|
นิทรรศการภาพเขียนของโฮกูไซที่พิพิธภัณฑ์กีเมต์
โดย
สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
เอมีล กีเมต์ (Emile Guimet) เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองลิอง (Lyon) เดินทางท่องเที่ยวไปอียิปต์ กรีก และเดินทางรอบโลกในปี 1876 โดยมีญี่ปุ่น จีน และอินเดียเป็นจุดหมายหลัก เขาซื้องานศิลป์ของประเทศเหล่านี้มาเป็นจำนวนมาก และนำออกแสดงที่เมืองลิองตั้งแต่ปี 1879 ต่อมาเขาให้สร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นที่กรุงปารีสเพื่อแสดงงานศิลป์ที่เขาสะสมไว้ และเปิดในปี 1889 ให้ชื่อว่าพิพิธภัณฑ์กีเมต์ (Musee Guimet) อย่างค่อยเป็นค่อยไป พิพิธภัณฑ์กีเมต์เป็นศูนย์กลางงานศิลป์จากเอเชีย แต่ยังคงมีแผนกอียิปต์อยู่
หลุยส์ เดอลาปอร์ต (Louis Delaporte) เป็นอีกผู้หนึ่งซึ่งเดินทางไปเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสยามประเทศและเขมร พร้อมกับนำงานศิลป์ของเขมรกลับไปฝรั่งเศสด้วย ซึ่งกลายเป็นงานศิลป์หลักของพิพิธภัณฑ์อินโดจีนแห่งโทรกาเดโร (Musee indochinoise du Trocadero) ก่อตั้งในปี 1882
ปลายศตวรรษที่ 19 พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Musee du Louvre) เปิดแผนกศิลปะจีนและญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันเอมีล กีเมต์ ค่อยๆ ลดพื้นที่สำหรับแสดงอารยธรรม กรีกและโรมัน เพื่อแสดงงานศิลป์ซึ่งชาร์ลส์ วาราต์ (Charles Varat) นำกลับมาจากเกาหลี และศิลปะทิเบตซึ่งฌาคส์ บาโกต์ (Jacques Bacot) ได้นำมา
ในปี 1927 พิพิธภัณฑ์กีเมต์ขึ้นกับสำนักงานพิพิธภัณฑ์แห่งฝรั่งเศส (Direction des musees de France) และได้รับการบริจาคจากผู้นำงานศิลป์จากเอเชียกลางและจีน เช่น ปอล เปล-ลิโอต์ (Paul Pelliot) และเอดูอารด์ ชาวานส์ (Edouard Chavannes) ในปีเดียวกันนี้พิพิธภัณฑ์อินโดจีนแห่งโทรกาเดโรได้โอนงานศิลป์ของตนมายังพิพิธภัณฑ์กีเมต์ นอกจากนั้นยังมีศิลปะอัฟกานิสถานซึ่งคณะนักโบราณคดีของฝรั่งเศสได้ไปทำการขุดค้น
ในปี 1945 มีการจัดการพิพิธภัณฑ์ในฝรั่งเศสขึ้นใหม่ พิพิธภัณฑ์กีเมต์จึงส่งศิลปะอียิปต์ไปให้พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ และได้รับศิลปะเอเชียเป็นการตอบแทน นับแต่นั้นพิพิธภัณฑ์กีเมต์กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง มีงานศิลป์ในครอบครองประมาณ 45,000 ชิ้น มีทั้งประติมากรรมและภาพเขียน
พิพิธภัณฑ์กีเมต์มีการปรับปรุงใหม่ในปี 1996 ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เพียงเข้าในไปพิพิธภัณฑ์ก็เห็นพญานาคขนาดใหญ่ตระหง่านอยู่ อดอัศจรรย์ใจไม่ได้ทุกครั้งที่ไปเยือน พร้อมกับทึ่งว่ามนุษย์สร้างงานศิลป์สวยอย่างนี้ได้อย่างไร พิพิธภัณฑ์กีเมต์เต็มไปด้วยศิลปะขอม มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่สมัยศตวรรษที่ 6 ถึงศตวรรษที่ 19 ศิลปะของประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก พม่า อินโดนีเซีย และเวียดนามซึ่งมีความหลากหลาย ตอนใต้ของเวียดนามได้รับอิทธิพลของอินเดีย กล่าวคือศิลปะจัมปา ส่วนทางตอนเหนือได้รับอิทธิพลจากจีน
