กทพ.แฉBECLสุดคุ้ม 10ปีโกย7หมื่นล้าน


ผู้จัดการรายวัน(19 สิงหาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

เผยต้นทุนบีอีซีแอลคาดเปิดใช้ทางด่วนในช่วง 10 ปีโกยรายได้ประมาณ 70,000 ล้านบาท ขณะที่มีต้นทุนค่าก่อสร้างประมาณ 50,000 ล้านบาท เชื่อบริษัทคุ้มทุน แล้วโดยเริ่มจ่ายปันผลผู้ถือหุ้นได้ในปี 2545 แม้ว่าต้องแบกรับดอกเบี้ยด้วยก็ตาม ขณะที่บริษัทยันภาพรวมยังไม่ดี ต้องแบกรับผลขาดทุนของทางด่วนบางปะอินของ เอ็นอีซีแอล บริษัทลูกอยู่ด้านกทพ.เริ่มมีกำไร แต่ภาระหนี้สินยังอ่วม เร่งปั๊มรายได้เพิ่มจากทุกทาง ยาหอมหมดสัญญาสัมปทานกับบีอีซีแอล ปี 63 เตรียมลดค่าทางด่วนคืนให้ประชาชน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้รับหนังสือผลการตีความเรื่องค่าผ่านทางด่วนจากอัยการสูงสุด แต่มั่นใจว่า จะต้องได้รับคำตอบภายในสัปดาห์นี้แน่นอน ซึ่งยืนยันได้ว่าหากอัยการให้ ปรับค่าผ่านทาง จะให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เรียก บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีซีแอล มาเจรจา เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด แต่หากอัยการตีความว่าไม่ต้องปรับ ก็จะไม่ปรับแน่นอน ส่วนเอกชนนั้น จะฟ้องร้องก็เป็นสิทธิ์ของเอกชนก็ต้องสู้กันไปตามกระบวนการ

ส่วนภาระเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT7%) นั้นเห็นว่า กทพ.มีความสามารถที่จะรับภาระต่อไป และได้พยายามชี้แจงให้ฝ่ายบริหาร กทพ. เข้าใจแล้วว่า รัฐพยายามช่วยเหลือ กทพ.ในเรื่องแปลงหนี้เป็นทุน โอนโครงการมอเตอร์เวย์ให้ ทำให้สถาน การณ์ด้านการเงินของกทพ.ดีขึ้นแน่นอน

เผยบีอีซีแอลมีรายได้ 10 ปี 70,000 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากกทพ.กล่าวว่า ปัจจุบันทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 มีจำนวนรถเฉลี่ยประมาณ 900,000 คันต่อวัน โดยในปี 2541 แบ่งรายได้ 40-60 กทพ.มีรายได้ประมาณ 17 ล้าน บาทต่อวันหรือประมาณ 6,200 ล้านบาทต่อปีหักภาษีมูลค่าเพิ่ม 600 ล้าน บาทต่อปี เหลือ 5,600 ล้านบาทต่อปี ส่วนบีอีซีแอลได้ส่วนแบ่ง 24 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 8,760 ล้านบาทต่อปี ต่อมาในปี 45 ส่วนแบ่งรายได้ปรับเป็น 50-50 กทพ.ได้รับประมาณ 20 ล้านบาทต่อวันหรือประมาณ 7,300 ล้านบาทต่อปี (ก่อนหักภาษี 600 ล้านบาท) ส่วนบีอีซีแอล มีรายได้ 7,300 ล้านบาทต่อปี

แหล่งข่าวกล่าวว่า บีอีซีแอลมีต้นทุนค่าก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 ประมาณ 48,000 ล้านบาท บริหารโครงการมา 10 ปี มีรายได้เฉลี่ยปีละประมาณ 7,000 ล้านบาท รวมประมาณ 70,000 ล้านบาท บริษัทน่าจะคืนทุนแล้ว เนื่องจากสามารถจ่ายปันผลผู้ถือหุ้นได้แล้ว 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยบริษัทมีส่วนต่างรายได้เหลืออีกประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาชำระดอกเบี้ยเงินกู้ได้

บีอีซีแอลยันมีรายได้วันละ 15 ล้านบาท

โดยนางพเยาว์ นริตตะพร รองกรรมการผู้จัดการ บีอีซีแอลระบุว่า บริษัทมีรายได้จากค่าผ่านทางวันละประมาณ 15 ล้านบาท โดยคาดว่าหากมีการปรับค่าผ่านทางเป็น 45 บาท จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 12.5% หรือเฉลี่ยประมาณวันละ 1.5 ล้านบาท ส่วนทางด่วนแจ้งวัฒนะ-บางปะอิน และอโศก-ศรีนครินทร์ ยังประสบปัญหาการขาดทุนมากกว่า 3,000 ล้านบาท และในปี 2546 คาดว่าจะขาดทุนอีก 400-500 ล้านบาท

ส่วน กทพ.นั้น ต้องประสบกับปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา เนื่องจากปริมาณผู้ใช้ทางด่วนไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 40 ด้วย รวมถึงการรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม แทนผู้ใช้ทางอีกปีละประมาณ 600 ล้านบาท

โดยผลประกอบการของกทพ.ในปี 2542 ขาดทุน 4,060 ล้านบาท ปี 2543 ขาดทุน 652.40 ล้านบาท ปี 2544 มีกำไร 211 ล้านบาท ปี 2545 มีกำไรประมาณ 816 ล้านบาท

