Return to Roots, Back to Nature เบื้องหลังนวัตกรรมของ Toyota

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

"นวัตกรรม" สำหรับวงการรถยนต์ หลายคนจินตนาการไปถึงรถที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง ใช้วัสดุชั้นดีไม่แพ้ยานอวกาศ หรือมาจากคอนเซ็ปต์รถของศตวรรษหน้าที่เคลื่อนที่เร็วปานจรวด แต่สำหรับ Toyota บางทีรถก็เป็นเพียง "space & wind" ที่เคลื่อนที่เพื่อนำพาเราเข้าใกล้ธรรมชาติและตัวเองมากขึ้น

พาหนะส่วนบุคคลหน้าตาละม้าย Segway ในเวอร์ชั่นนั่งชิลๆ แทนการยืน บ้างก็ว่าคล้ายกับหุ่นยนต์ในการ์ตูนญี่ปุ่น สำหรับคนที่ดูภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง Wall-E ก็มองว่าเหมือนกับถอดแบบ wheel-chair ของผู้คนโลกอนาคตที่ปรากฏในการ์ตูน

รถรุ่นนี้มีชื่อว่า i-Real เป็นรถนั่งคนเดียวขนาดกำลังพอเหมาะกับตัวคน ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า มี 3 ล้อ ล้อหน้า 2 ล้อ และล้อหลัง 1 ล้อ ใช้งานได้ทั้งโหมดความเร็วต่ำ 6 km/h โดยฐานล้อจะปรับให้ต่ำลงเพื่อความคล่องตัว เมื่อต้อง การใช้โหมดความเร็วสูง 30 km/h ฐานล้อ จะยืดออกมาโดยเบาะสามารถปรับเอนลงได้ เพื่อให้รถมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำลงและยึดติดถนน ดีขึ้น

รอบตัวรถมีเซนเซอร์เพื่อใช้หลบหลีกสิ่งกีดขวางอัตโนมัติ โดยมีระบบเตือน ทั้งแบบเสียงและแบบสั่นสะเทือน พร้อมกับระบบเตือนคนรอบข้างด้วยไฟสัญญาณและเสียงเตือนที่อ่อนโยน รวมทั้งยังมีเครื่องอำนวยความสะดวกอย่างเพลงและแสงไฟ เพียงแต่ไม่มีหลังคารถหรือตัวถังรถเพื่อห่อหุ้มร่างกาย

i-Real เป็นหนึ่งในรถต้นแบบ (concept car) ที่เป็นนวัตกรรมของผู้ผลิต รถรายใหญ่ของโลก อย่าง Toyota โดยเปิด ตัวครั้งแรกในงาน Tokyo Motor Show 2007 นำเข้ามาอวดโฉมให้คนไทยได้สัมผัส ในงาน Bangkok International Fashion Week 2008 ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน "คอนเซ็ปต์ของ i-Real คือการได้พบเจอ" Tetsuya Kaida กล่าวในฐานะผู้จัดการทั่วไปของแผนก Business Revolution Corporate Value Project Department ของ Toyota เป็นแผนกที่คิดค้นนวัตกรรม และรถต้นแบบเพื่อโลกอนาคตให้กับบริษัท ซึ่งสร้างออกมาแล้วหลากหลายรุ่น

สำหรับ Kaida เพียงแค่ได้พบเจอคนใหม่ๆ สิ่งใหม่ๆ นั่นก็คือนวัตกรรมของ ชีวิตได้เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว เพราะการพบเจออะไรใหม่ๆ ย่อมสร้างโอกาส สร้างความคิด และสร้างคุณค่าในความเป็นมนุษย์ อันจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงใน ความรู้สึกนึกคิดและจิตใจได้ โดยมี i-Real เป็นพาหนะคู่กายที่จะนำพาคนเราไปมีปฏิสัมพันธ์ที่อ่อนโยนกับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ

"Toyota ไม่เพียงพัฒนาเทคโนโลยี ก้าวล้ำเพื่อความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันของมนุษย์ แต่ยังคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสำนึกของคนในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืนเหมือนที่ i-Real ช่วยให้ผู้ขับขี่เข้าถึงธรรมชาติ ประหยัดพลังงานเพราะมีขนาดเล็ก และไม่ใช้น้ำมันในการขับเคลื่อน เพื่อ สร้างจิตสำนึกแก่ทุกคนในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่โลก" Kaida กล่าว

เขามองว่าก่อนหน้านี้รถที่วิ่งขวักไขว่ บนท้องถนนดูราวกับสัตว์ป่าที่ก้าวร้าว ป่าเถื่อน และชอบขู่คำรามเสียงดัง หลายคนจึงคิดว่ารถเป็นต้นเหตุของปัญหา อาทิ มลพิษทางอากาศและเสียง อุบัติเหตุบนท้อง ถนน และโดยเฉพาะปัญหาโลกร้อน

