แบงก์ชาติ อนุมัตินักลงทุนสถาบันสนใจขนเงินไปลงทุนต่างประเทศ ตามนโยบายผ่อนคลายการควบคุมแลกเปลี่ยนเงินตรา
จำนวน 105 ราย มูลค่ารวมเกือบ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณกว่า 1 แสนล้าน
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
(ธปท.) กล่าวถึง กรณีที่ธปท. ได้มีนโยบายผ่อนคลายให้ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ที่สนใจลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ
แจ้งความต้องการลงทุนมายังธปท. เพื่อพิจารณานั้น ปรากฏว่า จนถึงวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา
มีผู้สนใจลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเป็นจำนวนมาก คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 105 ราย
โดยแบ่งเป็น บริษัทประกันชีวิตจำนวน 4 ราย บริษัทจัดการกองทุนรวม 5 ราย ยื่นในนามกอง
ทุน 49 กองทุน บริษัทจัดการกอง ทุน 2 ราย ยื่นในนามกองทุนสำรอง เลี้ยงชีพ 51 กองทุน
และกองทุนประกันสังคม 1 ราย โดยมีวงเงินที่ต้องการลงทุนรวมทั้งสิ้น 2,449. 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หรือคิดเป็นเงินประมาณ 102,868.92 ล้านบาท
สำหรับวงเงินทุนดังกล่าว สามารถจำแนกเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ของคนไทยที่ออกในต่างประเทศจำนวน
1,129.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทางธปท. ได้ไม่มีการกำหนดวงเงินในการลงทุน แต่อย่างใด
และลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาล และรัฐวิสาหกิจต่างประเทศจำนวน 1,319.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายธีระชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจต่างประเทศจำนวน
1,319.80 ล้านบาทนั้น ธปท.เองอนุญาตให้ลงทุนได้ทั้งหมดเท่าที่ขอมา จากเดิมที่กำหนดเบื้องต้นที่อนุญาตให้ลงทุนรวมได้ไม่เกิน
500 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น เนื่องจากเห็นว่าในวงเงินที่ขอมาทั้งหมดอยู่ในระดับเหมาะสมต่อภาวะการเงินจึงไม่น่าส่งผลกระทบต่อเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแต่อย่างใด
รวมทั้งเชื่อว่าตลาดสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้
ทั้งนี้ ในวงเงินที่ขอมาทั้งหมดมีบริษัทจัดการกองทุน 1 แห่ง ได้เสนอจัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในเอเชียบอนด์จำนวน
200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในหลักการจะเป็นการจัดตั้งกองทุนรวมที่เสนอขายให้กับนักลงทุนรายย่อยในประเทศไทย
เพื่อที่จะไปลงทุนในเอเชียบอนด์ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าทางธปท.จะมีการอนุญาตให้นักลงทุนรายอื่นที่สนใจที่ต้องการจะไปลงทุนในต่างประเทศได้อีกหรือไม่
และในวงเงินอีกจำนวนเท่าใด เนื่องจากต้องการที่จะรอดูสถานการณ์ในปัจจัยหลายๆ ด้านเสียก่อน
ทั้งนี้ ธปท. ผ่อนคลายระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน โดยอนุญาตให้ผู้ลงทุนสถาบัน
6 ประเภท ไปลงทุนในต่างประเทศได้ ซึ่งสถาบันทั้ง 6 แห่ง คือ บริษัทประกันชีวิต
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนรวม (ไม่รวมกอง ทุนส่วนบุคคล)
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และสถาบันการเงินที่มีกฎหมาย เฉพาะจัดตั้ง
โดยวัตถุประสงค์ของนโยบาย ดังกล่าวเพื่อสนับสนุนการลงทุนออกไปยังต่างประเทศ และเป็น
การเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ ในการลงทุน เนื่องจากขณะนี้การออมในประเทศมีจำนวนเกินกว่าความต้องการลงทุน
และมีสภาพคล่องในระบบสูงมาก ซึ่งการเปิดโอกาสให้ไปลงทุนในต่างประเทศนั้นจะพิจารณาตามความเหมาะสม