ต่างชาติหนุนยาแรงพยุงศก. แนะแบงก์ชาติลดอาร์พีรอบแรก0.50%


ผู้จัดการรายวัน(6 มกราคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์นอกหนุนไทยใช้ยาแรงพยุงเศรษฐกิจ หนุนแบงก์ชาติประชุมกนง.รอบแรก 14 มกราฯนี้ลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.50% และคาดทั้งปีลดลง 1.50% ระบุจากการส่งออกที่ทรุดตัวลงมาก-เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ เปิดช่องให้ดำเนินนโยบายได้เต็มที่ ส่วนจีดีพีปีนี้ขยายตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก ประเมินโต 1.5% หวังภาคการเมืองนิ่ง เศรษฐกิจสหรัฐฯถึงจุดต่ำสุดในกลางปีนี้ ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าแตะ 36-36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนช่วงครึ่งหลังจะเพิ่มแข็งค่าขึ้น 5-7%

นายไมเคิล สเปนเซอร์ หัวหน้าสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจ สายงานบริหารการเงินและอนุพันธ์ทางการเงิน ประจำภาคพื้นเอเชีย ธนาคารดอยช์แบงก์ เปิดเผยว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ของประเทศไทยในปีนี้จะอยู่ที่ 1.5% ถือเป็นอัตราที่ได้ประเมินถึงปัจจัยเสี่ยงทางด้านการเมืองรวมไว้แล้ว โดยคาดว่าการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งการขยายตัวของจีดีพีนั้นถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มจะถดถอยลง ส่วนการขยายตัวของจีดีพีในปี 2551 ที่ผ่านมา น่าจะอยู่ที่ 4.5% และในปี 2553 น่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.2%

ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะต้องรอดูแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าจะออกมาอย่างไรบ้าง หากทางภาครัฐมีการใช้จ่ายงบประมาณได้ดี มีการลงทุนก็จะทำให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวได้ โดยเชื่อว่าในปีนี้การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น 2.4% การใช้จ่ายภาคประชาชนเพิ่มขึ้น 2.9 % การลงทุนเพิ่มขึ้น 1.8 % การส่งออกติดลบ 1 % และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 0.8% ส่วนในปี 2553 การลงทุนภาครัฐน่าจะอยู่ที่ 7% การใช้จ่ายภาคประชาชนอยู่ที่ 4% การส่งออกเพิ่มขึ้น 6.6% และการนำเข้าอยู่ที่ 8.7% สำหรับตัวเลขเงินเฟ้อของปีนี้เชื่อว่า จะอยู่ที่ 0.7 % และปี 2553 อยู่ที่ 1 %

ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ภายในไตรมาส 2 ของปีนี้จะปรับลดลง 1.50% จากโดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 14 ม.ค.นี้ เชื่อว่ากนง.จะตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ย 0.50 %สาเหตุเกิดจากตัวเลขการส่งออกถดถอย เงินเฟ้อปรับตัวลดลงและการใช้จ่ายของประชาชนลดลง ดังนั้น ธปท.ต้องใช้ยาแรงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับธนาคารกลางของหลายๆประเทศที่ปรับลดดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้เชื่อว่าจะอ่อนตัวมาอยู่ที่ 36.00-36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯหลังจากนั้นจนถึงสิ้นปีค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าขึ้น 5-7 %ส่วนในปีหน้าคาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นายไมเคิลกล่าวอีกว่า ขณะที่เศรษฐกิจโลกในปีนี้ขยายตัว 0.2% โดยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาติดลบ 2% ญี่ปุ่นติดลบ 3% ยุโรปติดลบ 2.5% ขณะที่เอเชียรวมญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 4.6 % อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯจะถึงจุดต่ำสุดในช่วงกลางปีนี้ จากนั้นก็จะเริ่มฟื้นตัว โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯในปีหน้าจะกลับมาขยายตัว 1.6 %

ทั้งนี้ การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเริ่มฟื้นตัวได้เป็นเพราะทางรัฐบาลสหรัฐฯเข้าไปช่วยเหลือภาคการเงิน ทำให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ฟื้นกลับมาอีกครั้ง หลังจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้ตกต่ำสุดในรอบ 50 ปี ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ก็ตกต่ำสุดในรอบ 27 ปี อย่างไรก็ตาม จากการฟื้นตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทำให้การลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์เพิ่มขึ้น

"เศรษฐกิจโลกโดยรวมจะชะลอตัวอีก 1-2 ปี เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะมีปัญหาอีก 2 ปี ส่วนทางยุโรปจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 3 ของปีนี้ หลังจากที่เริ่มมีปัญหาตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว โดยเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะเพิ่มขึ้น 2.6% สาเหตุเกิดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวในครั้งนี้"

สำหรับเศรษฐกิจของประเทศจีน จะได้รับผลกระทบจากการส่งออก และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัว ประกอบกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของจีนกว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี ดังนั้น จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจของจีนปี 2551 ที่ผ่านมา ขยายตัว 9 % และในปีนี้ขยายตัว 7 % และในปีหน้า เชื่อว่าจะเติบโต 6.6 %

"วิกฤตการเงินในรอบนี้จีดีพีของทางเอเชียจะมีการชะลอตัวลงมาตามเศรษฐกิจของสหรัฐฯและยุโรป แต่ถ้าประเมินเทียบกับช่วงวิกฤตที่เกิดขึ้นในปี 2540 นั้นการส่งออกค่อนข้างที่จะชะลอตัวหนัก แต่วิกฤตในรอบนี้ไม่คิดว่าจะแย่เท่ากับในช่วงอดีตแน่นอน"

ส่วนวิกฤตเครดิตที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯนั้น ในช่วงไตรมาส 4 ของปีที่แล้วถือว่าเป็นช่วงที่แย่ที่สุด แต่ทางธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ทำการเพิ่มสภาพคล่องให้กับธนาคาร และมีแผนที่จะเข้าไปถือหุ้นในธนาคารเพิ่มอีกด้วย ซึ่งการเข้าช่วยของธนาคารกลางนี้จะช่วยให้ธนาคารและสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) สามารถปล่อยกู้ได้ดีขึ้น

ทั้งนี้คาดว่าในช่วงกลางปีนี้สิ่งที่รัฐบาลของสหรัฐฯ จะเข้ามาช่วยเหลือเพิ่มอีกจะมีมากถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

"เรื่องเครดิตถือเป็นเรื่องใหญ่ แต่หากแก้ปัญหาได้ หรือปล่อยกันได้ง่ายขึ้นก็จะมีผลต่อการเติบโตของการใช้จ่ายของประชาชน อย่างไรก็ตามการเข้าช่วยเหลือของทางการสหรัฐฯนั้นมองว่าจะทำให้ปัญหาเครดิตจะพัฒนาดีขึ้น เพราะรัฐบาลของสหรัฐฯการันตีว่าแบงก์จะไม่ล้ม ซึ่งประเทศญี่ปุ่นก็ใช้วิธีการเดียวกัน และเมื่อทำแล้วปัญหาทุกอย่างก็ดูดีขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนของยุโรปรัฐบาลก็พยายามที่จะส่งเสริมให้มีการกู้ยืมเพื่อไปซื้อรถยนต์หรือกู้ยืมเพื่อไปใช้เกี่ยวกับเรื่องของการศึกษา เป็นต้น"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.