กฟผ.บุกธุรกิจขั้นต้นออริมัลชั่น-ถ่านหิน


ผู้จัดการรายวัน(20 สิงหาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมปรับบทบาทเข้าสู่ธุรกิจขั้นต้น (Up Steam) ด้วยการพิจารณาแผนลงทุนด้านการผลิตเชื้อเพลิงที่ไม่เกี่ยวข้องกับก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน เพื่อไม่ให้ซ้ำกับการทำธุรกิจของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพื่อที่จะรองรับกับแผนแปรรูปในต้นปีหน้า

ปัจจุบันกฟผ.คือผู้ผลิตไฟฟ้าป้อนกับผู้บริโภคคนไทย รายใหญ่สุดของประเทศและเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ส่วนใหญ่จะรับซื้อผ่านปตท.ซึ่งเป็นก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเป็นหลัก ขณะที่ถ่านหินมีเพียงที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะเท่านั้น ด้านเชื้อเพลิงอื่นๆ ที่จะเข้ามาแข่งขันยังมีปัจจัยเรื่อง ราคาที่สูงไม่สามารถแข่งขันกับก๊าซฯ น้ำมัน ถ่านหินได้

"เรากำลังศึกษาถึงแนวทางการหาเชื้อเพลิงที่จะรองรับความต้องการพลังงานในอนาคตเพื่อลดการใช้ก๊าซฯลงเพราะเห็นว่าก๊าซฯน่าจะใช้ประโยชน์อื่นๆ ดีกว่าการนำมาผลิตไฟฟ้าและอนาคตก๊าซฯในไทยก็จะลดลงโดยขณะนี้กฟผ.ไปดูงานที่เวเนซุเอลา ซึ่งมีเชื้อเพลิงตัวใหม่คือ ออริมัลชั่น และถ่านหินที่รัสเซีย"นายสิทธิพร รัตโนภาส ผู้ว่าฯกฟผ.กล่าว

ทั้งนี้บริษัท bitor ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของเวเนซูเอล่าได้เชิญชวนกฟผ.เข้าร่วมลงทุนในการพัฒนาแหล่ง ออริมัลชั่น ซึ่งกฟผ.พิจารณาเบื้องต้นมีความเป็นไปได้สูงเพราะเชื้อเพลิงดังกล่าวจะมีราคาอยู่ที่ 32 เหรียญต่อตันซึ่งถือว่าต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน 2-3 % แต่ใกล้เคียงกว่าถ่านหินแต่อนาคตมีแนวโน้มต่ำกว่าเพราะมีผู้ใช้กว้างขวางขึ้นทั้งจีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฯลฯ

นายสิทธิพรกล่าวว่า เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ที่กฟผ. จะเข้าร่วมทุนกับบริษัท bitor ของเวเนซุเอลา และบริษัทญี่ปุ่น โดยทาง bitor จะเป็นผู้ผลิต บริษัทญี่ปุ่นจะเป็นเทรดเดอร์ และกฟผ.เป็นผู้ซื้อเข้ามาผลิตไฟฟ้า โดยหากนำออริมัลชั่นมาผลิตไฟฟ้าน่าจะเป็นที่โรงไฟฟ้าบางปะกงในส่วนของ 2,300 เมกะวัตต์ที่ล่าสุด เอกชนก็แสดงความสนใจจะเข้ามาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตหรือรีเพาเวอร์ริ่งอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันกฟผ.ยังมีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนพัฒนาแหล่งถ่านหินที่รัสเซีย โดยในเดือนกันยายน กฟผ.จะเดินทางไปดูในรายละเอียดอีกครั้งทั้งนี้เนื่องจากเห็นในอนาคตแล้วไทยคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินได้เพราะหลายประเทศก็ผลิตเช่นกันเพราะมีต้นทุนต่ำและแหล่งถ่านหินที่มีสำรองปริมาณมากขณะที่ก๊าซฯในไทยเริ่มลดลง

ปัจจุบัน กฟผ. ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า 72% และหากบ่อนอกและหินกรูดหันมาผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฯจะทำให้สัดส่วนเพิ่มเป็น 75% โดยล่าสุดโครงการถ่านหินได้ผ่านการพิจารณาจาก บอร์ดกฟผ.ที่มีนายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานเมื่อวันที่ 19 ส.ค.ในการให้กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าที่ราคา 1.715 บาทต่อหน่วย(ณ ราคาก๊าซ 148 บาท/ล้านบีทียู) ซึ่งเป็นราคาที่รวมค่าเคลมจากหินกรูดเสร็จเรียบร้อยโดยเมื่อบริษัทมีความพร้อมก็จะเซ็นสัญญาซื้อขายต่อไป

ส่วนกรณีของบ่อนอกอยู่ระหว่างการเจรจาแต่ กฟผ.จะพิจารณาเฉพาะการผลิต 700 เมกะวัตต์เท่านั้นส่วนบริษัทสนใจจะขายเพิ่มอีก 700 เมกะวัตต์จะไว้พิจารณาภายหลังโดยการผลิตทั้ง 2 โครงการจะเริ่มป้อนเข้าสู่ระบบได้ภายในมีนาคม 2551

นายสิทธิพรกล่าวว่า วันที่ 29 ก.ย.กฟผ.จะทำการพรีเซนต์แผนการทำธุรกิจต่างๆ ของกฟผ.ที่สหรัฐอเมริกาให้กับนักลงทุนได้รับทราบถึงทิศทางต่างๆ โดยเฉพาะเป็นการกรุยทางการโรดโชว์ที่กฟผ. มีแผนที่จะแปรรูปและกระจายหุ้นในตลาดหลัก ทรัพย์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2547 ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้จะไม่มีข้อตกลงซื้อขายหุ้นกันแต่อย่างใด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.