แบงก์กรุงไทย (KTB) ยันพร้อมปล่อยกู้ทีพีไอโพลีน 750 ล้านดอลลาร์ หลังวิโรจน์ศึกษาเบื้องต้น
ธุรกิจปูนของบริษัทแนวโน้มสดใส บริษัทกำกำไรได้ดี แนะขายคืนธุรกิจเม็ดพลาสติกให้ทีพีไอ
เพื่อลดหนี้ โดยบริษัทหลังใช้เงินจากการขายหุ้นทีพีโอโพลีน ที่ปัจจุบันถือ 49%
ด้านประชัยยอมถอยจากทีพีไอ มุ่งบริหารทีพีไอโพลีนแห่งเดียว หลังศาลล้มละลายกลางไกล่เกลี่ย
นัดใหม่อีกรอบ 25 ส.ค. ขณะที่ศาลยันประชัยไม่ได้ฉ้อโกง ทีพีไอตามข้อกล่าวหาก่อนหน้านี้
เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ (20 ส.ค.) ศาลล้มละลายกลางเรียกตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากธนาคารกรุงไทย
ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) (TPI)
รวมทั้งผู้บริหารลูกหนี้ นำทีม โดยนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ หารือร่วมกันแก้ปัญหาทีพีไอ
และบมจ. ทีพีไอโพลีน (TPIPL)
เนื่องจากเป็นปัญหาคาบเกี่ยวกันทั้ง 2 บริษัท เพราะหุ้นทีพีไอมีหุ้นไขว้กับหุ้นทีพีไอโพลีน
นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวว่า ผู้บริหารลูกหนี้ยังมีอำนาจบทบาทอยู่ใน ทีพีไอ ทำให้การบริหารจัดการของผู้บริหารแผนฯ
ชุดใหม่บริหารงานยากขึ้น
ประชัยยอมถอยจากทีพีไอ
นายพิชัย นิลทองคำ อธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง กล่าวว่าเพื่อให้การแก้ปัญหาหนี้
ทีพีไอราบรื่น จึงขอให้นายประชัยยุติบทบาทในทีพีไอ แต่ให้ใช้บทบาทประธานเจ้าหน้าที่บริหารในทีพีไอโพลีน
เพื่อบริหารบริษัทหลังให้ดี และมีฐานะมั่นคง ซึ่งนายประชัยยืนยันจะละวางการเกี่ยวพันในทีพีไอ
ตามกรอบกติกาที่กฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ตาม นายประชัยจะยังอยู่ในตำแหน่งซีอีโอต่อไปได้ แต่ต้องไม่มีบทบาทใดๆ
ดังนั้น อำนาจจัดการทั้งหมดในทีพีไอ ขณะนี้อยู่ที่ 5 ผู้บริหารแผนฯ ใหม่ นำโดย
พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ซึ่งเขาจะศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อแก้ไขแผนปรับโครงสร้างหนี้ฯ
ให้สำเร็จลุล่วง ส่วนทีพีไอโพลีน ยังคงให้ลูกหนี้บริหารแผนฯ ตามปกติ
ไม่พบประชัยยักยอกเงิน
"กรณีที่มีกระแสข่าวระบุว่า ลูกหนี้มีการยักยอกฉ้อโกงบริษัทนั้น จากการตรวจสอบพบ
ว่า ไม่เป็นข้อเท็จจริง เพราะตัวเลขต่างๆ ที่ปรากฏในงบการเงิน โดยนายประชัยไม่ได้นำเงิน
ออกไปไหน" นายพิชัยกล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมวานนี้หารือการแลกหุ้น เนื่องจากทีพีไอและทีพีไอโพลีนมีหุ้นไขว้กัน
โดยทีพีไอถือหุ้นทีพีไอโพลีน 49% ยังส่วนเกี่ยวพัน จนกลายเป็นอุปสรรคฟื้นฟูกิจการ
เช่น ทีพีไอเป็นเจ้าของสัมปทานเหมืองหินปูน
กรุงไทยศึกษาแบ่งสินทรัพย์-ปล่อยกู้ TPI-TPIPL
ศาลจึงต้องการจัดระเบียบทรัพย์สิน หนี้สิน และทุนใหม่ ให้ชัดเจน สอดรับธุรกิจหลัก
เช่น ทีพีไอโพลีนเน้นเฉพาะปูนซีเมนต์ เป็นต้น ที่ประชุมฯ เห็นร่วมกันให้ธนาคารกรุงไทยศึกษาแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวให้เสร็จ
