“ลองสเตย์”ปีวัวแข่งดุไทยงัดสารพัดทีเด็ดสู้


ผู้จัดการรายสัปดาห์(12 มกราคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

“ลองสเตย์”นับเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณกว่า 5 ปีที่แล้ว โดยหวังดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวสูงอายุเข้าเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น แต่หากพิจารณาจากศักยภาพของประเทศไทยแล้วแทบไม่น่าเชื่อว่า การจัดบริการให้นักท่องเที่ยวยังไม่สมบูรณ์ และไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวได้อย่างแท้จริง ซึ่งว่ากันว่าจุดอ่อนของลองสเตย์ไทยนั้น เกิดจากหลายเหตุผลด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบ่อย ส่งผลให้นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบลองสเตย์ไม่ชัดเจนและต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการด้อยความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ มาตรฐานด้านที่พักยังไม่บรรลุผลในภาคปฏิบัติที่แม้ว่าจะเป็นจุดอ่อนบ้างก็ตามแต่ประเทศไทยก็ยังมีจุดเสริมความแกร่งที่เอื้อหนุนต่อการเข้ามาพำนักระยะยาวได้

ด้วยวัฒนธรรมและประเพณีของคนไทยที่มีมาอย่างยาวนานสร้างความเป็นเจ้าบ้านที่ดี โดยมีกรอบธรรมชาติของคนสูงอายุและมุ่งเน้นเลือกสรรการเอาใจใส่ด้านคุณภาพการให้บริการเพื่อเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ จึงไม่แปลกที่ผู้ประกอบการควรอย่างยิ่งต่อการมุ่งเน้นเชิดชูผู้ทำงานด้านบริการที่ให้บริการดีเยี่ยม และจัดทำคู่มือการให้บริการเป็นเลิศเพื่อเป็นแนวฝึกอบรม เพราะคนไทยมีความเป็นมิตร การต้อนรับด้วยอัธยาศัยไมตรีที่ประทับใจ นับจากรอยยิ้มและการไหว้ที่อ่อนช้อย

กอปรกับด้านภูมิอากาศของไทยที่ค่อนข้างจะได้เปรียบและตรงกับความต้องการของผู้สูงอายุ ที่นิยมการพำนักระยะยาวหรือลองสเตย์ โดยเฉพาะภาคเหนือที่มีอากาศค่อนข้างเย็นสอดรับกับนักท่องเที่ยวที่มาจากเมืองหนาวและที่สำคัญค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศรอบข้างโดยเฉพาะอย่าง มาเลเซีย แม้ว่าประเทศไทยจะมีราคาที่พักโรงแรมระดับห้าดาวค่อนข้างสูงก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับการบริการและมาตรฐานที่ตอบสนองแล้วส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวพึงพอใจที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อบริการ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเองต้องควบคุมการเอารัดเอาเปรียบด้านราคาสินค้าอย่างใกล้ชิดเช่นกัน

และเมื่อเข้าถึงความหลากหลายด้านอารยธรรม วัฒนธรรมของชนเผ่า โดยเฉพาะวัฒนธรรมท้องถิ่นและวิถีการดำรงชีพของชุมชนด้วยแล้วก็จะส่งผลต่อการเอื้อประโยชน์สร้างเอกลักษณ์จุดขายพอที่จะทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ มีความพึงพอใจจนก่อให้เกิดการท่องเที่ยวรูปแบบพิเศษขึ้นมา

สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ต้องสานต่อโครงการ “ลองสเตย์”และช่วงปีที่ผ่านมาพบว่าแนวทางในการพัฒนามาตรฐานที่พักแบบพำนักระยะยาว (Longstay) นั้นมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปตรวจสอบมาตรฐานที่พักนับจากโรงแรม เกสต์เฮาส์ รีสอร์ต บริการห้องชุดให้มีมาตรฐานคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นักท่องเที่ยวพักยาวขึ้น โดยการจำแนกประเภทมาตรฐานไว้ 3 ระดับ คือ ระดับพื้นฐาน (Silver) เป็นระดับที่จัดเตรียมเครื่องอำนวยความสะดวก หรือบริการพื้นฐานที่ต้องการในระดับอย่างน้อยที่สุด เพื่อให้มีความพิเศษจากที่พักปกติทั่วไป ระดับปานกลาง (Gold) และระดับสูงสุด (Platinum) เป็นระดับที่พิเศษสุดที่เน้นการบริการที่เป็นกันเอง เน้นความประทับใจเป็นหลัก มีอุปกรณ์หรือบริการเสริมพิเศษที่สอดรับกับความต้องการของนักท่องเที่ยว ภายใต้กรอบมาตรฐานที่พักทั่วไป น่าจะต้องมีองค์ประกอบเพิ่มเติมสำหรับมาตรฐานที่พักแบบพำนักระยะยาว (Longstay)

