|

เฟดลอกสูตรดอกเบี้ย0%บีโอเจ ลุ้นกระตุ้นปล่อยกู้-หยุดศก.ซึม
ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 ธันวาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
การลดดอกเบี้ยของเฟดเหลือเฉียด 0% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ละม้ายคล้ายการตัดสินใจของบีโอเจเมื่อทศวรรษก่อนเพื่อหยุดยั้งภาวะเศรษฐกิจนิ่งงันเรื้อรัง กระนั้น นักวิเคราะห์ชี้ลำพังมาตรการดอกเบี้ยอย่างเดียวคงไม่สามารถกู้วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ได้ แต่ต้องอาศัยแผนการเชิงรุกมาเสริมเหมือนที่โตเกียวเคยทำสำเร็จมาแล้วในการฟื้นศรัทธาระบบการเงิน ที่สำคัญวอชิงตันต้องลงมือทำให้ไวกว่าญี่ปุ่น
อากิโกะ มากาเบะ นักเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชินชู บอกว่าญี่ปุ่นลองถูกลองผิดอยู่หลายปีกว่าจะเจอทางแก้ แต่อเมริกาไม่มีเวลามากขนาดนั้นเพราะตลาดเปลี่ยนแปลงเร็วมาก
ทั้งนี้ เมื่อวันอังคารที่แล้ว (16) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ลดดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ที่ 0-0.25% พร้อมประกาศอัดฉีดเงินโดยตรงเข้าสู่ตลาดสินเชื่อด้วยการซื้อหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์จำนองและหุ้นกู้
วันศุกร์ (19) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ปรับลดดอกเบี้ยมาตรฐานจาก 0.3% เหลือ 0.1% ตามเฟดและเพื่อกระตุ้นดีมานด์ทั่วโลก ทั้งยังประกาศฟื้นเสถียรภาพตลาดสินเชื่อด้วยการซื้อตราสารหนี้ ช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ ธนาคารกลางหลายแห่งในยุโรปชวนกันลดดอกเบี้ยเช่นกัน เพราะกังวลว่าปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ
การลดดอกเบี้ยของเฟดครั้งล่าสุดยังทำให้ต้นทุนการกู้ยืมระยะสั้นในสหรัฐฯ ต่ำกว่าของญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ส่งผลให้เยนแข็งค่าสูงสุดในรอบ 13 ปีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากนักลงทุนหันไปหาสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า และบีโอเจกล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจลดดอกเบี้ยก็เพื่อขวางการแข็งค่าของเยน
อนึ่ง บีโอเจใช้นโยบายดอกเบี้ย 0% ครั้งแรกในปี 1999 และคงอยู่อย่างนั้นนานหนึ่งปี และกลับไปใช้นโยบายดังกล่าวอีกทีในปี 2001 หนนี้นานห้าปี ความพยายามของบีโอเจในการจำกัดวิกฤตการเงินในบ้านแตกต่างจากวิกฤตปัจจุบันที่เป็นงูกินหางไปทั่วตลาดโลก โดยที่ราคาอสังหาริมทรัพย์และหุ้นที่ควงสว่านท้ามฤตูทำให้บริษัทการเงินหลายแห่งล้มละลายไปตามๆ กันเหมือนที่เกิดกับยามาอิชิ ซีเคียวริตี้ส์ในปี 1997
ความหวังของบีโอเจตอนนั้นคือ การลดต้นทุนการกู้ยืมเหลือเกือบ 0% อาจชักจูงให้แบงก์พาณิชย์ยอมปล่อยกู้แก่ภาคธุรกิจและผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยฟื้นอุปสงค์ได้
แต่นักเศรษฐศาสตร์และอดีตเจ้าหน้าที่บีโอเจบอกว่า บทเรียนสำคัญที่สุดในครั้งนั้นคือ ลำพังการลดดอกเบี้ยแทบไม่ส่งผลอะไรเมื่อระบบการเงินเข้าสู่ภาวะวิกฤต
