แบงก์ชาติบนเส้นทางที่ตีบตัน?!

โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติบนเส้นทางที่ตีบตัน หลังจากปรากฎการณ์ที่มีผู้บริหารระดับสูงและกลางของแบงก์ชาติทยอยเดินออกจากความมั่นคง ภาคภูมิและศักดิ์ศรีอันศักดิ์สิทธิ์ ของสถาบันการเงินสูงสุดของชาติแห่งนี้เป็นจำนวนมากแล้ว คำถามก็เริ่มประดังประเดเข้ามาสู่สถาบันแห่งนี้อย่างไม่ขาดสายแบงก์ชาติเกิดปัญหาสมองไหล อัตราเงินเดือนและเกียรติภูมิของแบงก์ชาติ ไม่เป็นที่ดึ่งดูดใจผู้บริหารเหล่านี้อีกต่อไปแล้ว หรือเกิดวิกฤติศรัทธาในตัวผู้นำของสถาบันอันทรงเกียรติแห่งนี้ อะไรคือมูลเหตุหลักที่ทำให้ผู้บริหารระดับสูงและกลาง "หันหลัง" ให้แบงก์ชาติ และเส้นทางของคนที่ยังอยู่นั้นจะก้าวไปอย่างไร

การเปลี่ยนแปลงแต่งตั้งโยกย้ายหรือกระทั่งเดินเข้าออกของผู้บริหารระดับสูง และกลาวในธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ยิ่งกว่าในรัฐวิาสหกิจใด ๆ ของรัฐบาล สาเหตุสำคัญมีอยู่เพียงประการเดียว นั่นคือเพราะหน่วยงานแห่งนี้เป็นธนาคารกลางแห่งชาติ เป็นสถาบันที่ทรงเกียรติและได้รับการยอมรับเชื่อถือจากสถาบันการเงินทั้งในและนอกประเทศ

อันที่จริงการเดินทางจากอนาคตที่มั่นคง ของสาถบันอันทรงเกียรติแห่งนี้หาใช่เป็นปรากฎการณ์ ที่เพิ่งเกิดในรอบ 4-5 ปีนี้ไม่ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาและดำรงอยู่ตลอดมา พนักงานที่ออกจากแบงก์ชาติในยุคแรก ๆ และไปรับตำแหน่งใหญ่โตในสถาบันการเงินภาคเอกชนจนป่านนี้เกษียณหรือใกล้จะเกษียณได้แก่ เมธี ดุลยจินดา, จำรัส จตุรภัทร์, วีระ รมยะรูป, บุญชู โรจนเสถียร, เฉลิม ประจวบเหมาะ, ประยูร จินดาประดิษฐ์, ศุกรีย์ แก้วเจริญ เป็นต้น

ทว่าอัตราการลาออกของพนักงานบริหารระดับสูงและกลางในระยะหลังมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ หลายคนเป็นนักเรียนทุนที่มีความสามารถสูงและมีเส้นทาอนาคตที่มั่นคงแน่นอนในแบงก์ชาติ แม้พวกเขาจะออกไปได้เงินเดือนและตำแหน่งการงานที่ใหญ่โตสะดวกสบายมากกว่า แต่แรงจูงใจเหล่านี้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มีการลาออกคนแล้วคนเล่าหรือ

ผู้อาวุโสท่านหนึ่งซึ่งคร่ำหวอดผ่านร้อนหนาวในแบงก์ชาติมาเป็นเวลาหลายสิบปีเปรยกับ "ผู้จัดการ" ว่า เงินเดือนเป็นแสนสองแสนนี่มันล่อใจนะเพราะฉะนั้นจะบอกว่ามันสมองไหลเพราะว่าแบงก์ชาติเลี้ยงไม่ดีนี่ ผมว่าเขาก็เลี้ยงดีตามสมควร แต่ว่าข้างนอกมันยั่วใจมากกว่า"

การ "เลี้ยงตีตามสมควร" ของแบงก์ชาตินั้นเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาจากองค์ประกอบหลายอย่างมิใช่แต่เพียงเรื่องเงินเดือนหรือค่าตอบแทนและสวัสดิการต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของระบบการทำงานและอนาคตความก้าวหน้าในตำแหน่งการงานอีกด้วย

นพพร เรืองสกุล ผู้ซึ่งออกไปใช้ชีวิตการทำงานอย่างมีความสุขในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการทั่วไป ธนาคารไทยทุนกล่าวยืนยันในประเด็นนี้กับ "ผู้จัดการ" ว่า "โอกาสการเติบโตนี่ไม่ได้หมายถึงเรื่องขั้นเรื่องตำแหน่งอย่างเดียว ในการทำงานนี่จะมีสิ่งที่เราอยากได้หลายอย่าง เริ่มต้นคงเป็นเรื่องเงินเดือน แต่เมื่อถึงขั้นเงินเดือนที่จะอยู่ได้อย่างสบายพอสมควรแล้วนี่ สิ่งที่ตามมาอาจจะเป็นเรื่องการทำงานที่ตัวเองพอใจ ซึ่งความพอใจในการทำงานนี่อาจจะต่างกัน บางคนอาจจะพอใจที่จะทำงานที่สบาย พอใจที่มีอำนาจ พอใจที่จะทำงานที่มีประโยชน์"

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ควรพิจารณษก่อนเป็นอันดับแรกคือเรื่องเงินเดือนและโอกาสการก้าวหน้าในตำแหน่งงาน แม้เรื่องนี้จะเป็นประเด็นรองสำหรับคนบางคน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นประเด็นหลักของคนอีกเป็นจำนวนมาก

โดยทั่วไปแล้วอัตราเงินเดือนของพนักงานแบงก์ชาติจะสูงกว่าข้าราชการทั่วไปประมาณ 3 เท่า นอกจากนี้ ในพนักงานแต่ละชั้นจะมีขั้นวิ่งค่อนข้างกว้างคือตั้งแต่ 10-25 ขั้น และแต่ละขั้นวิ่งจะได้รับเงินเดือนเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ยประมาณ 5.5%-6%

บัญชีอัตราเงินเดือนชุดปัจจุบันนี้ได้รับการปรับปรุงเมื่อปี 2530 ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นการปรับปรุงเพราะเสียงเรียกร้องจากบรรดาพนักงานชั้นบริหารระดับสูง-กลางกระโจนเพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราด เช่น อัตราเงินเดือนของผู้อำนวยการฝ่ายเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ได้รับประมาณ 40,000 บาทเป็นอัตราสูงสุดที่ 79,000 บาท

ขณะที่บัญชีอัตราเงินเดือนชุดปัจจุบันเอื้อประโยชน์แก่ผู้บริหารระดับสูง-กลางมากกว่านั้นพนักงานระดับกลาง-ล่างก็เคยได้รับการปรับเงินเดือนมาครั้งหนึ่งเมื่อประมาณปี 2525 ในสมัยของผู้ว่าการชื่อนุกูล ซึ่งพนักงานระดับล่างเป็นผู้ทำเรื่องเสนอเรียกร้อง และจะมีการชุมนุมกันขอฟังคำตอบหน้าแบงก์ชาติ ในที่สุดก็ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นขั้นละ 50 บาท

กล่าวกันว่าการเรียกร้องขอปรับเงินเดือนปี 2525 ทำเอาคณะผู้แทนพักงานเหนื่อยไปตาม ๆ กัน แต่ในปี 2530 บรรดาผู้แทนเหล่านี้กลับไม่มีบทบาทเพราะถูกทำให้เข้าใจว่าจะได้รับประโยชน์เท่ากันในทุกระดับ แต่เมื่อผลการปรับปรุงออกมา ก็พากันส่ายหัวไปตาม ๆ

ผู้ที่มีอำนาจในการอนุมัติปรับเงินเดือนและโยกย้ายตำแหน่งงานในแบงก์ชาติก็คือคณะกรรมการแบงก์ชาติ ตามความในพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 มาตราที่ 20 หมวด 3 ว่าด้วยการกำกับ ควบคุมและจัดการ โดยประธานและรองประธานคณะกรรมการฯก็คือผู้ว่าการและรองผู้ว่าการโดยตำแหน่ง กับกรรมการอื่น ๆ ไม่น้อยกว่า 5 คนซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

