|
แบรนด์ไอทีจากเอเชีย ลดช่องว่างเทียบสินค้าตะวันตก
ผู้จัดการรายสัปดาห์(5 มกราคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำและถดถอยทั่วโลก อาจมองว่าเป็นข่าวร้ายและภัยคุกคามการดำเนินงานทางการตลาดของผู้ประกอบการประเภทต่างๆ และบรรดาแบรนด์ในเอเชียนั้น ก็ยังมีโอกาสทางธุรกิจที่ทอดมาให้แก่บรรดาแบรนด์จากเอเชียท่ามกลางมรสุมดังกล่าว และผลักดันให้บรรดาแบรนด์จากเอเชียทั้งหลายมีช่องว่างของการดำเนินงานทางการตลาดลดลง เมื่อเทียบกับบรรดาแบรนด์จากตะวันตกทั้งหลาย ที่ล้วนแต่เป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่และทรงอิทธิพลทางการตลาด
อย่างเช่นกรณีของแบรนด์จากเอเชียในด้านไอที ซึ่งจากการศึกษาและติดตามผลการดำเนินงานของ แซดดีเนท เอเชีย และความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดไอทีได้พบว่าตลอดปี 2008 ที่ผ่านมา รายจ่ายด้านไอทีของตลาดยังคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นท่ามกลางการชะลอตัวของการใช้จ่ายด้านต่างๆ ของลูกค้าทั่วโลก
ประการแรก กลุ่มลุกค้าด้านไอทีที่เป็นผู้ประกอบการหรือกิจการห้างร้าน โดยเฉพาะที่มีลักษณะของการใช้สินค้าไอทีประเภทฮาร์ดแวร์ แสดงออกอย่างชัดเจนว่าได้ลดความจงรักภักดีต่อตรายี่ห้อดังๆ ของผู้ประกอบการจากซีกโลกตะวันตกลงไปมาก และได้หันมาให้ความสำคัญกับการประหยัดเงินงบประมาณ และการตั้งราคาที่ต่ำเป็นปัจจัยในการตัดสินใจเพิ่มมากขึ้น หรือไม่ก็ไหวตัวต่อการปรับลดราคาฮาร์ดแวร์ไอทีมากขึ้น
ประการที่สอง ผู้ประกอบการไอทีที่เป็นแบรนด์จากเอเชีย ได้หันมาเน้นความพยายามในการรุกตลาดภายในภูมิภาคเอเชียด้วยกันเองมากขึ้น ด้วยการแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการที่เป็นแบรนด์จากเอเชียด้วยกันเอง มีความเข้าอกเข้าใจความต้องการของลูกค้าที่เป็นคนเอเชียด้วยกัน หรือเป็นกิจการจากเอเชียด้วยกันมากกว่า รวมทั้งมีบริการสนับสนุนหลังการขายที่ดีกว่า และไม่ทอดทิ้งลูกค้าเหมือนแบรนด์จากภูมิภาคอื่นๆ ที่อาจจะยังขาดความเข้าใจในความต้องการลูกค้าผ่านเอเชียน้อยกว่า
ประการที่สาม ผลการจัดอันดับของกิจการที่เป็นแบรนด์ด้านไอทีในปี 2008 ชี้ว่า มีแบรนด์ไอทีจากเอเชียติดอันดับของ ZDNET Asia’s TopTech Index เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผลที่เคยจัดอันดับไว้เมื่อปี 2006
ทั้งนี้ในปี 2008 นี้มีแบรนด์ไอทีจากเอเชียที่อยู่ในรายชื่อการจัดอันดับถึง 19 ร้าน โดยมีแบรนด์หน้าใหม่จากเอเชียหลายแห่งที่ไม่เคยติดอันดับมาก่อนเลยอย่างเช่น Asustek, China Mobile, NTT Communications, ZTE เป็นต้น
