ต่างโฉมหน้าการก่อการร้าย

โดย ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ปกติในอินเดียเมื่อมีเหตุระเบิดเกิดขึ้น ผู้ต้องสงสัยกลุ่มแรกที่จะอยู่ในโผของทางการรวมถึงสื่อมวลชน คือบรรดากลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่มักลงท้ายชื่อด้วยมูจาฮีดีนหรือจีฮาดี แต่การจับกุมตัว Sadhvi Pragya Singh Thakur และคนใกล้ชิดอีกสองคนเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในข้อหาต้องสงสัยเป็นผู้วางระเบิดที่เมืองมาเลโกน รัฐมหาราชตระ เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ากลุ่มฮินดูขวาจัด ที่มีอยู่มากกลุ่มก้อน อาจมีส่วนในเหตุก่อการร้ายและความรุนแรงทั้งที่เกิดขึ้นในอดีตและอนาคต

สัญญาณดังกล่าวส่อเค้ามาตั้งแต่เดือนเมษายน 2006 เมื่อเกิดเหตุระเบิดที่บ้านของ Lakshman Rajkondwar สมาชิก RSS (Rashtriya Swayamsevak Sangh) องค์กรชาตินิยมฮินดูที่เก่าแก่และเข้มแข็งที่สุด ของอินเดีย ที่ Nanded เมืองเล็กๆ ในรัฐมหาราชตระ ระเบิดครั้งนั้นเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างการประกอบระเบิดโดยสมาชิกกลุ่มฮินดูขวาจัด Bajrang Dal สองคน ซึ่งเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ การสืบสวน โดยทีมต่อต้านการก่อการร้ายของรัฐมหาราชตระ (Anti-Terrorism Squad: ATS) พบว่าผู้เสียชีวิตทั้งสองมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่หน้ามัสยิดเมือง Parbhani เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2003 ส่วนระเบิดที่ประกอบนั้นอยู่ในแผนที่จะนำไปวางหน้ามัสยิดเมืองออรังกาบัด นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่ากลุ่มก้อนสมาชิก ของบาจรัง ดัลจากเมืองนันเด็ดเกี่ยวข้องในเหตุระเบิด มัสยิดเมือง Jalna และ Purna เมื่อปี 2004 ซึ่งทีมต่อต้านการก่อการร้ายฯ สรุปว่า เหตุระเบิดเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพิ่มความเกลียดชังต่อกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง ให้เห็นว่าเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดขึ้นในสังคม พวกมุสลิมหัวรุนแรงก็พร้อมที่จะใช้พี่น้องชาวมุสลิมเป็นเป้า

เหตุระเบิดที่นันเด็ดซึ่งน่าจะทำให้สาธารณชนเฉลียวใจ กลับถูกทำให้เป็นเพียงข่าวกรอบเล็กและเลือนไปจากหน้าสื่อเพียงชั่วข้ามคืน กระทั่งต่อมา ในปีเดียวกัน เมื่อมีเหตุระเบิดหน้ามัสยิดเมืองมาเลโกน มีผู้เสียชีวิต 30 คน ซึ่ง Praful Bidwai คอลัมนิสต์ประจำนิตยสารฟรอนท์ไลน์ วิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มฮินดูขวาจัดที่มีฐานที่มั่นอยู่ในรัฐมหาราชตระ กลับถูกมองว่าเป็นบทวิเคราะห์ที่เลื่อนลอยปราศจากหลักฐาน ขณะเดียวกันคดีระเบิดที่นันเด็ดก็ถูกโอนไปอยู่ในอำนาจของกรมสืบสวนสอบสวนกลาง หรือ CBI (Central Bureau of Investigation) ซึ่งนอกจากจะถูกเก็บลืมเข้าแฟ้มยังมีความ พยายามลบล้างหลักฐานหลายชิ้นที่อาจโยงคดีดังกล่าว ไปถึงองค์กรฮินดูขวาจัดอื่นๆ

ดังที่กลุ่มเอ็นจีโอด้านความยุติธรรมและความสมานฉันท์ในเมืองนันเด็ดออกมาตีแผ่ว่าสองคน ที่เสียชีวิตนั้นอยู่ระหว่างการทำระเบิดและเป็นสมาชิก กลุ่มบาจรัง ดัล แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นกลับพยายามบิดเบือนรูปคดีด้วยการแอบวางประทัดไว้ในที่เกิดเหตุ ให้เห็นว่าเป็นอุบัติเหตุที่ไม่เกี่ยวกับการทำระเบิด ทั้งทำไม่รู้ไม่เห็นว่ามีการติดเคราปลอมเพื่อลวง ให้เห็นว่า ผู้ตายเป็นมุสลิม