แล้วเสนอในการประชุมไกล่เกลี่ย 25 ส.ค.นี้ เพื่อบันทึกเป็นข้อตกลง ใช้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอต่อไป
หากกิจการใดไม่สามารถแบ่งทรัพย์สินได้ อาจตั้งบริษัทที่ 3 บริหารงานแทน
นายพิชัยกล่าวต่อไปว่า การประชุมหารือครั้งนี้ ธนาคารกรุงไทยยินดีจะปล่อยสินเชื่อให้บริษัทลูกหนี้
ทั้งทีพีไอและทีพีไอโพลีน โดยศาลมอบหมายแบงก์กรุงไทย ในฐานะแกนปล่อยกู้ ศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ลดหนี้
ชำระหนี้ และการกู้ยืมว่าควรมีลักษณะอย่างไร แล้วเสนอศาลครั้งหน้า รวมทั้งให้แบงก์กรุงไทยกำหนดระยะเวลาตรวจสอบสถานะทรัพย์สินและหนี้สิน
(Due diligence) เสนอด้วย
"แบงก์กรุงไทยจะศึกษาแผนฯ ทั้งทีพีไอ และทีพีไอโพลีน เนื่องจากเป็นแกนนำในการปล่อยกู้
เชื่อว่าทุกอย่างกำลังดำเนินการไปได้ด้วยดี โดยวันพุธหน้า ข้อสรุปทั้งหมดจะมีความชัดเจนขึ้น
เนื่องจากบรรยากาศการเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นไปด้วยดี" เขากล่าว
นอกจากนี้ ลูกหนี้ขอให้ธนาคารกรุงไทยสนับสนุนขายหุ้นเพิ่มทุนทีพีไอโพลีน ซึ่งธนาคาร
กรุงไทยยืนยันพร้อมจะช่วยเหลือภายใต้คำสั่งศาล เพื่อให้ปัญหาเอ็นพีแอลทั้งระบบลดลง
ไม่ใช่เน้นช่วยเหลือลูกหนี้
วิโรจน์ดอดหารือศาล
ช่วงบ่ายวานนี้ นายวิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย เดินทางไปศาลล้มละลายกลาง
เพื่อรับผลการไกล่เกลี่ยช่วงเช้า เขายืนยันว่า การเปิดเผยข้อมูลการเงินและทรัพย์สินทีพีไอโพลีน
มีความสำคัญ จะทำให้แบงก์กรุงไทยปล่อยสินเชื่อได้
เหตุผลการปล่อยสินเชื่อให้ทีพีไอโพลีน เนื่องจากเห็นว่า ปูนซีเมนต์เป็นธุรกิจที่ดี
เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันกำลังผลิตในประเทศเกินความต้องการอยู่ ขณะเดียวกัน
ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในจีนสูงขึ้น จึงเป็นตลาดส่งออกที่ดี
นอกจากนี้ แบงก์ต้องยังพิจารณาความสามารถสร้างรายได้ และการชำระหนี้ของธุรกิจ
ซึ่งหากประเมินแล้ว พบว่าทีพีไอโพลีนมีความสามารถนี้ ดูจากศักยภาพโรงงาน และความต้อง
การใช้ปูนที่เติบโตขึ้นมาก
"ตัวรายได้ เป็นตัวบ่งชี้ในการตัดสินใจปล่อยกู้ และแพลนเนอร์ (ทีพีไอโพลีน) ให้ข้อมูล
เราเต็มที่หรือไม่ เพราะขณะนี้ ข้อมูลการเงินของทีพีไอโพลีนหลายชิ้น ไม่ได้รับการรับรองจาก
ผู้สอบบัญชี" นายวิโรจน์กล่าว
ส่วนตัวเลขปล่อยกู้ 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.15 หมื่นล้านบาท) เพื่อซื้อหนี้เงิน
ต้น 950 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.99 หมื่นล้าน บาท) ธนาคารกรุงไทยประเมินจากกรณีกลุ่มโฮลซิมซื้อหุ้นปูนซีเมนต์นครหลวงเป็นมาตรฐาน
โดยใช้เงิน 100 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 4.2 พันล้านบาท) ต่อกำลังผลิตปูน 1 ล้านตัน
ซึ่งปูนทีพีไอมีกำลังผลิต 9 ล้านตัน จึงเป็นหลักทรัพย์ที่ดีเพียงพอชำระหนี้ อนาคต
ปูนทีพีไอยังมีแผนจะเพิ่มกำลังผลิตอีก 3 ล้านตัน
TPIPL ควรขายเม็ดพลาสติกให้ TPI
ขณะที่ธุรกิจเม็ดพลาสติก LDPE มูลค่า 80-100 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3,360-4,200