ความชัดเจนของตำแหน่งที่ตั้ง อาทิ ต้องไม่ห่างจากตัวชุมชน สะดวกสบายในการเดินทาง ใกล้โรงพยาบาล สถานีตำรวจ หรือสถานที่สำคัญ ที่สามารถระบุระยะเวลาและระยะห่าง บริเวณที่ตั้งมีความเป็นธรรมชาติไม่เปลี่ยว ขณะเดียวกันการตกแต่งควรสร้างบรรยากาศคล้ายบ้านหลังที่สอง สะอาด ปลอดภัย เงียบสงบ แต่ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว ใช้วัสดุท้องถิ่นตกแต่ง มีเครื่องอำนวยความสะดวก เช่น เครื่องครัว ที่รีดผ้า การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โทรทัศน์ และรายการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมจากหลายประเทศ มีห้องทำกิจกรรมร่วมกันในเชิงสังคม มีห้องปฐมพยาบาลพร้อมเจ้าหน้าที่ให้บริการด้านสุขภาพ และที่สำคัญผู้ประกอบการควรจะมีกิจกรรมเกี่ยวกับการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น ทำอาหาร ศิลปะ หรือดนตรี มีบริการประสานกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมที่สนใจและสมัครใจ มีการจัดกิจกรรมออกกำลังกาย หรือกิจกรรมเสริมสุขภาพอื่น

ในขณะเดียวกันการให้บริการ เช่น ปฐมนิเทศก่อนเข้าพัก แนะนำการประกันสุขภาพ และการใช้ชีวิตในที่พักพร้อมสถานที่สำคัญรอบๆ มีบริการรถรับส่งเข้าเมือง รับส่งไปรษณีย์ มีพนักงานดูแลที่สามารถสื่อภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างประเทศอื่น และควรจะต้องมีอาหารพื้นเมืองอย่างน้อย 1 มื้อในแต่ละวันเพื่อสร้างความประทับใจด้านอาหารให้กับนักท่องเที่ยว

การเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการที่พำนักระยะยาว (Longstay) ผู้ให้บริการจะต้องสามารถเชื่อมโยงผู้ประกอบการ ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐ อาทิ ร่วมมือกับโรงพยาบาลละแวกใกล้เคียงเพื่อส่งต่อนักท่องเที่ยวที่ต้องการรักษาพยาบาล จัดกิจกรรมเสริมความรู้ กรณีที่ที่พักอยู่ใกล้กับหมู่บ้านหัตถกรรม ควรประสานความร่วมมือในการเข้าเยี่ยมชมและศึกษา ซึ่งผู้ประกอบการอาจพัฒนาคุณภาพที่พักด้วยการนำมาตรฐาน Green, ISO, หรือใช้ระบบการจัดการคุณภาพ อย่างเช่น TQM หรือ TQA เพราะปัจจุบันนักท่องเที่ยวเริ่มหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมากขึ้น

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่เพิ่งจะเกษียณอายุจากการทำงานหนัก มีเป้าหมายหลักในการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ และใช้ชีวิตหลังการทำงานหนัก ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ดังนั้น หากไทยต้องการตลาดพำนักระยะยาว (Longstay) เป็นเกณฑ์ ควรต้องคำนึงถึง คือกิจกรรมที่จัดขึ้นในบริเวณที่พัก หรือเครือข่ายภายนอก ควรเป็นกิจกรรมหลากหลายและเหมาะสมกับวัย แต่ไม่ควรลืมว่านักท่องเที่ยวต้องการกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ก่อนออกเดินทางจะทำการศึกษาและวางแผนล่วงหน้าเป็นเวลานาน ดังนั้นกำหนดการจัดกิจกรรมจะต้องกำหนดล่วงหน้าเอาไว้ ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจต้องเตรียมไว้แล้วมิใช่จัดขึ้นเมื่อนักท่องเที่ยวมาถึง โดยเฉพาะด้านกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวประเภทเกษียณอายุจากการทำงานนิยมชมชอบ มักจะเป็นกิจกรรมประเภทเยี่ยมชมแหล่งธรรมชาติและวัฒนธรรม วิถีชุมชนที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน และได้สัมผัสผู้คนในชุมชนเก่าแก่มากกว่าท้องถิ่นที่สร้างขึ้นมาใหม่ และนั่นคือที่มารูปแบบใหม่ของนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มซึ่งจะมีพฤติกรรมที่ต้องการใช้ระยะเวลาท่องเที่ยวมากกว่า เพราะส่วนใหญ่มีฐานะดี ใช้จ่ายเงินเพื่อตนเอง มีการศึกษาข้อมูลล่วงหน้า และชอบไปยังสถานที่ที่เคยไปมาแล้ว