การที่คณะกรรมการแบงก์ชาติเป็นผู้มีอำนาจรับผิดชอบเกี่ยวกับการพนักงานของแบงก์ชาติตาม พรบ. นั้นมีความไม่เหมาะสมสอดคล้องอยู่ประการหนึ่ง ในแง่ที่ว่านอกเหนือจากผู้ว่าการและรองผู้ว่าการที่เป็นคนในแบงก์แล้ว กรรมการคนอื่น ๆ ส่วนมากมาจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กรมหรือกระทรวงอื่น ๆ ที่รมต.คลังเลือกสรรมา ดังนั้นกรรมการเหล่านี้จึงไม่ใคร่จะรู้และเข้าใจในตัวพนักงาน ความรู้สักนึกคิดและความเป็นไปของพนักงานในแบงก์สักเท่าใดและเมื่อกรรมการแบงก์ชาติประชุมกันอย่างน้อยเดือนละครั้งตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งก็คือประชุมเดือนละครั้งนั่นเอง โอกาสที่จะรู้จักพนักงานจึงเป็นไปได้น้อยมาก แม้แต่ตัวผู้ว่าการและรองผู้ว่าการก็แทบจะหาโอกาสเช่นนั้นได้ยากมาก

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องไม่แปลกอะไรที่ผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯหลายครั้งหลายหน เป็นเรื่องที่ขัดกับความต้องการของพนักงานระดับล่างเช่นเรื่องการปรับอัตราเงินเดือนในปี 2530 ซึ่งพนักงานระดับล่างจำนวนมากพากันส่ายหัว หลายคนพูดกระทั่งว่าวิธีคิดวิธีการมองปัญหาของกรรมการแบงก์ฯเป็นแบบข้าราชการ ซึ่งมักจะมีความรู้สึกทั่ว ๆ ไปอย่างหนึ่งแฝงฝังอยู่ว่าระบบเงินเดือนและสวัสดิการของแบงก์ชาติดีกว่าหน่วยราชากรและรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่ไม่เคยเปรียบเทียบกับธนาคารพาณิชย์เอกชนซึ่งเป็นกิจการประเภทเดียวกัน

แต่หากคิดในอีกแง่มุมหนึ่ง การที่กฎหมายกำหนดที่มา บทบาทและการหน้าที่ของกรรมการแบงก์ชาติอย่างแน่นอนรัดกุมเช่นนี้ ก็อาจจะมาจากเหตุผลที่ไม่ต้องการให้กรรมการแบงก์ฯมีส่วนได้เสียกับการโยกย้ายปรับปรุงด้านการพนักงานของแบงก์ก็เป็นได้ ซึ่งก็เป็นผลดีในอีกแง่หนึ่งเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ขอบเขตที่กฎหมายกำหนดก็ใช่ว่าจะแน่นอนตายตัวเสมอไป ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและวัฒนธรรมการทำงานของคณะผู้บริหารระดับสูงในแต่ละยุคด้วย

โปรดสังเกตว่าในบัญชีอัตราเงินเดือนที่ปรับปรุงเมื่อปี 2530 นี้มีขั้นเงินเดือนที่ซ้ำกันอยู่ในพนักงานแต่ละชั้น และนี่เป็นมูลเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา "ขั้นตันตำแหน่งตัน" ในพนักงานบริหารระดับกลางกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงกว่าได้แม้ว่าขั้นเงินเดือนจะทะลุแล้วก็ตาม เพราะพนักงานบริหารระดับสูงขึ้นไปก็ประสบปัญหาเดียวกันในตำแหน่งที่นั่งอยู่

หัวหน้าหน่วยรายหนึ่งเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า เขาไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งทั้งที่เงินเดือนของเขาทะลุขั้นไปแล้ว สาเหตุก็เพราะไม่มีตำแหน่งว่างให้เขา และก็ยังไม่รู้ว่านโยบายการแก้ไขเรื่องนี้จะออกมาเป็นอย่างไร

ปัญหาเรื่อง "ขั้นตันตำแหน่งตัน" นั้นเป็นเรื่องที่ปรากฏเสมอ ๆ ในองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งแม้จะมีการซอยขั้นเงินเดือนออกเป็นหลายขั้นก็ยังไม่พอเพียงกับการจัดสรรกำลังคน วิธีแก้ปัญหาทางหนึ่งที่นำมาใช้กันคือการเพิ่มตำแหน่ง ตั้งหน่วยงานใหม่ให้มากขึ้น

ที่แบงก์ชาตินั้นพนักงานทุกคนจะมีโอกาสรู้ว่าตำแหน่งในฝ่ายงานต่าง ๆ ที่ตนสังกัดนั้นมีอะไรบ้าง ทั้งนี้เพราะมีการกำหนดตำแหน่งงานลักษณะงานและขั้นเงินเดือนที่แน่นอนชัดเจนไว้ในคำบรรยายลักษณะงาน

นพพรให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า "มีการกำหนดที่ชัดเจนมากว่าใครต้องทำอะไร ไม่ว่าจะเป็นพนักงานระดับไหน สามารถที่จะรู้ได้ว่าตัวอยู่ในคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งอะไรได้หรือไม่ในระบบนี้เป็นระเบียบมากทีเดียว"

ระเบียบที่ว่านี้หาได้มีมาแต่ดั้งเดิมไม่ ทว่าเพิ่งเริ่มมีขึ้นเมื่ออดีตนักเรียนทุนและรองผอ.ฝ่ายวิชาการไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมในสมัยที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนการพนักงานได้คิด "สมุดปกเหลือง" ว่าด้วยหลักเกณฑ์การกำหนดคุณสมบัติประจำตำแหน่งานและการเลื่อนตำแหน่งงานเสนอให้กับผู้บริหารระดับสูงของแบงก์ และได้รับการยอมรับนำมาใช้จวบจนปัจจุบัน

หลักเกณฑ์ดังกล่าวมีทั้งส่วนดีและเสีย กล่าวคือมีความเป็นระบบระเบียบ และให้โอกาสพนักงานได้รู้ว่าตัวเองมีคุณสมบัติความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งงานนั้นมากน้อยเพียงใด ผู้ที่เข้ามาใหม่จะต้องเป็นไปตามขั้นตอนของคำบรรยายลักษณะงานอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ดีคำบรรยายลักษณะงานก็มีข้อเสียในแง่ของการปฏิบัติบางด้าน เพราะคนที่เคยทำงานในสายงานตรงในฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งเคยได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเรื่อย ๆ นั้น แต่เมื่อในคำบรรยายลักษณะงานเขียนไว้อย่างหนึ่ง เช่นคนที่จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนจะต้องจบอย่างนั้น ผ่านอย่างนี้มา ดังนั้นคนที่ขึ้นมาโดยความชำนาญก็ขึ้นไม่ได้ คนอื่นที่มีคุณสมบิตตามที่ระบุก็อาจจะโอนมารับตำแหน่งไป เช่น กรณีที่ผอ.ฝ่ายวิชาการย้ายมาดำรงตำแหน่งผอ.ฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ หรือกรณีที่รองผอ.ฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ย้ายไปเป็นผอ.ฝ่ายจัดการกองทุนคนปัจจุบัน เป็นต้น

กระนั้นระเบียบนี้ก็มีการยืดหยุ่นในบางกรณีเมื่อที่ประชุมคณะกรรมการแบงก์ฯมีมติว่าคนนั้นคนนี้มีความเหมาะสม และเป็นกรณีจำเป็นโดยที่อาจจะไม่ต้องเป็นไปตามลักษณะงานก็ได้

โดยปกติแล้วตำแหน่งบริหารระดับต่าง ๆ จะมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งอย่างไม่เป็นทางการประมาณ 4 ปี แต่ทั้งนี้ก็ยังสามารถมีข้อยกเว้นได้โดยผู้บริหารบางคนอาจถูกโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งเพื่อความเหมาะสมซึ่งมาจากการพิจารณาของคณะกรรมการแบงก์ ตัวอย่างเช่นการย้ายจากผอ.ฝ่ายวิชาการไปเป็นผอ.ฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ของดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ โดยผู้ที่เข้ามาแทนที่คือดร.ศิริ การเจริญดี ซึ่งลชุกมาจากตำแหน่งผอ.สำนักผู้ว่าการและรักษาการผู้จัดการฝ่ายจัดการกองทุน เป็นต้น

ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายหรือพนักงานชั้น 9 อัตราเงินเดือนระหว่าง 33,250-74,450 บาทถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญมากพอสมควรในกลไกระบบการทำงานของแบงก์ชาติ เปรียบไปแล้วก็เสมือนนายทหารชั้นยศพันเอก, พันเอก (พิเศษ) ทั้งหลายที่คุมกำลังตามกรมทหารต่าง ๆ เพราะเป็นผู้ใกล้ชิดและรับฟังรายงานจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้ความควบคุม

ผู้ที่รู้เรื่องระบบงานในแบงก์ชาติดีท่านหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า สมัยก่อนที่จะมีตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการนั้น ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายก็ถือว่าเป็นตำแหน่งสูงสุดของพนักงานประจำแล้ว หรือแม้แต่ในระยะที่เริ่มมีตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการในสมัยดร.ป๋วย อี๊งภากรณ์ก็ยังไม่ใคร่มีใครมองตำแหน่งนี้กันนัก เพราะมันมีน้อย และเป็นยาก ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายจึงเป็นที่พิสมัยกว่าและมีมากกว่าตามสัดส่วนปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นด้วย

ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายที่สำคัญ ๆ ได้แก่ฝ่ายวิชาการ, ฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์, ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน, ฝ่ายการธนาคาร, สำนักผู้ว่าการ, ฝ่ายการพนักงานฯ เป็นต้น โดยเฉพาะใน 4-5 ฝ่ายแรกนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นทางฝ่ายของผู้ช่วยผู้ว่าการ 1-3 มาก่อนทั้งสิ้น และเป็นฝ่ายที่ได้ออกหน้าออกตามาแถลงงานในความรับผิดชอบเมื่อเกิดกรณีปัญหาต่าง ๆ ทางหน้าหนังสือพิมพ์เสมอ ๆ ผู้ที่ปรากฎหน้าบ่อย ๆ คือ ดร.ชัยวัฒน์, ดร.ศิริ, จรุง หนูขวัญ, และเตชะทิพย์ แสงสิงแก้ว

ส่วนตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 5 คนนั้นเป็นตำแหน่งที่เพิ่งมีขึ้นในราวสมัย ดร.ป๋วย เป็นผู้ว่าการ เดิมตำแหน่งนี้เรียกว่าหัวหน้าฝ่ายประจำสำนักผู้ว่าการ ซึ่งทำหน้าที่ช่วยรองผู้ว่าการในเรื่องที่รองผู้ว่าการมอบหมาย ในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนเป็นตำแหน่งผู้อำนวยการช่วยผู้ว่าการ และเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการในที่สุด

ตำแหน่งผู้อำนวยการช่วยผู้ว่าการเมื่อปี 2515 ยังมีเพียง 3 คนซึ่งในเวลานั้นมีส่วนงานที่มีฐานะเทียบเท่าฝ่ายรวม 9 ฝ่ายและส่วนงานที่มีฐานะเทียบเท่าส่วน 3 สำนักงาน ครั้นต่อมาในปี 2532 มีส่วนที่เป็นฝ่ายรวม 15 ฝ่าย 5 สำนักงาน มีผู้ช่วยผู้ว่าการ 5 คนรับผิดชอบงานคนละ 3 - 5 ฝ่าย/สำนักงาน/สาขา

ฝ่าย / สำนักงาน / สาขาที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ช่วยผู้ว่าการแต่ละคนนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงการควบคุมไปตามความถนัดความสามารถของผู้ช่วยผู้ว่าการ คำสั่งการกำหนดสายงานจะออกมาใหม่ทุกระยะที่มีการแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ว่าการคนใหม่ เช่น คำสั่งที่ 164/2532 มีการสับเปลี่ยนสายงานระหว่างผู้ช่วยผู้ว่าการ 1-3-4 และ 5

ผู้รู้เรื่องระบบงานในแบงก์ชาติกล่าวอีกว่าการขึ้นมาเป็นผู้ช่วยผู้ว่านั้น ไม่มีหลักเกณฑ์ว่าต้องนั่งในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายก่อนกี่ปี ปมเงื่อนที่สำคัญก็คือ ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการต้องว่างลงเสียก่อนจึงจะขึ้นมาได้ ซึ่งตำแหน่งนี้จะว่างได้ใน 2 กรณีคือปลดเกษียณหรือลาออกก่อนกำหนด เช่น วารีหะวานนท์และนันท์ กิจจาลักษณ์ เกษียณอายุเมื่อปี 2531 และผู้ที่ขึ้นมาแทนคือวิจิตร สุพินิจและพิศาล บุญสมบัติ ส่วนประพันธ์ วิโรทัยได้ขอลาออกก่อนเกษียณอายุเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผู้ที่ขึ้นมาแทนคือนิตย์ ศรียาภัย เป็นต้น

ดังนั้นตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการก็ตกเป็นตำแหน่งหนึ่งของผู้บริหารระดับสูงที่ถูกวิพากษ์วิจารร์ว่าตั้งขึ้น "เพราะอยากจะแก้ปัญหาฝ่ายที่ตันแล้ว" เนื่องจากไม่มีการกำหนดว่าผู้ช่วยผู้ว่าการต้งอมีกี่ตำแหน่ง จึงเป็นการเปิดช่องว่างให้เวลาคนแก่กล้าตำแหน่งไม่มีขึ้นมาก็เลื่อนขึ้นไปได้ ตั้งใหม่ได้ ไม่มีข้อจำกัด "เข้าใจว่ากระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อยุติว่าผู้ช่วยผู้ว่าการควรเป็นเท่าไหร่"

หรือกระทั่งตำแหน่งรองผู้ว่าการก็ยังเป็นตำแหน่งที่เคยมีความพยายามเสนอให้มี 2 คนคือให้มีรองฝ่ายธุรการและรองฝ่ายวิชาการ ทั้งในแง่มูลเหตุทำนองเดียวกับตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการและในแง่ของปริมาณางานที่เพิ่มมากขึ้น

ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการนับเป็นตำแหน่งสูงสุดตำแหน่งสุดท้ายอันชอบธรรมของพนักงานประจำโดยแท้ แม้ว่าตำแหน่งรองผู้ว่าการในระยะหลังจะเลื่อนชั้นขึ้นไปจากผู้ช่วยผู้ว่าการแต่งก็ยังคงเป็นตำแหน่งที่ต้องได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีเช่นเดียวกับตำแหน่งผู้ว่าการ

อดีตผู้อาวุโสท่านหนึ่งให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่าผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการและรองผู้ว่าการนั้น รู้กันอยู่แล้วว่าต้องเป็นคนนอก แต่ถ้าได้คนในก็เรียกว่าเป็นโชคดี ตำแหน่งทั้งสองนั้นเป็นเรื่องของรัฐบาล "เราเป็นพนักงานประจำอย่างดีที่สุดก็เป็นเพียงผู้ช่วยผู้ว่าการเท่านั้น"

กระนั้นตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการซึ่งไม่มีการระบุว่าต้องมีกี่คนนั้นก็ถูกเพ่งเล็งว่า "มีแนวโน้มเหมือนกับว่าถ้าได้เป็นแล้วราคาค่าตัวจะสูงขึ้น ถ้าเป็นคนเก่งแล้ว แบงก์พาณิชย์อาจมาดึงตัวไปทำงานด้วยก่อนเกษียณอายุ เพราะมีราคา"

ในผู้ช่วยผู้ว่าการบางคนมีการพูดกันว่ามีงานทำน้อยกว่าสมัยเป็นผู้อำนวยการฝ่าย หรือแทบจะไม่มีเลยด้วยซ้ำ "สมัยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายคล้ายกับเป็นแม่ครัว แต่พอมาเป็นผู้ช่วยฯแล้วกลายเป็นคนชิมเองไม่ค่อยมีงานเท่าไหร่ บางเรื่องก็เกือบจะเรียกว่าเขาทำมาเสร็จแล้ว ก็แทงเรื่องต่อขึ้นไป ดังนั้นบางทีมันก็เหมือนกับได้พักผ่อนนะ"

ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นกันชัด ๆ ก็คือสมัยก่อนนั้นผู้ช่วยผู้ว่าการไม่มีอำนาจลงนามในจดหมายด้วยซ้ำ แต่ผู้อำนวยการฝ่ายกลับมีเวลาตอบจดหมายไปที่ไหนผู้อำนวยการฝ่ายสามารถตอบในนามผู้ว่าการได้ แต่ผู้ช่วยผู้ว่าการทำไม่ได้ ระเบียบนี้เพิ่งจะมีการแก้ไขให้เซ็นแทนรองผู้ว่าการได้ในภายหลัง

อย่างไรก็ดีมีผู้ให้ทัศนะที่แตกต่างออกมาในประเด็นนี้ว่า การจะทำงานหรือการ "พักผ่อนในตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการนั้นขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพของแต่ละคน อำนาจหน้าที่ของผู้ช่วยฯมีระบุไว้อย่างชัดแจ้ง แต่ถ้าจะถือ "ตามน้ำ" เรื่อยตามวิธีปฏิบัติที่เป็นอยู่ ก็อาจจะทำให้ตำแหน่งนี้มีภาระงานที่ไม่หนักหนาอะไรนักด้วยการใช้วัฒนธรรม "จึงเรียนมาเพื่อทราบ" ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่อย่างใด

ทั้งนี้มีผู้กล่าวกันว่าวัฒนธรรม "จึงเรียนมาเพื่อทราบ" นั้นเป็นระเบียบที่เกิดขึ้นในสมัยนุกูลประจวบเหมาะเป็นผู้ว่าการ คือมีการแทรกแซงบทบาทของผู้ช่วยฯ ขณะที่ผู้อำนวยการฝ่ายก็มีบทบาทที่โดดเด่นเอามาก ๆ เนื่องมาจากปัญหาวิกฤติทางการเงินที่เกิดขึ้นในเวลานั้น ผู้ช่วยผู้ว่าการแทบจะไม่มีโอกาสใช้อำนาจอนุมัติ นอกจากแทงเรื่องให้ระดับบนอย่างเดียว วัฒนธรรมดังกล่าวจึงเกิดขึ้น ซึ่งมีผลทำให้วิธีคิดวิธีบริหารงานในแบงก์ชาติกลายเป็นวัฒนธรรมแบบราชการมากขึ้น

ในบรรดาผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการทั้ง 5 คนนั้นปรากฏว่าในปี 2532 และ 2533 จะมีผู้ที่ครบอายุเกษียณ 3 คนเหลือหนุ่มวัยกลางคนที่ยังมีอายุราชการอีกยาวนานคือเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ช่วยฯ 3 และวิจิตร สุพินิจ ผู้ช่วยฯ 1

เริงชัยได้รับการแต่งตั้งก่อนวิจิตร แม้จะเป็นนักเรียนทุนแบงก์ชาติรุ่นหลังก็ตาม เขาเป็นนักเรียนทุนของแบงก์ชาติคนแรกที่ขึ้นถึงตำแหน่งสูงสุดของพนักงานประจำตำแหน่งนี้

ก่อนที่จะถูกยืมตัวไปช่วยปฏิบัติงานที่ธนาคารกรุงไทยในตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่เป็นเวลา 2 ปีนั้น เริงชัยเคยผ่านงานที่หนักหน่วงที่สุดสำหรับชีวิตของนายธนาคารกลางอยู่ช่วงหนึ่ง นั่นคือการคลี่คลายแก้ไขปัญหาวิกฤติการทางการเงินในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเป็นเวลา 3 ปี

เริงชัยปรากฎตัวทางหน้านสพ.บ่อยครั้งในฐานะที่เป็นผู้แถลงการณ์แก้ไขปัญหาการล้มของบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ทั้งหลาย หลังจากนั้นเขาย้ายไปเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารแต่นั่งอยู่ได้ไม่นานนักก็ถูกขอยืมตัวไปอยู่ธนาคารกรุงไทย

ทว่าเริงชัยก็นั่งอยู่ที่ธนาคาร "เจ้าปัญหา" แห่งนี้ได้ไม่นานก็ต้องรีบ "เผ่น" กลับาแบงก์ชาติด้วยสาเหตุที่ว่าสไตล์การทำงานของเข้าเข้ากับ "ผู้ใหญ่" ในกรุงไทยไม่ได้ ผู้รู้กล่าวว่า "เริงชัยเป็นคนเก่ง แต่บุคคลิกจะโผงผางตรงไปตรงมามีปัญหาเข้ากับคนในกระทรวงการคลังที่เป็นกรรมการไม่ได้ หนำซ้ำยังขัดแย้งกันเองกับคนที่ไปจากแบงก์ชาติด้วยกัน"

ปลายปี 2530 เริงชัยจึงได้กลับมาสู่อ้อมอกแบงก์ชาติ" ท่านผู้ว่าฯให้การต้อนรับเป็นอันดี เพื่อไม่ให้เสียว่าเราส่งคนไปผิด คนของเรายังมีคุณสมบัติความสามารถเป็นที่ต้องการแน่ แบงก์ยังต้อนรับอยู่"

การพิสูจน์ "ความยินดีต้อนรับ" เริงชัยนั้นประจวบเหมาะกับการ "ไม่รู้จะเอาเขาไปลงไว้ที่ไหน" เพราะตำแหน่งเดิมของเขาได้มอบให้วิจิตรไปแล้วจึงในที่สุดกำจรก็ตัดสินใจปัดฝุ่นตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการ 5 ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่นุกูลตั้งตำแหน่งใหม่นี้ให้กับไพศาลเมื่อปี 2527

ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการ 5 นี้มีไพศาล กุมาลย์วิสัยนั่งเป็นคนแรกอันทำให้ในปี 2527 มีผู้ช่วยผู้ว่าการเพิ่มเป็น 5 คน ครั้นอดุล กิสรวงศ์ ผู้ช่วย ผู้ว่าการคนหนึ่งเสียชีวิตลง ก็ไม่ได้มีการแต่งตั้งใครขึ้นดำรงตำแหน่ง จวบจนปี 2530 เมื่อเริงชัยจะกลับมาแล้วไม่มีตำแหน่งที่เหมาะสมได้ จึงได้รื้อตำแหน่งนี้ขึ้นมาอีกครั้งและมอบให้เริงชัย

ผู้อาวุโสอดีตพนักงานแบงก์ชาติออกความเห็นว่า "โดยศักดิ์ศรีแล้วเริงชัยไม่ควรมาเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการ และถ้าดูตามลำดับอาวุโสแล้ววิจิตรควรได้รับการแต่งตั้งก่อน แต่เผอิญวิจิตรได้ไปเป็น ALTERNATE EXECUTIVE DIRECTOR ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) 2 ปี (2523-2525) ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ทำให้เสียช่วงงานที่ติดต่อกับแบงก์ชาติไป แต่ตำแหน่งนี้แบงก์ชาติก็มอบให้เขาไปเอง มันเป็นเกียรติกับแบงกืและทำให้เขามีประสบการณ์งานที่กว้างขึ้นด้วย แต่ทีนี้เมื่อวิจิตรกลับมาแล้วนั้นเริงชัยได้แซงเขาขึ้นไปเป็นผู้อำนวยการฝ่ายแล้ว วิจิตรจึงต้องมาเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายอยู่คล้ายกับว่าช่วง 2 ปีที่วิจิตรไปอยู่นั้น ใคร ๆ ก็เลยได้ซีเนียร์กว่าเขาไปโดยปริยาย"

ปัญหาของวิจิตรเป็นปัญหาร่วมของผู้บริหารระดับสูงในแบงก์ชาติอีกหลายคน ที่เมื่อได้รับมอบงานพิเศษไปทำแล้ว แทนที่จะได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งตามระเบียบในแต่ละปี กลัถูก "แป๊ก" และไม่มีที่ลงให้เมื่อย้อนกลับเข้ามาในแบงก์หลังจากเสร็จสิ้นภาระพิเศษที่ได้รับมอบหมาย

ไม่แน่นว่าเอกกมล คีรีวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ซึ่งได้รับมอบให้เป็นตัวแทนแบงกืชาติไปประาจำที่กองทนุการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระหว่างปี 2532-2533 จะเจอปัญหาเดียวกับวิจิตรหรือไม่เมื่อเสร็จภารกิจกลับมา

