|
จุดเปลี่ยนราคาน้ำมันโลก
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้ว่าโอเปกจะลดกำลังการผลิตลง กลับไม่สามารถทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นได้ ใครจะคิดว่าอำนาจที่แท้จริงในการกำหนดราคาน้ำมันมาจากพฤติกรรมการใช้ของผู้บริโภคเอง น่าจับตามองอย่างยิ่งถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของตลาดน้ำมันโลกในครั้งนี้
ตลาดน้ำมันพลิกโฉม
ปี 2551 ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบ โลกมีความผันผวนอย่างมาก ราคาน้ำมันดิบที่เคยปรับตัวขึ้นไปสูงกว่า 147 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมาได้ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วจนมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนธันวาคม
สาเหตุหลักที่เป็นต้นเหตุให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นไปมากในช่วงครึ่งปีแรกนั้น ประกอบด้วยปัจจัยพื้นฐานของน้ำมันดิบ โดยอุปทานน้ำมันดิบมีไม่เพียงพอต่อความต้องการที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากจีนและอินเดีย การเก็งกำไร ของกองทุนต่างๆ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ ตลอดจนปัญหาภูมิศาสตร์ การเมืองในประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบ เช่นอิหร่าน ไนจีเรีย และตุรกี เป็นต้น
แต่ทว่าภาวะของตลาดน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของปีนั้นได้พลิกโฉมไปจากครึ่งปีแรกอย่างมาก โดยปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นนั้นได้เปลี่ยนไป ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกได้กดดันอุปสงค์น้ำมันให้ปรับลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น โดยอุปสงค์น้ำมันที่หดตัว ลงอย่างมากนั้นส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบ ที่อยู่ในภาวะตึงตัวในช่วงต้นปีคลี่คลายลง
นอกจากนี้กองทุนต่างๆ ก็ได้ถอนเงินลงทุนออกจากตลาดสินค้าโภคภัณฑ์และตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยงออกไปถือเงินสดแทน การเก็งกำไรในตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าก็ปรับลดลง ส่วนค่าเงินดอลลาร์ที่เคยอ่อนค่ามากในช่วงต้นปีกลับมาแข็งค่าขึ้น กดดันให้แรงจูงใจที่จะลงทุน ในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อประกันความเสี่ยงจากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีน้อยลง
ต้นเหตุแห่งปัญหา
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยนั้น เริ่มต้นมาจากปัญหาซับไพร์มในสหรัฐฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2550 ซึ่งส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯตกต่ำ และสถาบันการเงินต่างๆ เริ่มประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง จนกระทั่งบริษัทวาณิชธนกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯอย่าง Lehman Brothers ต้องล้มละลายเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้จุดชนวนวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ และลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ อย่างรวดเร็ว
นอกเหนือจากภาคธุรกิจการเงินการธนาคารแล้ว ภาคธุรกิจหลักอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและวิกฤติการเงินโลกเช่นกัน เช่นภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ โดยบริษัทรถยนต์รายใหญ่ 3 ราย คือ General Motors, Chrysler และ Ford กำลังประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงอยู่ในขณะนี้
ตลอดปี 2551 สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อัตราการว่างงาน ในสหรัฐฯ ล่าสุดของเดือนพฤศจิกายนปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ 6.7% ซึ่งสูงสุดในรอบ 34 ปี ส่วนการใช้จ่ายของผู้บริโภคก็ปรับตัว ลดลง 1% ในเดือนตุลาคม ต่ำสุดในรอบ 7 ปี
ผลจากภาวะเศรษฐกิจและราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงในช่วงต้นนั้น ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูป ของสหรัฐฯ โดยคนอเมริกันเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค รวมทั้งหันมา ประหยัดและใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากปริมาณการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ ที่ยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง แม้ว่า ราคาน้ำมันได้ปรับลดลงมากแล้วก็ตาม
การเยียวยาที่ยังไร้ผล
เพื่อต่อสู้กับปัญหาการเงินและเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งรวมแล้วคิดเป็นสัดส่วน 65-70% ของจีดีพีโลก ได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายการเงินผ่านการลดอัตราดอกเบี้ย นโยบาย การคลังโดยเพิ่มการลงทุน และการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงิน เพื่อแก้ปัญหาภาวะตลาดสินเชื่อไม่หมุนเวียน ซึ่งปัญหาหลักของระบบการเงินทั่วโลกในปัจจุบัน คือการที่ธนาคารต่างๆ ไม่ปล่อยเงินกู้ให้ธุรกิจ ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่างๆ และการจ้างงานทั่วโลก
เศรษฐกิจหดตัวต่อเนื่อง
