ส่องปี’52-ศก.จมก้นเหว.! พังพาบทุกส่วน-วัดกึ๋น‘อภิสิทธิ์’


ผู้จัดการรายสัปดาห์(5 มกราคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

กูรูประสานเสียงปีนี้เผาจริง “ส่งออก-ลงทุน-ท่องเที่ยว” หลุดเป้า ชี้ปัจจัยภายนอกหนักหน่วงศก.มะกันกดดันทั่วโลก “ประธานส.อ.ท.” ชี้ชัดๆปี2552ผู้ประกอบการมีแต่เจ๊า-เจ๊ง จี้รัฐออกมาตรการรองรับคนตกงาน ขณะที่ CPF บิ๊กอุตสาหกรรมเกษตรฯต้องปรับตัวรับวิกฤตโลก ชะลอแผนลงทุนไว้ก่อน ขณะที่นักวิชาการชูนโยบาย “การเงิน-การคลัง”กระตุ้นศก.ภายในเอาตัวรอดในภาวะวิกฤตศก.ทั่วโลก

ผ่านไปแล้วสำหรับปี “หนูไฟ” เปิดศักราชใหม่ 2552 ต้อนรับปีฉลู หรือ “ปีวัวใหญ่” ที่มาพร้อมกับโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องแก้ไขนั่นก็คือ ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจของประเทศนั่นเอง ที่หลายๆคนบอกสั้นๆปีนี้ “เผาจริง” แต่หากเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสได้ ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะเลวร้ายไปซะหมด เพราะยังมีธุรกิจบางเซกเตอร์ที่พอจะมีโอกาสอยู่บ้าง หรือธุรกิจที่ส่อแววว่าจะล้มปีนี้แน่ๆ แต่ก็ไม่แน่ว่าจะหมดหนทาง เพราะยังไงก็ได้สู้-ได้แข่งขัน ดีกว่ายอมเหี่ยวแห้งทั้งๆที่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย

ดังนั้นเปิดศักราชใหม่วันนี้ “ผู้จัดการ 360 องศารายสัปดาห์” ขอสำรวจธุรกิจที่พอจะลืมตาอ้าปากได้ในยามนี้ หรือบางธุรกิจที่มีแววว่าจะเจอพายุเพื่อให้ปรับตัวรับวิกฤตที่กำลังจะมาถึงได้อย่างทันท่วงที

พาณิชย์ถอดใจ-ส่งออกส่อติดลบ.!

ผ่านไปแล้ว 11 เดือน(ม.ค.-พ.ย.)ของปี2551 เหลือเพียงตัวเลขของเดือนธ.ค.ที่น่าจะแถลงตัวเลขได้ปลายเดือนม.ค. 2552 นี้โดยยอดการส่งออก 11เดือนของปีที่แล้วด้วยมูลค่า166,236 ล้านเหรียญสหรัฐขยายตัวเพิ่มขึ้น 19.73% การนำเข้ามูลค่า 167,398 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 30.86% ส่งผลให้ช่วง 11 เดือนแรกไทยขาดดุลการค้ารวม 1,162 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการส่งออกปี 2552 กระทรวงพาณิชย์จะพยายามผลักดันให้ขยายตัวให้ได้ระหว่าง 0-5% แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าลางร้ายเริ่มจะมาถึงเพราะตัวเลขส่งออกเดือนพ.ย.เดือนพ.ย.51 มีมูลค่า 11,870 ล้านเหรียญสหรัฐขยายตัวติดลบ 18.59% ถือเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 6 ปี 8 เดือนนับตั้งแต่เดือนมี.ค.45 ซึ่งการส่งออกขยายตัวติดลบ 6.2% โดยทุกกลุ่มสินค้าส่งออกขยายตัวติดลบทั้งหมด

ส่วนตลาดส่งออกในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมาพบว่าขยายตัวติดลบทุกตลาด คือ 1.ตลาดหลักลดลง 19.2% 2.ตลาดรอง ลดลง 23.9% และ 3.ตลาดใหม่ขยายตัวลดลง 15.8%

“ปีนี้กระทรวงพาณิชย์จะพยายามผลักดันให้ขยายตัวให้ได้ระหว่าง 0-5% แต่หากเลวร้ายที่สุดอาจจะขยายตัวติดลบเป็นตัวเลขเพียงหลักเดียว” ศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยืนยัน

5กลุ่มอุตฯดาวร่วง.!

อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยที่ดูจะกระทบมากที่สุดคือ

1.อุตสาหกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งการผลิต การจำหน่ายในประเทศ และการส่งออก อันเป็นผลจากวิกฤตการณ์ทางการเงินของสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในด้านการลงทุน และการบริโภค โดยยอดขายปีหน้าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในสหรัฐอเมิรกาและยุโรป ซึ่งความผลกระทบดังกล่าวยังส่งผลต่อโครงการอีโคคาร์ที่ได้ริเริ่มโครงการไปแล้วและยังผลักดันไทยให้ห่างออกไปจากคำว่า “ฮับ”แห่งเอเชียออกไปอีกด้วย

2.เครื่องใช้ไฟฟ้าคาดการณ์จะปรับตัวลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 12 ทั้งนี้เนื่องจากการปรับตัวลดลงของการส่งออกที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในตลาดหลักเช่น สหรัฐอเมริกา ตลาดอียู และญี่ปุ่น ขณะที่ตลาดในประเทศจะทรงตัวอีกด้วยอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจมหภาคโดยรวมปรับตัวลดลง การจ้างงานลดลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอลง ทำให้การบริโภคโดยรวมลดลง ส่งผลให้ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลง

3.อิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวลดลงของชิ้นส่วน IC ที่ปรับตัวลดลงประมาณการว่าจะปรับตัวลดลง 6% ส่วน Semiconductor ปรับตัวลดลง 1% สอดคล้องกับสถานการณ์ชิ้นส่วน Semiconductor ในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงประมาณ 2% เช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่ชะลอลงในตลาดหลัก ขณะที่ส่วนประกอบ HDD ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เท่านั้น เนื่องจากผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวลดลง ซึ่งส่งสัญญาณลดลงตั้งแต่เดือนกันยายน 2551

4.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้รับผลกระทบต่อการปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบของ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีทำให้ราคาปิโตรเคมีปรับลดลง และมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงได้อีกคาดว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปี 2552 จะมีการแข่งขันที่สูงขึ้น และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศอาจเกิดการชะลอตัวลง

5.อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง คาดว่าจะชะลอตัวลง ราคายางพารามีแนวโน้มปรับตัวลดลงรุนแรง ในขณะที่ความต้องการยางและผลิตภัณฑ์ยางจะชะลอตัวลง นอกจากนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ราคายางสังเคราะห์ถูกลง เมื่อยางสังเคราะห์ถูกลง ผู้บริโภคจะหันไปใช้ยางสังเคราะห์แทนยางพารามากขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้การส่งออกยางพาราลดลงอย่างรวดเร็ว

‘สิ่งทอ-รองเท้า’ดาวรุ่งปี’52

ขณะที่บางเซกเตอร์ที่ยังสามารถส่งออกได้ดีเช่น 1.สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปในปี 2552 คาดว่าจะมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นหลังจากที่ข้อตกลงความร่วมมือหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) มีผลบังคับใช้ คาดว่ายอดคำสั่งซื้อและการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 การผลิต ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ด้านการส่งออกจะเน้นในตลาดอาเซียนและญี่ปุ่นมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากตลาดสหรัฐ อเมริกาและสหภาพยุโรป ชะลอตัว

2.รองเท้าและเครื่องหนังจะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมีการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีน และเวียดนาม ยังทำให้ประเทศไทยยังสามารถส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ได้ ในกลุ่มสินค้าหนัง และผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด แต่สำหรับสินค้ากลุ่มปลายน้ำ เช่น สินค้ากระเป๋าฯ และรองเท้าหนัง คาดว่ายังมีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากสินค้าของไทยมีการออกแบบตรงตามต้องการของตลาดและมีคุณภาพ