กระทั่งวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา เมื่อทีมต่อต้านการก่อการร้ายฯ จากมุมไบจับกุมตัว Pragya Singh Thakur ได้ที่เมืองสุรัต พร้อมด้วยผู้สมรู้ร่วมคิด สองคนคือ Shivnarayan Singh Kalsangra และ Shyam Bharlal Sahu ตามด้วยการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยเพิ่มอีก 6 คน ซึ่งรวมถึงนายทหารสองคน โดยคนหนึ่งอยู่ระหว่างรับราชการ ส่วนอีกคนปลดประจำการแล้ว ในข้อหามีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางระเบิดใน ชุมชนชาวมุสลิมเมืองมาเลโกน เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน

การจับกุมตัวปรักญา ซิงห์และพวกครั้งนี้ถือเป็นการจับกุมผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายและวางระเบิดที่เป็นสมาชิกกลุ่มฮินดูขวาจัดรายแรก ซึ่งหลักฐานเบื้องต้นที่อยู่ในมือตำรวจคือ มอเตอร์ไซค์ที่ใช้วางระเบิดเป็นของปรักญา ซิงห์ พร้อมด้วยบทสนทนาทาง โทรศัพท์ระหว่างเธอกับ Ramji Kalsagre ผู้ต้องสงสัย อีกคนที่อยู่ระหว่างการตามจับ โดยเธอพูดว่า "ทำไมคนถึงตายน้อยนัก ทำไมไม่เอารถไปจอดที่ที่คนพลุก พล่านกว่านี้" ซึ่งรามจีตอบว่า "เขาไม่ยอมให้จอดแถวนั้น"

จากการสอบประวัติพบว่าปรักญา ซิงห์ ปัจจุบัน อายุ 37 ปี เป็นบุตรสาวของสมาชิกเก่าแก่ของ RSS เธอเองสมัยเป็นนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มฮินดู Akhil Bharatiya Vidyarthi Parishad (ABVP) ซึ่งเป็น องค์กรฝ่ายนักศึกษาใต้ปีก BJP พรรคฮินดูฝ่านค้าน (ภารัติยะ จานาตะ) จนได้เเป็นเลขาธิการระดับรัฐ นอกจากนี้ยังเป็นสมาชิกกลุ่ม Durga Vahini หน่วยงานฝ่ายหญิงของ Vishwa Hindu Parishad (VHP) องค์กรฮินดูที่ทรงอิทธิพลและแข็งขันกับการสร้างกระแสรัฐชาตินิยมฮินดู

ปรักญาได้รับอภิเษกเป็นสาธวี (นักพรตทางศาสนาฮินดู) ในปี 2007 ตระเวนเผยแพร่แนวคิดต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายอิสลามด้วยการสร้างความเข้มแข็ง ในหมู่คนฮินดู รวมถึงเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ทาง การเมืองกับพรรคบีเจพีในรัฐมัธยประเทศและกุจาราต ในช่วงแรกของการจับกุม ผู้นำพรรคบีเจพีต่างออกมา ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับปรักญา แต่ภายหลังก็ต้องจนต่อหลักฐานภาพที่ค่อยๆ ผุดขึ้นมา ซึ่งเป็นภาพของปรักญาที่ถ่ายร่วมกับประธานพรรคบีเจพี ราชนาถ ซิงห์ และศิวะราช ซิงห์ เชาฮัน ผู้ว่าการรัฐมัธยประเทศ ทั้งเป็นที่รู้กันดีว่าปรักญาร่วมรณรงค์หาเสียงให้แก่นาเรนทรา โมดี้ ผู้ว่าการรัฐกุจาราต ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

