|

"ความไม่เที่ยง" แท้จริงแล้วเป็นโอกาส
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
พุทธศาสนิกชนต่างก็คุ้นเคยกับสัจธรรมที่ว่า "ใดๆ ในโลก ล้วนอนิจจัง" ทุกสรรพสิ่งในโลกหนีไม่พ้นกับดักเวลาที่ทำให้เกิดวัฏจักรของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แต่เพราะโหยหาความจีรัง "อจีรัง" จึงกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจของคนที่เห็นความงามบนความร่วงโรย
เครื่องสำอางเสริมสวยเสริมหล่อ ครีมยกกระชับ โบท็อกซ์ ฟิตเนส หรือศัลยกรรมพลาสติก ฯลฯ เป็นตัวอย่างสินค้าบริการที่มีแรงบันดาลใจมาจากความพยายามฉุดรั้งความงามของมนุษย์ให้ยาวนานที่สุด... คาดกันว่า เม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจความงามทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 11.7 ล้านล้านบาทต่อปี มากกว่า GDP ของประเทศไทย
ตัวเลขดังกล่าวเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในนิทรรศการของ TCDC ที่มีชื่อว่า "อจีรัง คือ โอกาส" (Perishable Beauty) ที่ทำให้ผู้ชมหลายคนต้องอ้าปากค้าง เมื่อได้รู้ข้อมูลและได้เห็นการจัดแสดง
เริ่มต้นภายใต้ความมืด โลงศพถูกจัดวางอยู่กลางห้อง ศพในนั้นไม่ใช่ซากคน แต่เป็นศพดาวยักษ์ที่หมดอายุขัย หรือ "หลุมดำ" พร้อมกับเตือนสติว่า แม้แต่จักรวาลยังมีแตกดับ ดวงอาทิตย์ยังมีโรยราเป็นดาวแคระขาว แล้วนับประสา อะไรกับมนุษย์ที่เกิดจากเศษซากส่วนหนึ่งของดวงดาวจะเอาชนะความอจีรังอย่างไร ในเมื่อเราทุกคนคือทายาทการดับสูญ
สมกับสโลแกน นิทรรศการที่จะตาย...ต่อหน้าคุณ
ดอกไม้ต้นไม้ที่เคยดูสดชื่นมีชีวิตชีวาเมื่อวันแรกที่ถูกนำมาจัดแสดง (ปลายเดือนพฤศจิกายนปีก่อน) นานวันก็มีแต่ร่วงโรยและแห้งเหี่ยวเฉาตายในที่สุด ถึงจะมีการเปลี่ยนชุดใหม่ทุก 2 อาทิตย์แต่สุดท้ายก็กลับสู่วงจรความตายอีกครั้ง อีกทั้ง โต๊ะดินเนอร์มื้อหรูที่เคยดูน่ากินเมื่อวันแรกของการแสดงนิทรรศการ ผ่านไปเพียง 20 กว่าวัน เมนูทุกจานเต็มไปด้วยปุกปุยเชื้อราฟูฟ่องอยู่บนซากเน่าของ อาหาร กว่าจะหมดนิทรรศการในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ นับได้เกือบ 90 วัน... ลองไปดูเองว่า ซากความตายของอาหารเหล่านี้จะน่าสยดสยองเพียงใด
แม้นิทรรศการเริ่มต้นด้วยการพูดถึงอนิจจัง และความตายที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดหนีพ้น แต่ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อให้ผู้ชมเกิดทุกขังหรือเพื่อการปลดปลงกับชีวิต หากเป็นความพยายามที่จะกระตุกให้ผู้ชมได้หันกลับมามองหาโอกาสจากความโรยรา