"เราอยากสร้างรถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เข้าถึงคุณค่าทางจิตใจของมนุษย์ และอ่อนโยนต่อโลกใบนี้ ตามแนวคิดการออกแบบสู่ความยั่งยืนของ Toyota โดยจะเข้าถึงจุดนี้ เราต้องหันกลับมาศึกษาและ ทำความเข้าใจถึงรากเหง้าของวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่มีความสอดคล้องกับธรรมชาติ แล้วนำใช้ในการผลิต"

i-Real เป็น 1 ในรถต้นแบบที่สร้าง ขึ้นจากแนวคิด Corporate Values for Tomorrow ของ Toyota ซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประเด็น ที่ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกต้องหันมาใส่ใจแต่ Toyota ยังหันกลับมาใช้แนวคิดคล้ายปรัชญาเซน (Zen) ของญี่ปุ่น ที่เน้นการใช้ ชีวิตบนความสบายที่พอดี การรักษาใจให้บริสุทธิ์ และพร้อมเปิดรับความสนุกจากการได้พบเจอกับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ

Kaida เชื่อว่า เมื่อกายใจมีความสุข คนเราก็พร้อมที่ถ่ายทอดความรักและเคารพไปยังธรรมชาติและผู้คนรอบข้างที่ได้พบเจอ

"เบื้องหลัง Corporate Value for Tomorrow ของเราคือ "สเปซ" และ "ลม" ไม่ใช่แสงและไม่ใช่น้ำ เพราะตามความรู้สึกของคนญี่ปุ่น ลมมีความหมายและมีมูฟเมนต์มากกว่า" Kaida อธิบายเพิ่ม

ตามความเชื่อตะวันออก โดยเฉพาะ วิถีแห่งเซน ลมเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา เป็น สัญลักษณ์ถึงความเคลื่อนไหว ความเปลี่ยน แปลง การเดินทาง และการกลับสู่ธรรมชาติ ลมเชื่อมโยงกับฤดูใบไม้ผลิ สรรพสิ่งต่างๆ ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ลมยังเป็นสิ่งเกี่ยวโยง มนุษย์เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว

"ลมบอกถึงสิ่งแวดล้อม คน เวลา เมือง ทุกอย่าง เมื่อลมพัดมาก็ได้นำพากลิ่นอายของสิ่งเหล่านั้นมาด้วย เมื่อลมพัดมาความรู้สึกคนก็เปลี่ยน คอนเซ็ปต์ของเราคือ อยากให้รถดีๆ พัดลมที่ดีกลับคืนไปหาผู้คนและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและสร้างสถานที่ที่มี "ลม" ดีๆ พัดหมุนเวียนตลอดเวลา"

Kaida ออกตัวว่าไม่ได้เข้าใจปรัชญาเซนมากนัก แม้สิ่งที่พูดจะมีความลึกซึ้งแบบเซนอยู่ไม่น้อย

ภายใต้จิตวิญญาณแห่งความเป็นญี่ปุ่น วิถีแห่งการใช้และผลิตรถของ Toyota ก็ดูไม่ต่างจากพิธีชงชาและพิธีจัดดอกไม้ ที่สะท้อนเอกลักษณ์รากเหง้าของวัฒนธรรม ญี่ปุ่นอย่างชัดเจน อันเป็นจุดที่จะสร้างความแตกต่างจากรถสัญชาติตะวันตกอย่างเด่นชัด

"ถ้าเราพึ่งแค่ความเจริญทางเทคโน โลยี สักวัน Industrial Technology ก็ต้องถึงจุดตกลงมา จะดีกว่าไหมถ้าเราวกกลับมาสักนิดเพื่อมองหาอีกทางที่ใหม่กว่า และอาจสร้างอนาคตอีกแบบที่เราไม่เคยคาดคิด"

หนทางใหม่ที่ Kaida หมายถึงนั่นก็คือ การใช้เทคโนโลยีเพื่อความสบาย แต่ อยู่ภายใต้แนวคิดแห่งเซนที่เน้นความพอดีและใกล้ชิดกับธรรมชาติ มากกว่าที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อความฟุ่มเฟือย

อาจฟังเป็นเรื่องตลกแต่ Kaida หวัง ว่าสักวัน Toyota จะหันมาใช้หญ้าและสาหร่ายทะเลซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มากในประเทศญี่ปุ่น มาใช้ผลิตรถยนต์ทดแทนวัสดุอย่างเหล็ก ไม่เพียงเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ยังเพิ่มระยะความใกล้ชิดธรรมชาติให้กับผู้ขับขี่ แม้ความแข็งแรงจะลดลงไปบ้าง

