สะพานสู่ชุมทาง GMS

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

จากหนองคายสู่มุกดาหาร อีกไม่นานนครพนมกำลังจะเป็นประตูแห่งใหม่ที่เปิดกว้างรองรับกระแสการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ทั้งจากคนไทย และทุกๆ คนที่อาศัยหรือมีฐานที่มั่นอยู่ใน GMS

หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ในวันที่ 5 หรือ 6 มีนาคมที่จะถึงนี้ จะมีพิธีวางศิลาฤกษ์สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 เชื่อมระหว่างจังหวัดนครพนมกับเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยจะใช้เวลาในการก่อสร้างไม่เกิน 3 ปี หรือจะสามารถเปิดใช้อย่างเป็นทางการได้ภายในปี 2555

สะพานแห่งนี้จะถูกใช้เป็นเส้นทางเชื่อมโครงข่ายถนนระหว่างชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยสู่ภาคกลางของ สปป.ลาว และเวียดนาม เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางหลวงเอเชีย สาย AH 1 เชื่อมโยงระหว่างอุดรธานี นครพนม แขวงคำม่วน กับบอลิคำไซ จนถึงเมืองวิงห์ เมืองฮาตินห์ ประเทศเวียดนาม มีปลายทางของสินค้า สามารถออกสู่ทะเลได้ที่ท่าเรือหวุงอ๋าง เมืองฮาตินห์

ก่อนหน้านี้ ไทยและ สปป.ลาว เปิด สะพานมิตรภาพเชื่อมระหว่างประเทศมาแล้ว 2 แห่ง คือที่ จ.หนองคาย ซึ่งเชื่อมต่อ กับ สปป.ลาวในเขตภาคเหนือสู่นครเวียง จันทน์ และที่ จ.มุกดาหาร ที่เชื่อมกับแขวง สะหวันนะเขตของ สปป.ลาว ในเขตภาคใต้

นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 ที่เชื่อมระหว่าง อ.เชียงของ จ.เชียงราย กับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ในเขตภาคเหนือตอนบน

เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลไทย และรัฐบาล สปป.ลาว ที่จะส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ และเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะเมืองคู่แฝด

สำหรับสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 นี้ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่น หรือไจก้า (Japan International Cooperation Agency: JICA) ได้เข้ามาศึกษาเพื่อวางแผนพัฒนาพื้นที่สะหวันนะเขต และคำม่วนของ สปป.ลาว และชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของ ไทย 4 จังหวัด ได้แก่ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร โดยกำหนดแผน การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 เอาไว้ที่ จ.นครพนม

ในเดือนมิถุนายน 2547 คณะรัฐมนตรีขณะนั้นได้มีมติมอบหมายให้กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ศึกษาความ เหมาะสมของโครงการ ผลการศึกษาสรุปว่าบริเวณบ้านห้อม ซึ่งออกจาก อ.เมือง จ.นครพนม ไปประมาณ 8 กม.ตรงข้ามกับบ้านเวินใต้ของเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว มีความเหมาะสมที่สุดสำหรับใช้เป็นจุดก่อสร้าง

ต่อมากรมทางหลวงได้ว่าจ้างบริษัท ที่ปรึกษา 4 แห่ง ประกอบด้วยบริษัทเอพซิลอน บริษัท Nippon Koei บริษัทเอเซีย แล็ป แอนด์ คอนซัลแตนท์ และบริษัททรานซ์ เอเซีย คอนซัลแตนท์ เป็นผู้สำรวจ ออกแบบรายละเอียด เพื่อให้การก่อสร้างสะพานเป็นไปตามแผนงานและได้มาตรฐาน

สะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ จ.นครพนม มีจุดเริ่มต้นจากแยกจากทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 212 ช่วงนครพนม-ท่าอุเทน กม. ที่ 8+488 บริเวณบ้านห้อม ก่อสร้างเป็นถนนระดับดิน ผิวจราจรคอนกรีต ขนาด 4 ช่องจราจรไป-กลับ