จะว่าไปแล้วแบงก์ชาติก็มีหลักการที่ทำกันอยู่เป็น "ปกติ" อย่างหนึ่งคือถ้าแบงก์ย้ายใครไปเพราะมีการขอยืมตัวมา หรือมอบหมายให้ไปทำงานอะไรแล้วคาดหมายว่าเขาจะกลับมาเมื่อนั่นเมื่อนี่ "ตำแหน่งต้องมีการรอกันนะ แบกง์จะมีการเตรียมพร้อมในเรื่องนี้ไว"

แต่หลักการนี้ก็ไม่ได้ทำอย่างเป็น "ปกติ" เสียทีเดียวนัก เพราะนอกจากกรณีของวิจิตรและเริงชัยแล้ว ยังมีรองผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์อย่างสำรอง วาณิชยานนท์อีกคนหนึ่งที่ถูก "แป๊ก" ทั้งที่ผู้ใหญ่หลายคนในแบงก์ชาติรู้ดีว่าเขามี "ฝีมือ"

สำรองอายุ 50 กว่าปี เป็นมือตรวจสอบยุคดึกดำบรรพ์ที่พวกแบงก์พาณิชย์กลัวนักกลัวหนาแบงก์เคยส่งไปอบรมที่สหรัฐฯประมาณ 6 เดือนและช่วงหนึ่งได้รับมอบงานพิเศาหใไปตรวจสอบทรัพย์สินของจอมพล ถนอม กิตติขจรและจอมพลประภาส จารุเสถียร ได้เสียเวลาอยู่กับกิจการนี้นานมาก นอกจากนี้ยังเป็นผู้หนึ่งที่เข้าไปแก้ไขปัญหาธนาคารแหลมทองด้วย

เมื่อปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบเสร็จสิ้นแล้วกลับเข้ามาในแบงก์ สำรองก็เห็นว่าเขาควรจะได้รับการสมนาคุณเพราะได้รับมอบให้ไปทำงานทีถือเป็นกิจการสำคัญ แต่ปรากฎว่ากลับมาแล้วตำแหน่งต่าง ๆ กลับไม่มีเพราะไม่มีการเตรียมการเอาไว้

"ถึงเวลาจริง ๆ ก็ไม่รู้ว่ากิจกรรมนั้นจะเสร็จเมื่อไหร่ และเมื่อเวลาเขาจะกลับมาก็มานั่งหารือกันว่าจะเอาเขาลงที่ไหน มันไม่มีการทำที่ว่างไว้ให้เขาเพราะฉะนั้นเขาจะช้า"

อย่างไรก็ดี อดีตผู้อาวุโสของแบงก์ให้ความเห็นว่าอีกไม่นานคงจะถึงรอบของเขาที่จะได้ขึ้นบ้างแม้ว่าเกียรติศักดิ์ มี้เจริญ รองผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์อีกคนหนึ่งจะชิงตัดหน้าเขาไปนั่งเป็นผู้จัดการฝ่ายจัดการกองทุนก่อนแล้วเมื่อกันยายน 2531 ที่ผ่านมาก็ตาม

หลักการที่ไม่ค่อยจะเป็น "ปกติ" และติดจะไร้ระบบในการแต่งตั้ง โยกย้ายพนักงานตามกรณีที่กล่าวมาสร้าง "ความอึดอัดใจ" ระดับหนึ่งในหมู่พวกเขา ผนวกกับความอึดอัดใจในการทำงานด้วยแล้ว ก็กลายเป็นเรื่องง่ายมากที่ผู้บริหารระดับสูงและกลางหลายคนจะลาออกไปหา "ความสะดวกใจ" ในที่ทำงานอื่น ๆ

นพพร เรืองสกุลซึ่งลาออกไปพบกับ "ความสุขและความสะดวกใจ" ในการทำงานที่แบงก์พาณิชย์เมื่อปี 2531 นั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเหตุจากปัญหาข้างต้น

อดีตผู้อาวุโสของแบงก์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า "นพพรนี่ทำงานดีนะ แต่สงสัยจะเป็นประการเดียวกับเริงชัย คือพูดจาไม่ถูกหูคนแต่ว่าทำงานเก่งจังเลย ตอนที่ออกจากแบงก์นั้นเธอรับผิดชอบฝ่ายจัดการกองทุนซึ่งต้องรับผิดชอเงินวันหนึ่ง ๆ มูลค่าหลายร้อยล้านบาท แต่ว่าตัวเองนี่กลายเป็นตรายางให้ผู้ใหญ่ เธอเสนอความคิดเห็นอะไรก้ไม่ได้รับฟังเลยมีแต่ว่าผู้ใหญ่จะมีนโยบายมาให้จ่ายอย่างโน้นนี่ซึ่งนาน ๆ ไปคนประเภทนี้เธอไม่ชอบ"

คนอย่างนพพรนั้นเธอต้องการทำงานที่มันเทียบเคียงกับความรับผิดชอบของเงินเดือน ซึ่งตอนนั้นเธอก็ได้เงินเดือนสูงอยู่ แต่งานของเธอไม่มีความรับผิดชอบอะไร ทำตามผู้ใหญ่สั่ง ผู้ใหญ่ต้องการอย่างไรก็สั่งมา ซึ่งเธอไม่ชอบอย่างมาก ๆ และถึงจะขอย้ายไปฝ่ายโน้นนี่ แบงก์ก็คงจะต้องปฏิบัติกับเธออย่างนี้อีก

เมื่อนพพรจะออกนั้น เธอนั่งในตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์กับเป็นผู้จัดการฝ่ายจัดการกองทุน ซึ่งเทียบเท่าพนักงานชั้น 9 ซึ่งมันก็เป็นเอกเทศแต่ว่าแทนที่จะได้รับสิทธิพิเศษในการตัดสินใจอะไร มันก็กลายเป็นถูกสั่ง ซึ่งนี่ไม่ใช่ลักษณะที่นพพรจะทนได้ คนอย่างนี้ถึงออกไปได้เงินเดือนน้อยกว่าแต่ได้ทำงานที่สมกับเงินเดือน เธอชอบมาก ผู้ใหญ่ในแบงก์ก็เสียดายเธอเหมือนเป็นลูกรักลูกชัง

ความอึดอัดใจในการทำงานของนพพรเป็นอารมณ์ความรู้สึกประเภทเดียวกับข้อมูลที่ "ผู้จัดการ" ได้รับจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ว่า ปัญหาสำคัญของธนาคารแห่งประเทศไทย ในการบริหารบุคลากรคือควาไม่เต็มใจของผู้ใหญ่ที่จะปรับตัวให้ออ่อนลงเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากเจ้าหน้าที่ชั้นระดับต่ำกว่า ในทางปฏิบัติก็เช่นกันแทนที่จะอะลุ่มอะล่วยหรือมีข้อตกลงกับเจ้าหน้าที่ชั้นระดับต่ำกว่า แล้วจึงค่อยตัดสินใจเลือกดำเนินมาตรการใด ๆ ผู้ใหญ่บางคนในธปท.กลับตัดสินใจไปก่อนเลยสถานการณ์เช่นนี้คงชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนที่สำคัญในการบริหารพนักงานของธปท. การขาดกลยุทธ์ที่แนบเนียนและนุ่มนวลย่อมบั่นทองกำลังใจของพนักงานได้ง่าย

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า "เมื่อลูกน้องซึ่งได้ผ่านการศึกษาระดับสูงเข้าใจถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดเงินเป็นอย่างดีเพราะได้ทำการศึกษามาเรียบร้อยแล้ว กลับไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลหรือการให้เกียรติจากเจ้านานเลย ลูกน้องเหล่านั้นก็คงไม่ทนทุกข์ทรมานใจกับการทำงานให้ธปท.ไปนานโดยเฉพาะเมื่อบุคลากรเหล่านั้นมีคุณวุฒิสูงพร้อมประสบการณ์ จึงไม่น่าแปลกใจที่เขาเหล่านั้นได้ลากออกจากธปท.เพื่อไปประกอบอาชีพที่ได้รับความพอใจในงานที่ทำและเกียรติจากผู้ร่วมงานหรือเจ้านายโดยตรงมากกว่าได้รับจากธปท. นอกจากนั้นแล้วยังได้รับเงินเดือนจากที่ทำงานใหม่สูงกว่าจากธปท.อีกด้วย"

