุ้นที่จะขอซื้อคืนทั้งหมด 30ล้านหุ้น ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก หากผู้ถือหุ้นมาใช้สิทธิในเวลาที่กำหนดไม่ทัน ก็ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นBSIอยู่เพียงแต่จะขาดสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นอย่างถาวร เนื่องจากBSI จะขอเพิกถอนหลักทรัพย์ออกจากตลาดหลักทรัพย์โดยสมัครใจ
สำหรับผลการดำเนินงานของBSI ปี 2551 บริษัทฯได้รับผลกระทบจากราคาเหล็กปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงแต่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับบริษัทเหล็กรายอื่นๆ เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทฯมีสภาพคล่องจำกัด ทำให้ช่วงราคาเหล็กปรับตัวสูงมากก็ไม่ได้รับผลดีมากเช่นเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯเคยมีรายได้รวม 1.5 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันมีรายได้รวมเฉลี่ยปีละ 3 พันล้านบาท มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและภาษี (EBITDA)ประมาณ 10 ล้านบาท/เดือน
BSI เดิมมีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 6 หมื่นล้านบาท (รวมหนี้ค้ำประกัน) โดยจะต้องชำระหนี้เป็นเงินสดประมาณ 5 พันกว่าล้านบาท โดยBSIได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและจะสิ้นสุดการฟื้นฟูฯในปี 2553 บริษัทฯจะต้องมีการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้รายใหญ่ คือบสท.ในช่วง 2 ปีนี้ เป็นวงเงิน 3,000 ล้านบาท ตามเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ โดยบสท.จะลดหนี้(แฮร์คัท)วงเงิน 10,290 ล้านบาท ซึ่งยอมรับว่าในช่วงภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้การหาเงินมาชำระหนี้เป็นไปได้ยาก คงต้องมีการหารือกับเจ้าหนี้เพื่อขอผ่อนผันต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|