นครพนม Gateway ตัวจริง?

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

การเปิดใช้สะพานมิตรภาพ 2 แห่งก่อนหน้านี้ที่หนองคายกับมุกดาหาร สร้างความผิดหวังต่อนักเก็งกำไรที่คาดหวังผลลัพธ์จากการเปิดสะพานสูงเกินไป ซึ่งนครพนมเองคงเห็นบทเรียนเหล่านี้มาแล้ว

ดังนั้นหากจะถามคนนครพนมว่า จังหวัดของตนมีความแตกต่างหรือโดดเด่นกว่าหนองคายกับมุกดาหารซึ่งเป็นจังหวัดที่ได้เปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาวข้ามแม่น้ำโขงไปแล้วอย่างไร

คำตอบที่ได้ส่วนหนึ่งน่าจะออกมาในทำนองที่ว่า "ไม่ค่อยแตกต่างกันนัก"

เพราะสังเกตได้จากในตัวเมืองนครพนมเองดูเหมือนความตื่นตัวของผู้คน เพื่อตั้งรับสะพานที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่เกิน 3 ปีข้างหน้านี้กลับมีไม่มากเท่าไร

หลายคนที่มีพรรคพวก ญาติ พี่น้อง อยู่ในมุกดาหาร หรือหนองคาย ต่างรับรู้ข้อเท็จจริงอันแสนเจ็บปวดว่า สะพานมิตรภาพที่สร้างกันขึ้นมา ไม่ได้สร้างความ คึกคักทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นในตัวเมือง มากเท่ากับที่เขาเคยคาดหวังเอาไว้ก่อนมีการก่อสร้างสะพาน

ทำไมถึงเป็นเช่นนี้?

เหตุผลสำคัญคือส่วนหนึ่งของคนเหล่านี้คาดหวังมากเกินไปกับการเกิดขึ้นของสะพาน มองว่าเมื่อการเชื่อมโยงเส้นทาง คมนาคมระหว่าง 2 ฝั่งแม่น้ำโขง ทำให้คนสามารถไปมาหาสู่กันได้โดยสะดวก จะสร้างความคึกคักให้เกิดขึ้น เพราะจะมีคนเดินทางมายังจังหวัดของตนเองมากขึ้น

แต่พอมีสะพานเกิดขึ้นจริง คนมามากขึ้นจริง แต่ส่วนใหญ่มาเพื่อข้ามสะพาน ไปยังฝั่งตรงกันข้าม

หรือบางราย จากความคาดหวังที่ตั้งไว้สูงลิบลิ่วดังกล่าว ก่อให้เกิดเป็นความต้องการเก็งกำไร หลายคนไปซื้อที่ดิน ดักหน้าการก่อสร้างสะพานเอาไว้โดยคาดหมายว่าเมื่อเปิดสะพานแล้วราคาที่ดินจะสูงขึ้น

แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น

เพราะฉะนั้นการที่คนนครพนมไม่ตื่นตัวต่อการมีขึ้นของสะพานมิตรภาพมากนัก จึงไม่ใช่เรื่องแปลก

แต่ก็ใช่ว่าคนนครพนมทุกคนจะมีความรู้สึกเช่นนี้ไปเสียทั้งหมด

หลายคนที่ตระหนักและรู้ว่าการเกิดขึ้นของสะพานในอีก 3 ปีข้างหน้าจะนำ การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เข้ามาสู่จังหวัด

แต่มุมมองของคนเหล่านี้ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะตามมาแตกต่างกัน

สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม มองว่าคนนครพนม ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะภาคธุรกิจยังเตรียมตัวตั้งรับกับการเกิดขึ้นของสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งใหม่ในอีก 3 ปีข้างหน้านี้ไม่ดีพอ

"โดยรวมคือทุกคนอยากได้แต่การ เตรียมตัว หรือเตรียมที่จะใช้ประโยชน์จากสะพานนี้แค่ไหนนั้น ผมคิดว่ายังไม่ดีพอ เราน่าจะคิด หรือเตรียมการมากกว่านี้ว่าเมื่อเรามีสะพานแล้ว เราจะใช้อย่างไร จะทำอย่างไรกับสะพาน ที่จะสร้างประโยชน์ให้มากที่สุด" สุวิทย์ให้ความเห็นกับ "ผู้จัด การฯ"