เช่นนี้แล้วปัญหาสมองไหลของแบงก์ชาติจึงเป็นเรื่องประสมประสานกันระหว่างเหตุปัจจัยหลายอย่าง ผู้บริหารระดับสูงและกลางอีกหลายคนที่ได้รับความอึดอัดใจเช่นนพพรยังมีอยู่เป็นจำนวนมากแต่บุคลิกภาพและโอกาสช่องทางที่ต่างกันทำให้พวกเขาไม่ได้ตัดสินใจเช่นนพพร

แต่ใครจะรู้ได้ว่าหากมีโอกาส สมองเหล่านั้นจะไม่พากันไหลออกไปอย่างนพพร

แต่ใครจะรู้ได้ว่าหากมีโอกาส สมองเหล่านั้นจะไม่พากันไหลออกไปอย่างนพพร

กรณีความอึดอัดใจในการทำงานที่แบงก์ชาตินั้นมีให้พูดกันได้ไม่รู้จบ เรื่องประเภทนี้เป็นเรื่องที่ระดับผู้อำนวยการฝ่าย, ผู้อำนวยการสำนักและผู้อำนวยการสาขาหลายคนล้วนมีประสบการณ์ที่ซาบซึ้งใจเป็นอย่างดี

เช่นเรื่องของภาณุวิทย์ ศุภธรรมกิจ ผู้อำนวยการ ธปท.สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในสมัยที่เป็นหัวหน้าส่วนวิเคราะห์ฯนั้น เคยเสนอความเห็นให้จัดการแก้ปัญหาเรื่องธนาคารมหานครตั้งแต่ปี 2526 ซึ่งในระดับผู้อำนวยการฝ่ายเวลานั้นก็เห็นชอบด้วยแต่เรื่องกลับไป "แป๊ก" อยู่ที่ผู้บริหารระดับสูงจนกระทั่งเรื่องบานปลาย จึงได้มีการใส่ใจแก้ไขกัน

อย่างกรณีของรองผู้ว่าการสมพงส์ ธนโสภณ ซึ่งปัจจุบันไปเป็นประธานกรรมการบริหารธนาคารศรีนคร จำกัดนั้นก็เป็นผู้หนึ่งที่ลาออกก่อนเกษียณอายุ หลายคนถือว่าสมพงส์เป็นมันสอมงไหลจากแบงก์ชาติเพราะนอกจากสาเหตุของ "ความไม่ค่อยจะกินเส้น" กับผู้ว่าการนุกูล ประจวบเหมาะ และเรื่องสุขภาพที่เอามาอ้างแล้ว ประจวบเหมาะ และเรื่องสุขภาพที่เอามาอ้างแล้ว ยังได้มีการเตรียมการที่จะเข้าไปรับตำแหน่งในธนาคารศรีนครไว้ล่วงหน้าด้วย

ผู้รู้เรื่องนี้ดีคนหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า "สมพงส์เขาไม่ค่อยจะกินเส้นกับผู้ว่าฯนุกูลเท่าใดนักเพราะว่าคุณนุกูลเป็นคนพูดจาตรงไตรงมาอย่างไม่เกรงใจใคร สมพงส์เขาทนมาหลายครั้ง เขาขมขื่นมากที่ต้องไปทนฟังการถูกตำหนิต่อหน้าผู้อำนวยการฝ่ายในที่ประชุ พอดีกับเขาป่วยเลจขอลาออกก่อนเกษียณ เขาบอกว่าอายุงานเขา 30 กว่าปี เขาได้บำนาญพอแล้ว"

ก่อนที่สมพงส์ขอลาออกทั้งที่ยังไม่เกษียณอายุนั้น ปรากฎว่าผู้ที่ละทิ้งตำแหน่งไปกอ่นเขากลับเป็นผู้ว่าฯนุกูลที่เขาปีนเกลียวด้วย จังหวะนั้นเองที่ "ความไม่ค่อยจะกินเส้น" ของคนคู่นี้เผยโฉมออกมาและเป็นเรื่องที่ "รู้กันไปทั่ว" ในแบงก์ชาติ

นั่นคือเรื่องการแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ว่าการในปี 2527 ซึ่งไพศาล กุมาลย์วิสัย ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายในเวลานั้นควรได้รับการเลื่อนขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการเพราะมีลำดับความอาวุโสและอายุงานเพียงพอแล้วแต่กลับมีการเสนอชื่อมาโนช กาญจนฉายาซึ่งมีอาวุโสน้อยกว่าแทน

สมพงส์ในตำแหน่งรองผู้ว่าการเป็นผู้ที่รู้เรื่องนี้ดีที่สุด และว่ากันว่าไพศาลน้อยใจมากถึงขั้นจะลาออก แต่บังเอิญผู้ว่านุกูลได้ทราบเรื่องขึ้นก่อน จึงให้มีการทบทวนประวัติอายุกันใหม่และในที่สุดพบว่าไพศาลมีอาวุโสกว่าจริง นุกูลจึงได้เซ็นตั้งไพศาลเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการคนที่ 5 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เพิ่มขึ้นใหม่จากเดิมที่มีเพียง 4 ตำแหน่ง

คำสั่งที่เซ็นในวันสุดท้ายที่นุกูลนั่งในตำแหน่งผู้ว่าการ

นอกจากอาการปีนเกลียวกันทำนองนี้แล้วผู้รู้ได้เปิดเผยเหตุผลอีกประการหนึ่งที่เป็นชนวนให้สมพงส์ลาออก "ความจริงนั้นคุณอุเทน เตชะไพบูลย์ได้มาพูดทาบทามเขานานแล้ว เพราะว่าเล่นกอล์ฟด้วยกัน และการที่จะมอบตำแหน่งประธานกรรมการบริหารให้กับลูก ๆ หลาน ๆ ตอนนั้นก็ยังมีปัญหาอยู่จึงตัดสินใจเอาคนนอกมาดีกว่า"

ข้อเสนอผลตอบแทนที่แบงก์พาณิชน์มอบให้อดีตนายธนาคารกลางทั้งหลาย ที่เต็มใจจะไปร่วามงานด้วยนั้น ย่อมดีกว่าสิ่งที่เขาได้รับในแบงก์ชาติเป็นแน่ไม่ว่าจะในเรื่องของอัตราเงินเดือนที่สูงกว่า พาหนะชั้นดีประจำตำแหน่ง โอกาสการเดินทางไปดูงานในต่างประเทศ โบนัส จ่ายภาษีแทน และอื่น ๆ อีกมากมาย

ในบางรายยังได้รับสิทธิพิเศษอันเนื่องมาจากไปนั่งในตำแหน่งประธานกรรมการหรือกรรมการของบริษัทลูกหนี้ของธนาคารเพื่อดูแลสินเชื่อที่ปล่อยไป

โอกาสเช่นนี้สามารถสร้างอดีตหัวหน้าส่วนของแบงก์ชาติให้กลายเป็น 1 ในเศรษฐี 50 คนแรกที่เสียภาษีสูงไปได้ในชั่วเวลาไม่กี่สิบปีหันหลังให้แบงก์ชาติ

ความยั่วยวนล่อใจของภาคเอกชนนั้นเป็นเรื่องจริงที่ชาวแบงก์ชาติหลายคนปฏิเสธไม่ลง แม้ว่าแบงก์ชาติจะมีสวัสดิการชั้นเยี่ยมให้พนักงานจนถึงกับมีการกล่าวขานว่า "ถึงแบงก์พาณิชย์จะเด่นกว่าในเรื่องของเงินเดือน แต่ไม่เชื่อว่าจะมีสวัสดิการที่ดีกว่าแบงก์ชาติ เอาเงินมาให้กู้ดอกเบี้ยถูก ๆ อย่างนี้มีทีไหน"

สวัสดิ์การชั้นเยี่ยมยอดนี้อาจเป็นแรงดึงดูดใจอย่างดีสำหรับพนักงานชั้นกลาง-ล่าง ซึ่งมีอัตราการลาออกเทียบไม่ได้กับพนักงานระดับบริหาร แต่ถึงกระนั้นหลายฝ่ายหลายคนในระดับล่างก็มีความอึดอัดใจในการทำงานไม่แพ้ผู้บริหารระดับสูง