เหตุผลที่ทำให้แบรนด์ไอทีจากเอเชีย มีมูลค่าของแบรนด์เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากผลหรืออานิสงส์ของการลงทุนด้านไอทีในภูมิภาคเอเชียที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดแรงส่งให้แบรนด์จากเอเชียได้รับการยอมรับมากขึ้น และสามารถทะลายอิทธิพลของแบรนด์ดังระดับโลกจากซีกโลกตะวันตกมาได้
ประการที่สี่ บรรดาแบรนด์ไอทีจากเอเชียที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าแบรนด์เอเชียโดยเฉลี่ย ยังคงเป็นแบรนด์ไอทีจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันเป็นหลัก โดยแบรนด์เหล่านี้สามารถรุกตลาดโลก หรือออกไปมีบทบาท นอกภูมิภาคเอเชียเพิ่มมากขึ้นอย่างเข้มแข็ง
ในขณะเดียวกัน แบรนด์ไอทีจากประเทศอื่น อย่างเช่นจากอินเดียและจีนก็ทำท่าว่าจะมีขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางการตลาดเพิ่มมากขึ้นด้วย
ยกตัวอย่างเช่น กิจการที่มีชื่อว่า หัวเหว่ย (Huawei) ซึ่งสามารถยกระดับกิจการและไต่เต้าขึ้นมาจากการเป็นบริษัทจีนเล็กๆ และเป็นผู้ช่วยในการรุกตลาดเอเชียของแบรนด์ไอทีจากทางตะวันตกชื่อ ซิสโก้ ซิสเตมส์ จนก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการระดับข้ามชาติด้วยตนเองได้แล้ว
หรืออย่างเช่นบริษัทอื่นๆ เช่น อินโฟซิส (Infosys) บริษัท ซาติแอม (Satyam) บริษัททีซีเอส (TCS) และวีโปร (Wipro) ก็ล้วนแต่อาศัยช่องทางในการเติบโตใกล้เคียงกับบริษัทหัวเหว่ย โดยผ่านประสบการณ์ในการทำงานกับแบรนด์ดังระดับโลกอย่างเช่น ไอบีเอ็ม หรือวีดีเอสมาแล้ว
ในขณะเดียวกันลูกค้าที่เป็นผู้ซื้อจากภูมิภาคเอเชียด้วยกันเองก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่ามีความเชื่อมั่น ไว้วางใจที่จะร่วมงานทางด้านไอทีกับบริษัทจากจีนและจากอินเดียเหล่านี้เพิ่มขึ้นกว่าอดีตมาก
เหล่านี้ล้วนแต่แสดงว่าอุปสรรคและจุดอ่อนต่างๆ ที่เคยขัดขวางบทบาทของแบรนด์ไอทีจากเอเชียจากเวทีการตลาดระดับโลกเริ่มลดลง และอ่อนแรงลงตามลำดับควบคู่กับการที่บรรดาแบรนด์ไอทีจากเอเชียได้รับความไว้วางใจ และมีผลงานที่น่าประทับใจในฐานะที่ทำหน้าที่เป็นเอาท์ซอร์ซ หรือรับจ้างในงานปฏิบัติการด้านไอทีด้านต่างๆ ให้แก่ลูกค้าในภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะกิจการในอินเดียจนสามารถเป็นช่องทางธุรกิจของคนอินเดียที่มีการศึกษาและขยันขันแข็งมาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญทางการตลาดไอทียังคงเตือนว่า หนทางข้างหน้าไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาย และยังคงมีประเด็นที่เปราะบางอีกหลายประการที่อาจจะทำให้การก้าวสู่ตลาดระดับโลกของแบรนด์ไอทีจากเอเชียสะดุดหรือชะงักลงไป ที่สำคัญที่สุดก็คือการมีแผนที่นำทางระยะยาวเกี่ยวกับไอที หรือ Technology Roadmap ที่ชัดเจนและเหมาะสม และการตั้งใจและยึดมั่นที่จะก้าวไปตามแผนที่นำทางที่วางไว้อย่างเคร่งครัด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|