"...แทนที่เราจะปล่อยให้ชีวิตและสรรพสิ่งรอบตัว ค่อยๆ เสื่อมสลายไปตามธรรมชาติพร้อมกับความสูญเปล่า เหตุใดจึงไม่มองสัจธรรมเหล่านั้นให้เป็นโอกาส และใช้ ความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ผสมผสานกับโอกาสที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา..." ภารวี วงศ์จิรชัย รองผู้อำนวยการ TCDC กล่าวในวันเปิดนิทรรศการนี้ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
เนื้อหมูจะเน่าเสียที่อุณหภูมิห้องภายใน 12 ชั่วโมง ชาวโรมันรู้จักการทำแฮมรมควันมากว่า 2,500 ปี ซึ่งช่วยยืดอายุอาหารได้ หรือชาวจีนก็รู้จักการใช้หิมะรักษาความสด ของอาหารมาตั้งแต่ 4,000 ปีก่อน แต่บริษัทอเมริกันกลับเป็นผู้คิดอาหารแช่แข็งสำเร็จในปี 1930 และสร้างธุรกิจหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ
หากคนโบราณยอมจำนนต่อเชื้อจุลินทรีย์ เชื้อโรคเหล่านี้ก็เป็นเพียง ตัวทำลายความสุขและความมั่งคั่งในชีวิต แต่พวกเขาใช้เชื้อแบคทีเรียเป็นแรงบันดาลใจ คิดค้นกรรมวิธีชะลอความเน่าเสีย และยังเพิ่มมูลค่าให้กับความเน่าได้อย่างน่าอัศจรรย์ เช่นเนยแข็งและไวน์ ที่ยิ่งเน่าก็ยิ่งแพง
แม้แต่การทำมัมมี่ของฟาโรห์อียิปต์ ก็เป็นความพยายามที่เกิดจากแรงบันดาลใจเพื่อจะรักษาศพไม่ให้เน่าเปื่อยไปตามธรรมชาติ เพื่อรอคอย การฟื้นคืนชีพ
ส่วนคนปัจจุบันจับเอาเชื้อโรคตัวเดียวกันมาเป็นโอกาสในการหยุดยั้งร่องรอยกาลเวลาบนเรือนร่างของมนุษย์ ที่รู้จักกันดีในนาม "โบท็อกซ์"
สำหรับบางคน ความตายเป็นเรื่องน่ากลัว ขณะที่ความกลัวตายของบางคนกลายเป็นรายได้มหาศาลของคนอีกกลุ่ม อันเป็นที่มาของวิทยาการโคลนนิ่ง ซึ่งกลายเป็นธุรกิจโคลนนิ่งลูกสุนัขที่สร้างกำไรอย่างงาม เพราะการชุบชีวิตสุนัขตัวโปรดสักตัว ต้องใช้เงินลงทุนตั้งแต่ 1.8-5.4 ล้านบาททีเดียว
ขณะที่บางบริษัทร่ำรวยจากธุรกิจแปรเศษเสี้ยว จากซากมนุษย์ ให้กลายเป็นอัญมณีที่มีมูลค่าสูงทั้งทางธุรกิจและทางจิตใจ ด้วยการแปรรูปอัฐิให้กลายเป็นเพชร ต่อชิ้นต้องลงทุนสูงถึง 2-8.4 แสนบาท
อันที่จริงธุรกิจบนซากศพไม่ได้ห่างไกลคนส่วนใหญ่ หลายคนไม่เพียงใช้ แต่ยังหลงใหลในกลิ่นสาบความตาย ซากศพดอกไม้ที่ถูกบีบอัดจนแหลกเหลว กลายเป็นน้ำหอม ดับกลิ่นกายยามมีชีวิต หรือแม้แต่ดับกลิ่นความตายบนร่างคน
ความทุกข์จากอนิจจังไม่ได้ปรากฏเพราะความตายสถานเดียว แต่ความทุกข์มหันต์ ของหนุ่มสาวยุคใหม่ยังอยู่กับอนิจจังในเรื่องของความงาม อันมีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไป ตามที่สภาพสังคมแต่ละยุคกำหนด โดยมีสื่อเป็นผู้ชักนำให้ผู้คนในสังคมโหยหาความงาม ตามภาพรีทัชที่สื่อนำเสนอ
ใครที่เคยได้ชมซีรี่ส์เรื่อง NIP/TUCK เนื้อเรื่องสะท้อนสังคมที่คลั่งไคล้เรื่องการทำศัลยกรรมพลาสติกในอเมริกา ออกอากาศครั้งแรกในปี 2003 อาจเคยถูกคำพูดของตัวเอก ที่เป็นหมอศัลยกรรมชื่อ Dr.Christian Troy แทงใจมาแล้วก็เป็นได้