ตอนนั้น แบงก์แดนปลาดิบไม่ยอมปล่อยกู้ในสภาพที่ลูกหนี้อาจล้มละลายไม่วันใดก็วันหนึ่ง เพราจะทำให้แบงก์ขาดทุนหนัก เล่นเอาบีโอเจต้องหันมาใช้ไม้แข็ง เช่น ด้วยการใช้อำนาจอัดฉีดเงินสดเข้าสู่ธนาคารพาณิชย์เพราะหวังว่าจะทำให้มีการปล่อยกู้อีกหน แต่กลับกลายเป็นว่าเงินสดไปกองนิ่งอยู่ในเซฟของแบงก์เหล่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า อเมริกากำลังตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันหลังการล่มสลายปุบปับของเลห์แมน บราเธอร์สในเดือนกันยายน ที่ทำให้คนกลัวกันว่าจะมีแบงก์ล้มตามอีกหลายราย นอกจากนี้ ยังมีเสียงวิจารณ์วอชิงตันกรณีที่อัดฉีดเงินก้อนใหญ่อุ้มซิตี้กรุ๊ปว่า เป็นการรับมือกับวิกฤตที่เกือบเรียกได้ว่าเลือกปฏิบัติ และไม่มีนโยบายที่ต่อเนื่องเพื่อจัดการกับแบงก์ที่มีปัญหา
ในกรณีของญี่ปุ่นนั้น สินเชื่อเพิ่งถูกปล่อยออกมาอย่างอิสระอีกครั้งหลังจากที่ผู้คุมกฎปรับใช้นโยบายใหม่ในการตรวจสอบบัญชีแบงก์ในปี 2003 และเรียกร้องให้ธนาคารที่อ่อนแอเพิ่มทุนหรือยอมรับการเทกโอเวอร์จากรัฐ
นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า ที่สุดแล้วการตรวจสอบบัญชีช่วยขจัดความกังวลที่รุมเร้าตลาดสินเชื่อ โดยการโน้มน้าวให้นายธนาคารและนักลงทุนเชื่อว่า ไม่มีความเสี่ยงที่แบงก์ต่างๆ จะล้มละลายกะทันหันอีกต่อไป และปัญหาที่แท้จริงของแบงก์และบริษัทอื่นๆ ได้รับการเปิดเผยออกมาในที่สุด
เอนิล แคชแยป ศาสตราจารย์ธุรกิจ มหาวิทยาลัยชิคาโก แนะนำให้วอชิงตันดำเนินมาตรการแบบเดียวกับเฮโซ ทาเคนากะ อดีตรัฐมนตรีการธนาคารญี่ปุ่นที่ริเริ่มการตรวจสอบบัญชีแบงก์ เพื่อทำให้ธนาคารและบริษัทการเงินดำเนินการอย่างโปร่งใสยิ่งขึ้น และรับประกันกับนักลงทุนว่าจะไม่มีเลห์แมน บราเธอร์รายถัดไป
นักเศรษฐศาสตร์และอดีตเจ้าหน้าที่บีโอเจเสริมว่า อีกบทเรียนจากประสบการณ์ของญี่ปุ่นคือความต่อเนื่อง
ปี 2000 บีโอเจขึ้นดอกเบี้ยเพียงเพื่อจะต้องลดกลับมาอยู่ที่ 0% ในปีถัดมาเมื่อเศรษฐกิจติดหล่ม
อดีตเจ้าหน้าที่บีโอเจบอกว่า สิ่งที่เรียนรู้ก็คือ นายธนาคารและนักลงทุนจะยอมปล่อยกู้ในภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ดก็ต่อเมื่อเชื่อว่าดอกเบี้ยจะทรงอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน เพราะเป็นการรับประกันว่าจะมีกำไรอย่างเหมาะสม การทำให้เกิดอุปสรรคในการคาดเดาแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย ทำให้บีโอเจต้องรื้อนโยบายของตัวเองในที่สุด
ดังนั้น เฟดจึงไม่ได้ต้องการเพียงแค่ลดดอกเบี้ย แต่ยังต้องยืนยันกับแบงก์และนักลงทุนว่า อัตราดอกเบี้ยจะยังต่ำต่อไปจนกว่าเศรษฐกิจจะโงหัวขึ้น
เร มาซูนากะ นักเศรษฐศาสตร์และอดีตผู้อำนวยการทั่วไปของบีโอเจทิ้งท้ายว่า “เราเรียนรู้ว่าดอกเบี้ย 0% ทำงานจากการกระตุ้นความคาดหวัง และต้องใช้เวลาระยะหนึ่งจึงจะสัมฤทธิ์ผล”
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|