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาจะลดลง 0.3% ในปี 2552 ในขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะยังคง มีการขยายตัวที่ 5.1% และเศรษฐกิจโลก โดยรวมจะขยายตัวที่ 2.2% ซึ่งลดลงจากระดับ 3.7% ในปี 2551 ขณะที่นักวิเคราะห์ จากไทยออยล์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลก ในปี 2552 อาจขยายตัวเพียง 0.5-1% เท่า นั้น หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ไม่เป็นผล เศรษฐกิจโลกอาจหดตัวได้
การคาดการณ์ของโอเปก
โอเปกคาดการณ์ความต้องการน้ำมันโลกในปี 2551 ไว้ที่ระดับ 85.8 ล้าน บาร์เรลต่อวัน ลดลง 60,000 บาร์เรลต่อวัน จากปี 2550 และในปี 2552 ที่ระดับ 85.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดลงถึง 150,000 บาร์เรลต่อวัน จากปี 2551 เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจโลก โดยจีน อินเดีย และตะวันออกกลางเป็นตัวแปรที่สำคัญ หากเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวชะลอตัวลงมาก จะส่งผลให้ความต้องการและราคาน้ำมันลดลงได้อีก
จุดเปลี่ยนของปัจจัยแห่งราคา
ปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางราคาน้ำมันในปี 2552 จะมีความแตกต่างจากปี 2551 โดยราคาน้ำมันในปี 2552 จะขึ้นอยู่กับความสมดุลของอุปสงค์และอุปทานเป็นหลัก ในขณะที่ราคาน้ำมันในปี 2551 มีปัจจัยของการเก็งกำไรของกองทุน ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นอย่างมากและในช่วงปลายปีที่ราคาน้ำมันปรับลดลง สาเหตุจากอุปสงค์น้ำมันที่ชะลอตัวลง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้น้ำมันของผู้คน ซึ่งมีผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำมีอิทธิพลอย่างมากที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงมาก
แม้โอเปกได้ประกาศลดกำลังการผลิตถึง 3 ครั้งในไตรมาส 4 ปี 2551 เป็นจำนวนรวมถึง 4.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งนับว่ามากสุดเป็นประวัติการณ์ ก็ยังไม่สามารถรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันไว้ได้ ซึ่งสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะในอดีตที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกเลี่ยงไม่ลดกำลังการผลิตตามที่ประกาศไว้ โดยมักจะลดเฉลี่ยเพียง 50-70% ของที่ประกาศไว้เท่านั้น เนื่องจากต้องการขายน้ำมันนำรายได้เข้าประเทศของตน จึงทำให้อุปทานน้ำมัน ดิบยังคงล้นอยู่
นอกจากนี้ความกังวลต่อปริมาณน้ำมันสำรองของโลก น่าจะไม่ส่งผลต่อราคาน้ำมันเหมือนเช่นในปีที่ผ่านมา เนื่องจากในปัจจุบันมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบส่วนเกิน (Spare Capacity) ในโลกกว่า 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
แนวโน้มราคาปี 2552
ราคาน้ำมันดิบจะขยับขึ้นก็ต่อเมื่อ มีสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้น นักวิเคราะห์จากไทยออยล์คาดว่าราคาน้ำมันดิบในปี 2552 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำในช่วงครึ่งปีแรก และปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว
ทางด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 น่าจะยังชะลอตัวอยู่ แม้ประธานาธิบดีบารัค โอบามาจะมีนโยบายแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ โดยล่าสุดได้แถลงนโยบายตั้งงบประมาณถึง 8.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อลงทุนในโครงการสาธารณูปโภค และเพิ่มการจ้างงานถึง 2.5 ล้านตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม คงต้องรอถึงไตรมาส 2 นโยบายต่างๆ จึงจะมีการดำเนินการและ ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้นจะขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนและมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น การแก้ไขปัญหาการว่างงาน ตลอดจนการเรียก ความมั่นใจของผู้บริโภคและนักลงทุนกลับคืนมา
หากเศรษฐกิจของโลกยังไม่ฟื้นตัว ราคาน้ำมันในปี 2552 อาจจะเฉลี่ยอยู่ที่ 40-45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลได้
จับตา "ตัวเสริม"
ปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันในอดีต ซึ่งได้แก่สภาวะภูมิอากาศที่หนาวเย็น ปัญหาภูมิศาสตร์การเมือง การเก็งกำไรและค่าเงินดอลลาร์ ไม่น่าจะส่งผลต่อราคาน้ำมันมากนักในช่วงต้นปี 2552 อย่างไรก็ตาม หากภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ปัจจัยดังกล่าว โดยเฉพาะการเก็งกำไรก็สามารถจะกลับมาส่งผลให้ราคาน้ำมันทะยานขึ้นได้
นอกจากนั้นปัจจัยที่ต้องจับตาดูคือผลกระทบของการลงทุนในโครงการขุดเจาะน้ำมันต่างๆ เช่น โครงการทรายน้ำมันของแคนาดา (Oil Sand) กำลังการผลิต 1-2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และโครงการขุดเจาะน้ำมันที่ทะเลลึกของบราซิลกำลังการผลิต 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ที่ชะลอตัวลงในช่วงนี้จากภาวะวิกฤติการเงิน ซึ่งจะส่งผลทำให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว หากตลาดส่งสัญญาณว่าความต้องการน้ำมันกลับคืนมา
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|