ศูนย์กลางการศึกษาในกลุ่มอินโดจีน

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ด้วยความเป็นมหาวิทยาลัยที่เพิ่งได้รับการสถาปนาขึ้นใหม่ แม้จะตั้งอยู่ในจังหวัดชายแดนประเทศไทย แต่ก็อยู่ในภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศอินโดจีน

มหาวิทยาลัยนครพนมจึงไม่รั้งรอที่ต้องเร่งสร้างบทบาทตรงนี้ขึ้นมาให้โดดเด่น

"มหาวิทยาลัยนครพนมเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่มุ่งจัดการศึกษา ด้านทักษะวิชาชีพ และผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถทางวิชาการ โดยเน้นการกระจายโอกาสทางการศึกษาแก่ชุมชน ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ไปถึงระดับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทำการผลิตบัณฑิต การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยมีการวิจัยเป็นฐาน และเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการบริหารจัดการที่ดี" เป็นวิสัยทัศน์ที่มหาวิทยาลัยนครพนมเขียนกำกับบทบาทของตนเองเอาไว้

มหาวิทยาลัยนครพนมเกิดขึ้นจากการหลอมรวมสถาบันการศึกษา 7 แห่ง ที่อยู่ในจังหวัดนครพนมเข้าด้วยกัน และสถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2548

สถาบันการศึกษาทั้ง 7 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครพนม, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิทยาเขตนครพนม, วิทยาลัยเทคนิคนครพนม, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครพนม, วิทยาลัยการอาชีพธาตุพนม, วิทยาลัยการอาชีพนาหว้า และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครพนม

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยนครพนม เปิดสอนตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ไปจนถึงระดับปริญญาโท มีนักศึกษาเข้าเรียนที่นี่ในปีการศึกษา 2550 จำนวน 2,752 คน และเป็นการรับผ่านการเอนทรานซ์ในระบบแอดมิชชั่น อีก 151 คน

ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีชาวเวียดนาม มีทั้งส่งมาจากหน่วยราชการ หรือสถาบันการศึกษาของเวียดนามให้มาเรียนต่อ และอีกส่วนหนึ่งเป็นชาวเวียดนามที่มีฐานะดีที่อยากให้ลูกหลานได้เข้ารับการศึกษาในไทย

รวมทั้งยังมีอีกบางส่วนที่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทชาวลาว

นักศึกษาระดับปริญญาตรีชาวเวียดนามที่มาเรียนที่นี่จะต้องใช้เวลา 1 ปีในการเรียนภาษาไทย ก่อนจะเลือกว่าอยากเรียนต่อในคณะใดในระดับปริญญาตรี

คณะที่นักศึกษาเวียดนามเหล่านี้เลือกมีทั้งวิทยาการจัดการ เทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์ ศิลปศาสตร์ฯลฯ

ปีการศึกษา 2551 มหาวิทยาลัยนครพนมได้เสนอทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีให้กับนักเรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาของ สปป.ลาว จำนวน 2 ทุน แต่ยังไม่มีนักเรียนคนใดถูกส่งตัวมารับทุน และได้เรียนต่อที่นี่

ปี 2552 คาดว่ามหาวิทยาลัยนครพนมจะเสนอทุนการศึกษาแบบเดียวกันให้กับ สปป.ลาวอีก

ด้วยความที่เป็นมหาวิทยาลัยที่เพิ่งได้รับการสถาปนาขึ้นมาใหม่ มหาวิทยาลัยนครพนมได้ทำข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว มหาวิทยาลัยเว้ มหาวิทยาลัยดานัง มหาวิทยาลัยกวางบิงห์ และวิทยาลัยกวางตรี ในประเทศเวียดนาม

รวมทั้งยังได้เข้าไปร่วมอยู่ในเครือข่าย Greater Mekong Subregion Acadamic Research Network (GMSARN) เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคนี้โดยตรง

เครือข่ายดังกล่าวประกอบด้วยมหาวิทยาลัยของ 6 ประเทศที่อยู่ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วยจีนตอนใต้ พม่า ลาว ไทย เวียดนาม และกัมพูชา โดยไทยมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมเครือข่ายนี้ 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยนครพนม

ปี 2552 มหาวิทยาลัยนครพนมได้เตรียมเปิดสถาบัน วิจัย ที่ใช้ชื่อว่า GMS Study Center ขึ้น

ความตั้งใจของสุวิทย์ เลาหศิริวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม ต้องการให้มหาวิทยาลัยนครพนมเป็นสถาบันวิจัย แหล่งรวบรวมข้อมูล และมีบทบาทในงานวิชาการของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในอนาคต

โดยเฉพาะข้อมูล เรื่องราวเกี่ยวกับประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ห่างไปเพียงไม่ถึง 300 กิโลเมตร

ว่าไปแล้ว มหาวิทยาลัยนครพนมเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งเดียวของไทยที่ตั้งอยู่ใกล้ประเทศเวียดนามมากที่สุด

"เราอยากให้เป็นแบบที่เรียกว่า หากใครที่ต้องการรู้เรื่องเวียดนามก็ต้องมาหามหาวิทยาลัยนครพนม นี่คือเป้าหมายที่ตั้งไว้ในระยะไม่ไกลมาก" สุวิทย์บอก

จะเป็นไปได้จริงหรือไม่ คงต้องให้เวลาในการเตรียมสะสม รวบรวมข้อมูล และผลิตงานวิจัยออกมาอีกสักระยะ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.