3.อุตสาหกรรมอาหารใน 2552 ภาพรวมการส่งออกจะขยายตัวในเชิงปริมาณร้อยละ 14.6 ในเชิงมูลค่ารูปเงินบาทและเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 7.8 และ 4.2 โดยมีปัจจัยภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐอเมริกา และประเทศผู้นำเข้าทั้งสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น

อย่างไรก็ดีปี2552 JTEPA มีผลบังคับใช้แล้วจะทำให้การส่งออกสินค้าเกษตร เช่น กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งแปรรูป และไก่ปรุงสุก ขยายตัวในเชิงมูลค่าได้จากราคาเปรียบเทียบที่ลดลง และเป็นที่สนใจของผู้บริโภคญี่ปุ่น ประกอบกับตลาดยุโรปกำลังพิจารณาให้สิทธิพิเศษทางภาษี GSP รอบใหม่ด้วย

สภาอุตฯประเมินมีแต่‘เจ๊ง-เจ๊า’

“สันติ วิลาสศักดานนท์” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะคณะกรรมการที่ปรึกษารัฐมนตรีกล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ว่า ปีนี้ในส่วนของการส่งออกถือว่ากระทบทั้งหมดเพราะคู่ค้าที่สำคัญของไทย 3 กลุ่มที่ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ สหภาพยุโรป เกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทำให้การส่งสินค้าออกไปประเทศดังกล่าวลดน้อยลงไปมากเพราะกำลังซื้อไม่มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น อัญมณี และ เครื่องประดับ ที่ออเดอร์สั่งซื้อลดลงไปกว่าครึ่ง

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมในประเทศทั้ง 39 กลุ่มอุตสาหกรรมเมื่อมาดูแนวโน้มแล้วมีเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่น่าจะยังขยายตัวได้ในปีนี้ได้อาทิ กลุ่มสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป กลุ่มรองเท้าและเครื่องหนัง และอาหาร แต่กลุ่มอาหารมีจะยังส่งออกได้ดีแต่มูลค่าการส่งออกจะน้อยลงเพราะต้องลดลงราคาลงมา และผู้บริโภคเปลี่ยนลักษณะการบริโภคอาหารในราคาที่แพงมาเป็นเป็นอาหารที่มีคุณภาพแต่ราคาไม่สูงมากนัก

ส่วนอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลกระทบในปีหน้าอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้คือ อุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี และเม็ดพลาสติก

ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศน่าจะมีปัจจัยบวกจากเรื่อง ดอกเบี้ยที่ต่ำลง ราคาน้ำมันที่ถูกลง และเงินเฟ้อที่จะต่ำในปีหน้าสิ่งเหล่านี้จะทำให้คนในประเทศใช้เงินมากขึ้น บริโภคมากขึ้น น่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจในประเทศกระเตื้องขึ้นมาก็ได้

ทว่าอีกปัญหาที่น่ากังวลในปีนี้คือ เรื่องการลงทุนของภาคเอกชนเพราะเสถียรภาพของรัฐบาลและความวุ่นวายทางการเมืองที่ผ่านมาทำให้ความเชื่อมั่นในสายตาของนักลงทุนตกต่ำลงไปเห็นได้ชัดเจนจากตัวเลขการลงทุนที่ผ่านมาในปีที่แล้ว แต่จากการได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศทำให้ชาวต่างชาติที่สนใจลงทุนในประเทศไทยกำลังรอดูเสถียรภาพทางการเมืองไปอีกสักระยะก่อนจะเข้ามาโดยนักลงทุนเหล่านี้ยังกังวลเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาลที่มีพรรคร่วมจำนวนมาก และความวุ่นวายทางการเมืองจากกลุ่มคนเสื้อแดงอีก

ที่สำคัญการส่งออกในปีนี้หากได้เท่ากับปีที่แล้วภาคเอกชนก็พอใจแล้ว หรือขยายตัวได้ 5% เหมือนที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ก็ยิ่งดี ส่วนการลงทุนปีนี้เชื่อว่าน่าจะลำบาก BOI ต้องทำงานหนักมากหากต้องการได้ตามเป้าหมาย