พนักงานชั้นผู้น้อยรายหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่าสิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดคือเรื่องการขอเครื่องมือและอัตรากำลังคนเพิ่ม เพื่อรองรับกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นทุกวัน แต่ปัญหานี้ไม่ได้รับการเหลียวแลใส่ใจ หลายคนให้ความเห็นว่าระบบการจัดหาอุปกรณ์ของแบงก์ชาตินับวันจะเข้าลักษณะของระบบราชการมากขึ้นทุกที คือขาดแคลนงบประมาณ ยุ่งยากซับซ้อนและล่าช้า

ส่วนสวัสดิการชั้นยอดเยี่ยมที่ให้กับพนักงานนั้น ก็เป็นการให้อย่างมีเงื่อนไขและก่อปัญหาให้กับพวกเขาพอสมควร เช่น วงเงินกู้เพื่อการซื้อที่ดินปลูกบ้านหรือซ่อมบ้านจะต้องมาคนค้ำประกันตลอดการกู้

ส่วนที่ทำความลำบากให้พวกเขาคือสมัยก่อนพนักงานสามารถเบิกเงินไปซื้อของได้เป็นงวด ๆ เมื่อทำเรื่องขอกู้แล้ว แต่มาในภายหลังสมัยที่ประพันธ์วิโรทัย เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการพนักงานฯ และเจริญ บุญมงคล เป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายการพนักงานฯ ระเบียบข้อนี้ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยพนักงานต้องออกเงินไปเองล่วงหน้าก่อน หลังจากนั้นแบงก์จะส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างไปตรวจสอบ แล้วพนักงานจึงจะมาเบิกเงินที่ขอกู้ได้ ว่ากันว่าเรื่องนี่ทำความลำบากให้พนักงานอย่างหนัก เพราะเท่ากับว่าพวกเขาต้องไปกู้เงินจากที่อื่น และจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูงเพื่อนำเงินก้อนนั้นไปใช้ก่อน จึงจะมีงานออกมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจขอเบิกเงินกู้ได้

นอกจากนี้ยังมีระเบียบจุกจิกในเรื่องของการรับบำนาญ กล่าวคือในกรณีที่พนักงานแบงก์ซึ่งมีสิทธิได้รับบำนาญเกิดเสียชีวิตลง ทายาทพนักงานก็สมควรจะเป็นผู้ได้รับบำนาญนั้นแทนหลังจากยื่นเรื่องราวกับศาลแล้ว แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าทายาทต้องหาพนักงานในแบงก์มาเป็นผู้ค้ำประกัน จึงจะสามารถรับบำนาญได้

ปัญหาเช่นนี้เป็นเรื่องแก้ไขได้ไม่ยาก ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริหารจะมีความจริงใจ ใส่ใจในการแก้ไขมากน้อยเพียงใด ทุกวันนี้พนักงานชั้นกลาง-ล่างซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 90% ของพนักงานแบงก์ชาติทั้งหมด มี "สังคมปิด" แบบหนึ่งที่คนภายนอกหรือกระทั่งผู้บริหารระดับสูงยากจะรู้และเข้าใจ

สวัสดิการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ได้กลายเป็นช่องทางหากินของพนักงานชั้นสูงบางคน ส่วนชั้นล่างลงมานั้น ก็มีการหันไปหาอบายมุขประเภท "หวยเถื่อน" ที่เล่นกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน วงเงินเป็นหมื่นเป็นแสนบาท

พฤติกรรมเหล่านี้คงเป็นที่ฉงนใจสำหรับหลาย ๆ คนที่ยังคิดว่าเกียรติยศและศักดิ์ศรีของแบงก์ชาติน่าจะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งพวกเขาไว้ได้

แต่พนักงานแบงก์ชาติก็เป็นปุถุชนธรรมดาอดีตผู้อาวุโสของแบงก์กล่าวว่า "ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่เวลาผู้ใหญ่จะพูดก็ว่าพนักงานของเราถือเป็นพนักงานที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรีสูง มีความรู้สูง ผมว่าทุกสถาบันเวลาเขาพูดกับลูกน้องเขาก็พูดอย่างนี้ ผมไม่เห็นว่าคนแบงก์ชาติจะต่างไปกว่าใครแล้วเข้ามามันก็มีเล่นพวกมาก่อน ตอนหลังจึงมารับจากนักเรียนทุนและการสอบเข้า ซึ่งวิธีการนี้ไม่ได้คัดเรื่องนิสัย แต่เป็นการวัดจากผลการศึกษา เพราะฉะนั้นก็เป็นคนธรรมดา"

"ส่วนข้อที่ว่าพนักงานแบงก์ชาติมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดโกงนั้น ก็เป็นเพราะว่าระบบช่องทางโกงมันไม่มี มันเป็นระบบบัญชีหรือระบบความรับผิดชอบท่มีการวางขั้นตอนการควบคุมไว้แข็งแรงความซื่อสัตย์นั้นก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เพราะว่ามันก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ถ้าระเบียบมันหย่อนมันก็เคยหายมาแล้ว แต่อย่าพูดว่าคนแบงก์ชาติซื่อสัตย์สุจริตกว่าที่อื่น เพียงแต่ว่าช่องทางที่จะไปทุจริตคอร์รัปชั่นนี่มันไม่รู้จะมีตรงไหน"

เกียรติยศและศักดิ์ศรีนั้นเป็นเครื่องเชิดชูประจำสถาบันทุกแห่ง ไม่เฉพาะแต่ที่ธนาคารกลางเท่านั้น และความมีเกียรติและศักดิ์ศรีประการนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวพันอะไรกับการที่พนักงานจะลาออกจากแบงก์ เพราะในสถาบันอื่น ๆ ก็มีเกียรติและศักดิ์ศรีประหนึ่งเดียวกัน

ในสังคมธุรกิจการเงินที่ซับซ้อน และเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นทุกวันนี้ ความมีเกียรติและศักดิ์ศรีเป็นคุณค่าแห่งสถาบันที่บุคคลอาศัยฝีมือความสามารถสร้างเสริมให้ ในบางสถาบันคุณค่าประการนี้สามารถวัดได้ด้วยผลกำไรและความมั่นคงของฐานะการเงิน เกียรติและศักดิ์ศรีจึงย่อมเป็นผลแห่งงานที่บุคคลมีอยู่ติดตัวด้วย

อย่างไรก็ดี ความมีเกียรติและศักดิ์ศรีก็ยังถือเป็นเรื่องรองเมื่อนำมาเทียบเคียงกับเรื่องผลตอบแทนและโอกาสก้าวหน้า ในการทำงานที่บุคคลแสวงหาในสังคมเศรษฐกิจของการแข่งขันอย่างเสรี ข้อเสนอเรื่องผลตอบแทนเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในการพิจารณาเป็นอันดับแรก

ในหลายกรณีการเสนอผลตอบแทนที่ดีกว่าเป็นแรงจูงใจเพียงพอที่ทำให้คนก้าวเข้ามาหาแล้วแต่ในอีกหลาย ๆ คนยังต้องการมากไปกว่านั้น ทั้งในแง่ของโอกาสก้าวหน้าในการทำงานและเกียรติศักดิ์ศรีด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นในแบงก์ชาติคือการลาออกของพนักงานระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลาหลายสิบปี นับเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่คนซึ่งมีความรู้ความสามารถย่อมมองหาช่องทางของความก้าวหน้าในตำแหน่งางานและผลตอบที่สูงกว่าดีกว่า คำพูดที่ว่าความยั่วยวนล่อใจของภาคเอกชนสามารถดึงคนจากแบงก์ชาติไปสวามิภักดิ์ด้วยได้นั้นเป็นข้อเท็จจริงพอ ๆ กับที่พูดว่าเพราะความอึดอัดใจในการทำงานที่แบงก์ชาติจึงเป็นเหตุให้ผู้บริหารระดับสูงละทิ้งความมั่นคงที่นี่ไปสู่ความมั่นคงในที่แห่งใหม่เมื่อสบโอกาสอันงาม

