สุรชัย วัฒนาพร ภายใต้นิยามศาสตร์ผสานศิลป์

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

กว่าครึ่งชีวิตของสุรชัยอาศัยและทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกาพร้อมกับภรรยาและลูก แต่บั้นปลายของชีวิตเขาจำเป็นต้องหันกลับมาเริ่มต้นธุรกิจใหม่ในเมืองไทยอีกครั้ง

บริษัทเนอร์วาน่า ฟูดส์ แอนด์ คอมเมิซ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เกิดจากการก่อตั้งด้วยทุนส่วนตัวที่สุรชัยได้เก็บสะสมจากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศกว่า 30 ปี

สุรชัย วัย 53 ปี เขาฝันจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง นอกเหนือจากธุรกิจของครอบครัว ภายใต้ผลิตภัณฑ์พันท้ายนรสิงห์ ที่มีน้ำจิ้มไก่และน้ำพริกเผาที่เลื่องชื่อมานานกว่า 50 ปี

ความคิดที่จะมีธุรกิจเป็นของตนเองของสุรชัย เริ่มตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียนกางเกงขาสั้น เนื่องด้วยวิถีชีวิตของครอบครัวที่ทำธุรกิจการค้ามาตั้งแต่เขาจำความได้ และมีโอกาสเข้าไปช่วยทำธุรกิจอย่างเนืองๆ จึงทำให้เขาซึมซับธุรกิจ โดยมีพ่อและแม่ของเขาเป็นดั่งครูชั้นเยี่ยม ในการถ่ายทอดวิชาธุรกิจที่ไม่มีอยู่ในตำราเล่มใด

โดยเฉพาะพรสวรรค์ของพ่อกับแม่ที่สามารถชิมรสชาติอาหารตามสถานที่ต่างๆ และสามารถแยกแยะส่วนผสมของอาหาร จนกระทั่งนำมาทำที่บ้านให้ลูกๆ รับประทานได้รสชาติเฉกเช่นเดียวกับต้นตำรับ พรสวรรค์ดังกล่าวถ่ายทอดมาถึงรุ่นลูก ทำให้สุรชัยรักการเดินทางไปชิมอาหารตามร้านต่างๆ ทั่วโลก และเขาก็เป็นคนที่มีฝีมือในการทำอาหารคนหนึ่ง แต่สุรชัยก็ออกตัวว่าในช่วงหลังที่มาเปิดโรงงานในเมืองไทยเมื่อ 4 ปีก่อน ทำให้ร้างราไปนาน

ด้วยความเป็นนักชิมของเขา ทำให้เครื่องดื่มชา กาแฟ น้ำมะพร้าว รวมถึงเครื่องดื่มใหม่ๆ ที่จะออกนำมาจำหน่ายจะต้องผ่านการทดสอบจากเขาเป็นลำดับแรก ถ้าหากผลิตภัณฑ์ที่เขาทดสอบแล้วไม่ผ่าน สินค้าประเภทนั้นจะไม่ถูกนำไปจำหน่าย

"หัวใจหลักที่ทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถขายได้นั้น วัตถุดิบจะต้องดี ถ้าหากวัตถุดิบไม่ดีจะไม่สามารถผลิตสินค้าที่ดีได้ เป็นสิ่งที่พ่อสอนผมมาตลอด"

ในความเป็นนักธุรกิจ สุรชัยมีประสบการณ์ในการบริหารสูง แต่อีกด้านหนึ่งของชีวิตเขามีใจรักในงานศิลปะ

การบริหารงานของเขาจึงเป็นการผสมผสานทั้งสองอย่างเข้าไว้ด้วยกัน อย่างเช่นการตั้งชื่อสินค้าเขาเลือกใช้คำว่า NIRVANA ซึ่งลูกสาวที่ชื่อทิฟฟานี่ วัฒนาพร เป็นผู้ตั้งชื่อนี้

สุรชัยบอกว่า NIRVANA หมายถึง Taste Beyond heaven หรือรสชาติขั้นเทพ ซึ่งเป็นความหมายที่แตกต่างจากคำว่า ปรินิพพาน หรือความสุข

ตราสัญลักษณ์ที่เลือกใช้รูปเทวดา เป็นการบ่งบอกถึงความเป็นไทย ที่มีความอ่อนช้อย บ่งบอกถึงลักษณะนิสัยของคนไทย แต่สินค้าที่นำไปจำหน่ายในตะวันออกกลาง จะไม่มีสัญลักษณ์รูปเทวดา เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางด้านศาสนา

นอกเหนือจากความพิถีพิถันในการตั้งชื่อและเลือกใช้ตราสัญลักษณ์ สุรชัยให้ความสำคัญในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ภาชนะบรรจุ โดยจ้างชาวต่างชาติรวมทั้งนักศึกษาคนไทยที่ไปศึกษาต่างประเทศให้เป็นผู้ออกแบบ

การออกแบบผลิตภัณฑ์ภาชนะบรรจุที่จำหน่ายในไทย และต่างประเทศจะแตกต่างกัน ในประเทศจะมีสีสันและข้อความค่อนข้างมาก แต่ต่างประเทศจะออกแบบเรียบๆ ไม่เน้นสีสัน

โรงงานที่จังหวัดนครปฐม เขาสร้างบ้านอยู่ในบริเวณเดียวกันกับโรงงาน เป็นโรงงานที่มีกลิ่นอายศิลปวัฒนธรรมไทย บางมุมของห้องจะมีผลงานศิลปะของสุรชัยติดอยู่ รวมไปถึงศิลปกรรมมากมายที่ติดอยู่ตามฝาผนังและตั้งอยู่ภายในบริเวณสำนักงานและโรงงาน หรือแม้กระทั่งบ้านที่สร้างยังใช้ไม้ที่เป็นวัสดุของบ้านเก่า

สุรชัยได้สร้างความฝันของเขาในการที่มีธุรกิจเป็นของตนเองได้สำเร็จ ทว่าเขาไม่ได้ทอดทิ้งธุรกิจของครอบครัว ปัจจุบันเขายังนั่งเป็นกรรมการอยู่ในธุรกิจพันท้ายนรสิงห์ ร่วมกับพี่น้องของเขาอีก 6 คน ซึ่งเขายังทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายและการบริหารโรงงาน เป็นประสบการณ์ที่เขาเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะกฎหมายที่เขาร่ำเรียนมาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ส่วนธุรกิจ เขาเตรียมถ่ายทอดให้กับลูกที่จะมารับกิจการต่อ เขามีลูกทั้งหมด 3 คน และลูกบุญธรรมอีก 2 คน ปัจจุบันทั้งหมดทำงานและเรียนอยู่ในต่างประเทศ

สุรชัยหวังว่าในฐานะที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งจะได้เห็นธุรกิจเติบโตในรุ่นลูกที่จะสานฝันของเขาให้ทอดยาวไกลออกไปอีก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.