"เลิกไขว่คว้าความสมบูรณ์แบบเมื่อไหร่ คุณคงจะ เหมือนศพเดินได้" เขาพูดกับลูกค้าสาว ที่มีความมุ่งหมาย อยากสวยไม่มีที่ติ พร้อมกับแนะนำให้เธอฉีดโบท็อกซ์ที่หน้าผาก ยกตาข้างซ้ายให้สูงเท่าตาขวา เอาถุงใต้ตาออก รีดไขมันหน้าท้อง เพิ่มหน้าอกหนึ่งไซส์ ฯลฯ
กลางห้องแสดงนิทรรศการจำลอง ห้องผ่าตัดศัลยกรรมพลาสติกที่มีอุปกรณ์ครบชุด พร้อมผลิตภัณฑ์ดูแลตัวเองให้ดูดีทั้งเรือนร่าง ตั้งแต่ปลายผมจรดปลายเล็บเท้า แสดงให้เห็นถึงความสุขของมนุษย์ทุกชนชาติในการเหนี่ยวรั้งความงามให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน กลายเป็นช่องทางธุรกิจมูลค่ามหาศาลที่อยู่เบื้องหลังริ้วรอยแห่งความร่วงโรย
ทุกรอยกรีดของมีดหมอ ทุกรอยเข็มโบท็อกซ์ เป็นเม็ดเงินที่อัดฉีดระบบเศรษฐกิจโลกให้เต่งตึง ผู้คนทั่วโลกทุ่มเงินกว่า 11.7 ล้านล้านบาทต่อปี เพื่อแลกกับรูปร่าง และหน้าตาที่งดงามตามอุดมคติ ในปี 2549 ยอดการทำศัลยกรรมของอเมริกามีจำนวนมากถึง 11 ล้านครั้ง ส่วนในปี 2550 ตลาดความงามแบบสาวอาโนเนะของญี่ปุ่น มีมูลค่าถึง 493 พันล้านบาท ใหญ่เป็นรองเพียงอเมริกา
จากการสำรวจในปี 2549 พบว่าหมอผู้เชี่ยวชาญการรักษาระบบภายในร่างกายของอเมริกาต้องทำงานสัปดาห์ละ 50 ชั่วโมง มีรายได้แค่ 6.9 ล้านบาทต่อปีขณะที่หมอผิวหนังทำงานน้อยกว่าถึง 10 ชั่วโมง แต่มีรายได้สูงกว่า 2 เท่า คือ 14 ล้านบาท
ประเทศไทยเองก็เหมือนจะหนีไม่พ้นเทรนด์การแพทย์แบบนี้ แม้ว่าประเทศเรายังมีหมอรักษาชีวิตไม่เพียงพอกับความจำเป็นขั้นพื้นฐานของสวัสดิสังคมด้วยซ้ำไป
ในปี 2549 ประเทศไทยมีรายได้เข้าประเทศจากการซ่อมแซมความสึกหรอของมนุษย์ มากกว่า 4 หมื่นล้านบาทจากคนไข้ต่างชาติจำนวน 1.45 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2 ล้านคนในปีนี้ นิทรรศการชี้ชัดว่านี่แหละคือโอกาสของเมืองไทย
นอกจากอุตสาหกรรมแห่งความอจีรังในมนุษย์ บนความร่วงโรยของธรรมชาติและการ ผุพังของสิ่งก่อสร้างก็ยังเป็นที่มาของธุรกิจนับแสนล้านบาทที่แฝงอยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
เทศกาลเฝ้ามองความอนิจจังของดอกซากุระบานและโรยรา ที่กินระยะเวลาเพียงไม่ถึง สิบวัน ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นมองเห็นโอกาส จึงได้กำหนดให้ช่วงเวลานี้เป็นวาระแห่งชาติ จนกลายเป็นฤดูกาลที่เรียกเงินจำนวนมหาศาลได้จากนักท่องเที่ยว
ขณะเดียวกัน วิถีเมืองแบบเก่าก่อนที่เกือบจางหายหรือสูญหายไปแล้ว ก็ยังสามารถนำมาปลุกปั้นเป็นสินค้าท่องเที่ยวที่ขายได้ดีตลอดกาล ในยุคแห่งการโหยหาอดีตแห่งความรุ่งโรจน์ของมนุษยชาติ...นี่จะเป็นโอกาสของประเทศไทยด้วยหรือไม่!?!
