รถไฟฟ้ามวลชน


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

การหาตัวผู้ลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ควรจะเสร็จสิ้นเมื่อเดือนมีนาคม จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะลงเอยกันได้เมื่อไร

กลุ่มลาวาลินซึ่งได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการทางพิเศษฯ ให้เป็นผู้ดำเนินโครงการเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วเสนองบลงทุนในโครงการนี้ 42,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ต่างประเทศ 23,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้จากรัฐบาลแคนาดา 16,000 ล้านบาท ที่เหลือเป้นเงินกู้จากญี่ปุ่น เงินกู้จากแคนาดานั้นเป็นเงินที่ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยจำนวน 6,240 ล้านบาทส่วนที่เหลือเสียดอกเบี้ยในอัตรา 5.7% และ 8.3% ชำระคือใน 50 ปี โดยมีระยะปลอดหนี้นับจากวันเริ่มโครงการ 10 ปี

นับว่าเป็นเงินกู้ที่มีเงื่อนไขดีมาก ๆ เพียงแต่ว่ารัฐบาลแคนาดาต้องการให้ลาวลินตั้ง SECVRITY PACKAGE ในรูปของเงินทุนสำรอง 6,000 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้ในกรณีที่การดำเนินโครงการมีปัญหาสภาพคล่อง จะได้เอาเงินทุนสำรองนี้มาหมุนเวียนเงิน 6,000 ล้านบาทนี้เป็นเงินกู้ในประเทศ ซึ่งลาวาลินมีเงื่อนไขว่า การทางพิเศษฯ หรือรัฐบาลต้องเข้ามาค้ำประกัน

นโยบายของรัฐบาลต่อโครงการรถไฟฟ้านี้คือ จะไม่เข้าไปค้ำประกันใด ๆ โดยเด็ดขาด นอกเหนือไปจากการร่วมลงทุนไม่เกิน 25% ดังนั้นแม้ลาวาลินจะยอมลดวงเงินที่ต้องการการค้ำประกันจาก 6,000 ล้านบาทเหลือ 2,000 ล้านบาท การทางพิเศษฯก็ยังถือว่าผิดหลักการที่วางไว้ตั้งแต่แรก และมีมติเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมาให้ยุติการเจรจากับทางลาวาลินไว้เพียงนี้ และให้เรียกกลุ่มเอเชีย ยูโร คอนซอร์เตี้ยม ซึ่งเป็นอันดับสองในการคัดเลือกรอบแรกมาเจรจาใหม่ ถ้าการเจรจากับกลุ่มนี้มีปัญหาก็ให้เรียกกลุ่มฟรังโกแจแปนิสมาเจรจาเป็นกลุ่มสุดท้าย เงื่อนไขที่ทำให้กลุ่มเอเชียยูโร ไม่ได้รับการคัดเลือกในครั้งแรกทั้ง ๆ ที่ที่ปรึกษาของการทางฯจัดอันดับให้อยู่ในลำดับที่หนึ่ง โดยดูจากความเหมาะสมด้านการเงินและเทคนิคก็คือ ในข้อเสนอของเอเชีย ยูโร เสนอให้รัฐบาลตั้งบริษัทใหม่ขึ้น 7,000 ล้านบาท ซึ่งผิดหลักการให้สัมปทานในครั้งนี้ที่รัฐบาลไม่ต้องการรับภาระการลงทุนมากกว่า 25% ของเงินลงทุนทั้งหมด

การเจรจารอบใหม่กับการทางพิเศษฯ เอเชีย ยูโรจึงต้องหาทางออกด้วยการขอกู้เงินดอกเบี้ยต่ำจาก KFW สถาบันการเงินเพื่อการลงทุนในเยอรมันตะวันตก 200 ล้านมาร์ก และจกาแหล่งอื่น ๆ ให้ครบ 7,000 ล้านบาทเพื่อนำมาซื้อหัวรถไฟฟ้าเอง

เงินกู้จาก KFW นั้น โดยปกติจะต้องให้รัฐบาลค้ำประกันด้วย เอเชีย ยูโร จึงอาจจะพบปัญหาเดียวกับลาวาลิน ถ้าเป็นเช่นนั้นกลุ่มที่มีความหวังรายต่อไปคือ กลุ่มฟรังโก แจแปนิส ซึ่งเสนอเงื่อนไขออกมาชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้รัฐบาลค้ำประกันในส่วนไหนทั้งสิ้น และยังมีเงินที่รัฐบาลฝรั่งเศสให้เปล่าอีกจำนวนหนึ่ง

สิ่งที่ไม่อาจจะมองข้ามไปได้คือ ผู้ร่วมทุนรายหนึ่งในกลุ่มฟรังโก แจแปนิสนั้น คือกลุ่มอิตัลไทยของหมอชัยยุทธ กรรณสูตฝีไม้ลายมือของหมอชัยยุทธ ในการดึงโครงการใหญ่ ๆ มาทได้เป็นที่ประจักษ์กันแล้วว่าเป็นเช่นไร กลุ่มเอเชียยูโร ก็คงเป็นหนึ่งที่ประจักษ์ในผลงานของหมอชัยยุทธ

ความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดจึงได้มีการปรับโครงสร้างใหม่โดยรวมกลุ่มเอเชีย ยูโร และฟรังโก แจแปนิส เข้าด้วยกัน โดยมีบริษัทเลห์ตันจากลุ่มเอเชีย ยูโร รับผิดชอบด้านการเงิน กลุ่มมิตซุย ซึ่งอยู่ในกลุ่มฟรังโก แจแปนิส รับผิดชอบหาหัวรถจักร และอิตัลไทยรับผิดชอบด้านการก่อสร้าง

ภารกิจสำคัญคงตกอยู่กับหมอชัยยุทธที่จะเป็นหัวหอกกรุยทางดึงโครงการนี้มาให้ได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.