แบงก์ห่วงQ1-2จีดีพีติดลบลึก


ผู้จัดการรายวัน(20 มกราคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

สแตนชาร์ดประเมินจีดีพีปีนี้โต 1.3% ไตรมาส1-2 อาจติดลบลึก กดดันแบงก์ชาติปรับลดดอกเบี้ยอีก คาดเหลือ 1% ขณะที่มาตรการคลังจะเริ่มมีผลในไตรมาส 2 และค่าบาทจะอ่อนแตะ 37 บาท ระบุวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อน เพราะส่งผลกระทบถึงภาคเศรษฐกิจจริง โดยเฉพาะส่งออก-ท่องเที่ยว และจะทำให้มีปัญหาการว่างงานรุนแรงขึ้น

นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2552 ว่า วิกฤตเศรษฐกิจไทยที่เกิดขึ้นในปีนี้จะมีความแตกต่างจากเมื่อปี 2540 เนื่องจากกรณีของปี 2540 เกิดจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีปัญหาหนี้เสียสูงมาก รวมทั้ง มีหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทที่มีการประกาศลอยตัวทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงมาจาก 25 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 50 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งวิกฤตดังกล่าวมีผลกระทบในวงจำกัดต่อภาคการธนาคารพาณิชย์และอสังหาริมทรัพย์ของไทย แต่จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่แข็งแร่งทำให้ประเทศไทยฟื้นตัวได้เร็ว

ขณะที่วิกฤตครั้งนี้ มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และภาคเกษตร เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวตามไปด้วย โดยคาดว่าเงินเฟ้อปีนี้ติดลบตั้งแต่ในไตรมาสที่ 1-2 ซึ่งทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มีช่องในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก โดยคาดว่าจะเห็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยลดต่ำลงกว่าวิกฤตการณ์ครั้งก่อน จากความเสี่ยงของภาวะเงินฝืดที่เพิ่มขึ้น คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงปรับลดลงอีกอยู่ในระดับ 1%หรือต่ำกว่า 1%ก็เป็นได้

"ครึ่งแรกของปีนี้มีประชุมอีก 3 ครั้ง ครั้งแรกเดือนกุมภาพันธ์ และในไตรมาส 2 อีก 2 ครั้ง ในครั้งหน้าคาดว่าน่าจะลดอีก 0.50% และอีก 2 ครั้งน่าจะครั้งละ 0.25% ก็จะเหลือ1% และอาจจะมีการลดอีกประปรายในไตรมาสที่ 3 ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ"

และจากการคาดการณ์ว่าไทยจะมียอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงขึ้นในปี 2552 จึงคาดว่าจะทำให้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอีก โดยธนาคารคาดว่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงแตะระดับ 37 บาทต่อดออลาร์สหรัฐ ซึ่งก็เป็นผลดีในแง่การอ่อนค่าลงจะได้รับแรงกระแทกที่น้อยลง และค่าเงินสกุลต่างๆที่ได้รับผลกระทบมากจากการส่งออก คือ มาเลเซีย ไต้หวัน เวียดนาม และสิงค์โปร์

นางสาวอุสรากล่าวว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย(จีดีพี)ในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวในระดับ 1.3% จากสมมติฐานว่ามีการดอกเบี้ยลดในระดับที่คาดไว้ และมีนโยบายคลังเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 และจะมีในบางไตรมาสที่อัตราการเติบโตติดลบ โดยในไตรมาสที่1 และ 2 อาจจะขยายตัวติดลบ แล้วกลับมาดีขึ้นในครึ่งหลัง แต่ดีขึ้นแบบช้าๆ ไม่ก้าวกระโดด เนื่องจากการส่งออกในสหรัฐ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ที่ถดถอย

"ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเห็นภาวะเงินฝืดชั่วคราว เกิดจากอัตราดอกเบี้ยติดลบหลายเดือน อาจจะยาวนานถึง 4 เดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ในไตรมาสแรกอัตราการเติบโตจะติดลบ และในไตรมาสที่ 2 อาจจะติดลบลึก ขณะที่นโยบายคลังใช้เวลานานกว่าจะนำมาใช้ได้จริง อย่างเร็วสุดน่าจะเป็นในไตรมาสที่ 2 จึงทำให้เกิดช่องว่างในไตรมาสที่ 1"

ด้านการจ้างงานอาจจะเห็นการจ้างงานที่น้อยลงกว่าครั้งที่แล้ว และจะมีผู้ว่างงานมากขึ้น ในส่วนของมาตรการภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยผู้มีรายได้ต่ำนั้น ถือเป็นการช่วยลดปัญหาของสังคม และปัญหาคุณภาพชีวิต แต่อาจไม่ใช่มาตราการที่เพียงพอที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่ตกต่ำได้ ดังนั้น ภาครัฐบาลจะต้องมีมาตรการเบิกจ่ายที่สามารถหาวิธีที่จะนำมาใช้จ่ายได้อย่างรวดเร็ว และควรจะมีเงินเฉพาะส่วนที่จะช่วยภาคธุรกิจโดยเฉพาะ

สำหรับแนวโน้นเศรษฐกิจเอเชียคาดว่าจะเติบโตช้าลงในปี 2552 โดยผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวที่อาจถดถอยอย่างรุนแรง จาก 3 ปัจจัยด้วยกัน คือ เศรษฐกิจเติบโตตกต่ำและบางประเทศเกิดการถดถอย โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก อาทิ ส่องกง สิงค์โปร์ รวมถึงภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงเงินเฟ้อไปสู่เงินเฟ้อลดลง หรือการเกิดเงินฝืด และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลดลงในสถิติต่ำสุด

"ขณะนี้ประเทศสิงค์โปร์ ฮ่องกง จีน ยังมีความสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ฉะนั้น เอเชียต้องหันมามองการใช้จ่ายในประเทศ ราคาน้ำมันและการบริโภคที่ลดลงจะเป็นตัวหนุนให้มีการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำเป็นประวัติการณ์"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.