นักลงทุนทิ้งหุ้น"ปตท."กดดัชนีร่วง


ผู้จัดการรายวัน(13 มกราคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

นักลงทุนแห่ทิ้งหุ้นขนาดใหญ่กดดันดัชนีร่วงกว่า 6 จุด หวั่นผลประกอบการกลุ่มปตท. ไตรมาส 4/51 ทรุดหนัก ซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กำลังหดตัวจากตัวเลขการว่างงานของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น ด้านโบรกเกอร์ แนะจับตาผลการดำเนินงานกลุ่มสถาบันการเงินทั่วโลกที่จะทยอยประกาศเร็วๆ นี้ จะส่งผลลบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก แม้ตลาดหุ้นไทยจะได้รับผลดีจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาลงในการประชุม กนง. ของแบงก์ชาติ 14 ม.ค.นี้

บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย วานนี้ (12 ม.ค.) ยังถูกปกคลุมด้วยปัจจัยลบทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีส่งสัญญาณชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง จากตัวเลขอัตราการว่างงานสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น จนส่งผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงนักลงทุนเริ่มกังวลถึงผลประกอบการของสถาบันการเงินสหรัฐฯ ไตรมาส 4 ปี 2551 ที่กำลังจะทยอยประกาศออกมาน่าจะยังประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง

ขณะที่ ปัจจัยในประเทศนั้น บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเอง หลายฝ่ายเริ่มมีการคาดการณ์ว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 4/51 คงจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ที่จะประสบปัญหาผลการขาดทุนอย่างหนัก

จากปัจจัยดังกล่าวกดดันให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงตั้งแต่การซื้อขายภาคเช้า แม้ช่วงเปิดตลาดจะสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นจากวันก่อนได้เล็กน้อย โดยมีราคาสูงสุดที่ 460.82 จุด ต่ำสุดที่ 451.10 จุด ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ 452.80 จุด ลดลงจากวันก่อนหน้า 6.26 จุด หรือคิดเป็น 1.36% มูลค่าการซื้อขายรวม 9,352.57 ล้านบาท

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างประเทศมียอดขายสุทธิ 684.63 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 530.14 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 1,214.77 ล้านบาท

สำหรับหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก ประกอบด้วย บมจ. ปตท. (PTT) ราคาปิดที่ 168 บาท ลดลงจากวันก่อน 9 บาท หรือคิดเป็น 5.08% มูลค่าการซื้อขาย 1,427.42 ล้านบาท บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ปิดที่ 108 บาท ลดลง 5 บาท หรือ 4.42% มูลค่าการซื้อขาย 909.80 ล้านบาท และบมจ. บ้านปู (BANPU) ปิดที่ 240 บาท ลดลง 6 บาท หรือ 2.44% มูลค่าการซื้อขาย 433.60 ล้านบาท

นางสาวปองรัตน์ รัตนะตวณานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ BLS กล่าวว่า บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ วานนี้ (12 ม.ค.) มีแรงเทขายออกมาในหุ้นลุ่มพลังงานตลอดทั้งวัน เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ผลประกอบในไตรมาส 4/2551 ของกลุ่มบมจ. ปตท. (PTT) จะประสบปัญหาการขาดทุนหลังจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2551

ขณะที่มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะทำให้มีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์บ้าง แต่ไม่ได้ส่งผลต่อดัชนีตลาดหุ้นมากนัก เพราะมูลค่าตลาดราคาตลาดรวมของหุ้นในกลุ่มนี้มีสัดส่วนน้อยกว่าหุ้นในกลุ่มปตท. บวกกับปัจจัยต่างประเทศยังถูกปกคลุมจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

สำหรับแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ (13 ม.ค.) คาดว่าจะทรงตัว โดยนักลงทุนควรจับตาการประมูลงานของกลุ่มธุรกิจรับเหมาในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงในเส้นทางที่ 2-3 ส่วนกลยุทธ์การลงทุนแนะเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มพลังงาน ทั้งนี้ประเมินแนวรับอยู่ที่ 446 จุด และแนวต้านอยู่ที่ 460 จุด

