จัดเก็บฉุดขาดดุล4.8แสนล.


ผู้จัดการรายสัปดาห์(12 มกราคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

วิกฤตเศรษฐกิจพ่นพิษส่อขาดดุลเพิ่มเป็น 4.8 แสนล้าน สรรพากรยอมรับปี 52 จัดเก็บต่ำเป้า 10% หรือประมาณ 1.3 แสนล้าน เหนื่อยแน่! ต้องกู้นอกเสริม "กรณ์" กัดฟันบอกเอาอยู่ แค่ตัวเลขทางบัญชี พร้อมกำชับการจัดเก็บภาษีต้องไม่ไปรีดไถให้ประชาชนเดือดร้อน หวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเห็นผลภายในเดือนนี้

ภายหลังการประชุมร่วมกับ รมช.คลังและผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง วานนี้ (8 ม.ค.) นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกรมสรรพากรว่าการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ในปี 2552 คาดว่าจะจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าถึง 1.2-1.3 แสนล้านบาท ซึ่งหากรวมกับการขาดดุลงบประมาณประจำปีอีก 3.5 แสนล้านบาท จะส่งผลให้การขาดดุลการคลังปีนี้สูงถึง 4.8 แสนล้านบาท ขณะที่กรมศุลกากรก็จัดเก็บรายได้ได้ต่ำกว่าเป้าหมาย รวมทั้งรายได้นำส่งรัฐของรัฐวิสาหกิจที่มีแนวโน้มลดลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทั้งหมดนี้จะสร้างภาระทางการคลังให้รัฐบาล และส่งผลต่อเนื่องถึงความสามารถในการจัดทำงบประมาณประจำปี 2553 ที่มีข้อจำกัดเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม รมว.คลังยังมองว่าการขาดดุลดังกล่าวอยู่ในขอบเขตที่รัฐบาลจะบริหารและจัดการได้ ประกอบกับการจัดทำงบประมาณปี 2553 ยืดหยุ่นเพียงพอจะรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจระยะยาว นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังมีช่องทางอื่นนอกจากงบประมาณที่ยังไม่ได้นำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจชะลอนี้ถือเป็นความจำเป็น ไม่ได้เป็นเรื่องของการใช้จ่ายที่มากไป แต่เป็นการทำน้อยไปมากกว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ ในขณะนี้เป็นเรื่องของการเร่งรักษาแผลเพื่อรักษาชีวิต โดยรายละเอียดจะเป็นอย่างไร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและตนอยู่ระหว่างพิจารณา เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

"ต้องยอมรับว่าในทางบัญชีเราต้องขาดดุลการคลังปีนี้สูงถึง 4.8 แสนล้านบาท ซึ่งมาจากขาดดุลงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทและรายได้ของกรมสรรพากรต่ำเป้า 1.2-1.3 แสนล้านบาท ซึ่งส่งผลให้รายได้ภาพรวมที่คาดจะได้ 1.58 ล้านล้านบาทจะเหลือเพียง 1.4 กว่าล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 10% แม้จะเป็นภาระกับรัฐบาลแต่ไม่คิดว่ารายได้ที่คาดจะต่ำลงจะเป็นอุปสรรคต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ"

นายกรณ์กล่าวยืนยันว่า ในการจัดทำนโยบายหรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ จะไม่ผลักภาระให้ประชาชนในระยะยาวและส่งผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในอนาคต และแม้คาดการณ์รายได้ของกรมสรรพากรจะต่ำกว่าเป้า ตนได้กำชับไปแล้วว่าการจัดเก็บต้องเป็นไปตามครรลองปกติ ไม่เร่งรัดรีดภาษีจากประชาชนและทำให้ประชาชนเดือดร้อน

ทั้งนี้ รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการภาษีมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ภายในเดือนมกราคมนี้ ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อเสนอต่อ ครม.ภายในเดือน ม.ค.นี้.

"มาตรการด้านการคลัง ที่รัฐบาลนำมาใช้ อาจไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นต้องการให้สถาบันการเงินเข้ามาช่วยดูแลภาคแรงงานด้วย โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ" รมว.คลังกล่าว

เผยปัจจัยลบรุมเร้าทำคลังกระเป๋า

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยถึงผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลประจำเดือนธันวาคม 2551 รัฐบาลจัดเก็บรายได้ 76,249 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 22,836 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม – ธันวาคม 2551) จัดเก็บได้ 272,837 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 52,334 ล้านบาท โดยสาเหตุที่การเก็บรายได้ได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ประกอบกับการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับภาคเอกชนจำนวนมาก ส่งผลดีต่อการลดผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากอำนาจซื้อประชาชนไม่ลดลงมากจากการเก็บภาษี และเอกชนมีสภาพคล่องหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจากการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่าเป้าหมาย

ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคมนั้น นอกจากการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บในสังกัดกระทรวงการคลังที่ต่ำกว่าประมาณการ 17,261 ล้านบาทแล้ว การคืนภาษีของกรมสรรพากรยังสูงกว่าประมาณการ 9,270 ล้านบาท โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 5,140 ล้านบาท เป็นผลจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากทั้งการนำเข้าสินค้าและการบริโภคภายในประเทศต่ำกว่าประมาณการ สำหรับภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 4,759 ล้านบาท เพราะได้รับผลกระทบจากการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์จาก 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะหมดลงในสิ้นเดือนมกราคม 2552 นี้

สำหรับไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2552 กรมสรรพากร จัดเก็บได้รวม 226,928 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 7,155 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.1 โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่า ประมาณการที่สำคัญได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 8,505 และ 2,374 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.8 และ 5.3 ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมและภาษีเงินได้นิติบุคคลยังเก็บได้สูงกว่าประมาณการ

กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้รวม 55,400 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร งบประมาณ 17,567 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.1 โดยสาเหตุสำคัญมาจากการจัดเก็บภาษีน้ำมันที่ต่ำกว่าประมาณการถึง 13,861 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์ และภาษีรถยนต์ที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,753 ล้านบาท ตามการชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ

กรมศุลกากร จัดเก็บได้รวม 24,177 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1,723 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.7 เป็นผลจากการชะลอตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเป็นสำคัญ และรัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 11,924 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 10,506 ล้านบาท หรือร้อยละ 46.8 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯขอเลื่อนการนำส่งรายได้ออกไป รวมทั้ง บมจ. ทีโอที ยังไม่สามารถนำส่งรายได้ค่าธรรมเนียมการสื่อสารตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ขณะที่การคืนภาษีของกรมสรรพากร 63,607 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 16,961 ล้านบาท หรือร้อยละ 36.4 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่าประมาณการ 14,184 ล้านบาท หรือร้อยละ 33.8

ทั้งนี้ จากผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2552 ที่ต่ำกว่าประมาณ การถึง 52,334 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.1 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์ (6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน) ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง กระทรวงการคลังคาดว่าการจัดเก็บรายได้รัฐบาลปีงบประมาณ 2552 นี้ จะต่ำกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ 1.585 ล้านล้านบาท ในระดับที่ไม่กระทบต่อความยั่งยืนทางการคลัง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.