ความจริงแล้วโดยศักยภาพพื้นฐาน จังหวัดนครพนมมีความแตกต่างจากจังหวัดหนองคายกับมุกดาหาร ที่มีสะพาน มิตรภาพอยู่แล้วในระดับหนึ่ง

กล่าวคือนครพนมมีสนามบินและมีมหาวิทยาลัยที่มีขนาดใหญ่ และได้มาตรฐาน ซึ่งผู้คนทั่วไปยอมรับ

ในขณะที่อีก 2 จังหวัดดังกล่าวไม่มี

มองในเชิงยุทธศาสตร์ ความแตกต่างทั้ง 2 อย่างของนครพนม น่าจะนำมาใช้เป็นข้อได้เปรียบ

หากพิจารณาร่วมกับปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะเมื่อวิเคราะห์ถึงศักยภาพของเมืองหรือแขวงของ สปป.ลาว ที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามแม่น้ำโขง จุดเด่นของนครพนม หนองคายกับมุกดาหาร ก็แตกต่างกัน

เมืองซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจังหวัดหนองคาย คือ นครเวียงจันทน์ เมืองหลวง ของ สปป.ลาว ซึ่งแน่นอนว่าการที่เป็นจังหวัดที่อยู่ติดกับเมืองที่เป็นศูนย์กลางการบริหารงานของอีกประเทศหนึ่ง และเป็นเมืองที่คนมีกำลังซื้อสูงที่สุดของประเทศนั้น ถือเป็นจุดเด่นที่สำคัญของหนองคาย

แขวงสะหวันนะเขต ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นแขวงที่มีพื้นที่สำหรับการทำการเกษตรจำนวนมาก กลุ่มทุนไทยหลายกลุ่มได้เข้าไปจับจองพื้นที่ไว้เรียบร้อยแล้ว และทั้ง 2 เมืองยังเป็นเมืองหลักตามแผนยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ที่สามารถเชื่อมอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงไปถึงเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและยุโรป

การที่นครพนมอยู่ตรงกันข้ามกับแขวงคำม่วน ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากร ธรรมชาติขนาดใหญ่และกำลังจะกลายเป็น hub สำหรับการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมในอนุภูมิภาคทั้งทางถนนและทางรถไฟ ก็ไม่ได้ทำให้นครพนมมีความโดดเด่นน้อยไปกว่า 2 จังหวัดที่กล่าวถึงข้างต้น

ที่สำคัญ เมื่อเทียบระยะทางจากนครพนมไปยังชายฝั่งทะเลเวียดนามกับมุกดาหาร ที่มีปลายทางเดียวกันแล้ว เส้นทางจากนครพนมออกไปสั้นกว่าเส้นทางที่ออกจากมุกดาหารถึงครึ่งต่อครึ่ง

เพียงแต่ใครจะมองเห็นและสามารถ นำจุดเด่นเหล่านี้มาใช้ก่อให้เกิดการเปลี่ยน แปลงทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นกับจังหวัดนครพนม

มิใช่เพียงแค่เก็งกำไรตามกระแส เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับนักลงทุนใน 2 จังหวัดที่มีการเปิดใช้สะพานไปแล้วก่อนหน้านี้

สุวิทย์ในฐานะนักวิชาการ และผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัย ได้เคยสะท้อนมุมมองเหล่านี้ในฐานะคนกลาง ผ่านทางสื่อท้องถิ่นมาแล้ว

"ผมเคยเสนอว่า เราน่าจะจัดเวทีสัมมนา เอาคนจากหนองคาย มุกดาหาร มาเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่าหลังจากเปิดสะพานแล้วเป็นอย่างไร เรียนรู้จากเขา เราจะได้รู้ว่าเมื่อเรามีสะพานขึ้นมาแล้วเราควรจะทำอย่างไร"

เขามองว่าความคาดหวังของคนท้องถิ่นที่มีต่อสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 เป็นการมองเรื่องที่ใกล้ตัว ไม่ได้มองในเชิงยุทธศาสตร์ที่ไกล หรือลึกซึ้งนัก

เขายกตัวอย่างที่เคยสะท้อนไว้อย่างหนึ่งว่า ถ้านครพนมจะเป็นศูนย์กลางการทำธุรกิจระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจริงๆ อุปสรรคสำคัญที่มองเห็นในขณะนี้คือสาขาธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในนครพนม ไม่มีแห่งใดเลยที่มีบริการเปิด L/C (letter of credit) ให้กับนักธุรกิจ