"เมื่อบริษัทหนึ่งบอกว่ารถเขาแข็งแรง อีกบริษัทก็บอกว่ารถเขาแข็งแรงกว่า ก็แข่งกันไปมา สรุปรถก็ใหญ่ขึ้น แข็งขึ้น หนักขึ้น ผมว่ามันเป็นวงจรอุบาทว์ ความจริงถ้าคนเราอ่อนโยนมากขึ้น รถก็ไม่ต้อง แข็งขนาดทุกวันนี้ ที่ผ่านมา พวกเราขับรถก๋ากั่นกันเกินไปเพราะคิดว่ามีเหล็กหุ้ม แต่ลองคิดดู ถ้ารถบอบบางลง มันก็เป็นธรรมชาติที่ทุกคนจะช่วยกันขับรถอย่างระวังมากขึ้น ใส่ใจคนอื่นมากขึ้น โลกก็คงน่าอยู่มากขึ้น"

สิ่งที่เขาพูด ณ วันนี้ อาจฟังเป็นเรื่องเพ้อฝัน แต่สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ เมื่อยักษ์ใหญ่ของโลกมีความกล้าหาญทางด้านวิศวกรรมขนาดนี้ และส่งสัญญาณออก มาเช่นนี้ โลกใบนี้ก็อาจจะกลายเป็นโลกสีเขียวใบเดียวกับที่ Kaida ฝันไว้ก็เป็นได้

Kaida ทำงานกับ Toyota มาตั้งแต่ ปี 2526 มีประสบการณ์ในหลายแผนก ทั้งที่เกี่ยวกับงานบริการ งานวางแผนการตลาด และพัฒนาสินค้า กระทั่งปี 2550 จึงได้ก่อ ตั้งแผนก Business Revolution Corporate Value Project Department (BR) และรับ ตำแหน่งเป็นแม่ทัพแผนกที่มีชื่อยาวที่สุดนี้

แผนก BR ถือเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อคณะกรรมการผู้อำนวยการ มีอิสระ มีอำนาจ และมีหน้าที่ในการปฏิวัติการดำเนินธุรกิจเชิงแนวคิดและวิธีปฏิบัติงานของ Toyota ภายใต้ Corporate Value ที่เน้นความกลมกลืนกับธรรมชาติ โดยบุคลากรในแผนกนี้มีทั้งคนนอกและคนใน ซึ่งคัดเลือกมาจากพนักงาน Toyota จากหลายแผนกและจากบางสาขาของบริษัทในต่างประเทศ

แต่ดูเหมือนจะไม่มีวิศวกรปรากฏให้เห็นในแผนกนี้เลย รถต้นแบบที่คิดค้นและผลิตจากแผนก BR ทุกคนถูกออกแบบ โดยดีไซเนอร์และสถาปนิก โดยมีทีมสนับ สนุนส่วนใหญ่เป็นนักคิดและนักฝันที่มีบุคลิกและอารมณ์ขันคล้ายคลึงกับ Kaida

"จริงๆ แผนกนี้ผมว่าน่าจะเรียก Life Revolution มากกว่า Business Revolution เสียอีก เพราะดูเหมือนเราไม่ค่อยได้เปลี่ยนอะไรในธุรกิจเท่าไร เมื่อก่อน คนอาจจะคิดว่า Toyota เป็นอะไรที่ hard sales แต่พอมาเจอแผนกนี้อาจจะประหลาด ใจ เพราะเราเหมือนเป็น soft cell ของที่นี่" เขากล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

แม้อาจไม่เห็นตัวเลขกำไรเป็นเรื่องราวจากแผนกนี้ แต่ Kaida เชื่อว่า สาเหตุที่ประธานใหญ่ของ Toyota ยินยอมให้บริษัท มีแผนก BR และยังให้ความสนใจเป็นพิเศษ ก็เพื่อเพิ่มความแปลกใหม่และความหลากหลายทางความคิดให้กับ "ชาว โตโยต้า" อีกทั้งยังกระตุ้นการแข่งขันเชิงความคิดระหว่างรูปแบบเก่าและแบบใหม่เพื่อพัฒนาบริษัทไปสู่เส้นทางที่ดีกว่า

แม้ว่าแผนก BR มีพนักงานเพียงไม่ถึงครึ่งร้อย ขณะที่แผนก R&D ของทั้งบริษัทมีนับพันๆ คน ขณะที่พนักงานของ Toyota ทั้งหมดมีกว่าหมื่นคน

"ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร แผนกนี้จะต้องเป็นกลุ่มคนที่ดูไม่เป็น "ชาว โตโยต้า" ที่สุด เพราะการที่มีคนแบบนี้จะทำให้องค์กร healthy เนื่องจากมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นจะอีก กี่ปีๆ Toyota ก็จะมีแต่รถคล้ายๆ โคโรล่า ที่ดูเครียดๆ หรือยาริสที่ซีเรียสไม่แพ้กัน"

Kaida ทิ้งท้ายว่า เพื่ออนาคตที่ดีกว่าในวันพรุ่งนี้ มันถึงเวลาแล้วที่ไม่ใช่แค่ Toyota แต่ทุกผู้ผลิตรถทุกรายจะต้องเปลี่ยนความคิดจากการเป็นบริษัทผลิตรถ แต่ต้องเป็นผู้สร้างความยั่งยืนกลับคืนสู่โลกและสังคมด้วย...


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.