ตำแหน่งทางการเมืองในแบงก์ชาติ

โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้ว่าการและรองผู้ว่าการเป็นตำแหน่งบริหารสูงสุดของแบงก์ชาติซึ่งมักจะมีการเข้าใจกันว่าเป็นตำแหน่งทางการเมือง เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาผู้ว่าแบงก์ชาติรวม 11 คนและรองผู้ว่าการรวม 10 คนนับแต่ตั้งธนาคารเมื่อปี 2485 ล้วนแล้วแต่เป็นข้าราชการระดับสูงจากกรมต่าง ๆ ในกระทรวงการคลัง (ยกเส้นรองผู้ว่าการคนหลัง ๆ)

แน่นอนว่า 2 ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งทางการเมือง เพราะรัฐมนตรีคลังมีอำนาจเสนอชื่อว่าจะให้ใครมาเป็น โดยนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและต้องให้มีพระบรมราชโอการแต่งตั้งด้วย หรือหากจะถอดถอนก็ต้องผ่านกระบวนการเดียวกัน

ผู้ว่าการทำหน้าที่เสมือนหนึ่งผู้จัดการในแบงก์ชาติ และเป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่สูงสุดในการจัดการนี้ ผู้ว่าการและรองผู้ว่าการเป็นประธานและรองประธานในคณะกรรมการแบงก์ชาติ ซึ่งรัฐมนตรีคลังเป็นผู้มีอำนาจเสนอแต่งตั้งหรือถอดถอนโดยนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

การที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ว่าการและประธานคณะกรรมการแบงก์ชาติเป็นคน ๆ เดียวกันทำให้ตำแหน่งนี้มีอำนาจอย่างยิ่ง แลบะแทบจะกล่าวได้ว่าไม่มีรัฐวิสาหกิจใดที่ให้บุคคลคนเดียวนั่งควบทั้งสองตำแหน่ง

อำนาจของผู้ว่าการมีมากถึงขนาดระบุว่าหากผู้ว่การมีความเห็นไม่ตรงกับคำวินิจฉัยขอกงรรมการฝ่ายข้างมาก ก็ยังสามารถเสนอประเด็นไปให้รัฐมนตรีชี้ขาดได้ และกระทั่งเมื่อไม่เห็นด้วยกับรัฐมนตรีแล้วยังยืนยันความเห็นของตัวอยู่ สิ่งที่ผู้ว่าการทำได้ก็คือตัดใจลาออกไปเสียจากตำแหน่งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการสูงสุดและเด็ดขาดที่ผู้ว่าการจะพึงกระทำได้ และก็ได้มีการทำกันมาแล้วด้วย

จากธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยมีมา คนที่จะมาเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาตินั้นเป็นข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงการคลัง มีบารมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ทั้งกับผู้ใหญ่ในวงการเมือง คณะรัฐบาลและในวงการธุรกิจการเงินการธนาคารเอง

ประสิทธิ์ ณ พัทลุง อดีตมือกฎหมายยุคแรกในแบงก์ชาติ เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า "สมัยก่อนผู้ว่าการจะเป็นใครนี่ นายกรัฐมนตรีมีส่วนกำหนดมาก อย่างคุณป๋วยเมื่อเป็นผู้ว่าการนั้นจอมพลสฤษดิ์ก็เป็นคนเสนอเอง โดยมากนายกฯจะเป็นผู้กำหนด แต่ว่าหลัง ๆ นี่กระทรวงการคลังจะเป็นผู้กำหนดมากขึ้น"

ดร.เสริม วินิจฉัยกุลก็เปิดเผยว่าได้รับการขอร้องและคาดคั้นจากหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในเวลานั้นให้รับเป็นผู้ว่าการทั้งที่ตัวเขามีอายุเพียง 39 ปีเศษเท่านั้น

คราวเกษม ศรีพยัคฆ์ ผู้ว่าการคนที่ 9 ก็เป็นคนสนิทของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ส่วนโชติ คุณะเกษม ผู้ว่าการคนถัดมาเป็นคนใกล้ชิดจอมพลสฤษดิ์ ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังควบไปด้วย ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าโชติเป็นคนใกล้ชิดที่ช่วยวางรากฐานทางธุรกิจการค้าให้กับนายกฯ เช่น บริษัททิพยประกันภัย เป็นต้น

แม้แต่ครั้งนุกูล ประจวบเหมาะ และกำจร สถิรกุลก็เป็นที่รู้กันว่ามีความสัมพันธ์เป็นอันดีกับรมต.คลังบุญชู โรจนเสถียรและสมหมายฮุนตระกูล