ล้านบาท) ควรขายคืนบริษัทแม่ คือทีพีไอ เชื่อว่าการขายธุรกิจพลาสติกจะไม่กระทบทีพีไอโพลีน
เนื่องจากรายได้พลาสติก เป็นสัดส่วนกำไร เพียง 20-30% ของกำไรบริษัททั้งหมด เงินที่ได้
จากการขายธุรกิจพลาสติก จะนำไปลดหนี้ ขณะเดียวกัน ทีพีไอถือหุ้นทีพีไอโพลีน 49%
ก็ นำหุ้นดังกล่าวขายให้ไครก็ได้ แล้วนำเงินซื้อธุรกิจเม็ดพลาสติก LDPE
สำหรับความสามารถการปล่อยสินเชื่อแบงก์กรุงไทย กรณีนี้ 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน
ให้เครดิตไลน์ และค้ำประกันทีพีไอ เป็น เงิน 6-7 พันล้านบาท หากแยกระหว่างทีพีไอและทีพีไอโพลีนชัดเจน
ความสามารถการปล่อย กู้ให้ทีพีไอโพลีนของแบงก์กรุงไทย จะเพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านบาท
นายวิโรจน์กล่าวยืนยันว่า แบงก์กรุงไทยไม่วิตกกังวล หากต้องเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่
โดยนายประชัยเป็นผู้บริหารแผนฯ ทีพีไอโพลีน เพราะทุกอย่างที่ทำไป สร้างความพอใจให้ทุกฝ่ายได้
ทางด้าน ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีคลัง เปิดเผยวานนี้ กรณีจะให้นายประชัย
เลี่ยวไพรัตน์ ลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย (ทีพีไอ)
ว่า กระทรวงการคลังไม่ต้องการให้นายประชัยมีส่วน บริหารบริษัท ทีพีไอ หรือดำเนินการใดๆ
ขัดต่อคณะกรรมการผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ แม้จะไม่ลาออกจากตำแหน่งก็ตาม
"สิ่งที่คณะกรรมการผู้บริหารแผนฯ อยากจะเห็น คือคุณประชัยอย่าไปสั่งอะไรในโรงงานอีก
หรือสั่งอะไรที่ขัดต่อผู้บริหารแผนฯ ส่วนกรณี ที่จะออกจากตำแหน่งหรือไม่นั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง
และที่ผ่านมา ศาลก็ไม่ได้สั่งอยู่แล้ว ถึงแม้ไม่ได้สั่งการให้ออกจากตำแหน่ง แต่ก็ไม่ให้มีอำนาจในการสั่งการใดๆ
และเชื่อว่าคุณประชัยเองก็เข้าใจ และในที่ประชุม ก็ได้รับปากไปแล้ว" ร.อ. สุชาติกล่าว
ก่อนหน้านี้ ทีพีไอโพลีนเตรียมขายหุ้นเพิ่ม ทุน 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ
7,560 ล้านบาท) ให้ประชาชนทั่วไป ราคาหุ้นละ 17 บาท แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเกิดสงคราม
ระหว่างอิรักและสหรัฐฯรอบ 2 ทำให้นักลงทุนไม่สนใจซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าว แต่ปัจจุบัน
ราคาหุ้น TPIPL ปรับเพิ่มขึ้นที่ 28 บาท/หุ้น
นายพิชัยกล่าวถึงการหารือไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้ และลูกหนี้ คือทีพีไอโพลีน
ช่วงเช้าวานนี้ว่า ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากธนาคาร กรุงไทยยืนยันปล่อยสินเชื่อ 750
ล้านดอลลาร์ ให้ทีพีไอโพลีน
กรุงไทยตั้ง 4 เงื่อนไขปล่อยกู้ TPIPL
โดยมี 4 เงื่อนไข คือลูกหนี้ต้องให้ความร่วมมือเอกสารข้อมูล และห้ามเปิดเผยความลับบางเรื่อง
2 ข้อสุดท้าย เป็นตัวเลขการเงินเกี่ยวกับการลดหนี้ ซึ่งหากลูกหนี้ปฏิบัติได้ตามเงื่อนไข
ก็พร้อมจะปล่อยกู้
