|
ท่องเที่ยวยังจ่อปากเหว หืดขึ้นคอรับปีวัวชนแน่
ผู้จัดการรายวัน(5 มกราคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ท่องเที่ยวปีฉลู ไม่ฉลุย ปัจจัยลบเพียบ ทั้งการเมืองในประเทศและผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก รัฐบาลเดินหน้าใช้นโยบายขาดดุลบัญชีเดินสะพัดกระตุ้นเศรษฐกิจ ททท. เข็นประเทศไทยชูจุดขาย แวลูฟอร์มันนี่ เฉือนคู่แข่ง ขณะที่ภาคเอกชน ทั้งสายการบิน บริษัทนำเที่ยวปลงตลาดระยะไกลชะลอตัว หันอัดแคมเปญกระตุ้นยอดขาย กระหน่ำสงครามราคาสิ้นปีทำได้อย่างดีแค่ 14 ล้านคน
นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก จะมีผลกระทบต่อการเดินทางท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การปิดกิจการของบริษัทห้างร้านใน ยุโรป และ สหรัฐอเมริกา ทำให้ ทำให้ดีมานด์การเดินทางท่องเที่ยวในตลาดลดลง หรือปรับเปลี่ยนแผน เป็นการเดินทางอยู่ในเขตภูมิภาคเดียวกันเท่านั้น
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) จะต้องช่วยกันวางนโยบายและจัดทำแผนส่งเสริมการตลาดแบบรุกหนัก เพราะในสถานการณ์ที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเช่นนี้ จะยิ่งทำให้ภาวการณ์แข่งขันทวีความรุนแรง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของแต่ละประเทศ ที่จะคิดกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อช่วงชิงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศของตน ดังนั้นในส่วนของประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างสูงที่ต้องมีการลงทุน เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม ไปพร้อมกับจัดกิจกรรมการตลาดบูมประเทศไทยให้เหนือคู่แข่งขัน
“ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รัฐบาลต้องใช้นโยบายขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อัดฉีดเงินงบประมาณผ่าน เมกกะโปรเจกต์ และโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนภายในประเทศ ก่อเกิดรายได้ และการจับจ่ายสู่ภาคประชาชน เชื่อว่ารัฐบาลต้องใช้นโยบายนี้ประมาณ 5 ปี เศรษฐกิจจึงพลิกฟื้นกลับสู่ภาวะปกติ”
ยันอะเมซิ่งแวลูช่วยดูดนักท่องเที่ยว
นางพรศิริ มโนหาญ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เปิดเผยว่า การแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ปี 2552 น่าจะดุเดือด เพราะทุกประเทศต่างก็หวังพึ่งรายได้จากการท่องเที่ยว แต่ททท.ยังมั่นใจถึงความโดดเด่นของประเทศไทย เมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน โดยกลยุทธ์หลักของ ททท. ที่จะใช้ในปี 2552 คือ อะเมซิ่งไทยแลนด์ อะเมซิ่งแวลู ตอกย้ำความคุ้มค่าเงินที่นักท่องเที่ยวจะได้รับเมื่อมาเที่ยวประเทศไทย สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ เพราะมาเที่ยวประเทศไทย เสียค่าใช้จ่ายเท่ากับหรือใกล้เคียงกับการท่องเที่ยวในกลุ่มภูมิภาคยุโรปด้วยกันเอง
นอกจากนั้น ยังเน้นต่อยอดแคมเปญ เซเว่นวันเดอร์ ให้เจาะลึกเป็นรายสินค้า แยกกลุ่ม จัดเป็นแพกเจชัดเจนและหลากหลาย ให้ดูน่าท่องเที่ยวมากขึ้น โดยปีนี้ได้ปรับลดเป้าหมายจากฐานนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป โดยจากเดิมประมาณการณ์ไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทยที่ 16 ล้านคนปรับลดเหลือ 15.183 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 5% จากปี 2551 ที่ น่าจะทำได้ 14.464 ล้านคน เท่ากับปี 2550
ธุรกิจโรงแรมเบรกลงทุน
นายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายมสมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ) กล่าวว่า จากภาวะที่บ่งบอกว่า ในปี 2552 วิกฤตการเงินโลก จะกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะตลาดไกล ที่เดินทางจากยุโรปและอเมริกา ประกอบกับไม่มีใครกล้ารับประกันว่า สถานการณ์การเมืองในประเทศไทย จะสงบได้จริง ส่งผลให้ภาคลงทุนเกิดการชะลอตัว โดยรายงานล่าสุดระบุว่าขณะนี้ โรงแรมขนาดใหญ่ระดับ 5 ดาว จำนวนรวมกว่า 8,000 ห้อง ทั้งที่ ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ คิดเป็นวงเงินลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท ได้ชะลอแผนการลงทุน และแผนการเปิดดำเนินการออกไปก่อน โดยไม่เร่งเปิด หรือ เร่งก่อสร้างเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งบางรายอาจเลื่อนไป 2 ปี หรือ ไม่มีกำหนดแน่นอน เพราะต่างกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลก และ การเมืองประเทศไทยที่ยังไม่นิ่งจริง
ทั้งนี้ ทีเอชเอประเมินว่า ในปีนี้ อัตราเข้าพักเฉลี่ยทั้งปีจะลงมาอยู่ที่ 65-70% จากทุกปีจะเฉลี่ยที่ 67-80% เนื่องจากตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลหดตัว ซึ่งผู้ประกอบการก็ต้องวางแผนกลยุทธ์การตลาดให้รอบคอบ และคงไม่มีการปรับขึ้นราคาห้องพัก จากทุกปีที่จะปรับขึ้นเฉลี่ย 5-10% ขณะเดียวกันยังต้องถูกดราคาค่าห้องพักจากตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ เพื่อนำไปจัดโปรโมชั่น ดึงนักท่องเที่ยวด้วย
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดปี 52 น่าจะอยู่ที่ 13-14 ล้านคน ใกล้เคียงกับที่ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประเมินไว้ แต่ไม่ถึง 15 ล้านคน ตามที่ ททท.ตั้งไว้แน่นอน เพราะ ช่วงไตรมาสแรกของปีซึ่งเป็นไฮซีซั่น จำนวนนักท่องเที่ยวได้ลดลงจากทุกปีจำนวนมาก
นายอภิชาติ สังฆอารี นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยว่า ปัจจัยลบที่จะทำให้นักท่องเที่ยวในปีนี้ชะลอตัวที่นอกเหนือจากการเมืองในประเทศไทย คือ ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ค่าเงินในหลายประเทศที่อ่อนตัวลง ซึ่งตลาดไมซ์หรือตลาดประชุมสัมมนาและท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจาก ในปี 2551 ที่ผ่านมา มีการปิดบริษัทและเลิกจ้างงานจำนวนมาก ตลาดระยะไกลที่ลดลงแน่นอน ได้แก่ สแกนดิเนเวียลด 10-15% และยุโรป ในกลุ่มประเทศ อิตาลี รัสเซีย อังกฤษ เยอรมัน เป็นต้น ส่วนตลาดเอเชีย ยังไม่น่าห่วง เพียงแต่ต้องเร่งทำตลาดเพิ่มช่วงชิงนักท่องเที่ยว ที่มีกำลังซื้อ เช่น จีน อินเดีย และ ตะวันออกกลาง ซึ่งโดยภาพรวม จำนวนนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปีไม่น่าจะเกิน 13-13.5 ล้านคน
ปั้นทัวร์ราคาถูกรักษาลูกค้า
นายยงยุทธ จุลินตานนท์ ผู้จัดการ ฝ่ายขายและการตลาด ประจำประเทศไทย และพม่า สายการบิน คาเธ่ย์ แปซิฟิก กล่าวว่า ปี 2552 เป็นอีกหนึ่งปีที่ยากลำบากสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวและสายการบิน ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากภาวะเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่นิ่งเท่าที่ควร ทำให้ การเดินทางของนักท่องเที่ยวชะลอตัว ทางรอดของแต่ละสายการบิน คือ คิดกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ และ การปรับลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น จับตาดูผู้โดยสารทั้งขาเข้าและขาออกให้สมดุล
ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลง บวกกับการแข่งขันทำให้ปีนี้ลูกค้าจะได้ซื้อแพกเกจการเดินทางที่ถูกลง แต่ทั้งนี้ก็ต้องคอยจับตาดูให้ดีว่า ราคาน้ำมันจะปรับสูงขึ้นอีกเมื่อใด เพราะหากมาตรการเยียวยาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเป็นยาที่ให้ผลการรักษาที่ดี เศรษฐกิจก็จะฟื้นไว กำลังซื้อก็จะกลับมาเร็ว ราคาน้ำมัน ก็จะปรับตัวสูงขึ้นตามดีมานด์ของตลาด
“ผมเชื่อว่าช่วงเทศกาลตรุษจีน ท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาคึกคัก โดยช่วงไตรมาสแรก คาเธ่ย์ เตรียมแคมเปญกระตุ้นตลาดด้วย แพกเจทัวร์ราคาประหยัดลดจากราคาปกติ 30% เส้นทางที่ทำโปรโมชั่นได้แก่ กรุงเทพฯ -ฮ่องกง 3 วัน 2 คือ ราคา 11,000 บาท ,กรุงเทพฯ-ปักกิ่ง 4 วัน 3 คือ ราคา 18,000 บาท เป็นต้น ส่วนช่วงไตรมาส 2-4 จะประเมินสถานการณ์จากไตรมาสแรก เพื่อจัดทำแพกเกจทัวร์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์
