|

เปิดนโยบายซีเอสอาร์ธนชาต เติบโตอย่างยั่งยืนไปกับท้องถิ่น
ผู้จัดการรายวัน(5 มกราคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ในหลักการของความรับผิดชอบต่อสังคมของกลุ่มธนชาต อยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ในเรื่อง CSR ที่ว่า “เติบโตอย่างยั่งยืนและมีคุณธรรม และมีส่วนร่วมในการสนับสนุนหรือช่วยเหลือชุมชนท้อง ถิ่นและสังคมอย่างเข้าใจ ตั้งใจจริงและต่อเนื่อง จากความร่วมมือกับพนักงาน พันธมิตร ชุมชนท้อง ถิ่น และสังคม” ดังนั้น พอแยกแนวทางในการดำเนินงานในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ของทางกลุ่มธนชาต ออกได้เป็นภาพใหญ่ๆ 2 ด้าน ดังนี้
ในการดำเนินธุรกิจปกติขององค์กร (Business for Social Responsibilities) ซึ่งก็เป็นไปตามวิสัยทัศน์ในเรื่อง CSR ที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้นแล้วว่าต้องเติบโตยั่งยืนอย่างมีคุณธรรม โดยตลอด 28 ปีที่เราได้ดำเนินธุรกิจการเงินมานั้น ธนชาต ได้ยึดมั่นที่จะไม่ปล่อยสินเชื่อให้แก่โครงการใดที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีหรือเป็นภัยต่อสังคม ฯลฯ หรือสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ช่วยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น สินเชื่อ NGV ที่ร่วมมือกับ ปตท. โดยอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ 0% ผ่อนนาน 36 เดือน
หรือการให้สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือการศึกษาระดับสูง อันได้แก่ Scholar Loan สำหรับผู้ศึกษาระดับปริญญาโท แม้กระทั่งในเรื่องของการดูแลพนักงานขององค์กรเป็นอย่างดีและเหมาะสม ฯลฯ ซึ่งในแนวทางนี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมองค์กรของกลุ่มธนชาต ที่เราได้ยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด และจะยึดมั่นในการปฏิบัติตลอดไป โดยในแนวทางนี้ทางสโกเทียแบงก์ ก็มีแนวคิดและแนวทางปฏิบัติเช่นเดียวกับธนชาต ซึ่งทางธนชาต ก็จะได้จัดวางระบบให้มีการดำเนินงานเป็น International Best Practices โดยร่วมมือกับทางสโกเทียแบงก์ อันจะทำให้กลุ่มธนชาต เป็นองค์กรที่เป็นที่ยอมรับของสังคมในระยะยาว ตามที่กำหนดไว้ในวิสัยทัศน์ด้าน CSR
การดำเนินกิจกรรมที่ทำเพื่อสังคม (CSR Activities) โดยกิจกรรมเหล่านี้อาจเป็นการดำ เนินการเอง หรือการชักชวนผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมในการช่วยเหลือสังคม เนื่องจากเราดำเนินธุรกิจการ เงิน ไม่ได้มีความชำนาญในทุกๆ เรื่อง ดังนั้นแล้วในบางกิจกรรมอาจจะต้องสร้างพันธมิตรในการดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุจุดหมายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการชักชวน Stakeholders ต่างๆ มาร่วมกัน เพื่อให้กิจกรรมที่ทำเพื่อสังคมประสบความสำเร็จในวงกว้าง ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวนี้ ได้ถูกแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่
Central CSR เป็นกิจกรรมสังคมของส่วนกลาง ซึ่งจะริเริ่มโครงการจากส่วนกลางซึ่งจะได้รับการอนุมัติโครงการโดย CEO สำหรับการดำเนินการอาจจะเป็นการดำเนินการโดยส่วนกลาง หรือมีส่วนร่วมจากแต่ละสำนักงานเขต โดยขอบเขตของกิจกรรมเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคมใดๆ ของกลุ่มธนชาต ซึ่งได้พิจารณามาจากความผูกพันกับธุรกิจที่เราดำเนินการ หรือจาก Brand Personality (DNA) ของกลุ่มธนชาต ทำให้สามารถแบ่งกิจกรรมออกได้เป็น 5 ประเภทใหญ่ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินกิจกรรม ดังนี้
1.เพื่อการศึกษาหรือพัฒนาเยาวชน 2.เพื่อพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของผู้ด้อยโอกาสในสังคม 3.เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน 4.เพื่อสุขภาพและสุขอนามัย 5.เพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเรื่องการช่วยลดภาวะโลกร้อน และเรื่องการประหยัดพลังงาน