อย่างไรก็ตาม เจ้าหนี้ยืนยันจะไม่ลดหนี้เงินต้น ซึ่งศาลเห็นว่า เป็นการชี้ขาดของเจ้าหนี้มีประกัน
ซึ่งเป็นคณะกรรมการเจ้าหนี้ ไม่ใช่เสียงเจ้าหนี้ทั้งหมด ดังนั้น ศาลจะเรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
หารือในการจัดประชุมเจ้าหนี้ทั้งหมด เพื่อให้เจ้าหนี้ไม่มีหลักประกันรับทราบ ข้อมูลต่างๆ
เท่าเทียมกัน
เชื่อว่าเจ้าหนี้บางรายสนใจจะขายลดหนี้ให้ลูกหนี้ หรือเจ้าหนี้รายหนึ่ง วิธีการนี้
เชื่อว่าจะสลายปัญหาทีพีไอโพลีนได้ เพราะปัจจุบัน หนี้ทีพีไอโพลีนขายลดหนี้นอกตลาด
60-70% ของมูลหนี้เต็ม เพิ่มขึ้นจากเดิม ที่เคยขายลดหนี้ 30%
เจ้าหนี้ยืนยันไม่ลดหนี้เด็ดขาด
นายลือศักดิ์ กังวาลสกุล ทนายความคณะกรรมการเจ้าหนี้ บมจ.ทีพีไอโพลีน กล่าวว่า
การร่วมประชุมกับศาลล้มละลายกลาง ผู้บริหาร แผนฟื้นฟูฯ TPI นายประชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทีพีไอ
และตัวแทนธนาคารกรุงไทย ช่วงบ่ายวานนี้
เจ้าหนี้สอบถาม พล.มงคล ผู้บริหารแผนฯ ทีพีไอ ในฐานะประธานกรรมการ ธนาคารกรุงไทย
ยืนยันปล่อยกู้ 750 ล้านดอลลาร์ต่อทีพีไอโพลีน ซึ่งธนาคารกรุงไทยยืนยันว่า ทุกอย่างขึ้นกับการทำดิว
ดิลิเจนซ์ ที่ต้องดำเนินการ ดังนั้นตัวเลข 750 ล้านดอลลาร์ดังกล่าว ปรับเปลี่ยนได้
ศาลนัดอีกรอบ 27 ส.ค.
ศาลขอให้แบงก์กรุงไทยกลับไปทำดีวดิลิเจนซ์ แต่ยังไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลา ว่าจะเสร็จภายในกี่เดือน
27 ส.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ศาลนัดคณะกรรมการเจ้าหนี้ ธนาคารกรุงไทย และลูกหนี้ ประชุมอีกครั้ง
เพื่อดูว่าธนาคารกรุงไทยและลูกหนี้จะมีข้อเสนออะไรบ้าง
ขณะที่เงื่อนไขธนาคารกรุงไทย ที่เสนอปล่อยกู้ 750 ล้านดอลลาร์ ต้องการใช้ซื้อหนี้คืน
ได้ 950 ล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับลดหนี้ 200 ล้านดอลลาร์
หลังจากนั้น ศาลให้คณะกรรมการเจ้าหนี้ TPIPL กลับก่อน เนื่องจากศาลต้องการหารือร่วมระหว่างผู้บริหารแผนฯ
ทีพีไอ และผู้บริหารลูกหนี้
นายลือศักดิ์กล่าวต่อไปว่า การประชุมนัดไกล่เกลี่ยช่วงเช้าวานนี้ มี 4 ตัวแทนธนาคารกรุงไทยร่วมด้วย
คณะกรรมการเจ้าหนี้แสดงจุดยืนว่า ต้องการรับชำระหนี้เงินต้นครบทั้ง 100% โดยไม่ลดหนี้
เหตุผล 4 ประการ
คือ 1. สัญญาเดิม กำหนดให้ลูกหนี้ชำระหนี้ 100% 2. ปูนซีเมนต์นครหลวง(SCCC) เสนอชำระหนี้
เงินต้น 100% 3. ภาพรวมเศรษฐกิจไทยและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กำลังฟื้นตัว ทำให้มั่นใจว่า
ทีพีไอโพลีนมีความสามารถ ชำระหนี้ 100% และ 4. ลดหนี้ จำเป็นต้องได้คะแนนเสียงสนับสนุนจากเจ้าหนี้ทั้งหมด
100% หากเจ้าหนี้รายใดไม่เห็นด้วย อาจฟ้องร้องเป็นคดีใหม่เพิ่มขึ้นได้
นายพิชัยกล่าวถึงกรณีเจ้าหนี้ยืนยันจะไม่ลดหนี้ จะส่งผลต่อการปล่อยกู้ของแบงก์กรุงไทย
ว่า เงื่อนไขแบงก์กรุงไทย ที่จะปล่อยกู้ 750 ล้านดอลลาร์ โดยเจ้าหนี้ต้องลดหนี้
200 ล้านดอลลาร์ เชื่อว่าหากสถานการณ์ความเสี่ยงการปล่อยกู้เปลี่ยนแปลงในทางที่ดี
แบงก์กรุงไทยน่า จะปล่อยกู้ได้ โดยเจ้าหนี้อาจไม่ต้องลดหนี้ก็ได้