คอปอเรทลดงบทำลูกค้าหาย
นายธนวัฒน์ เด่นนภาสุรพงศ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย สายการบิน แอร์ฟรานซ์- เคแอลเอ็ม กล่าวว่า ตลาดระยะไกลแถบยุโรปอเมริกาที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง สายการบินระหว่างประเทศที่บินในเส้นทางดังกล่าว จึงได้รับผลกระทบ เนื่องจากลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ ชะลอการเดินทาง บางบริษัทก็ลดงบประมาณที่ใช้สำหรับการเดินทางเพื่อประชุมสัมมนา ดูงาน และเจรจาธุรกิจลง 15-20% โดยหันมาใช้การประชุมทางโทรศัพท์ หรือการประชุมแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ทดแทน
ทั้งนี้ยอมรับว่าลูกค้าหลักของสายการบิน แอร์ฟรานซ์ และ เคแอลเอ็ม เกือบ 30% เป็นกลุ่มคอปอเรท ดังนั้นจึงได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินค่อนข้างมาก ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับแผนธุรกิจ ซึ่งเชื่อว่าหลายสายการบินก็กำลังคิดเช่นนี้ และมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นสายการบิน ลดเที่ยวบินในเส้นทางที่มีผู้โดยสารน้อย และโปรโมชั่นตั๋วราคาถูก เพื่อดึงลูกค้า ส่วนแอร์ฟรานซ์ และ เคแอลเอ็ม ปัจจุบัน บินสัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน ทั้ง 2 เส้นทาง จึงยังไม่มีการปรับลด แต่หันมาลดต้นทุนส่วนอื่นก่อน
สงครามราคาชิงลูกค้าระห่ำ
นายทัศพล แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบิน ไทยแอร์เอเชีย ซึ่งเป็นสายการบินราคาประหยัด(โลว์คอสต์) กล่าวว่า ภาพรวมของธุรกิจสายการบินจะชะลอตัวในครึ่งปีแรก โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 1 ซึ่งเป็นผลกระทบที่ต่อเนื่องมาจากผลกระทบในปี 2551 ขณะเดียวกันผลกระทบจากวิกฤตการเงินในสหรัฐอเมริกาและยุโรป จะยิ่งทำให้ นักท่องเที่ยวตลาดระยะไกล หรือ ลองฮอลล์ ลดจำนวนลง จึงเป็นไปได้ที่ธุรกิจการบินจะเข้าสู่ภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรง และอาจได้เห็น สงครามราคา
ทั้งนี้ผู้ประกอบการสายการบิน ที่มีเส้นทางบินระยะใกล้ (ช็อตฮอลล์) จะได้เปรียบ เพราะ นักท่องเที่ยวตลาดนี้ยังพอมีกำลังซื้อ เช่น จีน อินเดีย เป็นต้น อีกทั้งการท่องเที่ยวภายในภูมิภาคเดียวกัน ยังเป็นเทรนด์ใหม่ที่มาแรง
นอกจากนั้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ตามนโยบายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) จะทำให้สายการบินต้นทุนต่ำหรือโลว์คอสต์แอร์ไลน์ได้เปรียบ เพราะ สามารถจัดแคมเปญส่งเสริมเส้นทางบินภายในประเทศให้เติบโตได้มากขึ้น
“เชื่อว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวของประเทศไทยจะพลิกฟื้นได้เร็ว จากแผนการทำงานของ ททท.และกระทรวงการท่องเที่ยว ซึ่งเสน่ห์ของแหล่งท่องเที่ยวเมืองไทย เช่น พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ เกาะสมุย หรือแหล่งชอปปิ้ง อย่าง มาบุญครอง สวนจตุจักร ยังดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเลือกที่จะตัดสินใจเดินทางเข้ามาประเทศไทย หาก เหตุการณ์ในประเทศสงบเรียบร้อย”
สำหรับไทยแอร์เอเชีย ยังเน้นกลยุทธ์เรื่องราคาเป็นตัวนำ ในการดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ โดยจะเพิ่มความถี่ของการจัดแคมเปญ เป็น เดือนละ 2 ครั้ง และเตรียมแผนเปิดเส้นทางบินใหม่ๆ อีก 6 เส้นทางไปต่างประเทศ บินจากสนามบินสุวรรณภูมิ ไปสู่ หลายเมืองในประเทศ อินเดีย และ จีน เป็นต้น ซึ่งเส้นทางบินใหม่ จะช่วยขยายฐานลูกค้าให้ธุรกิจเติบโต โดยตั้งเป้าหมายปีนี้ จะขนผู้โดยสารทั้งปีได้ 5.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ราว 1 ล้านคน โดยยอมรับว่า ในปี 2551 ไทยแอร์เอเชีย ขนส่งผู้โดยสารทั้งปีได้รวมประมาณ 4.1 ล้านคน ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะขนส่งผู้โยสารได้ 4.6 ล้านคน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|