กรณีที่พนักงานแบงก์ชาติลาออกเพราะแรงดึงดูดใจจากแบงก์พาณิชย์มีมากกว่านั้นเป็นเรื่องที่ "ช่วยไม่ได้" และไม่ใช่ "ความผิด" ของผู้บริหารแบงก์ชาติ ทั้งนี้ทั้งนั้นแบงก์ชาติไม่ได้มีหน้าที่แข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างแรงจูงใจเพื่อดึงพนักงานเอาไว้หรือเพื่อความภักดีของพนักงาน แต่สิ่งที่แบงก์ชาติสามารถทำได้ควรจะเป็นการให้ผลตอบแทนและสวัสดิการที่พอเพียงแก่การครองชีพของพนักงาน เพียงพอที่จะให้มีความซื่อสัตย์ในการรักษาความถูกต้องในการทำงาน และอาจจะรวมถึงเกียรติศักดิ์ศรีเท่าที่จะมีให้ได้

ในแง่นี้แบงก์ชาติไม่สามารถ "ให้" ได้มากเท่าหรือมากกว่าธนาคารพาณิชย์ แ ละเท่าที่มีอยู่ก็มีอภิสิทธิ์มากกว่าข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจทั้งหลายแล้ว

ขณะที่แบงก์ชาติมีข้อจำกัดตามสถานะดังว่านี้ ธนาคารพาณิชย์ก็มีความได้เปรียบกว่า ในแง่ที่สามารถสร้างแรงจูงใจและสิทธิพิเศษสารพัดอย่างแก่บุคคลที่ธนาคารพาณิชย์ต้องการให้มาร่วมงานด้วย

ในเมื่อแบงก์ชาติไม่อยู่ในสถานะเดียวกับที่จะทำอย่างธนาคารพาณิชย์ แบงก์ชาติก็จำต้องยอมรับการลาออกของพนักงานระดับสูงซึ่งหันไปสู่อ้อมอกของธนาคารพาณิชย์โดยดุษณี และแน่นอนว่าเป็นปัญหาที่แบงก์ชาติแก้ไม่ได้ และไม่อยู่ในวิสัยที่จะมีกลไกแก้ปัญหาได้สักเท่าใด

แต่ปัญหาที่พนักงานลาออกเพราะความอัดอึดใจในการทำงานนั้นเป็นประเด็นที่สามารถแก้ไขได้หรือกระทั่งเรื่องความสะดวกในสวัสดิการ, ขั้นต้นตำแหน่งตัน ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริหารระดับสูงและกรรมการแบงก์ชาติกจะมีความจริงใจในการแก้ไขเพียงใด

อย่างไรก็ตาม หากแบงก์ชาติสามารถแก้ปัญหาของตัวในเรื่องวิธีการทำงาน ระบบงาน การยอมโอนอ่อนรับฟังข้อเสนอของผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง และการเคารพต่ออำนาจในขอบเขตหน้าที่ของผู้บริหารแต่ละคน จำนวนผู้บริหารระดับสูงที่จะละทิ้งหลีกหน้าออกจากแบงก์จะมีลดลงหรือไม่

คำถามนี้ท้าทายคนแบบนพพร เรืองสกุล และ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ แต่อาจจะไม่เป็นที่สนใจสำหรับคนอื่น ๆ แม้แต่ ศุภชัย พานิชภักดิ์ ซึ่งมีอุดมคติในทางการเมืองเป็นพิเศาต่างออกไป

แม้ผู้มีฝีมือทั้งหลายจะได้ลาจากสถาบันเจ้าของทนุการศึกษาของตนไปในวัยที่กำลังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการทำงาน แต่แบงก์ชาติก็ยังมีผู้มีความสามารถอีกหลายคนและอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ระหว่างการบ่มเพาะในสถานศึกษาต่างประเทศ

ในระยะ 3-4 ปีข้างหน้าแบงก์ชาติจะมีผู้บริหารเกษียณอายุเป็นจำนวนมาก จังหวะนี้ผู้บริหารวัยหนุ่มทั้งหลายก็จะได้เลื่อน่ขึ้นมาแทน โดยเฉพาะ "คนที่อยู่ในวัย 40 กว่านั้นเป็นคนกำลังทำงาน เมื่อก่อนคนเก่งของแบงก์ชาติ อย่างคุณสมหมาย ฮุนตระกูล คุณประหยัด บุรณศิริ ก็ล้วนอยู่ในวัยนี้ทั้งนั้นในระดับ 30 กว่า -40 ปีนี่ถือเป็นระดับสมองของการทำงาน" ผู้อาวุโสซึ่งเกษียณจากแบงก์ชาตินานแล้วกล่า

หลังจากที่รองผู้ว่าการชวลิต ธนะชานันท์ เกษียณในปี 2533 ผู้ช่วยผู้ว่าการที่เป็นตัวเต็งจะขึ้นมาได้มี 2 คนคือเริงชัย และวิจิตร โดยมีข้อแม้ว่าถ้าจะเลือกเอาจากลูกหม้อของแบงก์ชาติ ทั้งนี้คุณสมบัติในข้อความรู้ความสามารถต่างมีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันแต่วิจิตรจะมีอายุงานในตำแหน่งน้อยกว่าเริงชัยเล็กน้อยไม่ถึงปี ส่วนความอาวุโสในอายุนั้นเริงชัยอ่อนกว่าและเป็นนักเรียนรุ่นหลัง 1 ปี

สิ่งที่วิจิตรได้เปรียบเริงชัยอยู่ก็คือ วิจิตรยังไม่มีประวัติความสัมพันธ์ในการทำงานที่ปีนเกลียวกันกับผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลัง เหมือนอย่างที่เริงชัยมีสมัยที่ไปนั่งทำงานในแบงก์กรุงไทย แต่ถ้าผู้ใหญ่เหล่านั้นเกษียณอายุออกไป ปัญหาของเริงชัยก็อาจจะสิ้นตามไปด้วย

ส่วนตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการซึ่งจะเกษียณลงในปีนี้และปีหน้ารวม 3 คนนั้น ก็มีผู้ที่มีความสามารถและคุณสมบัติจะขึ้นได้หลายคน จัดได้ว่าเป็นตำแหน่งที่ไม่ขาดแคลนคนอย่างแน่นอน

ดังนั้นปัญหาสมองไหลในระดับนี้จึงมีโอกาสน้อยกว่าในระดับรองลงไป ซึ่งก็ยังถือว่าเป็นผู้บริหารระดับสูงอยู่ เช่น รองผู้อำนวยการฝ่าย ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการสาขา ผู้จัดการกองทุน คนระดับนี้ถ้าถูก "แป๊ก" นาน ๆ เข้าก็เป็นไปได้ว่าจะหลีกออกไปใช้เวลาการทำงานที่เหลืออยู่ในโอกาสของหน้าที่การงานที่ดีกว่า ดังที่มีปรากฎมาแล้ว

อดีตพนักงานอาวุโสในแบงก์ชาติให้ข้อคิดว่า "สิ่งหนึ่งที่นักเรียนทุนผู้เก่งกล้าสามารถหรือผู้บริหารระดับสูงก็ตามของแบงก์ต้องยอมรับก็คือ ตำแหน่งที่แต่ละคนนั่งอยู่นั้นไม่ใช่ระดับสูงสุดจริง ๆ มันยังอยู่ในตำแหน่งกลางค่อนข้างสูง คนที่สั่งการได้นั้นนั่งอยู่ในตำแหน่งที่เหนือกว่า เขาสามารถเอานโยบายของเขามาใช้ได้ ตัวเองจะไปบังคับให้เขารับของตัวนั้นไม่ได้"

นี่คือข้อจำกัดของมือบริหารระดับสูงของแบงก์ชาติ ถึงอย่างไร ๆ หน่วยงานนี้ก็ต้องอยู่ภายใต้การกำกับและควบคุมของกระทรวงการคลังอยู่ดี

การกำกับและควบคุมของคลังไม่ได้ทำลงมาถึงพนักงานระดับกลาง-ล่าง หน้าที่นี้จึงเป็นภาระของผู้บริหารแบงก์เอง เท่ากับว่าความตีบตันในเรื่องขั้นตำแหน่ง รวมทั้งปัญหาความอึดอัดใจในการทำงานของพนักงานแบงก์ชาติเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้บริหารแบงก์ระดับสูง ซึ่งควรจะใส่ใจให้มากกว่าที่เป็นอยู่ หากไม่ต้องการเห็นภาคเอกชนช่วงชิงผู้มีฝีมือหลุดลอยไปทีละคนสองคน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.