ไม่มีคำตอบอยู่ในนิทรรศการ มีเพียงธนบัตรสกุลต่างๆ จำนวนมากที่ปลิวสะพัดกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ภายในพื้นที่ส่วนนี้ พร้อมกับข้อคิดที่แฝงอยู่ในงบประมาณก้อนโต เพื่อจัดการดูแลเมืองให้ดูสวยสดงดงาม หรือเพื่อฟื้นฟูและพยุงเมืองที่กำลังจะสูญหายไปตาม กาลเวลาให้คงอยู่ ด้วยการจัดระเบียบสิ่งแวดล้อมเพื่อจัดเก็บความทรงจำที่สวยงามของเมือง ไว้ตราบนานเท่านาน เช่น เมืองปารีสและเมืองเวนิส
แล้วนครที่มีความทรงจำทางประวัติศาสตร์ไว้ขายได้อย่างกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ของประเทศไทยล่ะ มีการลงทุนและระบบจัดการที่ดีแล้วหรือยัง?
ส่วนท้ายสุดจัดแสดงด้วยรถเข็นขายดอกไม้ที่ปากคลองตลาด พร้อมกับนำเสนอวิธีการ จัดการกับความร่วงโรยตามธรรมชาติ ผ่านกระบวนการรักษาความสดของดอกไม้ในประเทศ เนเธอร์แลนด์ ตลาดกลางประมูลดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดอกไม้ 60-70% ที่ขายทั่วโลกส่งออกมาจากที่นี่ ซึ่งสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 2.9 แสนล้านบาทต่อปี
นิทรรศการชี้ชัดว่า แม้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกกล้วยไม้เป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่กลับสูญเสียโอกาสขยายรายได้ส่งออกจากปีละ 5 พันล้านบาท ไปเป็นปีละ 1 หมื่นล้านบาท เพียงเพราะขาดกระบวนการจัดการความสดและระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ
ขณะที่จีน อินเดีย และดูไบ ต่างทุ่มเม็ดเงินลงทุนมหาศาลในการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันในการค้า "ความสด" เพื่อชิงเก็บค่าผ่านทางดอกไม้เหมือนเนเธอร์แลนด์
ทั้งที่เรามีความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งในการเป็นศูนย์กลางค้าส่งใบไม้ร้อนชื้น และส่งออกไม้ดอกไม้ประดับเขตร้อน เพราะเป็นจุดศูนย์กลางของเส้นทางการบินที่ประหยัด ทั้งน้ำมันและเวลาที่ดีที่สุดในอาเซียน ยังรายล้อมด้วยแหล่ง วัตถุดิบจากป่าร้อนชื้น อันเป็นพรที่พระเจ้าประทานให้กับประเทศไทย...แต่ทว่าเราไม่ได้ทำ!!
ทางเดินออกจากห้องจัดแสดงมีป้ายคำถามตัวโตแขวน อยู่ในหมู่มวลดอกไม้ที่เหี่ยวเฉาโรยรา "เราหมดโอกาสแล้วจริงหรือ?" "เราคิดไม่ออก หรือยังไม่ได้คิด?" ก่อนจะพบกับมะนาวที่ถูกคั้นน้ำจนดูเหมือนหมดแล้ว แต่อาจยังมีหยดสุดท้าย ให้คั้นได้อยู่
เช่นกัน ความอจีรังอาจเป็นโอกาสหรือคำสาป ขึ้นอยู่ว่าคุณจะมองมันยังไง
ไม่เพียงโอกาสทางธุรกิจ อจีรังยังเป็นโอกาสในการเรียนรู้เพื่อแสวงหาความสุขจากความเข้าใจแก่นแท้ของจักรวาล และความสุขจากความพอใจในสิ่งที่มีหรือเป็น เพราะสุดท้ายไม่ว่าจะทุ่มเทความพยายามหยุดยั้งหรือชะลอความร่วงโรยอย่างไร ก็ยังหนีไม่พ้นความเป็นอนิจจังอยู่ดี...
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|