แนวจะมุ่งตรงไปทางทิศตะวันตก แล้วโค้งขวากลับเข้าหาทางหลวงหมายเลข 212 จนถึงบริเวณ กม.ที่ 1+600 เป็นที่ตั้ง ของด่านศุลกากรของฝั่งไทย เป็นสถาปัตย-กรรมแบบล้านช้างถ่ายทอดจากเอกลักษณ์ของวัดใน จ.นครพนม ซึ่งนิยมทำรูปทรงของยอดธาตุ เป็นรูปบัวเหลี่ยม เช่นพระธาตุพนม

นอกจากนั้นยังได้ก่อสร้างอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่ผู้ประสงค์จะเดินทางข้ามฝั่ง พร้อมการตกแต่งภูมิทัศน์ที่สวยงาม

เมื่อผ่านพิธีการด้านศุลกากรแล้ว จะผ่านจุดเก็บค่าผ่านทาง จนถึง กม.ที่ 2+300 แนวสายทางจะก่อสร้างเป็นสะพาน ข้ามทางหลวงหมายเลข 212 จนถึง กม. ที่ 2+826.5 จะเริ่มก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงมีความยาวรวม 780 เมตร แบ่ง เป็น 5 ช่วง

ประกอบด้วยช่วงกลางแม่น้ำ 3 ช่วง ยาวช่วงละ 180 เมตร ช่วงริมทั้ง 2 ฝั่ง ยาว ช่วงละ 120 เมตร มีช่องลอดช่วงกลางแม่น้ำกว้าง 60 เมตร สูง 10 เมตร เหนือระดับน้ำสูงสุด 100 ปี ของแม่น้ำโขง รวม 2 ช่อง

โครงสร้างสะพานเป็นคานคอนกรีต อัดแรง รูปกล่อง ความกว้างสะพาน 13 เมตร มีจำนวน 2 ช่องจราจรไป-กลับ กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 1 เมตร และทางเท้ากว้าง 1.05 เมตร

หลังจากข้ามไปถึงฝั่ง สปป.ลาว แนวสายทางจะก่อสร้างเป็นถนนถม คันทางสูง ขนาด 2 ช่องจราจรไปกลับ กว้างช่องละ 5 เมตร จนถึง กม.ที่ 3+950 ถนนจะไขว้สลับทาง เนื่องจาก สปป.ลาวใช้การ เดินรถทางด้านขวา จนถึง กม.ที่ 4+500 ซึ่งเป็นบริเวณด่านศุลกากรมีการออกแบบ สถาปัตยกรรมของอาคารด่าน และอาคารต่างๆ ในแบบล้านช้างคล้ายฝั่งไทย พร้อม ตกแต่งสภาพภูมิทัศน์อย่างสวยงามเช่นกัน

เมื่อผ่านด่านศุลกากรแล้ว แนวถนน จะปรับเป็นขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ จนเข้าบรรจบกับเส้นทางหมายเลข 13 กม. ที่ 12+940 บริเวณบ้านเวินใต้ ซึ่งเป็นจุดสิ้น สุดโครงการ รวมระยะทางทั้งสิ้น 5.2 กม. ในพื้นที่ของโครงการได้มีการติดตั้งระบบไฟ แสงสว่าง ระบบสุขาภิบาล ระบบระบายน้ำ รวมทั้งการติดตั้งป้ายจราจร เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ผู้ใช้เส้นทาง

โครงการนี้ได้งบประมาณก่อสร้าง เบื้องต้นจากคณะรัฐมนตรีเป็นเงินทั้งสิ้น 1,347 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนของรัฐบาลไทย 100%

เมื่อต้นปี 2551 กรมทางหลวงเปิดขายแบบเพื่อประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้าง มีผู้มาซื้อแบบและเสนอประมูลจำนวน 15 ราย โดยตามกำหนดการเดิมคาดว่าจะได้ผู้รับเหมาและจะมีพิธีวางศิลาฤกษ์ ประมาณกลางปี 2551