นอกจากปรักญาแล้ว ผู้ต้องหาสำคัญที่ถูกจับ กุม ได้แก่ Sameer Kulkarn ในข้อหาจัดหาวัตถุเคมีที่ใช้ทำระเบิด ปัจจุบันเขาเป็นสมาชิกของ Abhinav Bharat กลุ่มฮินดูขวาจัดที่มีฐานที่มั่นในรัฐมหาราชตระ Rameash Upadhyay นายทหารนอกประจำการที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ฝึกการทำระเบิดให้แก่กลุ่มก่อการตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนพันโท Shrikant Prasad Purohit ซึ่งเป็นนายทหารในประจำการ ต้อง สงสัยว่าเป็นผู้จัดหา RDX สารที่ใช้ในการทำระเบิด ถือเป็นนายทหารคนแรกของกองทัพอินเดียที่ถูกจับกุม ฐานมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ซึ่งทางกองทัพได้รีบออกมาแถลงว่า หากปุโรหิตมีความผิดจริงเขาจะต้องรับโทษตามกฎหมาย นั่นไม่ได้หมายความว่ากองกำลังส่วนใหญ่ในกองทัพจะมีความคิดแบ่งแยกทางศาสนาและนิยมใช้ความรุนแรง

เมื่อมองในภาพรวม เราจะพบว่ากลุ่มฮินดูที่มีแนวคิดสุดโต่งกำลังขยายกองกำลัง และเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในรัฐมหาราชตระซึ่งมีมุมไบเมืองหลวงทางเศรษฐกิจและการเงินของอินเดีย เป็นศูนย์กลาง เช่นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อให้ความเห็นแก่นิตยสารฟร้อนท์ไลน์ว่า "ในนามของการปกป้องความเป็นฮินดู กลุ่มก้อนเหล่านี้กำลังขยายฐานความนิยมด้วยการจัดชุมนุมและปลุกเร้าด้วยการปราศรัยเผ็ดร้อนตามงานเทศกาลต่างๆ ของชาวฮินดู สมาชิกส่วนใหญ่ ของกลุ่มขวาจัดเหล่านี้เป็นคนไม่มีงานทำถูกล้างสมองให้เชื่อว่าด้วยปฏิบัติการแบบขวาจัดเท่านั้นฮินดูจึงจะชนะสงครามครั้งนี้ได้" ซึ่งสงครามที่ว่าคือการต่อต้านกลุ่มศาสนาอื่น อย่างคริสต์ ซิกข์ พุทธ มุสลิม โดยมีมุสลิม เป็นเป้าหมายหลัก พวกเขามองว่ากำลังคุกคามวัฒนธรรม ความเชื่อตลอดจนพื้นที่ทางเศรษฐกิจของชาวฮินดู

หากมองย้อนประวัติศาสตร์ เราจะพบว่าแนวคิดสุดโต่งลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับรัฐมหาราชตระ เพราะในช่วงต้นทศวรรษ 1900 Bal Gangadhar Tilak ผู้นำกลุ่มชาตินิยมฮินดูก็เรียกร้องให้ชาวฮินดูลุกขึ้นสู้กับเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ โดยไม่ต้องคำนึงว่าวิธีการที่ใช้จะเป็นอหิงสาหรือไม่

ที่ผ่านมาเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลอินเดียนิ่งดูดายต่อพฤติกรรมขวาจัดของบรรดาองค์กรที่อ้างชื่อความเป็นฮินดู เพราะมองว่าชาวฮินดูนั้นเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ กลุ่มก้อนเหล่านี้ถึงแม้จะขวาจัดแต่ก็ชาตินิยม โดยอาจจะลืมไปว่า "ชาติ" ในสายตาของกลุ่มเหล่านี้ไม่ใช่รัฐชาติอินเดีย แต่เป็นรัฐชาติฮินดู ซึ่งชนกลุ่มน้อย หรือคนต่างศาสนามีสถานะเป็นเพียงประชาชนชั้นสอง

ดังนั้น หากอินเดียต้องการรักษาอุดมการณ์ Secularism หรือความเป็นรัฐชาติที่ไม่ขึ้นกับความเชื่อทางศาสนา อันเป็นเจตนารมณ์นับแต่ครั้งประกาศเอกราชจากอังกฤษ ในปี 1947 ทางการอินเดียจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ที่แหลมคมยิ่งขึ้นกับการกำราบยับยั้งและถอนรากกลุ่มก้อนที่มีความคิดสุดโต่งนิยมความรุนแรงโดยไม่เลือกปฏิบัติ หรือมีอคติว่าเป็นซิกข์ ฮินดู หรือมุสลิม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.