ส่วนพวกรองผู้ว่าการก็ควรจะมีลักษณะเช่นเดียวกับผู้ว่าการ 2 ตำแหน่งนี้ต้องเป็นที่ไว้วางใจของคณะรัฐมนตรีซึ่งก็คือตัวรัฐมนตรีคลังนั่นแหละ และในแง่ของรัฐมนตรีคลังผู้ว่าการก็เป็นคนที่ประนีประนอมไม่ใช่ว่ามาทะเลาะกับรัฐมนตรีคลัง สามารถให้คำแนะนำ ให้แนวทางแก้ปัญหาอะไรที่รัฐบาลไม่เสียหน้า โดยไม่ต้องขัดกับทางแบงก์ชาติเองมิฉะนั้นแล้วจะเกิดปัญหากระทบกระทั่งขัดแย้ง เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในสมัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ว่าการนุกูลถูกปลดออก จนเป็นข่าวฮือฮาทั่วเมือง

บรรดารองผู้ว่าการเท่าที่มีมาก็เป็นคน "นอก" เสียโดยส่วนมากเพิ่งจะมีคน "ใน" แบงก์ชาติได้เลื่อนขึ้นมาก็ในรุ่นหลัง 4 คนกินเวลารวมกันประมาณ 20 ปีหรือเกือบครึ่งค่อนอายุแบงก์ชาติเป็นเหตุให้เกิดความเชื่อความยึดถือกัน "ลึก" ในใจผู้บริหารระดับสูงที่เป็นลูกหม้อแบงก์ชาติว่า จุดสุดยอดของตำแหน่งบริหารอาจจะขึ้นถึงรองผู้ว่าการก็ได้

มีผู้เปรียบเปรยว่ารองผู้ว่าการทำหน้าที่เสมือนหนึ่งแม่บ้าน ควรจะมีความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ การเงินการธนาคาร แต่ในบางสมัยก็ไม่จำเป็นอย่างเช่น เมื่อพลโทเจียม ญาโณทัย เจ้ากรมการเงินทหารบก มาเป็นรองผู้ว่าการตามความต้องการของจอมพลป. พิบูลสงครามนั้น ก็ทำหน้าที่เน้นไปทางงานบริหารและปกครอง ซึ่งนี่เป็นกรณีพิเศษเพียงครั้งเดียวที่เกิดขึ้นนแบงก์ชาติ

แต่ในปัจจุบันเมื่อผู้ช่วยผู้ว่าการได้เลื่อนขึ้นมาเป็นรองผู้ว่าการนั้นความรู้ความสามารถทางด้านเศรษฐศาสตร์และการบริหารก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีกต่อไป แต่การที่ผู้ช่วยผู้ว่าการคนใดจะได้เลื่อนขึ้นมานั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ

ปัจจัยที่ว่านี้คล้ายคลึงกับตำแหน่งผู้ว่าการคือต้องมีความอาวุโสถึงระดับ มีบารมีและที่สำคัญคือควรจะมีท่าทีเปิดกว้าง พร้อมที่จะมีความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ดีกับรัฐมนตรีและข้าราชการระดบสูงในกระทรวงการคลัง ผู้ที่ไต่เต้าขึ้นมาเรื่อย ๆ ตามลำดับชั้นโดยไม่มีคุณสมบัติดังกล่าวก็อาจะไปไม่ถึง

ปัจจัยที่ว่านี้คล้ายคลึงกับตำแหน่งผู้ว่าการคือต้องมีความอาวุโสถึงระดับ มีบารมีและที่สำคัญคือควรจะมีท่าทีเปิดกว้าง พร้อมที่จะมีความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ดีกับรัฐมนตรีและข้าราการระดับสูงในกระทรวงการคลัง ผู้ที่ไต่เต้าขึ้นมาเรื่อย ๆ ตามลำดับชั้นโดยไม่มีคุณสมบัติดังกล่าวก็อาจจะไปไม่ถึง

อย่างไรก็ดี หนทางอีกสายหนึ่งที่เริ่มจะพอมองเห็นทางชัดขึ้นบ้างคือ บรรดาอดีตผู้มีฝีไม้ลายมือระดับสูงที่ลาออกไปอยู่ในธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายและประสบความสำเร็จอย่างสูงในองค์กรนั้น ๆ พวกเขามีสิทธิหวนกลับมาหาแบงก์ชาติอีกครั้งในตำแหน่งทางการเมืองของแบงก์ชาติ เช่น ศุภชัย พานิชภักดิ์ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ เป็นต้น

การที่รองผู้ว่าการชวลิต ธนะชานันท์จะเกษียณอายุลงในปีหน้าก็เป็นเหตุให้มีการคาดหมายผู้ที่จะเข้ามาแทนที่ พนักงานชั้นบริหารระดับสูงในแบงก์ชาติเริ่มไม่แน่ใจ่าจะมีการสืบทอดธรรมเนียมปฏิบัติในรุ่นหลังไว้ได้หรือไม่ เพราะ "เสียง" จากกระทรวงการคลังชักจะดังขึ้นทุกวัน

ด้วยเหตุนี้ ในบรรดาผู้ที่คาดหมายว่าจะมาลงตำแหน่งทางการเมืองในแบงก์ชาติจึงมีสุภาพสตรีชื่อคุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีประมวล สภาวสุรวมอยู่ด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.