นอกจากนี้แล้วรัฐบาลต้องมีแผนรองรับคนว่างงานโดยสภาอุตสาหกรรมฯ ประมาณการว่า งบประมาณที่จะต้องใช้ตามมาตรการดังกล่าว น่าจะเพิ่มจากรัฐบาลเดิมที่ได้ทำไว้แล้ว 1,500 ล้านบาท โดยตัวเลขในภาพรวมอาจเพิ่มขึ้นมาจะอยู่ในระดับประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งอาจขอใช้เงินจากการเพิ่มงบประมาณกลางปี 2552จำนวน 100,000 ล้านบาทได้

CPF ปรับแผนรับมือวิกฤตโลก.!

“อดิเรก ศรีประทักษ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือCPF กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ว่า ในปีนี้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกถือว่าเกิดวิกฤติโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เกิดวิกฤติการเงินแล้วลามไปทั่วโลก ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำซึ่งส่งจะผลให้เศรษฐกิจหลายภูมิภาคในโลกติดลบรวมทั้งประเทศในเอเชีย ขณะที่ประเทศไทยตอนแรกหลายสำนักคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปีหน้าจะโตประมาณ 3-4 % ล่าสุดก็ประเมินใหม่เหลือแค่ 1-2 % เท่านั้นเป็นที่ทราบกันดีว่ามาจากผลกระทบจากการเมืองภายในประเทศที่ไม่นิ่ง และเพิ่งจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในระยะนี้ อย่างไรก็ดียังเป็นข่าวดี ในแง่ทางภาคธุรกิจที่มีความรู้สึกมั่นใจมากขึ้น

คาดว่าหลายๆ ประเทศอยากจะอาศัยอานิสงส์ที่เกี่ยวพันกับประเทศจีน แล้วมาช่วยให้ประเทศของตัวเองดีขึ้น รวมทั้งประเทศไทยเราที่คงหวังอาศัยอานิสงส์จีน ว่าน่าจะเป็นตัวที่จะมาช่วยขับเคลื่อนได้

ส่วน CPF ในปีหน้าในแง่ของยอดขายอาจจะไม่ได้โตขึ้นจาก 150,000 ล้านบาทเท่ากับปีที่แล้ว (2552) เพราะจากวิกฤติที่เกิดขึ้นคาดว่ากำลังซื้อจะอ่อนลง แม้จะเป็นอาหารก็ตามจึงไม่ได้หวังว่าคนจะกินมากขึ้น หรือใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งคาดว่า ถ้าจะโตประมาณ 5 % เท่านั้น แต่ในแง่ผลการดำเนินงาน หรือกำไร CPF คาดว่าจะทำได้ดีไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากน้ำมันที่เคยขึ้นไปสูงถึง 140 เหรียญฯ ตอนนี้ได้ลดลงมาเหลือประมาณ 40 เหรียญฯ มีผลทำให้วัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันมีราคาลงมาด้วย อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลืองที่เป็นวัตถุดิบหลักในการนำมาเลี้ยงสัตว์ก็มีราคาลดลงมาค่อนข้างเยอะ ค่าขนส่ง

จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ CPF เชื่อว่าจะทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ถูกลง ประกอบกับที่ผ่านมา บริษัทพยายามเร่งรัดในเรื่องของการใช้อุปกรณ์ เครื่องมือที่ทันสมัย รวมถึงระบบอัตโนมัติมาใช้ ที่ช่วยให้การผลิตมีต้นทุนถูกลง ขณะเดียวกันก็ได้มีการควบคุมเรื่องการลดพลังงาน การใช้ประสิทธิภาพต่างๆ ในทุกส่วนของบริษัทให้มีประสิทธิภาพสูง สิ่งต่างๆ เหล่านี้น่าจะเป็นส่วนที่ทำให้เราเชื่อว่า แม้ว่ายอดขายจะไม่โตขึ้นแต่ว่าผลกำไรที่เราได้ในปี 2552 น่าจะไม่ต่ำกว่าปี 2551 ที่ผ่านมา