ใครที่ต้องการจะค้า ขายกับต่างประเทศจำเป็นต้องไปใช้บริการ L/C ของสาขาธนาคารในสกลนคร

"ผมก็บอกว่าใกล้ตัวที่สุดเลย คือทำไมแบงก์ที่นครพนมไม่มี L/C ไม่มีเพราะไม่มีคนใช้ หรือเพราะอะไร ถ้าในอนาคตเมื่อมีคนใช้ แล้วเมื่อไรเขาจะมาให้บริการหรือพร้อมที่จะมีบริการให้เมื่อไร"

รวมทั้งการสร้างสรรค์แนวคิดทางธุรกิจใหม่ๆ ให้สอดรับกับการมีสะพานมิตรภาพและศักยภาพของจังหวัด ซึ่งควรต้องกระตุ้นให้นักธุรกิจในจังหวัดตระหนักถึงเรื่องนี้

มิใช่มองว่ามีอะไรที่คนอื่นทำแล้วได้กำไรดีก็ไปทำตาม

ตัวอย่างแนวคิดเหล่านี้ที่สุวิทย์ยกขึ้นมา อาทิ

- ทุกวันนี้อาหารทะเลในจังหวัดนครพนมยังเป็นการนำเข้ามาจากกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่นครพนมอยู่ใกล้กับชายฝั่งทะเลเวียดนามเพียง 300 กิโลเมตร ดังนั้นน่าที่จะทำให้จังหวัดนี้เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าอาหารทะเลให้กับจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน โดยมีการลงทุนสร้างห้องเย็นขนาดใหญ่ ให้สามารถจัดเก็บอาหารทะเลไว้ได้นาน

- บริษัทนำเที่ยวท้องถิ่น ปัจจุบันส่วนใหญ่จัดแพ็กเกจทัวร์ที่หวังจะนำคนไทย ออกไปเที่ยวยังลาวและเวียดนาม น่าจะมีการคิดตรงกันข้าม โดยจัดแพ็กเกจหาจุดดึงดูดใหม่ๆ ที่สามารถนำนักท่องเที่ยวชาว เวียดนามเข้ามาเที่ยวในไทยให้มากขึ้น

- การที่ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์กลางโครงข่ายคมนาคมของ สปป.ลาว น่าจะมีการเปิดสัมปทานเดินรถโดยสารใหม่ๆระหว่างประเทศ เช่น นครพนม-เว้ หรือนครพนม-ดานัง ผ่านเส้นทางหมายเลข 12

- การมีสนามบินที่ได้มาตรฐานน่าจะมีการเปิดเส้นทางการบินใหม่ๆ เส้นทาง สั้นๆ เช่น นครพนม-เว้, นครพนม-เวียง จันทน์ เหมือนที่สายการบินแห่งชาติลาว เพิ่งเปิดเส้นทางบินระหว่างอุดรธานีกับหลวงพระบางไปเมื่อเร็วๆ นี้ เขาเชื่อว่าจะเป็นเส้นทางบินที่ประสบผลสำเร็จ

ฯลฯ

"ผมคิดจะจัดเวทีพูดคุยหรือสัมมนา เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ เพราะถือเป็นส่วนหนึ่ง ของบริการทางวิชาการของมหาวิทยาลัยควรจะทำ" เขาให้ข้อสรุป

หลายคนเชื่อว่าการมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 ในอีกไม่เกิน 3 ปีข้างหน้า จะยกระดับบทบาทของจังหวัดนครพนมขึ้นเป็น gateway หรือประตูที่เปิดออกไปสู่ประเทศในกลุ่มอินโดจีนที่แท้จริง

แต่จะทำอย่างไรเล่า ที่จะไม่ให้ gateway ที่เปิดขึ้นมานี้เป็นเพียงแค่ประตู ทางผ่าน

เสียงสะท้อนจากสถาบันวิชาการ โดยเฉพาะเป็นสถาบันที่อยู่ในท้องถิ่นใกล้ชิดข้อมูลมากที่สุด จึงเป็นเรื่องที่น่าจะต้องนำมาพิจารณา

เป็นโจทย์ใหญ่ที่เหลือเวลาอีกไม่ถึง 3 ปีให้คิด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.