ปัจจุบันประเทศมาเลเซียกำหนดนโยบายชัดเจนด้วยการขยายเวลาพำนักให้ 10 ปีไม่จำกัดอายุ ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน มีผู้ติดตามได้เพื่อเน้นให้เป็นบ้านหลังที่สอง โดยวางเมืองเป้าหมายไว้อาทิ ปีนัง กัวลาลัมเปอร์ และลังกาวี เน้นประชาสัมพันธ์ด้านค่าใช้จ่ายที่ถูกที่สุดในเอเชีย

ขณะที่ประเทศออสเตรเลีย หันไปเน้นเรื่องของการพัฒนาเครือข่ายการท่องเที่ยว การสงวนทรัพยากรธรรมชาติ มีรูปแบบการท่องเที่ยวหลากหลาย ให้ความสำคัญกับคุณภาพการท่องเที่ยว และให้ความสำคัญด้านการพำนักอยู่ในประเทศไว้ที่ระหว่าง 13 เดือน

สำหรับประเทศในแถบยุโรปอย่าง สเปน อาศัยเรื่องโดดเด่นด้านความสวยงามของภูมิประเทศ เน้นระยะเวลาพำนักนานขึ้น โดยส่งเสริมนับจากบ้าน อพาร์ตเมนต์ ฮอลิเดย์วิลเลจ หรือหมู่บ้านท่องเที่ยว สำหรับผู้นิยมสถานที่ที่ไม่ใช่โรงแรม หรือแม้แต่ประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา ที่พยายามชักจูงให้มีการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวสูงอายุ ที่เป็นกลุ่มลูกค้าคุณภาพและปริมาณ เนื่องจากมีการใช้จ่ายแต่ละวันสูง พักนานวัน ชอบความสงบ และมีความระมัดระวังในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องไม่แปลกที่เกาะฮาวายจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของผู้สูงอายุ

แม้แต่ประเทศในแถบขั้วโลกอย่าง ฟินแลนด์ ก็ยังให้ความสำคัญกับธุรกิจลองสเตย์เช่นกัน ซึ่งว่ากันว่าเน้นความสะอาดและปลอดภัย แม้จะอยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือแต่ก็มีดวงอาทิตย์เที่ยงคืน โดยภาครัฐสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เน้นอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงเห็นโรงแรมน้ำแข็งและโรงแรมสปาเกิดขึ้นมาหลายแห่ง

ในแถบเอเชียอย่างประเทศ ญี่ปุ่น ดึงจุดขายด้านธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม ภาพลักษณ์ประเทศที่สวยงาม ใช้ป้ายสัญลักษณ์บอกทางที่เข้าใจง่าย แต่ด้วยค่าใช้จ่ายในญี่ปุ่นสูง ปัจจุบันจึงเน้นโรงแรมแบบญี่ปุ่นที่คล้ายโฮมสเตย์มากกว่า

ในปัจจุบันสำหรับประเทศไทย ภาครัฐพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวด้วยเช่นกัน โดยมุ่งพื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัดหลักคือ เชียงใหม่ สุโขทัย ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี และหนองคาย ขณะที่ภาคเอกชนมีการจัดตั้งบริษัทไทยจัดการลองสเตย์ขึ้นมาเพื่อให้บริการด้านที่พัก โดยมีจุดประสงค์เหมือนกับประเทศอื่นๆทั่วโลกที่หวังกระตุ้นให้มีการเดินทางเข้ามาใช้บริการของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีคุณภาพและกำลังซื้อ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นที่นิยมชมชอบการพำนักระยะยาวมากกว่าชาติอื่น

ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ควรจะรักษามาตรฐานด้านราคาและบริการให้สมเหตุสมผลด้วยเช่นกัน เพราะนั่นหมายถึงเม็ดเงินที่จะได้รับบวกกับความประทับใจที่จะสร้างให้กลายเป็นจุดขายโดยอาจไม่ต้องทุ่มงบประชาสัมพันธ์มากมายเพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะช่วยเป็นสื่อชักชวนแทนให้ชนิดแบบปากต่อปาก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.