ศิลปะอินเดีย เนปาล ปากีสถาน อัฟกานิสถาน จีน ทิเบต ญี่ปุ่น เกาหลีมีให้ดูมากมายเช่นกัน ส่วนใหญ่เป็นรูปปั้นเทพต่างๆ ในศาสนาฮินดู พระพุทธรูป อวโลกิเตศวร ฯลฯ
นอกจากนั้นพิพิธภัณฑ์กีเมต์ยังมีส่วน ที่เรียกว่า Pantheon bouddhique เพียงเดินไปตาม avenue d'Iena เพียงครู่เดียว อาคารที่เรียก Pantheon bouddhique นั้นแต่เดิมเป็นบ้านของอัลเฟรด ไอเดลบัค (Alfred Heidelbach) กระทรวงศึกษาธิการ ได้มาในปี 1955 มีการบูรณะในปี 1991 เพื่อเป็นที่ตั้งของ Pantheon bouddhique แสดงงานศิลป์แรกๆ ของพิพิธภัณฑ์กีเมต์ซึ่งเอมีล กีเมต์นำกลับมาจากญี่ปุ่นในปี 1976
พิพิธภัณฑ์กีเมต์จัดนิทรรศการเกี่ยวกับเอเชียอยู่เนืองๆ ในปี 2008 เป็นนิทรรศการภาพพิมพ์ของจิตรกรญี่ปุ่น คัตสึชิกะ โฮกูไซ (Katsushika Hokusai) ซึ่งมีอิทธิพลต่อจิตรกรอิมเพรสชั่นนิสต์ตะวันตก นิทรรศการ Hokusai, l'affole de son art จึงพลาดไม่ได้
คัตสึชิกะ โฮกูไซ (1760-1849) มีชื่อเสียงโด่งดังในยุโรป หากในญี่ปุ่นนั้นเขาไม่ได้รับการยอมรับจากพวกขุนนาง ผู้ชื่นชอบผลงานของเขามีแต่พวกพ่อค้า ช่างฝีมือและ ผู้ที่คุ้นเคยกับร้านน้ำชาในเกียวโต ผลงานที่โดดเด่นของคัตสึชิกะ โฮกูไซ คือภาพภูเขาฟูจิ 36 รูป (Trente-six vues du mont Fuji) ซึ่งเขารังสรรค์ระหว่างปี 1831-1833 เขาเขียนภาพภูเขาฟูจิมองจากหลายๆ สถานที่ในหลายๆ ฤดูกาล เป็นภาพเขียนที่สะท้อนความเป็นญี่ปุ่นและจิตรกรรมตะวันตกในเวลาเดียวกัน ภาพที่ดูเหมือนเป็นสัญลักษณ์ของคัตสึชิกะ โฮกูไซ เป็นภาพทะเลปั่นป่วน คลื่นลูกสูง มองไปเห็นภูเขาฟูจิที่ดูสงบ-La grande vague au alrge de Kanagawa เป็นภาพที่ผู้ชื่นชอบศิลปะญี่ปุ่นขวนขวายมีไว้ในครอบครอง
ข้าพเจ้าเขียนรูปตั้งแต่อายุ 6 ขวบ เริ่มจากการเขียนรูปทุกชนิด พออายุ 50 ปี ข้าพเจ้าพิมพ์ภาพเขียนมากมาย แต่ไม่มีผลงานใดเลยที่ข้าพเจ้าผลิตก่อนอายุ 70 ปีที่สมควรได้รับการกล่าวถึง จนอายุ 73 ปี ข้าพเจ้าจึงเพิ่งเข้าใจรูปร่างที่แท้จริงของสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นนก แมลง และปลา รวมทั้งธรรมชาติของพืชและต้นไม้ พออายุ 80 ปี ข้าพเจ้าได้พัฒนาฝีมือไปมาก และเมื่ออายุ 90 ปี ข้าพเจ้าเริ่มเข้าใจแก่นของศิลปะและเมื่ออายุ 100 ปี ข้าพเจ้าอาจจะบรรลุความพิเศษสุด และพออายุ 110 ปี ทุกจุด ทุกเส้น ของภาพเขียนของข้าพเจ้าคงจะมีชีวิต ลงชื่อ มันจิ ผู้เฒ่าซึ่งหลงใหลในการเขียนรูป
คัตสึชิกะ โฮกูไซ เขียนข้อความข้าง ต้นขณะอายุ 75 ปี เขาไม่ได้อยู่ถึงอายุ 110 ปี แต่เสียชีวิตขณะอายุ 90 ปี หากเขาอยู่ถึง 110 ปี ผลงานของเขาจะยอดเยี่ยมขนาดไหน เพราะภาพพิมพ์ของเขาที่แสดงในนิทรรศการนี้ก็สุดจะยอดเยี่ยมแล้ว เขาเขียนรูปโดยใช้ชื่อหลายชื่อ เช่น Gakyojin บ้าง Katsukawa Shunro บ้าง Kano Yosen บ้าง Tsutsumi Torin บ้าง เขาใช้ชื่อ Hokusai ระหว่างปี 1799-1810 เป็นช่วงเวลาที่เขาผลิตผลงานเด่นชุด Trente-six vues du mont Fuji-ภูเขาฟูจิ 36 ภาพ, Miroir de la posesie chinoise et japonaise-กระจกสะท้อนบทกวีจีนและญี่ปุ่น, Mille images de