ผู้เข้ามาซื้อแบบและเสนอราคาจำนวน 15 รายดังกล่าวเป็นผู้รับเหมาชาว ไทยทั้งหมด เนื่องจากโครงการนี้เป็นการลงทุนจากไทยฝ่ายเดียว จึงกำหนดให้ใช้บริษัทรับเหมาของไทยเป็นผู้ก่อสร้างและใช้วัสดุก่อสร้างจากภายในประเทศ โดยมีกรมทางหลวงเป็นผู้ควบคุมงาน

แต่ปรากฏว่าตั้งแต่ต้นปี 2551 เป็น ต้นมาราคาน้ำมันและวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก จนในช่วงที่จะเปิดประมูล ต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่มสูงกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ทำให้ไม่มีผู้รับเหมารายใดสามารถก่อสร้างได้ตามวงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้เดิม

ในที่สุด คณะรัฐมนตรีได้มีมติอีกครั้งในปีนี้ให้เพิ่มงบประมาณก่อสร้างขึ้นเป็น 1,885 ล้านบาท

หลังได้รับอนุมัติปรับเพิ่มงบประมาณก่อสร้างจากคณะรัฐมนตรี กรมทางหลวงได้จัดทำราคากลางใหม่ เพื่อให้สามารถเปิดประมูลอีกครั้งหนึ่งได้ โดยราคากลางใหม่กำหนดไว้ที่ 1,765 ล้านบาท และได้มีการออกประกาศเชิญชวนให้ ผู้รับเหมาก่อสร้างเข้ามาเสนอราคาโดยใช้วิธีประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์กำหนดให้มีการประกวดราคาในเดือนธันวาคม 2551

ในการประมูลครั้งใหม่นี้กรมทาง หลวงเปิดโอกาสให้ผู้ที่เคยเสนอราคาเดิมจำนวน 15 ราย สามารถยื่นประมูลใหม่ได้ อีกครั้ง หากมีผู้รับเหมารายใหม่ที่แสดงความสนใจเพิ่มจาก 15 รายเดิม กรมทาง หลวงก็พร้อมที่ขายแบบให้ด้วยเช่นกัน

หากทุกอย่างเป็นไปตามที่กำหนดไว้ ภายในเดือนธันวาคม 2551 จะได้ตัวผู้รับเหมาก่อสร้าง หลังจากนั้นกรมทาง หลวงจะสรุปราคาที่ผู้รับเหมาเสนอเข้ามา ต่อสำนักงบประมาณ เพื่อให้ความเห็นชอบ และเสนอราคาดังกล่าวต่อกระทรวงคมนาคม

เมื่อกระทรวงคมนาคมยอมรับราคา ที่ผู้รับเหมาเสนอเข้ามา ก็สามารถเชิญผู้รับเหมาที่ประมูลงานได้มาเซ็นสัญญาก่อสร้างภายใน 15 วัน

"ถ้าไม่ติดอะไรก็สามารถเซ็นสัญญาได้ประมาณต้นปี 2552 หลังจากนั้น อีก 2-3 เดือนก็จะจัดพิธีวางศิลาฤกษ์ ซึ่งคาดว่าน่าจะประมาณเดือนมีนาคม หรือเมษายน" อภิสิทธิ์ พรหมเสน ผู้อำนวยการ แขวงการทางนครพนม คาดการณ์

พิธีวางศิลาฤกษ์สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 นี้ กรมทางหลวงตั้งใจจะทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เพื่อเสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธี

ล่าสุดได้มีกำหนดการพิธีวางศิลาฤกษ์ไว้คร่าวๆ แล้ว ในวันที่ 5 หรือ 6 มีนาคม 2552

"เมื่อสะพานสร้างเสร็จ เส้นทางนี้ จะเป็นเส้นทางออกสู่ทะเลที่สั้นที่สุด สั้นกว่าเส้นทางหมายเลข 9 จากมุกดาหารถึงครึ่งต่อครึ่ง" ประเสริฐ วงศ์มาลาสิทธิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.นครพนม ในฐานะเลขาธิการสภาธุรกิจไทย-ลาวบอก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.