นายเจริญ เอี่ยมพัฒนธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บล. เคทีบี จำกัด กล่าวว่า จากการที่ตลาดคาดการณ์ผลการดำเนินงานกลุ่มบมจ. ปตท. มีแนวโน้มปรับลดลงจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ส่งผลมีแรงเทขายหุ้นของกลุ่มปตท. กดดันให้ตลาดหุ้นปิดตลาดในแดนลบ แม้จะมีแรงซื้อของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับอานิสงส์มาตรการภาษีของรัฐบาล แต่ไม่ส่งผลต่อดัชนีตลาดหุ้นมากนัก

“ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่ดี ได้ส่งผลทางด้านจิตวิทยาต่อผู้ลงทุน บวกกับไม่มีปัจจัยบวกเข้ามาสนับสนุนตลาดหุ้น ทำให้ปริมาณการซื้อขายไม่มาก”

ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นไทยน่าจะเคลื่อนไหวอยุ่ในกรอบแคบๆ จากราคาน้ำมันยังร่วงลงอย่างต่อเนื่องที่จะส่งผลต่อผลการดำเนินงานของหุ้นกลุ่มพลังงาน ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมสูงสุดในตลาดหุ้นไทย แต่นักลงทุนควรติดตามความเคลื่อนไหวดัชนีดาวโจนส์ของสหรัฐฯ และตลาดหุ้นเอเชีย รวมถึงราคาน้ำมันโลก ดังนั้นจึงแนะนำให้ซื้อเก็งกำไรระยะสั้นในหุ้นขนาดเล็กที่ได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

ด้านนายภูวดล ลาภอุดมสุข ผู้อำนวย ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP กล่าวว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงจากความวิตกกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และตัวเลขการว่างงานของสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการคาดการณ์ผลการดำเนินงานของบริษัทเอกชนต่างๆ ในสหรัฐฯ ที่กำลังจะทยอยประกาศออกมายังประสบปัญหาการขาดทุน

ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ยังไม่คลี่คลาย หลังจากมีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จึงเป็นอีกสาเหตุที่สงผลต่อดัชนีตลาดหุ้น

สำหรับแนวโน้มดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ วันนี้ น่าจะแกว่งตัวอยู่กรอบแคบๆ และนักลงทุนควรติดตามราคาน้ำมันโลก ตลอดจนผลการดำเนินงานของกลุ่มพลังงานไตรมาส 4/51 ทั้งนี้ จึงแนะนำให้ควรซื้อเมื่อดัชนีอ่อนตัวในกลุ่มพลังงาน โดยมีแนวรับอยู่ที่ 445 จุด และแนวต้านที่ 466 จุด

นางสาวอาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียที่ส่วนใหญ่ปรับตัวลงตามดาวโจนส์ เนื่องจากมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจถดถอย ภายหลังจากที่สหรัฐฯ มีตัวเลขการว่างงานที่สูง

ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานไตรมาส 4/51 ของกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะ บมจ.ปตท. ที่คาดว่าจะขาดทุนจากบริษัทย่อยและบริษัทร่วม แม้จะมีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สามารถที่จะช่วยพยุงดัชนีตลาดหุ้นได้

“ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงได้อีก แต่นักลงทุนต้องติดตามความเคลื่อนไหวจากต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ สัปดาห์นี้ให้กรอบแนวรับไว้ที่ 450-430 จุด ส่วนแนวต้านให้ไว้ที่ 470, 480 จุด”

ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากนักลงทุนต่างคาดการณ์ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 4/51 ไม่สดใสมากนัก บวกกับดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจโลกและในประเทศเองจะยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อจิตวิทยาการลงทุน อย่างไรก็ตาม อาจจะมีแรงซื้อเก็งกำไรจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์พี) ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 14 มกราคมนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.