Hub CSR เป็นกิจกรรมสังคมของแต่ละสำนักงานภาคในภูมิภาค และฝ่ายเครือข่ายสาขากรุงเทพฯ (HUB) ของธนาคารธนชาต ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีความเป็นส่วนของสังคม และเป็นที่ยอม รับในสังคมที่ธนาคารดำเนินธุรกิจอยู่ ดังนั้นกิจกรรมของแต่ละ HUB นั้น ก็จะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละความต้องการหรือวัฒนธรรมท้องถิ่นในสังคมนั้นๆ Hub CSR จึงเป็นกิจกรรมที่ศึกษาและริเริ่มโดยแต่ละ HUB และนำเสนอต่อส่วนกลาง ซึ่งจะมีคณะทำงานกลั่นกรองเพื่อทำการพิจารณาก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณา Hub CSR โดยการดำเนินงานนั้น Hub CEO จะเป็นผู้ดูแลในการดำเนินงาน ซึ่งจะประสานงานกับส่วนกลางสำหรับสิ่งที่ต้องการให้ทางส่วนกลางสนับสนุน โดยในแต่ละปีนั้นทางธนาคารจะมีงบประมาณจัดสรรไว้สำหรับกิจกรรมสังคมของแต่ละ HUB ซึ่งปัจจุบันนี้ธนาคารธนชาต มี HUB ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และภูมิภาคอยู่ทั้งหมด 21 แห่ง
HUBงามวงศ์วานนำร่อง “ปั่นลดมลพิษ พิชิตโลกร้อน”
นายวิชา กุลกอบเกียรติ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารและบริหารแบรนด์ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง นโยบายของธนาคารธนชาต เกี่ยวกับกิจกรรมเพื่อสังคม ว่าธนาคาร มีนโยบายให้สำนักงานเครือข่าย (HUB)มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่สำนักงานสาขาของธนาคารและบริษัทในกลุ่มธนชาตเปิดให้บริการ เพื่อการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและร่วมดูแลชุมชนที่สาขาเปิดให้บริการอยู่ สำหรับการจัดกิจกรรม “ปั่นลดมลพิษ พิชิตโลกร้อน” นี้
เนื่องจากเห็นว่า ปัญหาโลกร้อน เป็นอีกหนึ่งปัญหาสังคมที่ทางธนาคารธนชาตให้ความสำคัญเสมอมา จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยโครงการนี้ ทางธนาคารธนชาต โดยสำนักงานเครือข่าย HUB งามวงศ์วาน ได้จัดทำจุดจอดรถจักรยานจำนวน 20 จุด เพื่อมอบให้กับเทศบาลนครนนทบุรี เพื่อเชิญชวนและรณรงค์ให้ประชาชนในเขตเทศบาลนครนนทบุรีหันมาเดินทางโดยใช้รถจักรยานกันมากขึ้น ทั้งการเดินทางไปธุระในจุดใกล้เคียง หรือใช้จักรยานเพื่อมาจอดที่จุดจอดเพื่อเดินทางต่อไปยังจุดหมายอื่นด้วยพาหนะต่างๆ เช่น รถประจำทาง
ซึ่งเป็นการช่วยลดการใช้พาหนะที่ใช้น้ำมัน ส่งผลให้ลดการเผาผลาญพลังงาน ลดการปล่อยมลพิษ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน” โดยจุดจอดรถจักรยานทั้ง 20 จุดนั้น จะติดตั้งบริเวณถนนสายหลัก 7 สายคือ ถนนประชาราษฎร์, ถนนกรุงเทพ-นนท์, ถนนติวานนท์, ถนนสามัคคี, ถนนสนามบินน้ำ, ถนนประชาชื่น และถนนรัตนาธิเบศร์ ซึ่งจุดจอดรถจักรยานทั้งหมดนี้ เป็นจุดจอดที่ประชาชนในพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง
สาเหตุที่ทางธนาคารธนชาตเลือกการใช้จักรยานในการรณรงค์ลดโลกร้อนในครั้งนี้ก็เพราะ เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทำได้ง่ายในชีวิตประจำวัน สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย บางคนอาจมองว่า การขี่จักรยานเพื่อลดภาวะโลกร้อนนั้นเป็นวิธีที่ธรรมดา แต่ธนาคารธนชาตเชื่อว่า เพียงแค่ทุกคนร่วมมือกัน เรื่องธรรมดานั้นจะกลายเป็นผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
ในวันเปิดโครงการ มีการเดินขบวนและขี่จักรยานเพื่อรณรงค์ไปตามเส้นทางต่างๆ โดยมีผู้ร่วมรณรงค์จาก ธนาคารธนชาต และประชาชนในเขตเทศบาลนครนนทบุรีจำนวนกว่า 300 คนโดยเส้นทางการขี่จักรยานรณรงค์นั้นเริ่มจาก ธนาคารธนชาต สาขานนทบุรีเดินทางไปรอบๆหอนาฬิกา หลังจากนั้นมุ่งหน้าไปยังสี่แยกกรุงเทพ-นนท์ และทำพิธีส่งมอบจุดจอดรถจักรยานให้กับทางเทศบาลนครนนทบุรี ที่บริเวณท่าน้ำนนท์ จ.นนทบุรี โดยมี นายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนนทบุรี เป็นผู้รับมอบ
กิจกรรมในครั้งนี้นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เพราะความร่วมมือของหลายๆฝ่าย มีประชาชนให้ความสนใจและหันมาใช้จักรยานในการเดินทางกันมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ทุกคนร่วมกันเอาใจใส่ในการลดมลพิษกันมากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|