ด้านการลงทุนของ CPF ปีหนึ่งจะลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาทในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเป็นการลงทุนในเรื่องการขยาย การแปรรูปอาหาร การขยายธุรกิจในต่างประเทศ แต่1-2 ปีนี้ (2552-2553) จะชะลอเรื่องการลงทุน เพราะเศรษฐกิจถดถอย โดยการลงทุนจะลงทุนเพียงครึ่งเดียวของปกติเป็น 2,000 ล้านบาทหรือ 2,000 กว่าล้านบาทโดยเน้นการลงทุนในเรื่องของการแปรรูปอาหาร การลงทุนด้านการตลาด เรื่องช่องทางการขาย เรื่องแบรนด์ และลงทุนในประเทศที่เห็นว่ามีศักยภาพ เช่น รัสเซียจะมีการขยายการลงทุนต่อเนื่อง เพราะเป็นประเทศที่ยังมีศักยภาพในการเติบโต ทั้งธุรกิจอาหารสัตว์ และเนื้อสัตว์ ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง

ด้านประเทศมาเลเซียจะเป็นฐานของการผลิตสินค้าฮาลาล และเข้าถึงกลุ่มมุสลิมได้ง่าย โดยตอนนี้ก็ให้ฐานที่มาเลเซียเจาะเข้าไปในกลุ่มประเทศมุสลิมน่าจะมีโอกาสง่ายกว่า เพราะว่าเป็นชนชาติเดียวกัน และเอื้อเฟื้อการค้าขายซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นนโยบายที่เราให้ที่มาเลเซีย

สำหรับที่อินเดีย CPF เน้นการลงทุนด้านอาหารกุ้งซึ่งธุรกิจสัตว์น้ำ CPF เป็นเบอร์หนึ่งที่อินเดีย แต่ธุรกิจสัตว์บกยังไม่ใหญ่กำลังสำรวจตลาดหากว่าตลาดโตขึ้นก็อาจจะเพิ่มการลงทุนในอินเดียด้วยก็ได้

ดังนั้น CPFจะมุ่งไปที่ตลาดในประเทศรัสเซีย อินเดีย ตุรกี และมาเลเซีย ที่ได้ไปลงทุนไว้แล้วเป็นหลัก

โดยรายได้ของCPF ปีนี้ 150,000 ล้านบาทโตจากปี 2550 ประมาณ 15 % สัดส่วนรายได้จากปีนี้มาจากการขายในประเทศประมาณ 60-65 % และรับเงินที่ไปลงทุนในต่างประเทศเข้ามาประมาณ 16-18 % และเป็นการส่งออกอีกประมาณ 16-18 %

ชงนโยบาย ‘การเงิน-การคลัง’ กระตุ้น.!

ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการเงินการคลัง สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในปีนี้ว่า ต้องยอมรับว่าภาคการส่งออกของไทยดูจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดโดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาซึ่งในปีหน้าเศรษฐกิจสหรัฐฯคาดการณ์กันว่าจะติดลบตั้งแต่ไตรมาส1-2 ทำให้การส่งออกไปตลาดดังกล่าวลดลงอย่างแน่นอน ขณะที่สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นก็เป็นอีกตลาดที่เกี่ยวเนื่องตลาดสหรัฐฯทำให้ความต้องการสินค้าไทยลดลงตามไปด้วย ซึ่งทั้ง 3 ประเทศมีสัดส่วนของการส่งออกทั้งหมดเกือบ 70% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย

ขณะที่สินค้าฟุ่มเฟือยอาทิ เครื่องประดับ อัญมณี รถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นสินค้าแรกๆที่ความต้องการซื้อลดลงอย่างมาก ผลที่ตามมาคือยอดขายตกต่ำและคนงานในโรงงานเหล่านี้ที่อยู่ในเมืองไทยต้องตกงานตามมา

โดยการส่งออกของไทยในไตรมาส1-2 จะยังทรุดต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้ว แต่คาดว่าเมื่อการเมืองนิ่ง ความเชื่อมั่นกลับมาไตรมาส 4 น่าจะได้เห็นตัวเลขการส่งออกที่ดีขึ้นได้