la mer-ภาพทะเล 1,000 ภาพ, Vues pittoresques des ponts de diverses provinces-ทัศนียภาพสะพานในจังหวัดต่างๆ Voyage autour des cascades du Japon-การท่องเที่ยวน้ำตกของญี่ปุ่น สะท้อนให้เห็นว่า โฮกูไซเป็นผู้นำเสนอรูปแบบใหม่ของการเขียนรูปทัศนียภาพ นอกจากนั้นยังมีชุด Cent contes de fantomes-นิทานเรื่องผี และ Grandes et petites fleurs-ภาพดอกไม้ใหญ่น้อย เขาใช้ชื่อ Manji ในการผลิตงานตั้งแต่ปี 1834 อันเป็นช่วงสุดท้ายของเขา ซึ่งเขาเขียนรูปเพื่อแลกเปลี่ยนกับอาหารเพราะเกิดความอดอยากสืบเนื่องจากสงคราม ผลงานจึงไม่สวยเท่าที่ควร นอกจากนั้นเขายังนำภาพชุดที่สร้างชื่อเสียงให้เขาอย่าง Trente-six vues du mont Fuji มาผลิตเพิ่มจนกลายเป็นของโหล ในช่วงนี้บางครั้งเขาใช้ชื่อ Gakyorojin Manji ในการเขียนรูป ซึ่งแปลว่า ผู้เฒ่าสติเฟื่องแห่งจิตรกรรม แม้จะแก่เฒ่าแล้ว แต่โฮกูไซยังเขียนรูปทุกเช้าจวบจนวาระสุดท้าย เขาใช้ชื่อ Sori ในการเขียนบทกวีด้วย
ระหว่างปี 1896-1914 มีหนังสือ 3 เล่มเป็นภาษาฝรั่งเศสเกี่ยวกับคัตสึชิกะ โฮกูไซ สองเล่มเขียนโดยนักวิจารณ์ศิลป์ชื่อดังอย่างเอ็ดมงต์ เดอ กงกูรต์ (Edmond de Goncourt) และอองรี โฟซียง (Henri Focillon)
ภาพชุดภูเขาฟูจิ-Trente-six vues du mont Fuji เป็นการปฏิวัติจิตรกรรมญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำทัศนียภาพเป็นจุดสำคัญของภาพเขียน ภาพเขียนชุดนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจแก่จิตรกรตะวันตกในศตวรรษที่ 19 เช่น วาน โก๊ก (Van Gogh) โมเนต์ (Monet) เดอกาส์ (Degas) เรอนัวร์ (Renoir) ปิสซาโร (Pissaro) คลิมท์ (Klimt) เป็นภาพสะพานโค้งข้ามสระบัวของโมเนต์เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าได้รับอิทธิพลจากภาพเขียนของคัตสึชิกะ โฮกูไซ ภาพคลื่นลูกใหญ่-La grande vague au large de Kanagawa นั้นสะท้อนให้เห็นในผลงาน ของจิตรกรและกวีหลายคน และเป็นแรงบันดาลใจให้เดอบุสซี (Debussy) แต่งเพลง La mer
ชาวฝรั่งเศสเป็นชาติแรก (ตั้งแต่ยุคจักรวรรดิที่ 2) ที่ให้ความสนใจแก่ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม เริ่มมาจากนักสะสมซึ่งนำงานศิลป์ที่ตนมีออกแสดง และมีการพบปะกันที่ปารีส เช่น เอ็ดมงด์ กงกูรต์ (Edmond Goncourt) และน้องชาย โบดแลร์ (Baudelaire) เฟรเดริก วีโย (Frederic Villot) แซร์นุชชี (Cernuschi)
ห้องที่แสดงนิทรรศการของโฮกูไซ มีซอกหนึ่งกั้นด้วยแผ่นกระจก เห็นหนุ่มหลายวัยชมอย่างพินิจพิเคราะห์ จึงเดินเข้าไปดูด้วย แล้วจึงถึงบางอ้อว่าล้วนเป็นภาพกาลามสูตรแบบญี่ปุ่น นึกเสมอว่าชาวญี่ปุ่นสัปดน ช่างผลิตผลงานแนวอีโรติกมากมาย เมื่อครั้งยังทำงานอยู่ไปเดินชมของเก่าที่ Oriental Plaza เห็นงาช้างแกะสลักน่ารักจึงหยุดดู เพื่อนร่วมงานชายชาวเทศเดินผ่านมา ทักพลางยิ้มว่า อ๋อ สนใจพวกนี้นี่เองแล้วเดินจากไป นึกเอะใจว่า ฉันกำลังสนใจอะไรนะเนี่ย เมื่อเพ่งดูจึงรู้ว่ากำลังอยู่หน้างาช้างแกะสลักหญิงชายพันตูกันอยู่
ญี่ปุ่นนี่ทะลึ่งจริงๆ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|