ปี 45 บีอีซีแอลมีกำไรกว่า 878 ล้านบาท

สำหรับผลดำเนินงานของบีอีซีแอลในปี 2545 และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน 878 ล้านบาท สูงกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย ซึ่งมีสาเหตุจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณรถที่ใช้ทางพิเศษในทุกระบบประมาณร้อยละ 12.86 ส่งผลให้รายได้ค่าผ่านทางเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 407 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.85 โดยตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย. 2545 มีส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทาง สำหรับทางพิเศษ ในเขตเมืองระหว่างบริษัทฯ กับกทพ. เปลี่ยนแปลงจากเดิมในอัตรา 60:40 เป็นอัตรา 50: 50 รายได้โดยรวมจึงมีอัตราเพิ่มขึ้นแตกต่างจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณรถ

นอกจากนี้ ยังมีค่าตัดจำหน่ายสิทธิประโยชน์บนงานก่อสร้างที่เสร็จแล้ว เพิ่มขึ้น 153 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.08 การเพิ่มขึ้นของค่าตัดจำหน่ายเกิดจากปริมาณรถยนต์ที่ใช้ทางพิเศษเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2545 บริษัทได้มีประกาศปันผลให้ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.75 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 577 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2544 บริษัทและบริษัทย่อยมีผลกำไรจากการดำเนินงาน 874 ล้านบาท หรือสูงขึ้น 702 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2543

กทพ.ยาหอมอีก 17 ปีลดค่าผ่านทางคืนประชาชน

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการ กทพ. กล่าวว่า การประเมินสถานภาพทางการเงินของกทพ. จะต้องมองในระยะยาว ซึ่งพบว่า อีกประมาณ 17 ปี สัญญาสัมปทานระหว่างกทพ.กับบีอีซีแอลจะหมดอายุลง โดยบีอีซีแอลจะต้องโอนโครงการให้กับกทพ.ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น รายได้จากค่าผ่านทางจะเป็นของกทพ.100% ประกอบกับการปรับปรุงการบริหารงานของกทพ.จะทำให้มีรายได้เพิ่มจากกิจกรรมอื่นๆ ตลอดสภาพคล่องทางการเงินจะดีขึ้นมาก จนสามารถลดค่าผ่านทางให้กับผู้ใช้ทางลงได้ระดับหนึ่ง ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับนโยบายในขณะนั้นด้วย

"ขณะนี้บอร์ดกทพ.และกระทรวงคมนาคมมีทางเลือกไม่มาก แต่เมื่อทางด่วนเป็น ของกทพ.จะทำอย่างไรก็ได้ นโยบายของรมว. คมนาคมชัดเจนว่า ทางด่วนไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางสาธารณะที่ประชาชนจำเป็นต้องใช้ เพราะทางด้านล่างมีปัญหาติดขัด ดังนั้นค่าผ่านทางต้องไม่แพง แต่ที่ผ่านมารัฐไม่มีเงินลงทุนเอง จึงต้องเชิญชวนเอกชนเข้ามาลงทุนให้ เมื่อมีการลงทุนโดยเอกชน ก็ต้องคิดเรื่องกำไรควบคู่ไปด้วย"

เร่งปั๊มรายได้พัฒนาที่ใต้ทางด่วน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในส่วนของการพัฒนาพื้นที่และจัดหาประโยชน์ในเขตทางด่วนนั้น ตั้งเป้ารายได้ประมาณ 100 ล้านบาท แต่มีรายได้จริงประมาณ 60 ล้านบาทต่อปี ปัญหาเกิดจากการกำหนดอัตราค่าเช่าต่ำ นอกจากนี้ใต้เขตทางด่วนขั้นที่2 โดยเฉพาะช่วงที่เป็นย่านธุรกิจ (ถ.เพชรบุรี-สาทร) ยังมีข้อพิพาทกับบีอีซีแอล เนื่องจากบริษัทอ้างว่าสัญญาให้สิทธิ์ในการเข้าพัฒนาหรือมีส่วนร่วม ทำให้กทพ.ไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ โดยตลอดแนวทางด่วน 5 สาย มีพื้นที่จัดประโยชน์ได้รวม 449,932 ตารางวา แบ่งให้สาธารณชนส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชน 101,152 ตารางวา ให้เช่าหารายได้ 42,983 ตารางวา ที่เหลือประมาณ 305,795 ตารางวา บาง ส่วนติดปัญหาข้อพิพาทกับบีอีซีแอลบางส่วนยังไม่ได้ดำเนินการหาประโยชน์เต็มรูปแบบ

สำหรับสัญญาสัมปทานระหว่างกทพ.กับบีอีซีแอล อายุ 30 ปี โดยใช้เวลา 3 ปีในการก่อสร้างทำให้เหลือเวลาในการบริหารโครงการ 27 ปี (2536-2563) แบ่งสัญญาออกเป็น 3 ช่วง ๆ ละ 9 ปี สำหรับการคิดส่วนรายได้ กทพ.กับบีอีซีแอล 9 ปีแรก 40-60 ช่วง 9 ปี กลาง (เริ่มจากปี 45) ปรับส่วนแบ่งรายได้เป็น 50-50 และ 9 ปีสุดท้าย เริ่มจากปี 54 ปรับส่วนแบ่งรายได้เป็น 60-40



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.