อย่างไรก็ดีภาพรวมเศรษฐกิจโลกปัจจัยหลักจะมาจากวิกฤตในประเทศสหรัฐฯทำให้เศรษฐกิจโลกจะโตแค่1-1.5% จากที่เคยโตในระดับ 3.5 % ต่อปีแต่ไทยก็ยังสามารถเพิ่มตลาดใหม่ๆในการส่งออกได้ในหลายๆประเทศเช่น ประเทศจีนที่คาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจจะยังขยายตัวที่ 7.5-8% หรืออย่างประเทศอินเดียที่คาดการณ์กันว่าอาจจะโตถึง 6% หรือแม้แต่เศรษฐกิจในประเทศอาเซียนด้วยกันที่อาจจะโตถึง 3-4 % การเจาะตลาดเหล่านี้เพิ่มเติมจะช่วยแชร์ส่วนแบ่งที่ขาดหายไปในตลาดหลักได้

ด้านการท่องเที่ยวประเมินกันว่าครึ่งปีแรกจะยังไม่ฟื้นตัวเนื่องการปิดสนามบินสุวรรณภูมิในช่วงปลายปีที่ผ่านมาประกอบกับกำลังซื้อในกลุ่มยุโรปและสหรัฐฯลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศไม่ดีทำให้นักท่องเที่ยวเหล่านี้จะลดลงอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามเชื่อว่าปลายไตรมาส 4 ของปี 2552 ทุกอย่างน่าจะคลี่คลายเพราะถึงตอนนั้นความเชื่อมั่นจะกลับมา การเมืองนิ่ง และนักท่องเที่ยวจะวางแผนการเดินทางในช่วงไฮซีซั่นจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง

ขณะที่การลงทุนเชื่อว่าปีนี้น่าจะยังชะลอตัวออกไปอีกปีเพราะต่างชาติยังไม่มั่นใจในเสถียรภาพทางการเมืองของไทย ความเชื่อมั่นยังไม่กลับมาในระยะเวลาอันสั้น แต่ภาครัฐควรจะมีโครงการลงทุนเมกกะโปรเจกต์เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภาคประชาชนไปพลางๆก่อนที่นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามา

จากสภาปัญหาทั้งเรื่อง ด้านการส่งออก ด้านท่องเที่ยว ด้านการลงทุนทำให้ประเมินว่า GDP ของไทยในปีหน้าจะโตแค่ 1% เท่านั่น และการประเมินจำนวนคนตกงานในปีหน้าอย่างคร่าวๆคือ GDP 1% ต่อการจ้างงาน 400,000 คนปีที่แล้ว(2551) GDP โต 4% แต่ปีนี้โตแค่ 1% ทำให้ขาดหายไปถึง 3% จึงคาดหมายกันว่าปีนี้จะมีคนตกงานประมาณ 1,200,000 คนเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดีนโยบายการคลังและการเงินของรัฐบาลจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้าได้โดยมีงบประมาณปี 2552 ได้ตั้งงบประมาณแบบขาดดุลไว้ประมาณ 249,000ล้านบาทและงบประมาณกลางปีอีก 100,000 ล้านบาทรวมทั้งของบประมาณเพิ่มได้อีก 80,000ล้านบาท เมื่อนำมารวมกันจะได้งบประมาณก้อนใหญ่ประมาณ 429,000 ล้านบาท ซึ่งหากนำมาบริหารจัดการที่เป็นประโยชน์ จัดทำโครงการลงทุนระยะยาวเช่นเมกกะโปรเจกต์จะช่วยกระตุ้นการจ่ายของประชาได้พอสมควร

ด้านอัตราดอกเบี้ยจะมีการปรับลดลงมาอีกโดยในวันที่ 14 ม.ค. 2552 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่าจะลดลงมาอีก 0.5-1% จากที่เพิ่งลดลงมา 1% จาก 3.75 เหลือ 2.75 เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาและปีนี้อาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเรื่อยจนติดเพดาน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.